มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 6 (5)


จะต้องเปลี่ยนจากการคัดเลือกนิสิตนักศึกษา โดยการแข่งขันด้วย คะแนนสอบเพียงอย่างเดียว มาคัดเลือกตามศักยภาพในการ “เป็นผู้นำหรือผู้รับใช้สังคม” รวมทั้งศักยภาพที่จะทำชื่อเสียงและคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรงด้วย

         < เมนูหลัก >

         ตอน 6 (5)

         ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างมหาวิทยาลัย ภารกิจหลักสร้างสรรค์ปัญญา

         ระบบสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

         ควรยกเลิกการสอบรวม มอบให้แต่ละมหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาเอง ตามเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดขึ้น โดยทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดกรอบไว้กว้าง ๆ เช่น ให้รับนักศึกษาในท้องถิ่นได้ไม่เกิน 50 % ห้ามแบ่งแยกเพศ พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนทั่วไป โดย

         1. จัดลำดับมหาวิทยาลัยตามคุณภาพและปริมาณของผลงานวิจัยทุกปี

         2. จัดลำดับคุณภาพของบัณฑิตจากแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งคงต้องแจกแจงเป็นรายสาขา ตามความเห็นของผู้ใช้ หรือ นายจ้างของบัณฑิต

         3. สรุปข้อมูลของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปรียบเทียบกัน ประกาศให้ประชาชนทราบ เช่น อัตราค่าหน่วยกิต สัดส่วนของทุนเล่าเรียนโดยไม่ต้องเสียเงิน คุณวุฒิของอาจารย์ ขีดความสามารถในการแข่งขันรับทุนวิจัย เป็นต้น

         มหาวิทยาลัยเปลี่ยนวิธีการรับนิสิตนักศึกษา ให้คล่องตัวในการที่จะเสาะหาและดึงดูดคนเก่ง ในขณะเดียวกัน ก็มีทุนจำนวนหนึ่งให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ยากจนด้วย คือ จะต้องเปลี่ยนจากการคัดเลือกนิสิตนักศึกษา โดยการแข่งขันด้วย คะแนนสอบเพียงอย่างเดียว มาคัดเลือกตามศักยภาพในการ “เป็นผู้นำหรือผู้รับใช้สังคม” รวมทั้งศักยภาพที่จะทำชื่อเสียงและคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรงด้วย

         โดยการปรับเปลี่ยนนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียนระดับมัธยมปลายอย่างใหญ่หลวง จากการเรียนแบบมุ่งเน้นท่องจำเนื้อหาวิชา เพื่อกาข้อสอบปรนัย มาเป็นเรียนเพื่อสร้างฐานความรู้ของตัวเอง เพื่อสร้างสมศักยภาพให้รอบด้าน เน้นความชอบ ความถนัดของตัวเอง จึงจะมีผลต่อ “ภูมิปัญญาในอนาคตของชาติ” อย่างสูงยิ่ง

         ยิ่งการคัดเลือกนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ยิ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่มหาวิทยาลัยแข่งขันกัน สร้างระบบแรงจูงใจให้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาฝึกฝนตัวเอง สำหรับเป็นนักวิชาการ ทำประโยชน์ในวงกว้างและในระยะยาวให้แก่สังคม

         รวมทั้งชักจูงสาธารณชนให้ “บริจาคเงินเพื่อการกุศลสาธารณะระยะยาว” เป็นทุนการศึกษาสำหรับสร้างนักวิชาการให้แก่สังคมในอนาคต

         ทุนการศึกษาในรูปของรางวัลแก่ผู้มีผลการเรียนดีเด่นในมหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนรูปแบบบ้าง โดยหันมาเน้นเป็น “เงินเลี้ยงชีพ” สำหรับนักศึกษา ที่มีศักยภาพสูงในการ “สร้างสรรค์” ด้านใดด้านหนึ่งให้มากขึ้นแทนที่จะเป็นรางวัลแก่ผู้ที่มีความสามารถ ใช้ความรู้ ตอบข้อสอบได้คะแนนสูงเพียงอย่างเดียว

         บทความพิเศษ ตอน 6 (5) นี้ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ล. 2816 (108) 6 มิ.ย. 39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 7332เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2005 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท