นกุลชาดก


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาอำมาตย์สองคนเหล่านี้ มิใช่เราทำให้สามัคคีกันในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เราก็ได้ทำให้คนเหล่านี้สามัคคีกันเหมือนกัน

นกุลชาดก 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. นกุลชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๖๕)

ว่าด้วยพังพอน

             (ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นพังพอนกลับมา จึงกล่าวว่า)

             [๒๙] นี่เจ้าพังพอนผู้เกิดในครรภ์ ท่านเชื่อมสัมพันธ์กับงูที่เป็นศัตรู ยังจะนอนแยกเขี้ยวอยู่ ภัยนั้นมีมาแต่ไหนหนอ

             (พังพอนตอบว่า)

             [๓๐] ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงโคนราก

นกุลชาดกที่ ๕ จบ

----------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

นกุลชาดก

ว่าด้วย อย่าวางใจมิตร

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการทะเลาะของเสณี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               เรื่องราวเหมือนกับที่กล่าวไว้แล้วใน อุรคชาดก ในหนก่อน.
               แม้ในเรื่องนี้ พระศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาอำมาตย์สองคนเหล่านี้ มิใช่เราทำให้สามัคคีกันในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อน เราก็ได้ทำให้คนเหล่านี้สามัคคีกันเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีต มาตรัสเล่า.
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ ในบ้านแห่งหนึ่ง ครั้นเจริญวัย ได้เรียนศิลปะทุกแขนงในกรุงตักกสิลา สละเพศฆราวาสออกบวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิด มีรากไม้และผลาผลในป่าเป็นอาหาร โดยการเที่ยวแสวงหา พำนักอยู่ในหิมวันตประเทศ.
               ท้ายสุดที่จงกรมของพระโพธิสัตว์ มีพังพอนอาศัยอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้จอมปลวกนั้น มีงูอาศัยอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง งูและพังพอนทั้งสองก็ทะเลาะกันตลอดกาล. พระโพธิสัตว์กล่าวถึงโทษในการทะเลาะกัน และอานิสงส์ในการเจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งสองนั้น แล้วสอนว่า ไม่ควรทะเลาะกัน ควรอยู่กันด้วยความสามัคคี ได้ทำให้สัตว์ทั้งสองนั้นสามัคคีกัน. ครั้นถึงเวลาที่งูออกไปข้างนอก พังพอนก็นอนอ้าปากหันหัวไปทางช่องโพลงจอมปลวก ท้ายที่จงกรมหายใจเข้าออกหลับไป.
               พระโพธิสัตว์เห็นพังพอนนั้นนอนหลับ เมื่อจะถามว่า ภัยอะไรเกิดขึ้นแก่เจ้า จึงกล่าวคาถาแรกว่า :-
               ดูก่อนพังพอน ท่านได้ทำมิตรภาพกับงูผู้เป็นศัตรู ไฉนจึงยังนอนแยกเขี้ยวอยู่อีกเล่า ภัยที่ไหนจะมาถึงแก่ท่านอีก.
               พระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พังพอนจึงบอกว่า พระคุณเจ้า ขึ้นชื่อว่าศัตรูไม่ควรดูหมิ่น ควรระแวงไว้เสมอ แล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               บุคคลพึงระแวงภัยในศัตรูไว้ แม้ในมิตรก็ไม่ควรวางใจ ภัยเกิดขึ้นแล้วจากมิตร ย่อมตัดมูลรากทั้งหลายเสีย.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้สอนพังพอนนั้นว่า เจ้าอย่ากลัวเลย เราได้กระทำโดยที่ไม่ให้งูทำร้ายเจ้าแล้ว ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้ระแวงงูนั้นเลย แล้วสอนให้เจริญพรหมวิหารสี่ มุ่งต่อพรหมโลก แม้สัตว์เหล่านั้นก็ไปตามยถากรรม.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุมชาดก
               งูและพังพอนในครั้งนั้น ได้เป็นมหาอำมาตย์สองคน ในบัดนี้.
               ส่วนดาบส คือ เราตถาคต นี้แล.

               ------------------------------------------ 

 

คำสำคัญ (Tags): #ฤๅษีโพธิสัตว์
หมายเลขบันทึก: 717692เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2024 05:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2024 05:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท