กาสาวชาดก


ว่าด้วย ผู้ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

กาสาวชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๘. กาสาววรรค

หมวดว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์

๑. กาสาวชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๒๒๑)

ว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์

             (พญาช้างโพธิสัตว์ได้ติเตียนมนุษย์เข็ญใจที่นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ว่า)

             [๑๔๑] ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาด (กิเลสดุจน้ำฝาด ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) มักขะ (ความลบหลู่บุญคุณท่าน) ปลาสะ (การตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตะหนี่) มายา (ความเป็นคนเจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความถือตัว) อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความมัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง กรรมที่นำไปเกิดในภพทั้งปวง กิเลสพันห้า นี้เรียกว่า กิเลสดุจน้ำฝาด (น้ำย้อม)) ยังไม่หมดไป ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ผู้นั้นไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เลย

             [๑๔๒] ส่วนผู้ใดคลายกิเลสดุจน้ำฝาดได้แล้ว ตั้งมั่นด้วยดีในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลสมควรจะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์

กาสาวชาดกที่ ๑ จบ

----------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

กาสาวชาดก

ว่าด้วย ผู้ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               แต่เรื่องเกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์.
               สมัยหนึ่ง พระธรรมเสนาบดีอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ครั้งนั้น พระเทวทัตห้อมล้อมไปด้วยบริษัทผู้ทุศีลสมควรแก่ตนอยู่ ณ คยาสีสประเทศ. สมัยนั้น ชาวกรุงราชคฤห์เรี่ยไรกันจัดตระเตรียมทาน. ครั้งนั้น มีพ่อค้าผู้มาเพื่อทำการค้าขายผู้หนึ่ง ได้ให้ผ้ากาสาวะมีกลิ่นหอม มีค่ามาก ว่า ท่านทั้งหลายจงจำหน่ายผ้าสาฎกนี้แล้วให้เรามีส่วนบุญร่วมด้วยเถิด. ชาวพระนครถวายทานกันมากมาย. วัตถุทานทุกอย่างที่ร่วมใจกัน รวบรวมจัดครบเรียบร้อยแล้วด้วยกหาปณะทั้งนั้น. ผ้าสาฎกผืนนั้นจึงได้เหลือ. มหาชนประชุมกันว่า ผ้าสาฎกมีกลิ่นหอมผืนนี้เป็นของเกิน เราจะถวายผ้าผืนนั้นแก่รูปไหน เราจักถวายแก่พระสารีบุตร หรือแก่พระเทวทัต.
               ในมนุษย์เหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า จักถวายแก่พระสารีบุตรเถระ อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระสารีบุตรเถระอยู่ชั่ว ๒-๓ วันแล้วก็จะหลีกไปตามชอบใจ ส่วนพระเทวทัตอยู่อาศัยเมืองของเราแห่งเดียวเป็นประจำ ท่านองค์นี้แหละได้เป็นที่พึ่งของเราทั้งในงานมงคลและอวมงคล พวกเราจักถวายแก่พระเทวทัต. แม้พวกที่กล่าวกันไปหลายอย่างนั้น พวกที่กล่าวว่า เราจักถวายแก่พระเทวทัตมีมากกว่า. มหาชนจึงได้ถวายผ้านั้นแก่พระเทวทัต. พระเทวทัตให้ช่างตัดผ้ากาสาวะมีกลิ่นหอมนั้นออก แล้วให้เย็บเป็นสองชั้น ให้ย้อมจนมีสีดังแผ่นทองคำห่ม.
               ในกาลนั้น ภิกษุประมาณ ๓๐๐ รูป ออกจากกรุงราชคฤห์ไปยังกรุงสาวัตถี ถวายบังคมพระศาสดา พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารแล้ว ได้ทูลให้ทรงทราบเรื่องราว แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระเทวทัตห่มผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์อันไม่สมควรแก่ตนอย่างนี้.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตนุ่งห่มผ้ากาสาวะ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ อันไม่สมควรแก่ตนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้เมื่อก่อน เทวทัตก็นุ่งห่มแล้วเหมือนกัน ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลช้างที่ป่าหิมพานต์ ครั้นเติบใหญ่แล้วได้เป็นหัวหน้าโขลง มีช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือกเป็นบริวาร อาศัยอยู่ในราวป่า. ครั้งนั้นมีมนุษย์เข็ญใจผู้หนึ่งอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เห็นช่างกลึงงาที่ถนนช่างทำเครื่องงา กำลังทำเครื่องงาต่างๆ มีกำไลงาเป็นต้น จึงถามว่า ท่านได้งาช้างแล้วจักรับซื้อไหม. พวกช่างงาตอบว่า เรารับซื้อซิ. มนุษย์เข็ญใจนั้นรับว่า ตกลง จึงถืออาวุธนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด คลุมศีรษะยืนคอยอยู่ที่ทางช้างผ่าน ใช้อาวุธฆ่าช้างแล้วเอางามาขายที่เมืองพาราณสีเลี้ยงชีพ.
               ต่อมา คนเข็ญใจนั้นได้เริ่มฆ่าช้างบริวารของพระโพธิสัตว์ที่เดินล้าหลังช้างทั้งหมด เมื่อช้างขาดหายไปทุกวันๆ พวกช้างจึงแจ้งแก่พระโพธิสัตว์ว่า ช้างขาดหายไปด้วยเหตุอะไรหนอ. พระโพธิสัตว์คอยสังเกตดู ก็รู้ว่าบุรุษคนหนึ่งถือเพศอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้ายืนอยู่ที่ริมทางช้างผ่าน เจ้าคนนี้กระมังฆ่าช้าง เราจักคอยจับมัน. วันหนึ่งจึงให้พวกช้างเดินไปข้างหน้าตน ตนเองเดินไปข้างหลัง. มนุษย์เข็ญใจเห็นพระโพธิสัตว์จึงถืออาวุธตรงเข้าไป.
               พระโพธิสัตว์ถอยหลังกลับมายืนอยู่ คิดว่า จักจับฟาดดินให้ตาย จึงยื่นงวงออกเห็นผ้ากาสายะที่มนุษย์นั้นนุ่งห่มอยู่ คิดว่า ผ้ากาสายะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์นี้ เราควรทำความเคารพ จึงม้วนงวงหดกลับ แล้วกล่าวว่า นี่แน่ะเจ้าบุรุษ ผ้ากาสายะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์นี้ไม่สมควรแก่เจ้ามิใช่หรือ ไฉนเจ้าจึงห่มผ้าผืนนั้นเล่า ได้กล่าวคาถานี้ว่า
               ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ผู้นั้นย่อมไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดเลย.
               ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยทมะและสัจจะ ผู้นั้นแลย่อมสมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดได้.
               พระโพธิสัตว์กล่าวเหตุนี้แก่บุรุษนั้นอย่างนี้แล้ว ขู่ว่า ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่ามาที่นี่อีกเป็นอันขาด หากเจ้ามา เจ้าจะต้องตาย แล้วปล่อยให้หนีไป.

               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               บุรุษผู้ฆ่าช้างในครั้งนั้น ได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้
               ส่วนช้างผู้เป็นหัวหน้าโขลง คือ เราตถาคต นี้แล.


               จบ อรรถกถากาสาวชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------   

 

หมายเลขบันทึก: 718257เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2024 04:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2024 04:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท