กัลยาณธัมมชาดก


ว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

กัลยาณธัมมชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๓. กัลยาณวรรค

หมวดว่าด้วยกัลยาณธรรม

๑. กัลยาณธัมมชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๗๑)

ว่าด้วยผู้มีกัลยาณธรรม

             (เศรษฐีโพธิสัตว์ทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชว่า)

             [๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน ในกาลใด บุคคลได้รับสมญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลก ในกาลนั้นนรชนผู้มีปัญญาไม่ควรให้ตนเสื่อมจากสมญานั้น ธรรมดาสัตบุรุษถือเอาสมญานั้นเป็นธุระสำคัญแม้ด้วยหิริ

             [๔๒] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน สมญาว่าผู้มีกัลยาณธรรมในโลก ข้าพระองค์ได้รับแล้วในวันนี้ ข้าพระองค์พิจารณาถึงสมญานั้นอยู่จักขอบวชในวันนี้ เพราะข้าพระองค์ไม่มีความพอใจในการบริโภคกามคุณในโลกนี้

กัลยาณธรรมชาดกที่ ๑ จบ

-------------------------
คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

กัลยาณธรรมชาดก

ว่าด้วย ผู้มีกัลยาณธรรม

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภแม่ผัวหูหนวกคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ความพิสดารมีอยู่ว่า ในกรุงสาวัตถีมีกุฎุมพีคนหนึ่ง เป็นคนมีศรัทธา เลื่อมใสถึงไตรสรณคมน์ ถือศีลห้า. วันหนึ่ง เขาถือเภสัชมีเนยใสเป็นต้นเป็นอันมาก กับดอกไม้ของหอมและผ้าเป็นต้น ไปด้วยคิดว่า จักฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาในพระวิหารเชตวัน. ในเวลาที่กุฎุมพีไป ณ ที่นั้น แม่ยายเตรียมของเคี้ยวของ บริโภคประสงค์จะเยี่ยมลูกสาว ได้ไปยังเรือนนั้น แต่แม่ยายหูค่อนข้างตึง ครั้นนางบริโภคร่วมกับลูกสาวอิ่มหนำสำราญแล้ว จึงถามลูกสาวว่า นี่ลูก ผัวของเองอยู่ด้วยความรักบันเทิงใจ ไม่ทะเลาะกันดอกหรือ. ลูกสาวพูดว่า แม่พูดอะไรอย่างนั้น คนที่เพียบพร้อมด้วยผัวและมารยาทเช่นลูกเขยของแม่ แม้บวชแล้วก็ยังหายาก. อุบาสิกาฟังคำลูกสาวไม่ถนัด ถือเอาแต่บทว่าบวชแล้วเท่านั้น จึงตะโกนขึ้นว่า อ้าวทำไม ผัวของเองจึงบวชเสียเล่า.
               บรรดาผู้อยู่เรือนใกล้เคียงทั้งสิ้น ได้ยินดังนั้น พากันพูดว่า เขาว่ากุฎุมพีของพวกเราบวชเสียแล้ว. บรรดาผู้ที่เดินผ่านไปมาทางประตู ได้ยินเสียงของคนเหล่านั้น จึงถามว่านั่นอะไรกัน. ชนเหล่านั้นตอบว่า เขาว่ากุฎุมพีในเรือนนี้บวชเสียแล้ว.
               ฝ่ายกุฎุมพีนั้น ครั้นสดับธรรมของพระทศพลแล้ว ก็ออกจากวิหารกลับเข้าเมือง. ขณะนั้น ชายคนหนึ่งพบเข้าในระหว่างทางจึงพูดว่า ข่าวว่าท่านบวช บุตรภรรยาบริวารในเรือนท่าน พากันร้องไห้คร่ำครวญ. ทันใดนั้น เขาได้ความคิดขึ้นมาว่า แท้จริงเรามิได้บวชเลย คนๆ นี้ว่าเราบวช เสียงดีเกิดขึ้นแล้ว เราไม่ควรให้หายไป เราควรจะบวชในวันนี้แหละ เขาจึงกลับจากที่นั้นทันที ไปเฝ้าพระศาสดา เมื่อรับสั่งถามว่า อุบาสก ท่านทำพุทธุปัฏฐากเพิ่งกลับไปเดี๋ยวนี้เอง ไฉนจึงมาเดี๋ยวนี้อีก จึงเล่าเรื่องถวายแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ธรรมดาเสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปเสีย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มีความประสงค์จะบวช จึงได้มา.
               ครั้นเขาบรรพชาอุปสมบทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               ได้ยินว่า เหตุการณ์นี้ปรากฏเลื่องลือไปในคณะสงฆ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลาย กุฎุมพีชื่อโน้นได้เกิดความคิดขึ้นว่า เสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปแล้ว จึงบรรพชา เวลานี้บรรลุพระอรหัตแล้ว. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนาเรื่องอะไรกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้บัณฑิตแต่ก่อนได้ความคิดว่า เสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้เสียไป จึงพากันบวชแล้ว ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้รับตำแหน่งเศรษฐี เมื่อบิดาถึงแก่กรรม. วันหนึ่ง เศรษฐีออกจากบ้านไปประกอบราชกรณียกิจ ครั้งนั้น แม่ยายของเศรษฐีได้ไปยังเรือนนั้นด้วยคิดว่า จักเยี่ยมลูกสาว แม่ยายนั้นค่อนข้างหูตึง.
               เรื่องทั้งหมดเหมือนกับเรื่องในปัจจุบัน.
               ชายคนหนึ่งเห็นเศรษฐีประกอบราชกรณียกิจเสร็จแล้ว กลับมาเรือน จึงพูดว่า ในเรือนของท่าน เกิดร้องไห้กันยกใหญ่ เพราะได้ข่าวว่า ท่านบวชเสียแล้ว.
               พระโพธิสัตว์ได้ความคิดขึ้นว่า ธรรมดาเสียงดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไปเสีย จึงกลับจากนั้นไปเฝ้าพระราชา เมื่อรับสั่งถามว่า ท่านมหาเศรษฐี ท่านเพิ่งไปเดี๋ยวนี้เอง ทำไมจึงกลับมาอีก จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ทั้งๆ ที่ ข้าพระองค์มิได้บวชเลย คนในเรือนโอดครวญกันพูดว่าบวชแล้ว เสียงดีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรให้หายไป ข้าพระองค์จักบวชละ ขอพระราชทานอนุญาตให้ข้าพระองค์บวชเถิด.
               เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า :-
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน กาลใด บุคคลได้สมัญญาในโลกว่า ผู้มีกัลยาณธรรม กาลนั้น นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงทำตนให้เสื่อมจากสมัญญานั้นเสีย สัตบุรุษทั้งหลายย่อมถือไว้ซึ่งธุระด้วยหิริ.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน สมัญญาว่า ผู้มีกัลยาณธรรมในโลกนี้ มาถึงข้าพระพุทธเจ้าแล้วในวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นสมัญญาอันนั้น จึงได้บวชเสียในคราวนี้ ความพอใจในการบริโภคในโลกนี้ มิได้มีแก่ข้าพระองค์เลย.

               พระโพธิสัตว์ ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงขอพระบรมราชานุญาตบรรพชา ไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก
               พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น อานนท์ ในครั้งนี้.
               ส่วนเศรษฐีกรุงพาราณสีในครั้งนั้น คือ เราตถาคต นี้แล.

               -----------------------------------------------------             

 

หมายเลขบันทึก: 717772เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2024 05:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2024 05:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท