Green Economy กับการพัฒนาที่ยังยืน


 

Green Economy กับการพัฒนาที่ยั่งยืน

เศรษฐกิจสีเขียวหรือ (Green Economy)  เกิดจากปัญหาของภาวะโลกร้อน หรือ Global warming ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ก๊าซเหล่านี้ทำหน้าที่ดักจับความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ดังนั้น ในราวปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) จึงเกิดเป็น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อจะมีเป้าหมายในการลดอุหณภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ.2533) แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมากว่า 20 ปีก็ดูเหมือนว่าความพยายามขององค์การสหประชาชาติยังไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุสำคัญ คือ ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ นอกจากยังไม่สนใจในการช่วยลดอุณหภูมิของโลกแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) องค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลก จึงผลักดันเรื่อง Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจโลกไปสู่ทิศทางของการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ

 

หลักการของการพัฒนาระบบ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และความเท่าเทียมทางสังคม โดยสามารถลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทรัพยากร และระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จึงเป็นความพยายามในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ ไปพร้อมๆกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทดแทนการแสวงหาผลประโยชน์จากกำไรเพียงอย่างเดียว และลดการดำเนินกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง และก่อมลพิษ 

   
 

 

โดยการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้องตั้งอยู่บนฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน คำนึงถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ และพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการใช้ทรัพยากร ทั้งยังต้องการป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศให้คงสภาพ

 

องค์การสหประชาชาติเริ่มผลักดันการพัฒนาภายใต้แนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว” ตามโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ขึ้นในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) โดยมีเป้าหมายให้ระบบเศรษฐกิจสีเขียว นำไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ และความเป็นธรรมทางสังคม อยู่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้นำเรื่องของ เศรษฐกิจสีเขียว บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ระหว่างปี พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2570) ในหมุดหมายที่ 10 สะท้อนว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยยังไม่เข้าใกล้จุดวิกฤติ แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากกิจกรรมที่เกิดจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ยังจำเป็นต้องปรับกระบวนวิธีการจัดการในรูปแบบใหม่ ขณะที่ปัญหาขยะและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และธรรมชาติยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน แต่ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่13 ก็มีความมุ่งหวังในการผลักดันเรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดการลดก๊าซเรือนกระจกลงในทุกภาคส่วน โดยรัฐมีเป้าหมายที่สำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดล การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

   
 

 

หัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว อันดับแรกจำเป็นต้องสร้างสำนึกที่สำคัญของคนทั้งสังคม คือ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ถือเป็นหัวใจแรกของการขับเคลื่อน  หัวใจที่สองของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว หมายถึง การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว
  2. การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจสีเขียว ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากร และลดการปล่อยมลพิษ
  3. ระบบเศรษฐกิจสีเขียวมุ่งเน้นการลดการปล่อยมลพิษจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติ และสุขภาพของมนุษย์
  4. ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ต้องมีเป้าหมายของการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลาย เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในธรรมชาติ และสร้างความสมดุลของระบบนิเวศในสังคม

 

 

เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเป้าหมายของการพัฒนารัฐในยุคใหม่ของทั้งวันนี้และอนาคตของสังคมโลก ด้วยหลักการและเหตุผลที่กล่าว ดังนั้น ความมุ่งหวังสู่ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จำเป็นต้องมีแนวคิดอย่างเป็นรูปธรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นระบบใน 4 ด้าน ดังนี้

 

  1. การใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากปัจจุบันพลังงานส่วนใหญ่มาจากการใช้ฟอสซิล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุสำคัญของสภาวะเรือนกระจก และการสร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์ ในปัจจุบันมีข้อจำกัดมากมายในการเชื่อมต่อกับพลังงานหลักที่กำกับดูแลโดยรัฐ ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างให้เป็นพลังงานที่ประชาชนทุกคนสามารถสร้างการเชื่อมต่อกับพลังงานหลักที่ควบคุมโดยรัฐได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งทางด้านพลังงานของประเทศ และยังเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชน หรือผู้บริโภครายเล็กได้เข้าถึงพลังงานราคาต่ำ ได้โดยเท่าเทียมกัน
   
 
  1. การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาความสมดุล ระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การให้บริการ และการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
   
 
  1. การอนุรักษ์พลังงาน เช่น การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ จำเป็นต้องควบคุมการใช้การบำบัดอย่างเป็นระบบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานและการดำเนินชีวิตตามหลักการ 3 R ( Reduce Reuse Recycle)  และสิ่งที่สำคัญคือรัฐจำเป็นต้องมีกฎหมายที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง

   
 
  1. สนับสนุนการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียวผ่านการใช้จ่ายสาธารณะของภาครัฐ กำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ ผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างภาษี กฎระเบียบ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการขององค์การสหประชาชาติ ส่งเสริมการพัฒนาทุนธรรมชาติที่เป็นสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นแหล่งที่มาของผลประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนยากจน คนชนบทที่มีอาชีพและการดำรงชีวิตอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ

จากปัญหาภาวะโลกที่มีอัตราเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากสภาวะเรือนกระจกตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น   ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติที่กระตุ้นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม นั่นคือทิศทางและเป้าหมายสู่ความสำเร็จของความเป็นรัฐสมัยใหม่

 

Carbon Footprint กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว

 

Carbon Footprint คือ ดัชนีชี้วัดสำคัญในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ธรรมชาติ

Carbon Footprint ใน 2 รูปแบบ คือ       

1. Carbon Footprint ที่มีผลต่อกระบวนการผลิตสินค้า (อุตสาหกรรม และบริการ)

          2. Carbon Footprint ที่มีผลต่อการบริหารกิจกรรมขององค์กร

Carbon Footprint ใน 2 ภาคส่วนคือ      

  1. Carbon Footprint กับการพัฒนาองค์กรปกครองภาครัฐ
  2. Carbon Footprint กับการพัฒนาองค์กรภาคเอกชน

Carbon Credit สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือสิทธิที่เกิดจากกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กร

 

ภาสกร   อรรถสิษฐ

 

หมายเลขบันทึก: 717359เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2024 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2024 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท