โกสิยชาดก


ว่าด้วย ผู้รู้กาลควรไม่ควร

โกสิยชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๖. โกสิยชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๒๖)

ว่าด้วยผู้รู้กาลควรไม่ควรเหมือนนกเค้า

             (บัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลข้อความนี้แก่พระราชาว่า)

             [๑๕๑] ขึ้นชื่อว่าการออกไปจากที่อยู่อาศัยในกาลอันสมควรเป็นการดี ส่วนการออกไปในกาลอันไม่สมควรไม่เป็นการดี เพราะว่าชนจำนวนมากที่เป็นศัตรูทำคนเพียงคนเดียว ที่ออกจากที่อยู่อาศัยโดยกาลอันไม่สมควร แล้วไม่ยังประโยชน์อะไรๆ ให้เกิดขึ้น ให้ถึงความพินาศ เหมือนหมู่นกกาทำลายนกเค้าตัวเดียวให้พินาศ

             [๑๕๒] นักปราชญ์รู้ซึ้งถึงวิธีการต่างๆ เข้าใจถึงช่องทางของคนเหล่าอื่น ทำพวกศัตรูทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจแล้ว พึงอยู่เป็นสุขเหมือนนกเค้าผู้ฉลาด

โกสิยชาดกที่ ๖ จบ

----------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

โกสิยชาดก

ว่าด้วย ผู้รู้กาลควรไม่ควร

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               พระเจ้าโกศลเสด็จออกในเวลาไม่สมควร เพื่อปราบปรามชายแดน.
               เรื่องนี้มี นัยดังที่กล่าวแล้ว ในหนหลังทั้งนั้น.
               ส่วนพระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพาราณสีเสด็จกรีฑาทัพออกในเวลาไม่สมควร ทรงยับยั้งกองทัพอยู่ที่อุทยาน ในกาลนั้น มีนกเค้าตัวหนึ่งเข้าไปซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ไผ่ ฝูงกาต่างมาล้อมไว้ด้วยคิดว่า จักจับนกเค้าตอนออก นกเค้าไม่คอยรอจนถึงพระอาทิตย์ตก จึงออกในกาลไม่สมควร พอขยับจะบินหนี ทีนั้นกาทั้งหลายจึงรุมกันจิกตีจนล่วงลง.
               พระราชาตรัสเรียกพระโพธิสัตว์แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนท่านบัณฑิต พวกกาเหล่านี้จิกตีนกเค้าตกลงด้วยเหตุใดหนอ. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า นกเค้าออกจากที่อยู่ของตนในกาลไม่สมควร จึงได้รับความทุกข์เห็นปานนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรออกจากที่อยู่ของตนในกาลไม่สมควร.
               เมื่อจะประกาศข้อความนี้ จึงกล่าวคาถาทั้งสองนี้ว่า :-
               การออกไปในเวลาอันสมควรเป็นความดี การออกไปในเวลาอันไม่สมควรไม่ดี เพราะว่าผู้ออกไปในเวลาไม่สมควร ย่อมไม่ยังประโยชน์อะไรให้เกิดได้ คนที่เป็นศัตรูเป็นอันมาก ย่อมทำอันตรายคนผู้ออกไปแต่ผู้เดียวในเวลาอันไม่สมควรได้ เหมือนฝูงการุมจิกนกเค้าฉะนั้น.
               นักปราชญ์รู้จักวิธีการต่างๆ เข้าใจช่องทางของคนเหล่าอื่น ทำพวกศัตรูทั้งมวลให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว พึงอยู่เป็นสุข เหมือนนกเค้าผู้ฉลาดฉะนั้น.
               ที่นั้นแล ชนเป็นอันมาก คือคนที่เป็นศัตรูเป็นอันมาก ล้อมคนๆ เดียวผู้ออกไป หรือก้าวไปในเวลาอันไม่สมควร ยังคนๆ เดียวให้ถึงความพินาศ เปรียบเหมือนฝูงกาจิกนกเค้าผู้ออกไป หรือก้าวไปในเวลาอันไม่สมควรให้ถึงมหาพินาศ ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น ให้ดูสัตว์เดียรฉานเป็นต้น ใครๆ ไม่ควรออกไป ไม่ควรก้าวไปจากที่อยู่ของตน ในเวลาอันไม่สมควร.
               ก็ผู้ใดแลเป็นบัณฑิต ย่อมรู้วิธีการอันเป็นส่วนของวิธี กล่าวคือประเพณีที่โบราณกบัณฑิตวางไว้ว่า ในกาลนี้ควรออกไป ควรก้าวไป ในกาลนี้ไม่ควรออกไป ไม่ควรก้าวไป หรือการจัดแจงวิธีนั้น ผู้นั้นชื่อว่ารู้จักวิธีการต่างๆ รู้ช่องทางของคนอื่น คือศัตรูของตน เหมือนนกเค้าผู้ฉลาดออกและก้าวไปโดยกาลอันสมควรของตน คือตอนกลางคืน จิกหัวกาซึ่งนอนอยู่ ณ ที่นั้นๆ ทำกาเหล่านั้นทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจของตน พึงอยู่เป็นสุขฉันใด แม้บัณฑิตออกไป ก้าวไปในกาลอันสมควรก็ฉันนั้น กระทำศัตรูของตนให้อยู่ในอำนาจ พึงมีความสุข ไม่มีทุกข์ ฉะนั้น.
               พระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้วเสด็จกลับ
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น อานนท์ ในครั้งนี้
               ส่วนอำมาตย์บัณฑิต คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาโกสิยชาดกที่ ๖               
               -----------------------------------------------------   

 

คำสำคัญ (Tags): #อำมาตย์บัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 718296เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2024 04:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2024 04:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท