โรคซึมเศร้า: การรักษาโดยวิธีจิตบำบัด


จรรยาแพทย์ที่สำคัญคือการรักษาเรื่องของผู้ป่วยไว้เป็นความลับ

การรักษาทางจิตใจมีอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในรายที่ปัญหาไม่ซับซ้อนและผู้ป่วยไม่มีปัญหาภายในตนเองมากนัก การรักษาจะใช้วิธีการช่วยมองปัญหาว่าแท้ที่จริงอยู่ตรงไหน ผู้ป่วยคาดหวังอย่างไรต่อปัญหา สิ่งที่คาดหวังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาอีกหรือไม่ แต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง และในที่สุดผู้ป่วยคิดว่าจะใช้วิถีทางไหนในการแก้ไขปัญหา

ในรายที่ปัญหาซับซ้อนแพทย์จะใช้เวลาในการพูดคุยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจสาเหตุของปัญหา เข้าใจตนเอง แลกเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ ดูว่าตนเองรับรู้สิ่งต่างๆ บิดเบือนไปหรือไม่ อย่างไร  ทั้งนี้จุดมุ่งหมายในการช่วยเหลือมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนตนเอง มากกว่าจะไปปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ภายนอก
        บางคนไม่กล้าพบจิตแพทย์เพราะไม่รู้ว่าจะต้องพูดอะไรบ้าง ไม่รู้จะเล่าอะไรดี หรือไม่อยากเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง ตามจริงแล้วการได้พูดถึงปัญหา ได้ระบายความคับข้องใจกับคนที่เข้าใจ จะทำให้ความอึดอัด กลัดกลุ้มใจทุเลาลงได้ระดับหนึ่ง จิตแพทย์จะรับฟังพร้อมๆ กับค่อยๆ ถามถึงความเป็นมาของปัญหาหรือเรื่องที่ทำให้เราทุกข์ใจ ซึ่งกระบวนการนี้บางครั้งก็ช่วยให้บางคนเห็นปัญหาของตนเองได้ชัดเจนขึ้น
        อาจมีบางเรื่องที่เราไม่อยากคุย แพทย์ก็จะไม่ซักถามรายละเอียด แต่หากเป็นไปได้ควรจะเล่าปัญหาต่างๆ โดยไม่ปิดบัง เพื่อที่แพทย์จะได้เข้าใจปัญหาของเราได้มากที่สุด
  จรรยาแพทย์ที่สำคัญข้อหนึ่งคือจะรักษาเรื่องของผู้ป่วยไว้เป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยกับใครโดยเฉพาะในทางจิตเวชแล้ว เรื่องที่ผู้ป่วยเล่าแพทย์จะไม่นำไปเปิดเผยต่อใคร แม้แต่กับญาติหรือคนใกล้ชิด หากบางเรื่องแพทย์เห็นว่าสำคัญ ต้องพูดคุยเรื่องที่ผู้ป่วยเล่ากับผู้อื่นก็จะต้องแจ้งหรือขออนุญาตผู้ป่วยก่อนทุกครั้งไป

คำสำคัญ (Tags): #โรคซึมเศร้า
หมายเลขบันทึก: 71978เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท