สังคมสูงวัย โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี
สังคมสูงวัย
การพัฒนา 8 ประการเพื่อสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี
ธันวาคม 2567
บทนำ
สังคมสูงวัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนตื่นตัวหรือตกอกตกใจ เพราะทุกคนมีพ่อแม่ที่แก่เฒ่า และตนเองก็จะกลายเป็นผู้สูงวัยในไม่ช้า เพราะฉะนั้นเรื่องสังคมสูงวัยจะทำให้คนทุกคนในสังคมทั้งประเทศหันมาให้ความสนใจและเกิดความมุ่งมั่นร่วมกัน ที่จะทำอะไรที่ดีที่สุดสำหรับสังคมสูงวัย
คนไทยไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ต่างคนต่างไปคนละทาง จึงไม่มีพลังที่จะสร้างสังคมน่าอยู่ แต่คราวนี้เรื่องสังคมสูงวัยจะทำให้คนไทยทั้งหมดมีความมุ่งมั่นร่วมกัน และสามารถสร้างสังคมที่น่าอยู่ที่สุด ซึ่งจะมีคุณภาพสูงกว่าสังคมเก่าทุกยุคทุกสมัย
การพัฒนาสังคมสูงวัยให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์มี 8 ประการ ดังต่อไปนี้
นโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน โดยให้นิสิตนักศึกษาและนักเรียนชั้นมัธยมปลาย
เป็นอาสาสมัครไปดูแลผู้สูงอายุ
ในสังคมตัวใครตัวมันแบบปัจจุบัน และการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสุด ๆ จะมีผู้สูงวัยถูกทอดทิ้งอยู่ตามบ้านต่าง ๆ จำนวนมาก เพราะลูกหลานไม่สามารถอยู่ดูแลได้ จำเป็นต้องไปทำมาหากินไกลบ้าน นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหมดมีประมาณ 2 ล้านคน และนักเรียนมัธยมปลายมีอีกหลายล้านคน ควรเป็นอาสาสมัครไปดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน จะทำให้สามารถดูแลได้ทุกคนทันที นิสิตนักศึกษาและนักเรียนจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ดีกว่าไปนั่งท่องวิชาต่าง ๆ มากมายและจำอะไรไม่ค่อยได้
สิ่งนี้เป็นวิธีการปฏิบัติประการแรกที่ควรทำทันที ทำได้ไม่ยาก และเป็นสิ่งสำคัญของงานจิตอาสา ผู้สูงวัยที่เคยถูกทอดทิ้งอยู่ตามบ้านในซอกในมุมต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะรู้สึกดีขึ้นทันทีที่มีอาสาสมัครมาเยี่ยมเยียนดูแลถึงบ้านทุกวัน
2. ผู้สูงวัยจะมีความสุขที่สุด ถ้าอยู่ในครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง
ครอบครัวอบอุ่น หมายถึง พ่อแม่ลูก ปู่ย่า ตายาย อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ประชาชนต้องมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สัมมาชีพ หมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ การไม่เบียดเบียนตนเองอย่างหนึ่ง คือไม่ทำให้ตัวเองเจ็บป่วย ไม่ทอดทิ้งบิดามารดา หมายความว่าการงานที่ทำควรอยู่ใกล้บ้านหรือกลับบ้านได้ทุกวัน ไม่ใช่ทิ้งไปรับจ้างทำงานไกล ๆ หรือในต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง ทำให้ครอบครัวแตกแยกไปคนละทางสองทาง ครอบครัวที่อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเป็นปัจจัยให้ผู้สูงอายุมีความสุขที่สุด
สังคมเช่นนี้อยู่ในชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็งหมายถึง มนุษย์ไม่ควรอยู่แบบตัวใครตัวมันและต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ร้อยแปดด้วยตนเอง แต่ควรอยู่เป็นชุมชนเล็ก ๆ หรือเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดประมาณ 500 - 1,000 คน ที่ทุกคนรู้จักกัน ใกล้ชิด ดูแลซึ่งกันและกัน และมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย ในสังคมเข้มแข็งสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผู้สูงวัย ดังต่อไปนี้
๒.๑ จัดให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุในชุมชน ผู้สูงอายุที่เคยอยู่บ้าน ไม่ได้พบปะผู้คน จะมีโอกาสมาเล่าเรียนร่วมกันและเรียนรู้จากกันและกัน เป็นสมาคมที่ให้ความสุขและจะนำมาซึ่งเรื่องดีๆอื่นๆ
๒.๒ มีการออกกำลังร่วมกันในชุมชน
๒.๓ ผู้สูงวัยควรมีอาชีพ มีรายได้ ควรมีบริเวณที่ทำงานอาชีพร่วมกัน โดยศึกษารวบรวมจากทั่วโลกถึงอาชีพต่างๆที่ผู้สูงวัยอาจทำได้และมีรายได้ เช่น การจักสาน การแปรรูปพืชพรรณ การทำงานศิลปะไม้ หรืออื่นๆ อย่างไม้ไผ่ก็ดี ต้นกล้วยก็ดี หรืออื่นๆในชุมชน สามารถเอามาแปรรูปเป็นอาชีพให้ผู้สูงวัยทำร่วมกัน ผู้สูงวัยจะมีความสุขที่ได้ทำงานและมีรายได้ รวมทั้งได้สมาคมในหมู่เพื่อนผู้สูงวัยด้วยกัน
อาจดูตัวอย่างที่มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) แห่งบังคลาเทศ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางสันติภาพ กำลังทำงานเพื่อสร้าง “โลกสามศูนย์” (A World of Three Zeros) คือการว่างงานเป็นศูนย์ ความยากจนเป็นศูนย์ การปล่อยมลภาวะเป็นศูย์ มูฮัมหมัด ยูนุส กำลังทำงานเรื่องนี้อยู่ในหลายประเทศ เกี่ยวข้องกับคนกว่า 300 ล้านคน เขาเชื่อว่าจะเป็นการนำมาซึ่งอารยธรรมใหม่ เพราะฉะนั้นควรมีการศึกษารวบรวมจากทั่วโลกว่าผู้สูงวัยจะทำอาชีพอะไรได้บ้าง
๒.๔ ระบบการเงินของผู้สูงวัย ควรมีสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล ซึ่งมีผู้ลองทำแล้วและประสบความสำเร็จ มีเงินออมและหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาทใน 1 ตำบล จึงควรมีระบบการออมของผู้สูงวัยเพื่อเป็นบำนาญชีวิต จัดการโดยสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล รัฐบาลอาจมีนโยบายให้ธนาคารต่างๆ กันกำไร 2% เข้ากองทุนเพื่อผู้สูงอายุ ที่จริงถ้าระบบการเงินของประเทศเข้ามาดูแลเรื่องนี้ จะมีทางได้เงินเข้าสู่กองทุนเพื่อผู้สูงอายุในชุมชนได้อีกมากมายหลายทางด้วยกัน
ถึงเวลาที่นักการเงินทั้งหลายจะใช้การเงินการคลังให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างสูงสุด เป้าหมายของระบบการเงินของประเทศไม่ใช่ร่ำรวยสูงสุด แต่คือการมีระบบการเงินที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด
๒.๕ การปฏิบัติธรรม ถ้าผู้สูงอายุได้ไหว้พระสวดมนต์จะมีความสุข ถ้าสามารถเจริญสติได้ยิ่งดี ชุมชนจึงควรมีศูนย์ปฏิบัติธรรมที่วัดหรือในชุมชนก็ดี และเป็นไปได้ที่คนทั้งชุมชนจะเจริญสติ เป็นชุมชนแห่งการเจริญสติ จะยิ่งเพิ่มพูนความสุขให้ทุกคน
กิจกรรมในชุมชนนี้สามารถเสริมเติมได้อีกมาก เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยได้อยู่ในครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง
3. การมีศูนย์พยาบาลชุมชน
ในแต่ละชุมชนที่มีประชากรประมาณ 1,000 คน มีศูนย์พยาบาลที่มีกำลังคน 3 คน คือพยาบาลวิชาชีพ 1 คน และผู้ช่วยพยาบาล 2 คน กำลังพยาบาล 3 คนจะสามารถดูแลคน 1,000 คนได้อย่างใกล้ชิด มีข้อมูลของทุกคนอยู่ในคอมพิวเตอร์ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต เป็นต้น ทำให้สามารถดูแลรักษาโรคที่พบบ่อย รวมทั้งควบคุมเบาหวานและความดันโลหิตสูงของทุกคน พยาบาลสามารถติดต่อปรึกษาศูนย์การแพทย์ถ้าจำเป็น หรือพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลและรับกลับ เป็นบริการใกล้บ้านใกล้ใจที่คนไทยทุกคนได้รับการบริบาลอย่างใกล้ชิดประดุจญาติ
ระบบนี้จะทำให้คนในชุมชนไปโรงพยาบาลลดน้อยลงมาก การใช้จ่ายเพื่อสุขภาพทั้งหมดจะลดลง การรักษาที่โรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ราคาแพงมาก เพราะฉะนั้น สปสช. อยู่ในฐานะที่จะจ่ายเงินเดือนให้พยาบาลทุกคนที่ทำงานในหน่วยพยาบาลชุมชน และสามารถมีวิธีจัดการเรื่องการเงินของการดูแลสุขภาพชุมชนได้หลายอย่าง
4. ควรมีศูนย์การแพทย์แผนไทยอย่างน้อย 1 แห่งต่อ 1 ตำบล
โดยให้บริการ 3 อย่าง คือ การนวดแผนไทย การประคบด้วยสมุนไพร และการขายยาสมุนไพรที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์จริง
การนวดกับผู้สูงวัยหรือแม้ไม่สูงวัยเป็นการทำให้สุขภาพดี มีความสุข เกิดสุขภาวะ เกิดการผ่อนคลาย คลายเครียด และการที่มีหมอนวดซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกับผู้สูงอายุมาให้บริการ โดยมีกายสัมผัสและคุยกันกระหนุงกระหนิงไปเรื่อย ๆ แทนที่การรีบร้อนอย่างในโรงพยาบาล จะทำให้ผู้สูงวัยมีความสุขอย่างยิ่ง การนวดแผนไทยจึงควรทำให้ดีที่สุดและมีจำนวนมาก โดยทำเป็นวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ถ้าทำดี ๆ คนในเมืองหรือแม้แต่คนต่างประเทศก็อยากมารับบริการ จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้
5. ศูนย์ชีวันตาภิบาล
ชีวันตาภิบาลมาจากคำว่าชีวะ+อันตะ+อภิบาล ชีวะหมายถึง ชีวิต อันตะแปลว่า ส่วนสุด (terminal) ชีวันตาภิบาลจึงหมายถึง การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ทำให้การตายมีคุณภาพสูงสุด หรือที่เรียกว่า ตายดี
วัดทุกวัดควรมีศูนย์ชีวันตาภิบาล ซึ่งพระกับชุมชนร่วมกันทำ ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ควรมีศูนย์ชีวันตาภิบาลซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาล มีตัวอย่างศูนย์ชีวันตาภิบาลที่โรงพยาบาลของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน เขาทำทุกอย่างที่ทำให้ผู้กำลังจะจากไปมีความสุข เช่น เรื่องดนตรี เรื่องศาสนธรรมต่าง ๆ ศ.ดร.สุมน อมรวิวัฒน์ ซึ่งไปเห็นชีวันตาภิบาลของโรงพยาบาลมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ถึงกับออกปากพูดว่า อยากมาตายที่นี่ เพราะเห็นการตายที่มีคุณภาพสูง
เรื่องชีวันตาภิบาลจึงเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำให้ได้ดีจะเป็นความสุขของผู้ที่กำลังจะจากไป รวมทั้งเป็นการพัฒนาจิตใจหรือจิตวิญญาณของผู้ดูแลด้วย และเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่
6. ศูนย์การแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้สูงวัยหรือเวชศาสตร์สูงวัย
ควรมีศูนย์วิชาการที่รอบรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยทั้งที่โรงพยาบาลใหญ่และโรงพยาบาลชุมชนที่สนใจ อาจรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเวชศาสตร์สูงวัย เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำหรือดูแลผู้ป่วยสูงวัยด้วยความรู้ความชำนาญสูงสุด
7. การฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุทำอะไรได้น้อยลง ๆ จนกระทั่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องการพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ควรมีอาชีพผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงผู้สูงวัย โดยได้รับการอบรมอย่างดี ประมาณ 6 เดือน หรือจะน้อยกว่าก็ได้ จึงควรมีการจัดหลักสูตรการอบรมผู้ดูแลผู้สูงวัยให้กระจายทั่วประเทศ และจะเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งจะสร้างงานให้คนจำนวนมาก และเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์
8. สมัชชาสังคมสูงวัย
ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด การพัฒนาเพื่อสุขภาวะของสังคมสูงวัยเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานมากมาย ควรจัดให้มีการประชุมสมัชชาสังคมสูงวัยแห่งชาติปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำข้อมูล ประสบการณ์ ความรู้ที่ได้มาในแต่ละปีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอด ส่งเสริม และจัดทำข้อเสนอนโยบายใหม่ ๆ ต่อไปอาจมีสมัชชาสังคมสูงวัยระดับโลกก็ได้ เพราะสังคมสูงวัยกำลังเกิดขึ้นกับทุกประเทศในโลก
บทส่งท้าย
เมื่อ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการทำแผนฯ 8 ดร.สุเมธ ได้จัดประชุมระดมความคิดที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน โดยมีนักวิชาการ 40 คนและสื่อมวลชนประมาณ 100 คน เห็นร่วมกันว่าการพัฒนาต่อไปควรเอา “คน”เป็นตัวตั้ง เพราะการพัฒนาที่แล้วมาไม่ได้เอา “คน” เป็นตัวตั้ง
ดร.สุเมธ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี คือ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เพื่ออธิบายการพัฒนาที่เอาคนเป็นตัวตั้ง โดยจะขอจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาไทยเป็นเครื่องมือ นายกรัฐมนตรีอนุมัติเงินก้นถุงมาให้มูลนิธิพัฒนาไทย 20 ล้านบาท แต่ขาดการคิดไตร่ตรองอย่างต่อเนื่อง ว่าการพัฒนาที่เอาคนเป็นตัวตั้งนั้นคืออย่างไร
“ชีวิตคนสำคัญประดุจฟ้า” จะทำอะไร ๆ ต้องเอาคนเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้งจะพลาดหมด เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจที่เอาประสิทธิภาพและความมั่งคั่งเป็นตัวตั้ง การศึกษาก็เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง การพัฒนาจึงไม่มีทางลงตัว แต่เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั่วไป จนวิกฤตอารยธรรมทั้งโลก ในการร่วมกันพัฒนาสังคมสูงวัยจะเป็นการเอาคนเป็นตัวตั้งโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเรียกร้องใครอีก
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นชัดว่า นี่คือการพัฒนาโดยเอาคนเป็นตัวตั้ง
เพราะฉะนั้นถ้าช่วยกันทำให้ดี ๆ จะเป็นการสร้างอารยธรรมใหม่ จะสร้างโลกที่มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั่วโลก อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดขององค์กรทางมนุษยธรรมทุกองค์กร และที่ผ่านมาก็ประสบความยากลำบากที่ทำให้ไม่เกิดความสำเร็จ
แต่คราวนี้โอกาสมาเองโดยธรรมชาติ คือการเกิดสังคมสูงวัย จะเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึกของคนทั้งโลกว่า การพัฒนาเพื่อสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติทั้งโลกนั้นทำอย่างไร จะเกิดอารยธรรมใหม่ขึ้นมาแทนที่อารยธรรมเก่า ซึ่งไม่มีทางไปแล้ว
จึงขอให้ทุกคน ทุกองค์กร ร่วมมือกันสร้างโลกใหม่ที่จะดีกว่าเก่า
การพัฒนาสังคมสูงวัยจึงมิใช่เพื่อสุขภาวะของผู้สูงวัยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสุขภาวะของคนทั้งมวลร่วมกัน มนุษย์จะเกิดความเจริญทางจิตใจหรือจิตวิญญาณครั้งใหญ่ เมื่อพยายามพัฒนาสังคมสูงวัยตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งอาจเพิ่มเติมรายละเอียดและเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไป ซึ่งจะทำให้มนุษย์ย้ายความคุ้นเคยจากการใช้สมองส่วนหลังมาเป็นการใช้สมองส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวกับสติปัญญา วิจารญาณ ศีลธรรม และการบรรลุธรรม หรือการยกระดับจิตใจที่จะเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั่วโลก
ไม่มีความเห็น