อสิลักขณชาดก


ว่าด้วยเหตุอย่างเดียวคนได้ผลต่างกัน

อสิลักขณชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๖. อสิลักขณชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๑๒๖)

ว่าด้วยผู้รู้ลักษณะดาบ

             (พระราชาทรงพระสรวลต่อพราหมณ์ ได้ตรัสบอกเหตุที่พระองค์ทรงจามแล้วได้พระราชธิดาและได้ราชสมบัติว่า)

             [๑๒๖] เหตุการณ์อย่างเดียวกันนั้นนั่นแหละเป็นผลดีแก่คนหนึ่ง แต่กลับเป็นผลร้ายแก่อีกคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เหตุการณ์อย่างเดียวกันนั้นนั่นแหละ มิใช่จะเป็นผลดีไปทั้งหมด หรือมิใช่จะเป็นผลร้ายไปทั้งหมด

อสิลักขณชาดกที่ ๖ จบ

--------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

เอกกนิบาตชาดก กุสนาฬิวรรค

๖. อสิลักขณชาดก ว่าด้วยเหตุอย่างเดียวคนได้ผลต่างกัน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพราหมณ์ผู้ตรวจลักษณะดาบของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้ :-
               ได้ยินว่า พราหมณ์นั้น ในเวลาที่พวกช่างเหล็กนำดาบมาถวายพระราชา ก็สูดดมดาบ แล้วชี้ถึงลักษณะดีชั่วของดาบ. เขาได้ลาภจากมือของช่างดาบพวกใด ก็กล่าวดาบของช่างพวกนั้นว่า สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ประกอบด้วยมงคล ไม่ได้จากมือของช่างพวกใด ก็ติเตียนดาบของช่างพวกนั้นว่า อัปลักษณ์.
               ครั้งนั้น ช่างดาบคนหนึ่งกระทำดาบ แล้วใส่พริกป่นอย่างละเอียดในฝัก นำดาบมาถวายพระราชา. พระราชารับสั่งหาพราหมณ์มา ตรัสว่า ท่านจงพิจารณาดูดาบทีเถิด. เมื่อพราหมณ์ชักดาบออกมาดม พริกป่นเข้าจมูก ทำให้เกิดอยากจามขึ้น. เมื่อพราหมณ์กำลังจามอยู่นั่นแหละ จมูกก็ถูกคมดาบบาดขาดเป็นสองชิ้น. ข้อที่พราหมณ์นั้นจมูกขาด รู้กันทั่วในหมู่สงฆ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายพากันยกเรื่องขึ้นสนทนาในโรงธรรมว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ได้ยินว่า พราหมณ์ผู้ตรวจลักษณะดาบของพระราชา ดูลักษณะดาบ เลยทำให้จมูกขาดไปเสียแล้ว.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว.
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พราหมณ์นั้นดมดาบถึงจมูกขาด แม้ในกาลก่อน ก็เคยถึงจมูกขาดมาแล้ว.
               ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี. พระองค์ได้มีพราหมณ์ผู้ตรวจลักษณะดาบเหมือนกัน. เรื่องทุกอย่างก็เช่นเดียวกันกับเรื่องปัจจุบันนั้นแล.
               แปลกแต่ว่า พระราชาได้พระราชทานหมอแก่พราหมณ์ ให้รักษาจนยอดจมูกหายเป็นปกติ ให้ทำจมูกเทียมด้วยครั่งใส่แทน แล้วทรงตั้งพราหมณ์เป็นข้าเฝ้าตำแหน่งเดิมนั่นแหละ.
               ก็พระเจ้าพาราณสีไม่มีโอรส มีแต่พระธิดาองค์หนึ่งกับพระราชภาคิไนย. พระองค์ทรงเลี้ยงพระราชธิดาและพระราชภาคิไนย ไว้ในสำนักของพระองค์ทีเดียว เมื่อพระราชธิดาและพระราชภาคิไนยทรงจำเริญร่วมกันมา ต่างฝ่ายต่างมีพระทัยปฏิพัทธ์กัน.
               ฝ่ายพระราชาตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมา รับสั่งว่า หลานของเราจักได้เป็นเจ้าของราชสมบัตินี้เพียงผู้เดียว เราจักยกธิดาให้เขา แล้วทำการอภิเษกกันเลยทีเดียว แล้วทรงพระดำริใหม่ว่า หลานของเราก็คงเป็นญาติของเราโดยประการทั้งปวง เราจักนำราชธิดาอื่นมาให้เขาแล้วทำการอภิเษก ยกธิดาของเราให้แก่พระราชาองค์อื่น ด้วยอุบายวิธีนี้ ญาติของเราจักเป็นเจ้าของราชสมบัติทั้งสองพระนคร.
               ท้าวเธอทรงปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลาย รับสั่งว่า ควรจะแยกคนทั้งสองนั้นเสีย แล้วรับสั่งให้ พระราชภาคิไนยประทับในตำหนักหนึ่ง พระราชธิดาประทับในตำหนักหนึ่ง. พระราชภาคิไนยและพระราชธิดาทั้งคู่นั้นมีพระชนม์ถึง ๑๖ พรรษาด้วยกันแล้ว ยิ่งมีพระทัยปฏิพัทธ์ต่อกันยิ่งนัก.
               พระราชกุมารทรงพระดำริว่า ด้วยอุบายอย่างไรเล่าหนอ เราจึงจะอาจพาธิดาของเสด็จลุง ออกจากพระราชวังได้ เห็นว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง จึงรับสั่งเรียกหญิงแม่มดผู้ใหญ่เข้ามาเฝ้า ประทานสิ่งของมีค่าพันกหาปณะแก่นาง.
               เมื่อนางกราบทูลถามว่า จะให้หม่อมฉันทำอะไร?
               จึงรับสั่งว่า แม่เจ้า เมื่อท่านทำการในวันนี้ เรื่องที่ชื่อว่าไม่สำเร็จ ไม่มี. ท่านจงอ้างเหตุอะไรๆ ก็ได้ ทำให้เสด็จลุงของฉัน พาธิดาออกจากพระราชวังให้จงได้ ก็แล้วกัน.
               หญิงแม่มดรับคำว่า สำเร็จ เพคะ. หม่อมฉันจะเข้าเฝ้าพระราชา แล้วจักทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ กาฬกรรณีกำลังกุมพระธิดาอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ไม่มีทางที่มันจะหันกลับไปแล้ว (อย่างอื่น) หม่อมฉันขอพาพระธิดาขึ้นรถไปในวันโน้น จัดบุรุษถืออาวุธจำนวนมากตามไปด้วย ไปสู่ป่าช้าด้วยบริวารเป็นอันมาก ให้มนุษย์ที่ตายแล้วนอนเหนือเตียงในป่าช้า อยู่เบื้องล่างของตั่งอันเป็นมณฑลพิธี ให้พระราชธิดาประทับนั่งเหนือเตียงชั้นบน ให้ทรงสรงสนานด้วยน้ำหอมประมาณ ๑๕๐ หม้อ ยังตัวกาฬกรรณีให้ลอยไป
               ครั้นหม่อมฉันกราบทูลอย่างนี้แล้ว จักพาพระราชธิดาไปป่าช้าได้ ในวันที่พวกหม่อมฉันจะไปป่าช้านั้น พระองค์ก็ถือเอาพริกป่นหน่อยหนึ่ง แวดล้อมด้วยผู้คนถืออาวุธของพระองค์ ขึ้นไปสู่ป่าช้าเสียก่อน หยุดรถไว้ที่ประตูป่าช้าด้านหนึ่งก่อน ให้พวกคนที่ถืออาวุธ เข้าไปในป่าช้าเสีย พระองค์เองเสด็จไปสู่แท่นพิธีมณฑลในป่าช้า ทำเป็นคนตายที่ที่เขาคลุมไว้ บรรทมอยู่.
               หม่อมฉันมาถึงที่นั้น ก็จักวางเตียงคล่อมพระองค์ไว้ ยกพระราชธิดาขึ้นวางไว้บนเตียง ขณะนั้นพระองค์ก็เอาพริกป่นใส่พระนาสิก ก็จะทรงจามสอง-สามครั้ง ในเวลาที่พระองค์ทรงจาม หม่อมฉันจะละพระราชธิดาไว้ แล้วหนีไป ตอนนั้นพระองค์จงยังพระราชธิดาให้สรงสนานพระเศียร แม้พระองค์เองก็สรงสนานพระเศียรเสียด้วย แล้วพาพระธิดาไปสู่ตำหนักของพระองค์.
               พระราชกุมารรับสั่งว่า อุบายเหมาะจริง ดีแท้ๆ.
               ฝ่ายหญิงแม่มดก็ไปกราบทูลความนั้นแด่พระราชา พระราชาทรงรับสั่งอนุญาต แล้วไปทูลความนั้นให้พระราชธิดาทรงทราบไว้ แม้พระราชธิดาก็รับคำ.
               ในวันที่จะออกไป หญิงแม่มดให้สัญญาณแก่พระกุมาร แล้วไปสู่ป่าช้าด้วยบริวารจำนวนมาก กล่าวขู่เพื่อให้เกิดความกลัวแก่พวกมนุษย์ที่อารักขาว่า ในเวลาที่เราวางพระธิดาลงบนเตียง คนตายที่อยู่ใต้เตียงจักจาม และครั้นแล้วจะลุกออกจากใต้เตียง เห็นผู้ใดก่อนจักจับผู้นั้นไป พวกท่านพึงระวังตัวให้ดี อย่าประมาท.
               พระราชกุมารไปถึงก่อนแล้วบรรทมอยู่ที่นั้น โดยนัยดังกล่าวแล้ว แม่มดใหญ่อุ้มพระธิดาขึ้น เดินไปสู่แท่นมณฑล กราบทูลปลอบว่า หม่อมแม่อย่ากลัวเลย ให้สัญญาณแล้ววางลงบนเตียง.
               ขณะนั้น พระราชกุมารก็เอาพริกป่นใส่จมูกจามขึ้น พอพระราชกุมารจามขึ้นเท่านั้น แม่มดใหญ่ก็ละพระราชธิดาไว้ ร้องเสียงดังลั่น หนีไปก่อนคนทั้งหมด พอแม่มดใหญ่หนีไปแล้ว ก็ไม่มีใครแม้คนเดียว จะชื่อว่าสามารถรั้งรออยู่ได้ ทุกคนต่างทิ้งอาวุธที่ถือมา พากันหนีไปสิ้น.
               พระราชกุมารทำทุกอย่างตามที่ปรึกษาตกลงกันไว้ แล้วพาพระราชธิดาไปสู่นิเวศน์ของพระองค์. หญิงแม่มดไปกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา.
               พระราชาทรงพระดำริว่า แม้โดยปกติเล่า เราก็เลี้ยงนางไว้เพื่อยกให้แก่เธออยู่แล้ว ก็เป็นเหมือนทิ้งเนยใสลงในข้าวปายาส จึงทรงรับรอง ในเวลาต่อมาก็ทรงมอบราชสมบัติแด่พระภาคิไนย ทรงตั้งพระราชธิดาเป็นมหาเทวี พระภาคิไนยก็ได้อยู่ร่วมสมัครสังวาสกับพระราชธิดานั้น ครองราชสมบัติโดยธรรม.
               พราหมณ์ผู้ตรวจลักษณะดาบ ก็ได้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์.
               อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์เข้าเฝ้าพระราชา ยืนเฝ้าสวนดวงอาทิตย์ ครั่งละลายจมูกเทียมตกลงที่พื้น พราหมณ์ต้องยืนก้มหน้าด้วยความละอาย ครั้งนั้น พระราชาทรงพระสรวลพราหมณ์ ตรัสว่า ท่านอาจารย์ อย่าได้คิดเลย ธรรมดา การจามได้เป็นผลดีแก่คนหนึ่ง เป็นผลร้ายแก่คนหนึ่ง ท่านจามจมูกขาด ส่วนฉันจามได้ธิดาของเสด็จลุง แล้วได้ราชสมบัติ.
               แล้วตรัสพระคาถานี้ ความว่า :-
               “ เหตุอย่างเดียวกันนั่นแหละ เป็นผลดีแก่คนหนึ่ง แต่กลับเป็นผลร้ายแก่อีกคนหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น เหตุอย่างเดียวกัน มิใช่ว่า จะเป็นผลดีไปทั้งหมด และมิใช่ว่าจะเป็นผลร้ายไปทั้งหมด ” ดังนี้.
               พระราชาทรงนำเหตุการณ์นั้นมาด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้ ทรงกระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น แล้วเสด็จไปตามยถากรรม.
               พระศาสดาทรงประกาศความที่แห่งความดี ความชั่วที่โลกสมมติกันแล้ว เป็นการไม่แน่นอนด้วยพระเทศนานี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า
               พราหมณ์ผู้ตรวจลักษณะดาบในครั้งนั้น ได้มาเป็นพราหมณ์ผู้ตรวจลักษณะดาบ ในครั้งนี้
               ส่วนพระราชาผู้เป็นภาคิไนยในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               -----------------------------------------------------         

 

หมายเลขบันทึก: 717308เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2024 04:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2024 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท