อุปสาฬหกชาดก


สถานที่ไม่เคยมีคนตายไม่มีในโลก

อุปสาฬหกชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๖. อุปสาฬหกชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๖๖)

ว่าด้วยพราหมณ์อุปสาฬหกะ

             (พราหมณ์โพธิสัตว์ตอบปัญหาของมาณพ กำหนดด้วยปุพเพนิวาสญาณแล้วจึงกล่าวว่า)

             [๓๑] พราหมณ์ชื่ออุปสาฬหกะ จำนวน ๑๔,๐๐๐ คน ได้ถูกพวกญาติเผาในสถานที่นี้ สถานที่ไม่เคยมีคนตายไม่มีในโลก

             [๓๒] สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ และทมะมีอยู่ในผู้ใด พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลเช่นนั้น (เพราะ)คุณธรรมชื่อว่าไม่ตายในโลก

อุปสาฬหกชาดกที่ ๖ จบ

-----------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

อุปสาฬหกชาดก

ว่าด้วย คุณธรรมที่ไม่ตายไปจากโลก

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ผู้ถือความบริสุทธิ์ของป่าช้า ชื่ออุปสาฬหกะ.
               มีเรื่องได้ยินมาว่า พราหมณ์นั้นเป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก แต่เพราะค่าที่ตนเป็นคนเจ้าทิฏฐิ จึงมิได้ทำการสงเคราะห์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แม้ประทับอยู่ ณ พระวิหารใกล้ๆ แต่บุตรของเขาเป็นคนฉลาด มีความรู้. พราหมณ์บอกบุตรเมื่อตัวแก่เฒ่าว่า นี่แน่ลูก เจ้าอย่าเผาพ่อในป่าช้าที่เผาคนเฉาโฉด แต่ควรเผาพ่อในป่าช้าที่ไม่ปะปนกับใครๆ แห่งหนึ่ง. บุตรกล่าวว่า พ่อจ๋า ลูกไม่รู้จักที่ที่ควรเผาพ่อ ทางที่ดีพ่อพาลูกไปแล้ว บอกว่าให้เผาตรงนี้. พราหมณ์พูดว่า ดีละลูก แล้วพาบุตรออกจากเมืองขึ้นไปยังยอดเขาคิชฌกูฏ กล่าวว่า ลูกตรงนี้แหละเป็นที่ที่ไม่เคยเผาคนเฉาโฉดอื่น. ลูกควรเผาพ่อตรงนี้แล้ว ก็เริ่มลงจากภูเขาพร้อมกับลูก.
               ในวันนั้นเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูเผ่าพันธุ์ผู้ที่ควรโปรด ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยโสดาปัตติมรรคของพ่อลูกนั้น เพราะฉะนั้น จึงทรงถือเอาทางนั้นเสด็จไปยังเชิงภูเขา ดุจพรานชำนาญทาง ประทับนั่งรอพ่อลูกลงจากยอดเขา. พ่อลูกลงจากภูเขาได้เห็นพระศาสดา. พระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถาร ตรัสถามว่า จะไปไหนกันพราหมณ์. มาณพกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น มาเถิด เราจะไปยังที่ที่บิดาของเจ้าบอก ทรงพาพ่อลูกทั้งสองขึ้นสู่ยอดเขา ตรัสถามว่า ที่ตรงไหนเล่า. มาณพกราบทูลว่า บิดาของข้าพระองค์บอกว่า ระหว่างภูเขาสามลูกนี่แหละ พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนมาณพ บิดาของเจ้ามิใช่ถือความบริสุทธิ์แห่งป่าช้า ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน บิดาของเจ้าก็ถือความบริสุทธิ์แห่งป่าช้า อนึ่ง บิดาคนนี้บอกเจ้าว่า จงเผาเราตรงนี้แหละ มิใช่เวลานี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็บอกที่สำหรับเผาตน ในที่นี้เหมือนกัน.
               เมื่อเขากราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ที่กรุงราชคฤห์นี้แหละ ได้มีพราหมณ์ชื่ออุปสาฬหกะคนเดียวกันนี้แหละ และบุตรของเขาก็คนเดียวกันนี้. ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ แคว้นมคธ ครั้นจบศิลปศาสตร์แล้ว จึงออกบวชเป็นฤๅษี ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิด เพลิดเพลินอยู่ด้วยฌานกรีฑา อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลาช้านาน แล้วจึงไปพักอยู่ ณ บรรณศาลาใกล้ภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อเสพของเค็มของเปรี้ยว.
               ในครั้งนั้น พราหมณ์นั้นได้บอกกะบุตรทำนองเดียวกันนี้แหละ เมื่อบุตรกล่าวว่า พ่อจงบอกที่เช่นนั้นแก่ลูกเถิด. แล้วบอกที่นี้แหละ แล้วลงไปพบพระโพธิสัตว์พร้อมกับบุตร ได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ถามทำนองเดียวกันนี้แหละ ครั้นฟังคำของมาณพแล้ว จึงกล่าวว่า มาเถิด เราจะรู้ว่าที่ที่บิดาเจ้าบอกปะปนหรือไม่ปะปน แล้วพาบิดาและบุตรขึ้นไปยอดภูเขา เมื่อมาณพกล่าวว่า ระหว่างภูเขาสามลูกนี้แหละ เป็นที่ไม่ปะปน จึงตอบว่า ดูก่อนมาณพ ในที่นี้แหละ ไม่มีปริมาณของผู้ที่ถูกเผา บิดาของเจ้านั่นเองเกิดในตระกูลพราหมณ์ เมืองราชคฤห์นี้แหละ ชื่ออุปสาฬหกะอย่างเดียวกัน ถูกเผาในระหว่างภูเขานี้มาแล้วถึงหมื่นสี่พันชาติ. อันที่จริง สถานที่ที่ไม่ถูกเผาก็ดี สถานที่ที่ไม่ใช่ป่าช้าก็ดี สถานที่ที่ศีรษะไม่ทอดลงก็ดี ไม่อาจหาได้ในแผ่นดิน แล้วกำหนดด้วยญาณอันรู้ถึงภพของสัตว์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อน (บุพเพนิวาสญาณ)
               จึงกล่าวสองคาถาว่า :-
               พราหมณ์ชื่อว่า อุปสาฬหกะทั้งหลาย ถูกญาติทั้งหลายเผาเสียในประเทศนี้ ประมาณหมื่นสี่พันชาติแล้ว สถานที่อันใครๆ ไม่เคยตายแล้ว ย่อมไม่มีในโลก.
               สัจจะ ธรรม อหิงสา สัญญมะ และทมะมีอยู่ในบุคคลใด พระอริยะทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลนั้น คุณชาตินี้แลชื่อว่าไม่ตายในโลก.
               พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่สองพ่อลูกอย่างนี้แล้ว เจริญพรหมวิหารสี่ มุ่งต่อพรหมโลก.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก.
               เมื่อจบสัจธรรม พ่อลูกทั้งสองตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               พ่อลูกในครั้งนั้น ได้เป็นพ่อลูกในบัดนี้.
               ส่วนดาบสคือ เราตถาคต นี้แล.

--------------------------

 

คำสำคัญ (Tags): #ดาบสโพธิสัตว์
หมายเลขบันทึก: 717712เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2024 04:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2024 04:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท