คิริทัตตชาดก


ว่าด้วยม้าเลียนแบบนายคิริทัตต์

คิริทัตตชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๔. คิริทัตตชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๘๔)

ว่าด้วยม้าเลียนแบบนายคิริทัตต์

             (อำมาตย์โพธิสัตว์ตรวจดูอาการของม้าพิการแล้ว กราบทูลพระราชาว่า)

             [๖๗] ม้ามงคลชื่อปัณฑวะของพระเจ้าสาม ถูกนายคิริทัตต์ประทุษร้ายแล้ว จึงละปกติเดิมของตน เลียนแบบนายคิริทัตต์นั้น

             (พระโพธิสัตว์กราบทูลให้หาคนเลี้ยงม้าที่ดีมาว่า)

             [๖๘] ถ้าคนประกอบด้วยอาการอันงดงามที่สมควรแก่ม้านั้น พึงจับม้านั้นที่บังเหียน แล้วจูงไปรอบๆ สนามม้าไซร้ ม้านั้นจะละอาการเขยกแล้วเลียนแบบคนเลี้ยงม้านั้นโดยพลัน

คิริทัตตชาดกที่ ๔ จบ

-----------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

คิริทัตตชาดก

ว่าด้วย การเอาอย่าง

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุคบพวกผิดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               เรื่องราวกล่าวไว้แล้วใน มหิฬามุขชาดก ในหนหลัง.
               แต่ในเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้คบพวกผิดมิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน ภิกษุนี้ก็คบพวกผิดเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่าสามะ ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ ครั้นเจริญวัย ก็ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระราชา. ก็พระราชามีม้ามงคลตัวหนึ่งชื่อปัณฑวะ. คนเลี้ยงม้าของพระองค์ชื่อคิริทัต เขามีขาพิการ. ม้าเห็นนายคิริทัตถือบังเหียนเดินไปข้างหน้า สำคัญว่า คนนี้สอนเราจึงเรียนตามเขากลายเป็นม้าขาพิการไป. นายคิริทัตจึงกราบทูลถึงความพิการของม้าให้พระราชาทรงทราบ. พระราชาจึงทรงส่งแพทย์ไปตรวจอาการ. พวกแพทย์ไปตรวจดูก็ไม่เห็นโรคในตัวม้า จึงกราบทูลพระราชาว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่พบโรคของม้า พระเจ้าข้า.
               พระราชาจึงทรงส่งพระโพธิสัตว์ไปว่า ท่านจงไปดูเหตุการณ์ของม้าในร่างกายนี้ พระโพธิสัตว์ไปตรวจดูก็รู้ว่า ม้านั้นพิการเพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาพิการ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา เมื่อจะแสดงให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้ เพราะโทษที่เกี่ยวข้องกัน
               จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
               ม้าชื่อปัณฑวะของพระเจ้าสามะ ถูกคนเลี้ยงชื่อคิริทัตประทุษร้าย จึงละปกติเดิมของตน ศึกษาเอาอย่างคนเลี้ยงม้านั่นเอง.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงรับสั่งถาม บัดนี้จะควรทำอย่างไรแก่ม้านั้น. พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ได้คนเลี้ยงม้าที่ดีแล้วจักเป็นเหมือนเดิม พระพุทธเจ้าข้า.
               แล้วกล่าวคาถาที่สองว่า :-
               ถ้าบุรุษผู้บริบูรณ์ด้วยอาการอันงดงามสมควรแก่ม้านั้น ตกแต่งร่างกายงดงาม จับจูงม้านั้นที่บังเหียนพาเวียนไปรอบๆ สนามม้า ไม่ช้าเท่าไร ม้าก็จะละความเป็นกระจอกเสีย ศึกษาเอาอย่างบุรุษนั้นทีเดียว.
               บุรุษนั้นตกแต่งผมและหนวดด้วยอาการอันน่ารัก คืองดงาม จะพึงจับม้านั้นที่บังเหียนจูงเดินเวียนไปในบริเวณของม้า ม้านี้จักละความพิการนี้เสียทันที จะเอาอย่าง คือสำเหนียกคนเลี้ยงม้า คือจักตั้งอยู่ในความเป็นปกติ โดยสำคัญว่า คนเลี้ยงม้าผู้น่ารัก ถึงพร้อมด้วยมารยาทนี้ ให้เราเอาอย่าง.
               พระราชารับสั่งให้ทำอย่างนั้น ม้าก็ตั้งอยู่ในความปกติ พระราชาทรงโปรดปรานว่า ท่านผู้นี้รู้อัธยาศัยแม้กระทั่งสัตว์เดียรัจฉาน จึงได้พระราชทานยศแก่พระโพธิสัตว์เป็นอันมาก.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
               คิริทัตในครั้งนั้นได้เป็น เทวทัต ในครั้งนี้
               ม้าได้เป็นภิกษุผู้คบพวกผิด
               พระราชาได้เป็น อานนท์
               ส่วนอำมาตย์บัณฑิต คือ เราตถาคต นี้แล.

               -----------------------------------------------------    

 

คำสำคัญ (Tags): #อำมาตย์บัณฑิต
หมายเลขบันทึก: 717861เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2024 05:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2024 05:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท