[บันทึกที่ 11] สะท้อนความคิดว่าด้วยการครุ่นคิด ใคร่ครวญเพื่อการยกระดับองค์ความรู้และพัฒนาจิตใจอย่างมีคุณภาพ


จุดเริ่มต้นของบันทึกนี้เริ่มต้นมาจากการได้อ่านข้อความการสนทนาของพระอมรมิตร (เจ้าอาวาสวัดถ้ำเมืองเทพ จังหวัดอุทัยธานี) กับอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธุ์เกี่ยวกับการได้ยิน ได้ฟังบทสวดมนต์โพชฌงค์ ๗ ใน Line Group เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 25 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา

การได้อ่านข้อความการสนทนาของทั้งสองท่านทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและสนใจเป็นอย่างมาก จำได้ว่าเมื่อเห็นข้อความนี้ก็เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก และเมื่ออ่านจบก็หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างชั่วขณะ หาพื้นที่สงบ ๆ นิ่งนิ่ง ๆ สักพักก่อนจะพิมพ์การสะท้อนคิดกลับไปในไลน์กลุ่ม

การได้อ่านบทสนทนาของทั้งท่านทำให้ผมได้เข้าใจเรื่องกระบวนการการเรียนรู้ธรรมที่พุทธองค์ทรงสอนได้อย่างชัดเจนและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้น และได้รับประโยชน์จากการอ่านบทสนทนานี้อย่างมาก

ก่อนหน้านี้ผมเคยได้เจอว่า… พระพุทธเจ้าท่านทรงให้วิธีการศึกษาธรรมไว้ประมาณ 3 - 4 ขั้นตอน (แล้วแต่ใครจะแบ่งอย่างไร) พร้อมกล่าวอานิสงส์ของการเรียนรู้ธรรมว่ามันช่วยให้จำได้แม่นยำ แม้มีสติหลงลืมเมื่อสิ้นใจ แต่ก็เมื่อก้าวสู่ภพใหม่จะก็มีนิมิตต่าง ๆ มาเตือนให้ระลึกถึงธรรมนั้น ๆ ได้ (อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎก เดี๋ยวลงข้อมูลให้ท้ายบันทึกนะครับ) โดย 4 ขั้นตอนการศึกษาธรรมของท่าน ได้แก่ ฟังเนื่อง ๆ - คล่องปาก - ขึ้นใจ (ท่านเจ้าอาวาสใช้คำว่า “เพ่งพินิจในใจ) - แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ

การอ่านบทสนทนาของทั้งสองท่านทำให้ผมเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่า… พระพุทธองค์นั้นสุดยอดมาก ๆ ไม่ได้เน้นให้พระสาวกทั้งแค่จำและเชื่อในคำของพระองค์ แต่ฟัง จำให้ได้ ใคร่ครวญตาม และปฏิบัติจนพบผลลัพธ์ที่ประจักษ์ชัดแก่ตนเอง ซึ่งแม้ดูเป็นกระบวนการพื้นฐานง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่มันกลับลึกซึ้งอย่างมาก

ในบทสนทนาท่านเจ้าอาวาสเล่ามห้อาจารย์ชัยวัฒน์ถึง 3 เหตุการณ์ คือ

• ตอนพระโมคคัลลานะป่วย พระพุทธเจ้าไปเยี่ยมและได้สาธยายโพชฌงค์ ๗ ให้พระโมคคัลลานะได้ฟัง เมื่อท่านได้ฟังก็พิจารณาตาม และหายป่วยได้
• ตอนพระพุทธเจ้าป่วย โปรดให้พระมหาจุนทะมาสาธยายโพชฌงค์ ๗ ถวาย พระองค์ทรงพิจารณาตาม ก็ทรงหายจากอาการป่วย
• ตอนพระคิริมานนท์ป่วย พระอานนท์ไปเยี่ยม พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์สาธยายสัญญา ๑๐ ประการให้พระคิริมานนท์ได้ฟัง (คงเพราะพิจารณาด้วยญาณของพระองค์แล้ว) เมื่อพระคิริมานนท์ได้ฟัง พิจารณาตามก็หายป่วย

หากดูเผิน ๆ แล้วเป็นเหมือนการแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของบทสวดมนต์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย แต่นี่คือคุณภาพการเรียนรู้ในระดับพระอรหันต์ต่างหาก

เมื่อลองดูอ่านดี ๆ จะพบว่าทั้ง 3 ท่านได้ฟังบทธรรม จำบทธรรมนั้นได้ พิจารณาบทธรรม และนำบทธรรมนั้นมาสู่ตนด้วยพิจารณาภาวะร่างกายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่อพิจารณาแล้วจึงจัดการกับความทุกข์ทางได้ได้อย่างสิ้นเชิง (จากที่อ่านเดาว่าเป็นอาการป่วยที่ไม่ได้หนักมาก เพราะหากป่วยหนักท่านก็จะให้หมอชีวก หรือหมออื่น ๆ มารักษา แต่นี่เป็นวิธีการหนึ่งในวิสัยของพระอรหันต์)

คราวนี้หันกลับดูการเรียนรู้แบบคนธรรมดาสามัญอย่างเรา ๆ หากเรานำหลักการ้รียนรู้ของพระพุทธเจ้ามาลองเป็นกรอบการเรียนรู้ดูทำให้เราพบว่า ผมเองไปถึงแค่ระดับที่ 2 คือ เมื่อฟังมาก ฟังบ่อย ก็สามารถจำได้ บอกต่อได้ บรรยายต่อได้ และอาจไปแตะขั้นที่ 3 บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ คือมีการนำสิ่งที่เรียนรู้มาพินิจพิจารณาต่ออยู่บ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่คุณภาพของการพินิจพิจารณาของตัวเองยังไปละเอียดและลุ่มลึกเท้ไหร่นัก จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “จะทำอย่างไรให้เราสามารถพินิจพิจารณาได้อย่างละเอียดและลุ่มลึกขึ้น”

กับอีกส่วนที่น่าสนใจจากการอ่านทั้ง 3 เหตุการณ์ก็พบว่า… การพิจารณาอย่างลุ่มลึกนั้นจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องอาศัยเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เราได้พิจารณาและใคร่ครวญได้อย่างลุ่มลึกขึ้น อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยทำให้การพิจารณา ใคร่ครวญมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นคือการน้อมนำเข้าสู่ตน (หรือที่ในบทบูชาพระธรรมกล่าวว่า โอปะนะยิโก) การน้อมนำองค์ความรู้เข้ามาสู่ตนนั่นการนำองค์ความรู้เข้ามาเชื่อมโยงกับประสบการณ์และหน้าที่การงานของตนเองทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่กว้างขึ้น เห็นโอกาส หรือเบาะแสแห่งการพัฒนางานให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

ทั้งหมดคือมุมมองสะท้อนคิดหลังจากได้อ่านบทสนทนาของทั้งสองท่านในค่ำคืนวันเสาร์ที่ 25 พ.ค. ต่อมาในเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค. ผมได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ชัยวัฒน์และพี่ ๆ ในกลึ่มผ่าน Line Call Group เกี่ยวกับเรื่องการ Reflection หลังการสนทนาก็เปิดทุมมองใหม่ให้กับผมอีกขั้นหนึ่ง

ในช่วงแรกของการสนทนาผมตั้งต้นด้วยประสบการณ์การสะท้อนคิดองค์ความรู้ต่าง ๆ ของตนเองว่า “เมื่อพูดถึง Reflection ผมเข้าใจว่ามันคือการที่ได้ค่อย ๆ ได้ทยทวน และพลิกเรื่องราวหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เราได้ยินได้ฟังมา ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ เชื่อมโยงกับเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งองค์ความรู้อื่น ๆ และประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่หลายครั้งผมกลับพบว่ามันเป็นทำให้เรามีมุมคิด หรือมีชุดภาษามากขึ้น แต่บางยังไม่สามารถยกระดับความรู้ และ/หรือพัฒนาจิตใจไปสู่ภาวะที่ดีงามได้มากขึ้น เพราะบางเรื่องก็ไปติดอยู่การขบคิดถึงวิธีการ เทคนิค ทฤษฎี หรือหากเป็นประสบการณ์ก็ไปติดอยู่กับตวามรู้สึกเก่า ๆ เสียมาก จึงยังคงมีคำถามอยู่ว่า… จะทำอย่างไรให้เรา Reflection ได้คมชัด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

อาจารย์ชัยวัฒน์ได้เปรียบการ Reflection เหมือนการที่เราได้ลองเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้แสงแดดและสายลมพัดเข้าออกอย่างสะดวก เปรียบการนำพาตัวเองขึ้นไปบนเฮริคอปเตอร์และมองมันลงมาจากบนฝากฟ้า หรือเปรียบเหมือนการดำดิ่งลงสู่ห้วงมหาสมุทรเพื่อสำรวจทรัพยากรอันมีค่าใต้ท้องทะเลนั้น

การเปรียบเทียบนี้ของอาจารย์ช่วยให้ผมเห็นภาพมากขึ้นว่า… อ๋อ… การ Reflection นั้นสิ่งสำคัญคือการมีสติต่อการรับรู้สิ่งต่าง ๆ และค่อย ๆ ปล่อยให้ตนเองนั้นได้ค่อยเดินทางสำรวจเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้รับรู้ผ่านการอ่าน การฟัง การคิด หรือวิธีการใด ๆ ก็ตาม เมื่อเรารับรู้อย่างมี “สติ” เห็นภาพได้ชัดในระดับหนึ่ง รับรู้อารมณ์ ความรู้สึกได้ชัดเจน ทีเวลาที่จะใคร่ครวญและตกผลึกมากเพียงพอ (อันนี้คิดว่าขึ้นกับคุณภาพจิต การฝึกฝน และความสนใจในเรื่องนั้นเป็นปัจจัยด้วย) จึงทำให้เกิดจะสามารถเห็นมุมมองใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ และด้วยคุณภาพใจแบบใหม่ได้อย่างชัดเจน

เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้คิดกับตัวเองได้ว่า… ที่ผ่าน ๆ มาเราอาจจะพยายาม Reflection เพื่อหาคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดออกมาให้ได้ เมื่อเป็นแบบนั้น แม้เราอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ ได้วิธีการใหม่ ภาษาใหม่ แต่หลายครั้งความรู้ที่เราได้ยังเป็นความรู้ชุดเดิมที่ไม่ได้ถูกยกระดับให้ละเอียดขึ้น การที่เราได้รับการยกระดับองค์ความรู้ตัวบ่งชี้อันหนึ่งที่จะเห็นชัดเจนคือเราจะเกิดความเข้าใจในทฤษฎีต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยง เห็นถึงรากฐานและแนวปฏิบัติที่เหมาะสมตามสไตล์ของตัวเราเองอีกทั้งยังช่วยให้เราเกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกับใครบางคน บางกลุ่ม หรือบางองค์กรที่ยังติดปัญหานั้นอยู่ และในมุมส่วนตัว (ย้ำว่าเฉพาะตัวผมเองนะ) ถ้ามันเกิดความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นกับตัวเองจะรู้สึกสนุกสนาน และตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ อุปมาคล้ายกับเด็กที่ได้เข้าไปในสวนสนุกแห่งใหม่ที่มีแต่เครื่องเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ อดรนทนไม่ไหวที่เข้าไปสัมผัสกับเครื่องเหล่านั้นอย่างใจจดใจจ่อเลยทีเดียว (อันนี้ต้องขอบคุณการสะท้อนเรื่องน้ำเสียงจากพี่หมอโจ้มาก ๆ เลยครับ ทำให้ผมเห็นมิตินี้ของการ Reflection มากขึ้นด้วย)

จากทั้งหมดที่เขียนมาถึงตอนนี้ทำให้ผมเองเริ่มมองเห็นภาพการ Reflection เป็น 3 รูปแบบ คือ Reflection on View / Reflection on Field / Reflection on Wild

  • Reflection on View คือ การสะท้อนคิดที่เน้นไปที่ตัวองค์ความรู้และทฤษฎี สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นหลัก เน้นเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่อองค์ความรู้ ทฤษฎีต่อทฤษฎี เปรียบเหมือนการนำภาพมาเรียงต่อกันให้การเป็นภาพใหญ่ และการสะท้อนคิด (Reflection) แบบนี้เราจะพยายามสะท้อนหามุมคิดที่ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือตามโจทย์ที่เราได้รับมา การสะท้อนคิดแบบนี้จึงมาข้อจำกัดมาก เพราะเป็นการสะท้อนคิดด้วยมีธงในใจว่าฉันต้องการคิดเพื่อได้ผลลัพธ์บรรทัดสุดหน้าตาประมาณนี้
  • Reflection on Field คือ การสะท้อนคิดที่เน้นไปที่การนำองค์ความรู้ที่มีมาประสานกับ อารมณ์/ความรู้สึก และประสบการณ์ในชีวิต หรือการทำงานที่ผ่าน ๆ มา เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดมุมมองใหม่ ๆ นำสู่การต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่การการสะท้อนคิด (Reflection) แบบนี้หลายครั้งที่ผมพบว่า… เรามักเผลอกลับไปยืนอยู่ในมุมมองแบบเดิม ๆ และติดกับดักทางอารมณ์เดิม ๆ ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณจิตขึ้นมาจิต และหลายครั้งเรามักลืมมองบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในสถานการณ์ปัจจุบัน การสะท้อนคิด (Reflection) แบบนี้มีค่ามากในเชิงการให้เราได้กลับไปมองเห็นร่องรอยความสำเร็จ คุณค่า และต้นทางที่ติดตัวเรามา
  • Reflection on Wild คือ การสะท้อนคิดที่เน้นไปที่การที่เราค่อย ๆ มองเห็นองค์ความรู้ไปพร้อมกับบริบทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มองเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง การสะท้อนคิดนี้แบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการครุ่นคิดและใคร่ครวญอย่างมาก อีกทั้งจำเป็นมาก ๆ ที่เราจะต้องวางสิ่งเก่าที่เรารับรู้มาลงก่อน ค่อย ๆ อยู่กับเรื่องราวที่รับรู้ ณ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ และค่อย ๆ ได้สำรวจ กลั่นกรอง และมองอย่างถี่ถ้วน การสะท้อนคิด (Reflection) แบบนี้จะมีประสิทธิภาพมาก ๆ หากได้รับการฝึกฝนอย่างดี และมีเวลามากพอสมควร แม้การสะท้อนคิด (Reflection) แบบนี้จะช่วยให้เรามองเห็นรายละเอียดได้มากขนาดไหนก็ตามและเราอยู่กับพื้นที่นี้มากเกินไปก็จะกลายเป็นการสนใจแต่รายละเอียด ละเลยประเด็นหลักที่สำคัญไปได้

การสะท้อนคิด (Reflection) ทั้ง 3 แบบเราจำเป็นต้องใช้งานด้วยกันในสัดส่วนที่พอดีและพอเหมาะ การครุ่นคิด ใคร่ครวญอยู่คนเดียว มันอาจจะทำให้อยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไปด้วยการมีเพื่อน ๆ มาร่วมสนทนาก็ช่วยให้เราปรับสมดุลเรื่องพวกนี้ให้ดียิ่งขึ้น และการจะยกระดับองค์ความรู้ให้มีประสิทธิภาพต้องพัฒนาเรื่องจิตใจไปพร้อมกัน ดังที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในหนังสือสุขภาวะองค์รวมแนวพุทธว่า “เราจะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีตัวกำกับอยู่ในแดนของจิตใจ” ดังนั้นการยกระดับองค์ความรู้ให้มีประสิทธิภาพต้องพัฒนาจิตใจให้มีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย

การสะท้อนคิด (Reflection) แบบที่อาจารย์ชัยวัฒน์เปรียบว่า “เหมือนกับการเปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้แสงแดดและสายลมพัดเข้าออกอย่างสะดวก เปรียบการนำพาตัวเองขึ้นไปบนเฮริคอปเตอร์และมองมันลงมาจากบนฝากฟ้า หรือเปรียบเหมือนการดำดิ่งลงสู่ห้วงมหาสมุทรเพื่อสำรวจทรัพยากรอันมีค่าใต้ท้องทะเล” ได้นั้น หากใจเรารก ๆ มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาทำให้หงุดหงิด รำคาญอยู่ตลอดเวลาก็คงไม่เกิดสภาวะแบบนี้ หรืออีกมุมลิงโลด ตื่นเต้น ดีใจ อยากรู้อยากเห็นซุกซนมากเกินไปเราก็อาจจะตั้งไว้ในสภาวะแบบนี้ได้ไม่นาน การสะท้อนคิด (Reflection) ให้คม ชัดเจน และลุ่มลึกจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องทำในสภาวะที่สบาย ๆ อยู่ในพื้นที่สบายของแต่ละบุคคล มีเวลาและความเงียบที่พอเหมาะพอดี และสำรวจเรื่องต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ให้ความสนใจ ใส่ใจในเรื่องราวต่าง ๆ รับรู้เรื่องภายนอก และความรู้สึกภายในไปพร้อม ๆ เมื่อทำได้แบบนี้ ฝึกแบบนี้อยู่บ่อย ๆ เราจึงจะค่อย ๆ ได้เรียนรู้ เก็บเกี่ยว และเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ

คำสำคัญ (Tags): #reflection
หมายเลขบันทึก: 718347เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2024 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2024 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท