โครงการรณรงค์งดสูบบุหรี่ของบุคลากรในโรงพยาบาลศิริราช


เป้าหมาย : ต้องการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของบุหรี่แก่บุคลากรเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลิกบุหรี่ และเพื่อรวมรวมจำนวนผู้ต้องการเลิกบุหรี่แต่ขาดแหล่งข้อมูลและแหล่งบริการ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งคลินิกงดสูบบุหรี่ในอนาคต

โครงการรณรงค์งดสูบบุหรี่ของบุคลากรในโรงพยาบาลศิริราช

 

1.      คำสำคัญ        : บุหรี่ การรณรงค์ โรงพยาบาล

 

2.      จังหวัด : กรุงเทพฯ

 

3.      กลุ่มเป้าหมาย  : บุคลากรที่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาล

 

4.   เป้าหมาย        : ต้องการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของบุหรี่แก่บุคลากรเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลิกบุหรี่ และเพื่อรวมรวมจำนวนผู้ต้องการเลิกบุหรี่แต่ขาดแหล่งข้อมูลและแหล่งบริการ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งคลินิกงดสูบบุหรี่ในอนาคต

 

5.   สาระสำคัญของโครงการ  : เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชต้องทำประกันคุณภาพ หรือ H.A. (Hospital Assessment) ส่วนหนึ่งของงานคือตรวจสุขภาพบุคลากรพบว่า มีผู้สูบบุหรี่ 300 คน จาก 7,000 คน (ทั้งที่ควรมาทั้งหมดกว่า 10,000 คน) จึงคิดว่าน่าจะจัดกิจกรรมเพื่อให้คนเหล่านี้ลดสุบบุหรี่ แต่เมื่อเริ่มงานปรากฏว่ามีผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่เพียง 64 คน กลุ่มเป้าหมายจึงเน้นที่ผู้ต้องการเลิก 64 คนนี้เท่านั้น

 

6.   เครื่องมือที่ใช้ : มีกิจกรรมหลัก 2 ส่วน คือ (1) การรณรงค์ เริ่มตั้งแต่จัดนิทรรศการให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและคนทั่วไปถึงพิษภัยของบุหรี่ (เป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากเลิก และเปิดรับอาสาสมัครที่ต้องการเลิกบุหรี่ด้วย) นอกจากนี้ยังมีการประกวดบอร์ดรณรงค์  ประกวดคำขวัญ เพื่อให้บุคลากรทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ (2) กิจกรรมสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมาย 64 คน ได้แก่ (2.1) การตรวจสมรรถภาพปอด (2.2) การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (2.3) การทดลองใช้นิโคตินเจล เพื่อลดการสูบบุหรี่  (2.4)  การเสวนาเล่าประสบการณ์ในกลุ่มผู้เลิกบุหรี่ และ (2.5) การโทรศัพท์ติดตามผลและให้กำลังใจกลุ่มเป้าหมายทุก 2 เดือน

 

7.   การจัดระบบ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน  : โครงการดำเนินการโดยภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ซึ่งเน้นการดูแลสุขภาพของบุคลากรในโรงพยาบาล โดยเห็นว่าการลดการสูบบุหรี่ของเจ้าหน้าที่ก็เป็นภาระกิจหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากจำนวนผู้มาตรวจสุขภาพ เมื่อขอทุนจาก สสส. จึงจัดนิทรรศการให้ความรู้และคัดเอาเจ้าหน้าที่ที่ต้องการเลิกบุหรี่มาเข้ากระบวนการ ด้วยการตรวจปอด และตรวจกระดูก เพื่อให้เห็นว่าบุหรี่มีผลต่อการทำลายสุขภาพ และคาดว่าจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการเลิก นอกจากนี้ยังมีนิโคตินเจลช่วยในการลดบุหรี่สำหรับผู้ที่ติดบุหรี่มาก ในการทำงานยังมีการประชุมให้คนที่เลิกได้มาเล่าประสบการณ์แก่คนที่ยังเลิกไม่ได้เพื่อให้มีแนวทางและกำลังในการเลิกบุหรี่ให้ได้ รวมทั้งการโทรศัพท์ติดตามโดยเจ้าหน้าที่ของโครงการอีกด้วย

นอกจากการทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย 64 คน ยังได้สร้างกระแสรณรงค์ ด้วยการเชิญชวนให้ทุกหน่วยงานในโรงพยาบาลมีส่วนร่วมด้วยการร่วมจัดบอร์ดรณรงค์เลิกบุหรี่ และส่งคำขวัญเข้าประกวด ซึ่งได้รับการตอบรับจากบุคลากรทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ นักเรียนแพทย์ เป็นต้น

 

8.   ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ  : ดำเนินการ 1 ปี (1 มกราคม 2547 – 31 ธันวาคม 2547) กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลาการระดับล่าง จำนวน 64 คน

 

9.   การประเมินผลและผลกระทบ  :โดยรายงานสรุปผลระบุว่า จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 64 คน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ มีคนที่เลิกบุหรี่ได้ 10 คน สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 2 คน สูบบุหรี่ลดลง (ส่วนมากลดลงเกินครึ่ง) 43 คน สูบเท่าเดิม 7 คน ลาออก 1 คน และไม่มีข้อมูล 1 คน ซึ่งทีมงานคิดว่าน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้จากการประเมินผลที่ออกมาทำให้ได้ข้อค้นพบว่า การเลิกบุหรี่นั้นต้องมีแรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ การลดค่าใช้จ่าย การมีลูกหรือครอบครัว ฯลฯ จึงจะทำให้ผู้ต้องการเลิกสามารถเลิกได้จริง นอกจากนี้ในส่วนของคนทำงานเองก็ต้องมีเครือข่าย เพราะการรองรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ต้องมีเวลา เช่น คลินิกหรือ hot line ให้ผู้ที่ต้องการเลิกได้พูดคุย อีกทั้งยังต้องมีเครือข่ายความร่วมมือ ความรู้จากแหล่งอื่น ๆ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่วูบเดียวแล้วหายซึ่งคนเลิกบุหรี่มีโอกาสกลับมาสูบอีกได้เสมอ

 

10. ความยั่งยืน     : เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกับนโยบายของทางโรงพยาบาลที่จะจัดพื้นที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ ทำให้บุคลากรเกิดความตระหนักในผลเสียของการสูบบุหรี่และการเป็นบุคลากรของหน่วยงานต้นแบบที่รณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่

 

11. จุดแข็ง และ อุปสรรค  : ทีมงานมีความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่หรือหน่วยงานรอบรับผู้สูบบุหรี่ให้เกิดผลเรื่องการเลิก แต่มีอุปสรรคที่ขาดบุคลากร และตัวผู้ทำโครงการเองก็มีภาระด้านอื่น เพราะเรื่องของสุขภาพบุคลากรในโรงพยาบาลมีหลายอย่าง เช่น เชื้อโรคจากการทำงาน เรื่องรังสี ฯลฯ ซึ่งมีความเร่งด่วนที่จะต้องดูแลมากกว่าเรื่องรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ อีกทั้งการเลิกบุหรี่ต้องมาจากความต้องการของเจ้าตัวเป็นสำคัญ หากผู้สูบยังไม่คิดจะเลิกอย่างจริงจัง การรณรงค์อาจจะทำให้ได้ผลในแง่การเลิกน้อย ดังที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้ แต่อาจจะทำได้ในแง่กระตุ้นให้ทบทวนว่าควรจะเลิกบุหรี่ได้แล้ว เพราะการรณรงค์ทำให้ได้ความรู้เรื่องโทษของบุหรี่

 

12.  ที่ติดต่อ   :       เลขที่ 2 ตึกผอบ ชั้น 1 ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์

ศิริราชพยาบาล บางกอกน้อย กทม. 10700  โทรศัพท์ 02-419-7392

คุณดุจปรารถนา  พิศาลสารกิจ  06-338-8046

  

หมายเลขบันทึก: 72090เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท