จตุมัฏฐชาดก


ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกมีเหตุชั่วช้า ๔ ประการ

จตุมัฏฐชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๗. จตุมัฏฐชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๘๗)

ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกมีเหตุชั่วช้า ๔ ประการ

             (รุกขเทวดาโพธิสัตว์ได้ยินสุนัขจิ้งจอกสนทนากับพญาหงส์ว่า)

             [๗๓] ท่านทั้ง ๒ พากันขึ้นไปยังค่าคบไม้ อยู่ในที่ลับแล้วปรึกษากันบนต้นไม้สูง เชิญท่านลงมาปรึกษากันข้างล่างเถิด พญาเนื้อจะได้ฟังบ้าง

             (ในเวลาที่ลูกหงส์ ๒ ตัวรังเกียจสุนัขจิ้งจอกแล้วพากันบินกลับไป พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า)

             [๗๔] ครุฑกับครุฑพึงปรึกษากัน เทวดากับเทวดาพึงปรึกษากัน เรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า ๔ ประการ (คำว่า ชั่วช้า ๔ ประการ ได้แก่ (๑) รูปไม่งาม (๒) ชาติกำเนิดต่ำ (๓) เสียงไม่ไพเราะ (๔) ด้อยคุณธรรม) นี่สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า เจ้าจงเข้าโพรงไปเถิด

จตุมัฏฐชาดกที่ ๗ จบ

-----------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

จตุมัฏฐชาดก

ว่าด้วย ผู้เลวทราม ๔ อย่าง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               มีเรื่องได้ยินว่า วันหนึ่ง เมื่อพระอัครสาวกสองรูปนั่งสนทนา ปรารภการถามและการแก้ปัญหากัน พระแก่รูปหนึ่งไปหาท่านนั่งเป็นรูปที่สาม กล่าวว่า นี่ท่าน ผมจะถามปัญหากะท่าน แม้ท่านก็จงถามข้อสงสัยของตนกะผมบ้าง. พระเถระรังเกียจพระแก่นั้น ลุกหลีกไป. พวกบริษัทที่นั่งเพื่อจะฟังธรรมของพระเถระ จึงพากันไปเฝ้าพระศาสดา ในเวลาที่การประชุมล้มเลิกไป เมื่อพระองค์ตรัสถามว่า ทำไมพวกเธอมาผิดเวลา จึงกราบทูลเหตุนั้นให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรและโมคคัลลานะรังเกียจพระแก่นั้น ไม่พูดจาด้วยแล้วหลีกไป มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ก่อนก็พากันหลีกไป แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในราวป่า ครั้งนั้น ลูกหงส์สองตัวออกจากภูเขาคิชฌกูฏ จับที่ต้นไม้นั้นแล้วไปหาอาหาร เมื่อบินกลับก็พักอยู่ที่ต้นไม้นั้นเอง แล้วกลับไปภูเขาคิชฌกูฏ. เมื่อเวลาผ่านไป หงส์สองตัวก็มีความคุ้นเคยกับพระโพธิสัตว์ เมื่อบินผ่านไปมาต่างก็ชื่นชมสนทนาธรรมกันและกัน แล้วก็หลีกไป.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อหงส์ทั้งสองจับอยู่บนยอดไม้สนทนากับพระโพธิสัตว์ สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งยืนอยู่ใต้ต้นไม้นั้น เมื่อจะสนทนากับลูกหงส์เหล่านั้น จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
               ท่านทั้งสองพากันขึ้นไปบนค่าคบไม้อันสูง อยู่ในที่ลับแล้วปรึกษากัน เชิญท่านลงมาปรึกษากันในที่ต่ำเถิด พญาเนื้อจักได้ฟังบ้าง.
               ลูกหงส์ทั้งสองรังเกียจ จึงพากันบินไปภูเขาคิชฌกูฏ ในเวลาที่หงส์สองตัวกลับไป พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาที่ ๒ แก่สุนัขจิ้งจอกว่า :-
               ครุฑกับครุฑเขาปรึกษากัน เทวดากับเทวดาเขาพูดกันในเรื่องนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่สุนัขจิ้งจอก ผู้เลวทราม ๔ อย่าง (สรีระ ๑ ชาติ ๑ เสียง ๑ คุณ ๑) เล่า แน่ะสุนัขจิ้งจอกผู้ชาติชั่ว เจ้าจงเข้าโพลงไปเถิด.
               พระโพธิสัตว์ เมื่อจะติเตียนความไม่บริสุทธิ์ด้วยคำสรรเสริญ จึงกล่าวอย่างนี้ ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า สุนัขจิ้งจอกชั่วช้า คือลามกด้วยเหตุ ๔ ประการคืออะไร.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก.
               ภิกษุแก่ในครั้งนั้น ได้เป็น สุนัขจิ้งจอกในครั้งนี้
               ลูกหงส์สองตัวได้เป็น สารีบุตร และ โมคคัลลานะ
               ส่วนรุกขเทวดา คือ เราตถาคต นี้แล.

               จบ อรรถกถาจตุมัฏฐชาดกที่ ๗               
               -----------------------------------------------------        

 

หมายเลขบันทึก: 717881เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2024 05:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2024 05:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท