ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (15) แก่งคุดคู้ ตำนานแห่งเชียงคาน


ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (15) แก่งคุดคู้ ตำนานแห่งเชียงคาน

แก่งคุดคู้ จุดชมวิวแม่น้ำโขง และแหล่งซื้อขายของฝากเชียงคาน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านน้อย ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ห่างจากตัวเมืองเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแก่งหินขนาดใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ตัวแก่งกว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบๆใกล้ฝั่งไทยเท่านั้น เวลาที่เหมาะจะไปเที่ยวชมคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน และสามารถเดินลงไปเพื่อสัมผัสริมน้ำโขงอย่างใกล้ชิด

แก่งคุดคู้จึงเปรียบได้กับสถานที่ตากอากาศของคนเชียงคาน รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความงามตามธรรมชาติของลำน้ำโขงที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ทอดยาวขนานไปกับสองฝั่งไทย -ลาว และในช่วงที่น้ำลดจะเห็นเกาะแก่งน้อยใหญ่ โดยมีภูเขาใหญ่ชื่อ "ภูควายเงิน" ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเกี่ยวกับความเป็นมาของเกาะแก่งในลำน้ำโขง ที่เรียกว่า " แก่งคุดคู้ "

ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า นานมาแล้วมีพรานป่าผู้หนึ่งมีชื่อว่า "จึ่งขึ้งดั่งแดง"  มีรูปร่างสูงใหญ่ล่ำสัน เวลานอนตะแคงสูงเท่าเด็ก 5 ขวบ รูจมูกใหญ่เห็นชัดมาก เด็กๆสามารถเข้าไปวิ่งเล่นในรูจมูกได้  คนโบราณเล่าว่า บางครั้งมีเสียงเหมือนฟ้าร้องครืนๆนั้น ไม่ใช่เสียงฟ้าแต่เป็นเสียงเด็กวิ่งเล่นในรูจมูกของนายพราน
(คำว่า จึ่งขึ้ง เป็นภาษาถิ่นภาคอีสาน หมายถึง มีลักษณะใหญ่ มีสีแดงสดใสสมบูรณ์ หรือ สีแดงเข้ม ส่วนคำว่า ดั่ง หมายถึง จมูก)

นายพรานจึ่งขึ้งมีฝีมือในการล่าสัตว์ วันหนึ่งนายพรานตามล่าควายเงินมาจากหลวงพระบาง ควายเงินนี้ถ่ายมูลออกมาเป็นเงิน จึงเรียกว่า ควายเงิน ครั้นมาถึงริมแม่น้ำโขงเห็นควายเงินพักกินน้ำ นายพรานจึงดักซุ่มยิง ขณะนั้นมีชาวบ้านแล่นเรือผ่านมา ควายเงินตกใจตื่นเตลิดขึ้นไปบนเขาลูกหนึ่ง ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่า "ภูควายเงิน" นายพรานจึงยิงพลาดไปถูกเขาอีกลูกหนึ่งจนพังทลายลงมาซีกหนึ่ง กลายเป็นหน้าผาสูงชัน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "ภูผาแบ่น "

นายพรานโกรธชาวบ้านที่แล่นเรือผ่านซึ่งเป็นต้นเหตุให้ควายเงินหนีไปได้ จึงกลั่นแกล้งด้วยการขนหินมาขวางกั้นลำโขงไม่ให้เดินเรือได้ นายพรานเกือบจะทำสำเร็จอยู่แล้ว พอดีมีสามเณรรูปหนึ่งมาเห็นเข้า เณรจึงออกอุบายหลอกให้นายพรานใช้ไม้เฮี๊ยะ ไม้ไผ่ชนิดหนึ่งนำมาผ่าซีก สำหรับหาบหินแทน ไม้เฮียะเมื่อผ่าแล้วจะเป็นสันคม เมื่อนายพรานใช้หาบหิน ไม้นั้นก็หักบาดคอจนตาย นอนคุดคู้อยู่ที่ริมโขงนั้นเอง แก่งหินนั้นจึงเรียกว่า  ”แก่งคุดคู้ "

ผลจากการที่นายพรานขนหินมาวางขวางกลางลำน้ำโขง เกิดเป็นเกาะแก่งหลายแห่ง มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น แก่งฟ้า แก่งจันทร์ เป็นต้น แก่งเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางในลำน้ำโขงมาแต่โบราณ แต่ก็เป็นบริเวณที่มีปลาเข้ามาอยู่อาศัยอย่างชุกชุม

ณ จุดชมวิวแก่งคุดคู้ได้จัดสร้างรูปปั้นนายพราน จึ่งคึ่งดั้งแดงในอิริยาบถต่างๆ ตลอดจนภาพวาดและเรื่องราวในตำนานของแก่งคุดคู้ ท่ามกลางสวนพักผ่อน บริเวณรอบๆแก่งจะมีร้านอาหาร และร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของเชียงคาน เช่น ผ้าขาวม้าเชียงคานที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม และ"มะพร้าวแก้ว" ของฝากขึ้นชื่อของเชียงคาน ซึ่งมีวางจำหน่ายอยู่หลายร้าน

มะพร้าวแก้ว ของฝากขึ้นชื่อของเชียงคานมีให้เลือกซื้อ 3 แบบ คือ 
1. มะพร้าวแก้วแบบดั้งเดิม ทำจากมะพร้าวทึนทึก เก็บไว้ได้นาน ไม่ต้องเก็บในตู้เย็น  มักจะทำเป็น 3 สี คือ ขาว เขียวและชมพู สีสันสดใส มีความกรุบกรอบ เคี้ยวเพลิน

2. มะพร้าวอ่อนแก้ว เกรด A ทำจากเนื้อมะพร้าวอ่อน ส่วนที่อยู่ติดกะลา ซึ่งจะมีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ราคาจึงสูงที่สุด มีให้เลือก 2 แบบคือ สีขาวธรรมชาติและสีเขียวใบเตย

3. มะพร้าวอ่อนแก้ว เกรด B ทำจากเนื้อมะพร้าวอ่อน โดยใช้ส่วนที่อยู่ติดกับน้ำมะพร้าว ซึ่งจะแข็งกว่าส่วนที่อยู่ติดกะลาเล็กน้อย ราคาจึงถูกกว่า มะพร้าวแก้วเกรด A เล็กน้อย มีให้เลือก 2 แบบ คือสีขาวธรรมชาติและสีเขียวใบเตย มะพร้าวอ่อนแก้วทั้งเกรด AและB ควรเก็บในตู้เย็น

มะพร้าวแก้วเชียงคานเป็นสินค้า OTOP ที่ไม่ควรพลาด ชอบแบบไหนก็เลือกซื้อเลือกชิมตามชอบ แต่ต้องขอเตือนว่าอย่าซื้อน้อย เพราะของเขาอร่อยจริงค่ะ

ขอขอบคุณ

  • หน่อยทัวร์ ท่องเที่ยว ผู้จัดทริป "ภูเรือ-เชียงคาน หนาวสะท้านใจ " จัดทริปดีๆ ให้มาท่องเที่ยวสัมผัสสายลมหนาวที่จังหวัดเลย หนาวสุดในสยาม
     
  • มิตรภาพดีๆระหว่างเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน ทำให้ทริปนี้สนุกสนานประทับใจ
     
  • บันทึกต่อไป …ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (16) แซ่บอีหลี ที่ภูเรือไก่ย่าง

หมายเลขบันทึก: 717204เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2024 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2024 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท