ทุติยปลายิตชาดก


ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบเรื่องที่ ๒

ทุติยปลายิตชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๑๐. ทุติยปลายิตชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๓๐)

ว่าด้วยการขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบเรื่องที่ ๒

             (พระเจ้าคันธาระได้ตรัสสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า)

             [๑๕๙] ธงสำหรับรถของเรามากมายมีจำนวนมิใช่น้อย ถึงพลพาหนะก็กำหนดนับไม่ได้ ยากที่ศัตรูใดๆ จะครอบงำย่ำยีได้ ดุจสมุทรสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามพ้นได้ อนึ่ง กองทัพของเรานี้ก็ยากที่กองทัพอื่นจะครอบงำย่ำยีได้ ดุจภูเขาอันลมไม่สามารถจะพัดให้หวั่นไหวได้ วันนี้ เรานั้นมีกำลังเห็นปานนี้ ยากที่พระราชาเช่นท่านจะครอบงำย่ำยีได้

             (พระราชากรุงพาราณสีโพธิสัตว์ทรงขู่ขวัญพระเจ้าคันธาระว่า)

             [๑๖๐] ท่านอย่าพูดพร่ำเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนพาลไปเลย เพราะว่าพระราชาเช่นท่านไม่สามารถจะยึดเอาราชสมบัติได้ เพราะท่านถูกความเร่าร้อน แผดเผาอยู่เสมอ ดังนั้น จึงข่มขี่ครอบงำพระราชาเช่นเราไม่ได้ ท่านนั้นประดุจเข้าไปใกล้คชสารตกมันที่เที่ยวพล่านไปเพียงตัวเดียว ซึ่งจักบดขยี้ท่านให้แหลกลานเหมือนเหยียบย่ำพงอ้อให้เป็นจุรณไป

ทุติยปลายิตชาดกที่ ๑๐ จบ

กาสาววรรคที่ ๘ จบ

--------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ทุติยปลายิชาดก

ว่าด้วย คนถูกความเร่าร้อนเผาจนไม่อาจสู้ข้าศึกได้

               พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภปลายิปริพาชก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               แต่ในเรื่องนี้ปริพาชกนั้นเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร.
               ขณะนั้น พระศาสดาแวดล้อมด้วยมหาชน ประทับนั่งบนธรรมาสน์อันประดับประดาแล้ว แสดงธรรมดุจลูกสีหะแผดเสียงสีหนาทอยู่เหนือพื้นมโนสิลา. ปริพาชกเห็นพระรูปของพระทศพลมีส่วนสัดงามดังรูปพรหม พระพักตร์มีสิริฉายดังจันทร์เพ็ญ และพระนลาฏดังแผ่นทองคำ กล่าวว่าใครจักอาจเอาชนะบุรุษผู้อุดมมีรูปอย่างนี้ ได้หันกลับไม่ยอมเข้าหมู่บริษัทหนีไป. มหาชนไล่ตามปริพาชกแล้ว กลับมากราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระศาสดา.
               พระศาสดาตรัสว่า ปริพาชกนั้นเห็นพระพักตร์มีฉวีวรรณดังทองคำของเราหนีไปแล้วในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนก็ได้หนีไปแล้วเหมือนกัน ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระเจ้าคันธารราชพระองค์หนึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองตักกสิลา. พระเจ้าคันธารราชนั้นดำริว่าจะไปตีกรุงพาราณสี พรั่งพร้อมด้วยจตุรงคเสนา ยกทัพมาล้อมกรุงพาราณสีไว้ ประทับยืนใกล้ประตูนคร ทอดพระเนตรดูพลพาหนะของพระองค์ คิดว่าใครจะอาจเอาชนะพลพาหนะมีประมาณเท่านี้ได้. ได้กล่าวคาถาแรกสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า :-
               ธงสำหรับรถของเรามีมากมาย พลพาหนะของเราก็นับไม่ถ้วน แสนยากที่ศัตรูจะหาญหักเข้าสู้รบได้ ดุจสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามให้ถึงฝั่งได้ฉะนั้น
               อนึ่ง กองพลของเรานี้ยากที่กองพลอื่นจะหาญเข้าตีหักได้ ดุจภูเขาอันลมไม่อาจให้ไหวได้ฉะนั้น วันนี้เราประกอบด้วยกองพลเท่านี้ อันกองพลเช่นนั้นยากที่ศัตรูจะหาญหักเข้ารุกรานได้.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงแสดงพระพักตร์ของพระองค์ อันทรงสิริดุจจันทร์เพ็ญแก่พระเจ้าคันธารราชนั้น ทรงขู่ขวัญว่า พระราชาผู้เป็นพาล อย่าพร่ำเพ้อไปเลย บัดนี้เราจักบดขยี้พลพาหนะของท่านเสีย ให้เหมือนช้างซับมันเหยียบย่ำพงอ้อ ฉะนั้น
               ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ท่านอย่าพูดเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนโง่เขลาไปเลย คนเช่นท่านจะเรียกว่าผู้สามารถมิได้ ท่านถูกความเร่าร้อน คือราคะ โทสะ โมหะ และมานะเผารนอยู่เสมอ ไม่อาจจะกำจัดเราได้เลย จะต้องหนีเราไป กองพลของเราจักย่ำยีท่านหมดทั้งกองพล ดุจช้างเมามันขยี้ไม้อ้อด้วยเท้าฉะนั้น.
               ฝ่ายพระเจ้าคันธารราชได้สดับคำของพระโพธิสัตว์ตรัสขู่ขวัญฉะนี้แล้ว ทอดพระเนตรดู ทรงเห็นพระนลาฎเช่นกับแผ่นทองคำ กลัวจะถูกจับ พระองค์จึงหันกลับหนีคืนสู่นครของพระองค์.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พระเจ้าคันธารราชในครั้งนั้น ได้เป็นปริพาชกในครั้งนี้.
               ส่วนพระเจ้าพาราณสี คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาทุติยปลายิชาดกที่ ๑๐   

------------------------------            

 

หมายเลขบันทึก: 718343เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2024 04:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2024 04:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท