สูกรชาดก


หมูท้าราชสีห์

สูกรชาดก 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๓. สูกรชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๕๓)

ว่าด้วยสุกรท้าราชสีห์

             (สุกรเมื่อจะท้าราชสีห์โพธิสัตว์ให้ต่อสู้กัน จึงกล่าวว่า)

             [๕] นี่สหาย เราก็มี ๔ เท้า ถึงท่านก็มี ๔ เท้า จงกลับมาก่อนสหาย ท่านกลัวหรือ จึงได้หนีไป

             (ราชสีห์โพธิสัตว์กล่าวตอบว่า)

             [๖] นี่เจ้าสุกรผู้สหาย เจ้ามีเนื้อตัวไม่สะอาด ขนก็เหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นคลุ้งกระจายไป ถ้าเจ้าต้องการจะสู้รบกับเรา เราขอยกชัยชนะให้เจ้า

สูกรชาดกที่ ๓ จบ

-----------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

สูกรชาดก

ว่าด้วย หมูท้าราชสีห์

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระเถระแก่รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
               ในวันหนึ่ง เมื่อการฟังธรรมยังเป็นไปอยู่ในตอนกลางคืน เมื่อพระศาสดาประทับยืน ณ แผ่นหินแก้วมณี ใกล้ประตูพระคันธกุฎี ประทานสุคโตวาทแก่หมู่ภิกษุ แล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฎี พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้ไปยังบริเวณของตน พระมหาโมคคัลลานะก็ไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน พักอยู่ครู่หนึ่งจึงมาหาพระเถระ แล้วถามปัญหา พระธรรมเสนาบดีได้แก้ปัญหาที่พระมหาโมคคัลลานะถามแล้วๆ ได้ทำให้ชัดเจน ดุจทำพระจันทร์ให้ปรากฏบนท้องฟ้า แม้บริษัทสี่ก็นั่งฟังธรรมอยู่.
               ณ ที่นั้น พระเถระแก่รูปหนึ่งคิดว่า หากเราจะเย้าพระสารีบุตร ถามปัญหาในท่ามกลางบริษัทนี้ บริษัทนี้รู้ว่า ภิกษุนี้เป็นพหูสูต ก็จักกระทำสักการะและยกย่อง จึงลุกขึ้นจากระหว่างบริษัทเข้าไปหาพระเถระยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสสารีบุตร ข้าพเจ้าจักถามปัญหาข้อหนึ่งกะท่าน ขอจงให้โอกาสแก่เราบ้าง ขอท่านจงให้การวินิจฉัยแก่ข้าพเจ้า โดยอ้อมก็ตาม โดยตรงก็ตาม ในการติเตียนก็ตาม ในการยกย่องก็ตาม ในการวิเศษก็ตาม ในการไม่วิเศษก็ตาม.
               พระเถระแลดูพระแก่นั้นแล้วคิดว่า หลวงตานี่ตั้งอยู่ในความริษยา โง่ ไม่รู้อะไรเลย จึงไม่พูดกับพระแก่นั้น ละอายใจวางพัดวีชนี ลงจากอาสนะเข้าไปยังบริเวณ แม้พระมหาโมคคัลลานเถระก็ได้เข้าไปยังบริเวณของตนเหมือนกัน. พวกมนุษย์พากันลุกขึ้นประกาศว่า พวกท่านจงจับพระแก่ใจร้ายนี้ ไม่ให้พวกเราได้ฟังธรรมอันไพเราะ แล้วก็พากันติดตามไป พระเถระนั้นหนีไปตกในวัจจกุฏีเต็มด้วยคูถซึ่งมีไม้เลียงหักพังท้ายวิหาร ลุกขึ้นมาทั้งที่เปื้อนคูถ.
               พวกมนุษย์เห็นดังนั้นพากันรังเกียจ ได้ไปเฝ้าพระศาสดา.
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นมนุษย์เหล่านั้น จึงตรัสถามว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมนอกเวลา. พวกมนุษย์พากันกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ.
               พระศาสดาตรัสว่า อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ภิกษุแก่นี้ผยอง ไม่รู้กำลังของตน ทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมาก แล้วก็เปื้อนคูถ มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนภิกษุแก่นี้ก็เคยผยองไม่รู้กำลังของตน ทำทัดเทียมกับผู้มีกำลังมาก แล้วก็เปื้อนคูถ.
               เมื่ออุบาสกอุบาสิกาทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า
               ครั้งอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์อาศัยอยู่ในถ้ำภูเขา ใกล้หิมวันตประเทศ. ในที่ไม่ไกลภูเขานั้น มีสุกรเป็นอันมากอาศัยสระแห่งหนึ่งอยู่ พระดาบสทั้งหลายก็อาศัยสระนั้น อยู่บนบรรณศาลา
               อยู่มาวันหนึ่ง ราชสีห์ฆ่าสัตว์มีกระบือและช้างเป็นต้นตัวใดตัวหนึ่ง เคี้ยวกินเนื้อจนเพียงพอแล้ว ลงไปยังสระนั้นดื่มน้ำขึ้นมา. ขณะนั้น สุกรอ้วนตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหารอยู่แถวสระนั้น. ราชสีห์เห็นสุกรอ้วนตัวนั้น จึงคิดว่า สักวันหนึ่งเราจักกินเจ้าสุกรตัวนี้ แต่มันเห็นเราเข้าจะไม่มาอีก เพราะกลัวมันจะไม่กลับมา จึงขึ้นจากสระหลบไปเสียข้างหนึ่ง. สุกรมองดูราชสีห์คิดว่า ราชสีห์นี้พอเห็นเราเข้าก็ไม่อาจจะเข้าใกล้เพราะกลัวเรา จึงหนีไปเพราะความกลัว. วันนี้ เราควรจะต้องต่อสู้กับราชสีห์นี้ แล้วชูหัวร้องเรียกราชสีห์ให้มาต่อสู้กัน กล่าวคาถาแรกว่า :-
               ดูก่อนสหาย เราก็มี ๔ เท้า แม้ท่านก็มี ๔ เท้า จงกลับมาสู้กันก่อนเถิดสหาย ท่านกลัวหรือจึงหนีไป.
               ราชสีห์ได้ฟังคำท้าของสุกรนั้น จึงกล่าวว่า ดูก่อนสหายสุกร วันนี้เราไม่สู้กับท่าน แต่จากนี้ไป ๗ วัน จงมาสู้กันในที่นี้แหละ แล้วก็หลีกไป. สุกรรื่นเริงเบิกบานใจว่า เราจักได้สู้กับราชสีห์ จึงเล่าเรื่องนั้นให้พวกญาติฟัง พวกญาติสุกรฟังแล้วพากันตกใจกลัวพูดขึ้นว่า เจ้าจะพาพวกเราทั้งหมดให้ถึงความฉิบหายกันคราวนี้แหละ เจ้าไม่รู้จักกำลังของตัวจะหวังสู้กับราชสีห์ ราชสีห์จักมาทำให้เราทั้งหมดถึงแก่ความตาย เจ้าอย่าทำกรรมอุกอาจนักเลย.
               สุกรสะดุ้งตกใจกลัวถามว่า คราวนี้เราจะทำอย่างไรดีเล่า พวกสุกรต่างพากันพูดว่า นี่แน่ะสหาย เจ้าจงไปในที่ถ่ายอุจจาระของพวกดาบสเหล่านี้ แล้วเกลือกตัวเข้าที่คูถเหม็น รอให้ตัวแห้งสัก ๗ วัน ถึงวันที่ ๗ จงเกลือกตัวให้ชุ่มด้วยน้ำค้าง แล้วมาก่อนราชสีห์มา จงสังเกตทางลม แล้วยืนอยู่เหนือลม ราชสีห์เป็นสัตว์สะอาดได้กลิ่นตัวเพื่อนแล้ว จักให้เพื่อนชนะแล้วกลับไป.
               สุกรอ้วนได้ทำตามนั้น ในที่วันที่ ๗ ได้ไปยืนอยู่ ณ ที่นั้น. ราชสีห์ได้กลิ่นตัวมันเข้า ก็รู้ว่าตัวเปื้อนคูถ จึงกล่าวว่า ดูก่อนเพื่อนสุกร ท่านคิดชั้นเชิงดีมาก หากท่านไม่เปื้อนคูถ เราจักฆ่าท่านเสียตรงนี้แหละ แต่บัดนี้ เราไม่อาจกัดตัวท่านด้วยปาก เหยียบตัวท่านด้วยเท้าได้ เราให้ท่านชนะแล้ว จึงกล่าวคาถาที่สองว่า :-
               ดูก่อนสุกร เจ้าเป็นสัตว์สกปรก มีขนเหม็นเน่า มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป
               ดูก่อนสหาย หากท่านประสงค์จะสู้กับเรา เราก็จะให้ชัยชนะแก่ท่าน.

               ราชสีห์ ครั้นกล่าวว่า เราแพ้แล้ว เจ้าไปเสียเถิดดังนี้ แล้วก็กลับจากที่นั้น เที่ยวแสวงหาอาหาร ดื่มน้ำในสระ เสร็จแล้วก็กลับเข้าถ้ำภูเขาตามเดิม. แม้สุกรก็บอกแก่พวกญาติว่า เราชนะราชสีห์แล้ว. พวกสุกรเหล่านั้นพากันตกใจกลัวว่า ราชสีห์จะกลับมาสักวันหนึ่งอีก จักฆ่าพวกเราตายหมด จึงพากันหนีไปอยู่ที่อื่น.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดก.
               สุกรในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุแก่ในครั้งนี้
               ส่วนราชสีห์ได้เป็น เราตถาคต นี้แล.

               -----------------------------------------------------  

 

คำสำคัญ (Tags): #ราชสีห์
หมายเลขบันทึก: 717553เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2024 04:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2024 04:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท