กลัณฑุกชาดก


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง

กลัณฑุกชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๗. กลัณฑุกชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๒๗)

ว่าด้วยชาติกำเนิดของนายกลัณฑุกะ

             (ลูกนกแขกเต้าโพธิสัตว์กล่าวเตือนทาสกลัณฑุกะว่า)

             [๑๒๗] เราเที่ยวอยู่ในป่ายังรู้ชาติกำเนิดของเจ้าได้ นายของเจ้าทราบแน่ชัดแล้วต้องจับเจ้าไป เจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มนมสดเสียเถิด

กลัณฑุกชาดกที่ ๗ จบ

--------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

เอกกนิบาตชาดก กุสนาฬิวรรค

๗. กลัณฑุกชาดก ว่าด้วยสกุลของนายกลัณฑุกะ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มักโอ้อวดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               เรื่องแม้ทั้งสองในชาดกนั้น ก็เช่นเดียวกันกับ กฏาหกชาดก นั้นแหละ.
               แต่ในชาดกนี้ ทาสของพาราณสีเศรษฐีผู้นี้ มีชื่อว่า กลัณฑุกะ. ในเวลาที่เขาหนีไปครอบครองธิดาของปัจจันตเศรษฐี อยู่ด้วยบริวารเป็นอันมาก. พาราณสีเศรษฐี แม้จะให้คนเที่ยวสืบหา ก็ไม่รู้ที่ที่เขาไป จึงส่งนกแขกเต้าผู้อยู่กับตนไปว่า ไปเถิด ไปสืบหากลัณฑุกะให้ทีเถิด. ลูกนกแขกเต้าเที่ยวไปเรื่อยๆ จนถึงนครนั้น.
               ในกาลนั้น กลัณฑุกะประสงค์จะเล่นน้ำ ให้คนถือเอาดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้กับขาทนียะและโภชนียะ เป็นอันมากไปสู่แม่น้ำ นั่งเรือกับเศรษฐีธิดาเล่นน้ำอยู่ ก็ในประเทศถิ่นฐานนั้น เมื่อเจ้านายใหญ่โต เล่นกีฬาในน้ำจะดื่มนมสด แกล้มด้วยเภสัชที่มีรสเข้ม เพราะเหตุนั้น เมื่อพวกนั้นเล่นน้ำตลอดวัน ความหนาวก็ไม่เบียดเบียนได้. แต่กลัณฑุกะนี้ถือถ้วยนมสดบ้วนปาก แล้วถ่มนมสดนั้นทิ้งเสีย แม้เมื่อจะถ่มทิ้ง ก็ไม่ถ่มลงในน้ำ ถ่มลงบนหัวของเศรษฐีธิดาอีกด้วย.
               ฝ่ายลูกนกแขกเต้าบินถึงฝั่งแม่น้ำ ก็เกาะอยู่ที่กิ่งมะเดื่อกิ่งหนึ่ง ค้นดู ก็จำกลัณฑุกะได้ เห็นกำลังถ่มรดศีรษะธิดาเศรษฐีอยู่ ก็กล่าวว่า แน่ะ เจ้าทาสกลัณฑุกะชาติชั่ว จงสำนึกถึงชาติกำเนิด แลพื้นเพของตนบ้างเถิด อย่าเอานมสดมาล้างปากแล้วถ่มรดศีรษะเศรษฐีธิดาผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ จำเริญด้วยความสุขเลย ช่างไม่รู้ประมาณตนเลยนะ.
               แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :-
               “ สกุลของเจ้าไม่ใช่สกุลสูง เราผู้เที่ยวอยู่ในป่าก็ยังรู้ได้ นายของเจ้าทราบแน่แล้ว ก็พึงจับเจ้าไป. ดูราเจ้ากลัณฑุกะ เจ้าจงดื่มน้ำนมเสียเถิด ” ดังนี้.

               ฝ่ายกลัณฑุกะเล่าก็จำลูกนกแขกเต้าได้ ด้วยความกลัวว่า มันพึงเผยเรื่องของเรา จึงเชิญว่า มาเถิดนาย ท่านมาเมื่อไรเล่า?
               แม้นกแขกเต้าเล่าก็รู้ว่า เจ้านี่ไม่ได้เรียกเราด้วยความปรารถนาดี แต่มีความประสงค์จะบิดคอเราให้ตาย จึงกล่าวว่า เราไม่มีธุระกับเจ้า. ดังนี้แล้ว โดดจากที่นั้นไปสู่พระนครพาราณสี เล่าเรื่องราวตามที่ตนเห็นมาให้ท่านเศรษฐีฟังโดยพิสดาร.
               ท่านเศรษฐีคิดว่า มันทำไม่สมควรเลย จึงลงอาชญาแก่เขา นำตนมาสู่พระนครพาราณสีตามเดิม แล้วใช้สอยอย่างทาสสืบไป.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               กลัณฑุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็น ภิกษุนี้
               ส่วนพาราณสีเศรษฐีได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               ----------------------------------------------------- 

 

คำสำคัญ (Tags): #พาราณสีเศรษฐี
หมายเลขบันทึก: 717315เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2024 04:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2024 04:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท