[บันทึกที่ 2] สะท้อนความคิด (Reflection) จากวงสนทนา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา


วุ่นวายกับเรื่องนั้นเรื่องนี้มาหลายวัน วันนี้ได้มีเวลาได้นิ่ง ๆ กับตัวเองเลยมานั่งเขียน Reflection จากวงสนทนากับพี่ ๆ และอาจารย์ของพวกเราเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา วงสนทนาในวันนั้นมีเรื่องราวมากมายที่เราได้คุยกันตลอด 5 ชั่วโมงเต็ม แต่จะให้เขียนออกมาทั้งหมดคงไม่ไหวแน่ ๆ ในบันทึกนี้เลยขอเขียนแค่ประเด็นที่เราสนใจจากวงสนทนาในวันนั้นไว้ละกันนะ และในประเด็นอื่น ๆ เดี๋ยวค่อย ๆ เขียนเก็บตกตามอีกที

 

คราวนี้ว่าเราได้เขียน Reflection ความรู้สึกของเราที่อยู่ในวงสนทนานั้นไว้ใน Facebook ส่วนตัว และอยากนำมารวมไว้ในบันทึกนี้ด้วยเพราะมันเป็นหนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราในวงสนทนา และเพื่อเป็นการปูพื้นให้ได้เห็นและสัมผัสถึงความสัมพันธ์และพลังงานดี ๆ ที่ไหลเวียนในวงสนทนาวันนั้นด้วย

 

... my mentoring community …

.

เป็นสุขทุกครั้งที่ได้ไปอยู่ในพื้นที่ บรรยากาศ และกัลยาณมิตร เป็นพูดคุยกันอย่างเข้มข้ม ลึกซึ้ง สนุกสนาน และปิดท้ายด้วยความปิติตลอด 5 ชั่วโมงเต็ม

.

ในพื้นที่การสนทนาที่เต็มไปความรักและความอบอุ่น มีสภาวะความเงียบเป็นครั้งคราวช่วยให้เกิดพื้นที่การใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง และดีให้กับพี่ตี๋ที่ได้รับของขวัญชิ้นพิเศษ ได้กลับมาสู่เชื่อมโยงกับความตั้งใจเบื้องลึกได้อีกครั้ง ขณะเดียวกันการสะท้อนของพี่พริ้งช่วยให้เราค่อย ๆ เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น รับความรู้สึกในเรื่องราวและของวงได้ชัดเจนขึ้น เรื่องราวที่อาจารย์ชัยวัฒน์เล่าไม่ใช่เพื่อองค์ความรู้ แต่คือการเติมเชื้อเพลิงแห่งความตั้งใจให้ลุกโชติขึ้น คำถามที่มาพร้อมด้วยความเมตตา ช่วยฉายภาพขยายมุมมองต่อประเด็นและเรื่องราว ทำให้เห็นบริบทที่ชัดเจนตามไปด้วย

ตัวเราก็ได้เก็บเกี่ยวประเด็นที่น่าสนใจ (เขียนหัวข้อคร่าว ๆ ไว้ในรูปสุดท้าย เดี๋ยวคงได้ค่อย ๆ เขียนออกมา) และหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ ประเด็นช่วยให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นจริง ขอบคุณพื้นที่ ขอบคุณบทสนทนา และขอบคุณพี่ ๆ ผู้เป็นกัลยาณมิตรทั้งที่อยู่ในวงสนทนาเมื่อวานนี้ และทุกคน ๆ นะครับ แม้ไม่ได้มาร่วม แต่รับรู้ได้ว่าทุกคนอยู่ร่วมกัน

.

เอาหละจากนี้จะเข้าสู่การสะท้อนคิด (Reflection) ในประเด็นที่เราสนใจและเก็บเกี่ยวได้จากการสนทนาในวันนั้นแล้วนะ โดยเราเองสนใจใน 4 ประเด็น คือ

  1. การได้ค้นพบความตั้งใจของตนเอง
  2. พลังแห่งถ้อยคำที่นำไปสู่การปฏิการที่มีพลัง
  3. การเดินทางบนเส้นทางแห่งประสบการณ์จริง
  4. การส่งไม้ต่อให้คนในรุ่นถัดไป

ประเด็นที่ 1 การได้ค้นพบความตั้งใจของตนเอง

ก่อนที่เราจะไปรวมตัวกันที่บ้านของอาจารย์ อาจารย์ก็มาเล่าเรื่องขำ ๆ ของการซื้อหนังสือแต่ได้มาแค่หน้าปกและเล่าที่มาคร่าว ๆ ให้พวกเราได้ฟังในพวกเราได้ฟังใน Line Group : Retreat and Reflection แล้วรอบหนึ่ง เมื่อไปถึงที่บ้านของอาจารย์ แกก็เล่าขยายเรื่องราวของหนังสือเล่มในนี้ให้เราได้ฟังอีกครั้งหนึ่งว่าหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญอย่างไร และได้เล่าถึงความรู้สึกรัก เคารพ และผูกพันกันระหว่างอาจารย์ปรีดี พนมยงค์กับตัวอาจารย์ชัยวัฒน์เอง โดยหนังสือที่อาจารย์พูดถึงชื่อว่า “ชาติคงมีอยู่”

ชื่อหนังสือนี้ทำให้เราเกิดคำถามขึ้นในใจว่า “แล้วอะไรที่ยังคงมีอยู่ในหัวใจของเรานะ” คำถามนี้ดูเหมือนแค่การนำชื่อหนังสือมาตั้งคำถามต่อ แต่สำหรับเรามันไม่ใช่เพียงแค่นั้น คำถามนี้มันนำพาเราให้เกิดการสืบค้นลงไปมากกว่านั้นเยอะมาก เพราะสำหรับเราแล้วคำถามคงไม่ต่างอะไรกับการถามว่า “อะไรที่แก่นแกน / ปณิธาน / เจตจำนง / ความตั้งใจของชีวิตเรากันแน่นะ”

เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสคุยกับพี่ชายคนหนึ่งตอนแรกแกตั้งใจจะมาคุยกับเราเพื่อมาสำรวจดูว่าแกจะสามารถจัดโครงการอย่างไรต่อไปได้ในทรัพยากรที่แกมีอยู่ แต่เมื่อคุยกันไปเรื่อย ๆ ก็ค่อย ๆ เริ่มพบความตั้งใจลึก ๆ ของแกเองว่าแท้จริงแล้ว แกต้องทำอะไรกันแน่ เราแอบสังเกตว่าในช่วงก่อนที่แกจะไ้พบกับคำตอบว่าตั้งใจทำอะไร กับหลังจากที่แกได้คำตอบแล้ว เราสัมผัสถึงพลังงานและความรู้สึกที่ต่างไปจากเดิม และพบความสนุกสนานและความเป็นไปได้ใหม่มากมาย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ ในเรื่องของการได้ค้นพบความตั้งใจ / ปณิธาน หรือเจตจำนงในการทำงานนั้น ๆ

คราวลองดูในมุมมองกว้างขึ้นไปอีก… การที่เราจะค้นพบความตั้งใจ / ปณิธาน หรือเจตจำนงของชีวิตนั้นมันไม่ใช่แค่มานั่งคิด นอนคิดตอบคำถามเท่านั้น หลายครั้งเลยนะเวลาพูดถึงเรื่องความตั้งใจ เรามักจะติดกับการตอบคำถามด้วยชุดคำพูดและความเคยชินเดิม ๆ ของตัวเราเอง เราไม่ได้สืบค้นลงให้ลึกไปว่าแท้จริงแล้วเราตั้งใจจะทำอะไรกันแน่ ดังนั้นการได้หยุด ทบทวนกับคำถามที่ว่า “แล้วอะไรที่ยังคงมีอยู่ในหัวใจของเรานะ” หรือ “อะไรที่แก่นแกน / ปณิธาน / เจตจำนง / ความตั้งใจของชีวิตเรากันแน่นะ” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ และอาศัยเวลา การสังเกต และการทบทวนชีวิตอย่างละเอียดและลึกซึ้งในหลายมิติ

ดังที่เราได้ยินเรื่องราวของอาจารย์ชัยวัฒน์ที่มีความเคารพ รัก และศรัทธาในตัวอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากร และคณะเสรีไทย จนกระทั่งค้นพบปณิธานของตัวอาจารย์เองที่ตั้งใจเป็นผู้สืบทอดเจตจำนงของบรรพชน เราเชื่อว่าการค้นพบความตั้งใจอันนี้ของอาจารย์ไม่ใช่แค่การได้เจอคนดี คนเก่งและทำตามพวกเขาไปเรื่อย ๆ และอยู่ ๆ ก็ได้รับคำตอบทันทีอย่างแน่นอน มันต้องมีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้อาจารย์ได้ค้นพบความตั้งใจสำคัญนี้

สำหรับเราแล้ว… การได้ย้อนกลับมามองวิถีชีวิตความเป็นเราอย่างชัดเจนว่า “เราเป็นใคร” “มาจากไหน” “มีวิถีชีวิตอย่างไร” “บริบทรอบตัวเราเป็นอย่างไร” “ชีวิตของเรารายลอมไปด้วยผู้แบบไหน” และอื่น ๆ มันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราได้ค่อย ๆ พบร่องรอยที่สำคัญแห่งชีวิตที่จะหล่อหลอมความเป็นเราขึ้นมา และการได้พบเจอกับบุคคลสำคัญและได้ทำความรู้จัก เชื่อมโยง  ประสาน ทักถอสายสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพบจุดร่วมบางอย่างระหว่างตัวเราและบุคคลคนนั้น และพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ จากจุดร่วมสู่การเชื่อมโยงกันทางจิตวิญญาณจนทำให้เกิดพลัง และความเชื่อมั่นในวิถีการทำงานนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยหนึ่งของการทำให้เกิดสายธารแห่งปณิธานและเหนี่ยวนำให้เราเข้าถึงขุมพลังงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอีกด้วย

ประเด็นที่ 2 พลังแห่งถ้อยคำที่นำไปสู่การปฏิการที่มีพลัง

นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่อาจารย์เน้นย้ำอยู่เสมอ ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยเข้าใจมากเท่าไหร่ว่า… การให้ความสำคัญกับถ้อยคำ มันจำเป็นมากขนาดนั้นเลยหรือ ? วันนี้เราเข้าใจแล้วว่า “มันสำคัญมากจริง ๆ” มีหลายครั้งเหมือนกันนะที่เมื่อเรามีความสนใจในเรื่องอะไรสักเรื่อง หรือทำงานอะไรสักอย่าง (ไม่ว่าจะระยะเวลาเท่าไหร่ และความเข้มข้นมากน้อยขนาดไหนก็ตาม) เรามักจะติดกับภาษาที่เราคุ้นโดยไม่รู้ตัว และมันง่ายมาก ๆ ที่เราจะใช้ชุดภาษาเหล่านั้นกับทุกเรื่องในชีวิต โดยไม่ได้คิดใคร่ครวญถึงความหมายที่แท้จริงของคำคำนั้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดถึงความเมตตา หากเราติดอยู่ในกับดักของภาษาแห่งความเคยชิน เราได้เห็นภาพความนุ่มนวลอ่อนหวานขึ้นมาทันที และเราจะปฏิเสธคนที่ไม่มีความนุ่มนวลและอ่อนหวานว่าเป็นคนไม่เมตตาเอาเสียง่าย ๆ ได้เหมือนกัน และประเด็นนี้แหละที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับเรา

นั่นก็เพราะว่า… หลายครั้งที่เราพูดถึงเรื่องความตั้งใจ หากเราไม่ได้มีสติรู้ทัน เรามักจะตอบความตั้งใจนั้นด้วยคำพูดแบบ Concept กว้างขึ้นมาทัน ซึ่งมันไม่ผิดอะไรหรอกนะที่จะตอบแบบนั้นเพราะมุมหนึ่งมันเป็นการเปิดโอกาสในการเชื่อมต่องานต่าง ๆ ที่จะเข้ามาหาเรา แต่ในอีกมุมหนึ่งเรากลับพบว่าหลายครั้งที่เมื่อเรานิยามตัวเองด้วยคำที่กว้างมากเกินไป มันยากเหมือนกันที่จะหาจุดเริ่มต้นในการลงมือทำงานอย่างมีพลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตัวเราที่เวลาถูกถามว่าทำงานอะไร หรือสนใจเรื่องอะไร เรามักจะตอบง่าย ๆ ว่าสนใจเรื่องงานดูแลเด็กและเยาวชน แน่นอนถ้าดูผิวเผินมันก็เฉพาะเจาะจงดีหนิ แต่หากมองให้ดีคืองานเรื่องเด็กและเยาวชนมีหลายด้านนะ มันค่อนข้างกว้างมาก และจะบอกทำทุกด้านมันคงจะไม่ได้เพราะเราไม่ได้มีความรู้ในระดับนั้น ในขณะที่ครูยงยศ (สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม Retreat and Reflection) เมื่อครูถูกถามว่าทำงานเรื่องอะไร หลายครั้งเรามักได้ยินแกตอบทันทีว่า “ผมทำงานเรื่องเด็กพิเศษ” ลองมองคำตอบของผมกับครูยงยศดูสิ ว่าใครชัดเจนมากกว่ากัน และหากมองในเชิงของคนทำโครงการการเริ่มต้นงานของใครดูจะง่ายกว่ากันนะ ? แต่การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการใช้คำกว้าง ๆ เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องแย่หรอกนะ เพื่อแต่สำหรับเรานั้นแค่รู้สึกว่ามันกว้างมากเกินไป และเมื่อกว้างมากไปจึงทำให้ความชัดเจนในการทำปฏิบัติงานก็ลดลง พลังที่จะทุ่มไปที่จุดใดจุดหนึ่งก็ถูกกระจายออกไปจนหมด ในทางกลับกันทางเราสามารถใช้คำที่ตรงประเด็นและชัดเจนกับตัวเอง (ย้ำว่าชัดเจนและตรงกับใจตนเองได้มากเท่าไหร่) ก็จะช่วยลดความเบลอและการสูญเสียพลังโดยใช้เหตุลงไปได้มากเท่านั้น

ในด้านการเรียนรู้ก็ไม่ต่างกัน… หลายครั้งที่เราอ่านตำรานั่นนู่นนี่ บางครั้งเราก็ติดภาษาจากตำรามาใช้ในชีวิตประจำวันบางเป็นครั้งบางที แต่หลายครั้งที่เราติดคำคำนั้นจากตำราและนำมาใช้งานอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเรากำลังติดอยู่ในภาษาของความเคยชิน และหลงลืมถึงความหมายแท้จริงของคำคำนั้นไปแล้ว และยิ่งไม่ได้ใคร่ครวญให้ดี บางครั้งเราเองนั้นแหละที่ลดคุณค่าและใช้คำนั้นมาตีตราตัวเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว (ดังเช่นที่เรายกตัวอย่างคำว่า “เมตตา” ไปข้างต้น)

ประเด็นที่ 3 การเดินทางบนเส้นทางแห่งประสบการณ์จริง

อาจารย์มักพูดถึงเรื่อง “สมถรรนะในการเข้าสู่ประสบการณ์” อยู่บ่อย ๆ และเมื่อผมไปทำงานกับพี่บอมส์ พี่บอมส์ก็เติมให้ว่า “นอกจากการที่ชวนให้เขามีสมถรรนะในการเข้าสู่ประสบการณ์แล้ว จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนรู้ได้มีสมถรรนะในการเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นด้วย” นี่เป็นอีกเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญอย่างมากเลยทีเดียว ทำไมจึงสำคัญ ?

อาจารย์ชัยวัฒน์มักเปรียบเทียบว่า “เราจะรับรู้รสชาติของอาหารได้จากการได้ลองกินอาหารนั้นจริง ๆ เข้าไปว่ามันมีรสเปรี้ยว หวาน มัน เผ็ด เค็มอย่างไร เราไม่ได้รับรู้รสชาติจากการภาพในเมนูอาหาร” การจัดกระบวนการเรียนรู้นั้น เราเน้นมาก ๆ ที่ชวนให้ผู้เรียนรู้ได้ทดลองลงมือปฏิบัติการจริง ไม่ใช่เพียงการจดจำทฤษฎีการเรียนรู้ เพราะการได้ลงมือปฏิบัติการจริงนั้นคือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาได้เกิดความเข้าใจ นอกจากความเข้าใจยังเกิดความมั่นใจ และได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงไปด้วยในตัว สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความรู้และความชำนาญเฉพาะตัวขึ้นมา เปรียบเหมือนช่างฝีมือที่ค่อย ๆ เรียนรู้การทำงานฝีมือต่าง ๆ จากลงมือทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดความชำนิชำนาญและค้นพบวิธีการเฉพาะตนที่คนอื่นยากจะเลียนแบบ

ปัจจุบันพวกเราต้องการส่งเสริมให้คนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่เราก็กลับต้องให้พวกเขาทำงานแบบเย็บผ้าโหลเอาปริมาณ แข่งกับเวลาไปเรื่อย ๆ และหวังว่าวันหนึ่งพวกเขาจะมีเอกลักษณ์ขึ้นมาเอง แน่นอนพวกเขาเก่งขึ้นแน่ ๆ จากการทำงานหนักแบบซ้ำ ๆ แต่เราเองก็ไม่มั่นใจว่าเอกลักษณ์ที่ต้องการจะปรากฏขึ้นมาแน่หรือเปล่า ? เพราะเอกลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับหรือเร่งให้เกิดขึ้นได้ มันค่อย ๆ ก่อขึ้นมาจากความตั้งใจของผู้สรรค์สร้างคือช่างคนนั้น ประกอบกับทักษะ ฝีมือ การสังเกต จดจำ เรียนรู้ และการปฏิบัติการอย่างใส่ใจ ละเอียดอ่อน และการใช้ระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ งานอันเป็นเอกลักษณ์จึงปรากฏขึ้น

ในการใช้ชีวิตและการทำงานก็ไม่ต่างเรา เราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องค้นพบความตั้งใจอันแท้จริงในเรื่องที่เราจะลงมือทำ (หรือถ้าเป็นไปได้การได้พบกับแก่นแกนความตั้งใจแห่งชีวิตนั้นเป็นเรื่องดียอดเยี่ยมมาก ๆ) เพราะความตั้งใจนี้จะเป็นเหมือนเข็มทิศที่ค่อยนำไม่ให้เราเดินหลงทาง เป็นดาวเหนือในยามค่ำกลางคืนที่ส่องแสงบอกทิศอยู่เสมอ ส่วนทฤษฎีที่เรียนรู้จากตำราเปรียบดังแผนที่การเดินทางคร่าว ๆ ที่ทำให้เราได้เข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศเบื้องต้นว่าพื้นที่นี้เป็นอย่างไร ทางไหนอันตรายหรือไม่อย่างไร แต่อยากลืมว่าแผนที่คือกระดาษบันทึกเส้นทางไม่ใช่ความจริง การไปสู่เป้าหมายใช้แต่แผนที่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการสังเกต เฝ้ามอง ทบทวน และตรวจดูเส้นทางที่อยู่ตรงหน้าเราด้วยเสมอ และจงอย่าลืมที่จะหยุดพักและชมดอกไม้ข้างทางเสียบ้างเพื่อรักษาความรื่นรมณ์แห่งชีวิตเอาไว้ และสุดท้ายเมื่อยามเจอกับความท้าทายและยากลำบาก จงเรียนรู้ที่จะหยุดรอ เฝ้าดู หาโอกาสและทางหนีทีไล่เพื่อเอาตัวรอดให้พ้นจากอันตราย เมื่อมีบาดแผลก็เรียนรู้ที่จะหายา พืชพันธุ์ หรือหาร้องเรียกเพื่อนสักคนมาช่วยจัดการทำแผลให้กัน 

การเดินทางในชีวิตจริงต่างจากการเดินทางแผนที่ตรงที่ในแต่ละก้าวเดิน เราได้เปิดรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเอง ได้ลุ้นระทึก ได้สัมผัสกับความสับสน กังวล เลลัง วุ่นวายใจ และอื่น ๆ แต่นี่แหละที่คือสีสันที่แท้จริงแห่งการเดินทาง ไม่มีเส้นทางไหนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดทาง แต่ก็ไม่มีทางใดเช่นกันที่มีแต่งูพิษไปตลอด จงเรียนรู้ที่จะค่อย ๆ จับจังหวะและเดินทางไปชีวิตเถอะ และเราจะได้ของขวัญสุดพิเศษคือชีวิตในแบบของเราเองที่เป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนใคร

ประเด็นที่ 4 การส่งไม้ต่อให้คนในรุ่นถัดไป

การส่งต่อ “ความตั้งใจ” สู่คนรุ่นหลัง หลายครั้งที่เรามักคิดว่าก็แค่หนีบ ๆ มันไปทำงานด้วยแค่นั้นก็พอเดียวมันก็ซึมซับและทำตามไปเอง แน่นอนว่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้ความตั้งใจดีถูกส่งต่อออกไป แต่คุณไม่มีทางรู้เลยว่ามันถูกส่งไปแบบไหน ส่งไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ การส่งต่อความตั้งใจไม่ใช่เรื่องการของบอกให้ทำหรือฝากฝั้งไว้เท่านั้น การทำส่งต่อเจตนารมณ์ได้นั้นมันอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ด้วย และมิต่างจากการค้นพบความตั้งใจของตัวเองเลย มันต้องการเวลา การเชื่อมโยง บ่มเพาะ และเติบโต ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าแต่ละเมล็ดพันธุ์มันศักยภาพในการเติบโตช้าเร็วอย่างไร สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือสังเกต ดูแล และหล่อเลี้ยงเท่านั้น

เนื่องด้วยผมนั้นโตมากับการดูและการ์ตูนญี่ปุ่นเลยขออนุญาตยกการ์ตูน 2 เรื่องมาพูดเป็นตัวอย่างละกันนะ สัญญาว่าจะพยายามเขียนให้อ่านและเข้าใจง่ายที่สุดนะฮะ 55555 (สำหรับท่านที่รู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่องแน่ ๆ ก็มีสองทางเลือกคือ “ลองอ่าน” กับ “ข้ามไป” ครับ) 

เรื่องแรกเป็นเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันว่าอยากเป็น “นินจาที่เก่งที่สุดและเป็นผู้นำของหมู่บ้าน” เขาชื่อนารุโตะ เขาเติบโตด้วยตัวคนเดียว มีครูหนึ่งค่อยดูแลอยู่ห่าง ๆ พ่อแม่ของนารุโตะเสียชีวิตในการต้องเพื่อปกป้องหมู่บ้าน โดยคนในหมู่บ้านรังเกียจเรียกว่าเด็กปีศาจ เขาจึงพยายามทำทุกอย่างให้คนหันมาสนใจ นารุโตะเป็นเด็กเรียนไม่เก่งเท่าไหร่ หัวช้า แต่เขาขยัน อดทน และมีความมุ่งมั่น ตั้งใจมาก ๆ และยึดมั่นในความฝันของตัวเอง เขาเริ่มฝึกวิชานินจา ผ่านเรื่องยากลำบากมากมาย วันหนึ่งที่รักที่สุดก็ถูกจับตัวไปและเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ต้องคนจึงเดินกันคนละเส้นทาง เพื่อพัฒนาตัวเอง นารุโตะเจอครูคสำคัญอบ่างจิไรยะได้เดินทาง เรียนรู้ และวิถีนินจาแบบจิไรยะและผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย จนกระทั่งวันหนึ่งหมู่บ้านเกิดวิกฤติ จิไรยะเสียชีวิตในการทำภารกิจพิเศษ นารุโตะจึงต้องใช้วิชาที่ฝึกฝนในการแก้ไขปัญหาจนลุล่วง จากนั้นเขากลายเป็นวีรบุรุษของหมู่บ้าน และผ่านเรื่องราวอีกมากมายจนการเป็นผู้นำหมู่บ้านที่สืบทอดความเจตจำนงของบ้านนี้ไว้อย่างสมบูรณ์

เรื่องที่สองเป็นเรื่องของเด็กอีกคนที่ชื่อว่า “สึนะ” เด็กห่วยคนหนึ่งที่เรียกก็ไม่เก่ง เล่นกีฬาก็ไม่ได้เรื่อง จนถูกใคร ๆ ก็เรียกว่า “สึนะจออมห่วย” แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งก็ได้รับรู้ว่าตัวเองต้องมาเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย และกับคุณครูสอนพิเศษที่มีวิธีการสอนสุดพิสดาร สึนะเองปฏิเสธอย่างแข่งขันที่จะเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย แต่ทำอย่างไรได้ เมื่อข่าวของการปรากฏตัวของหัวหน้าแก๊งคนใหม่แพร่ออกไปปัญหาก็เข้ามารุมล้อมสึนะอย่างหลีกเลี่ยไม่ได้ และการจะเป็นหัวหน้าได้ก็ต้องผ่านการทดสอบสุดโหดมากมาย ครั้งหนึ่งในการทดสอบ สึนะได้พบกับบรรดาหัวหน้าแก๊งรุ่นก่อน ๆ ที่จะมอบอำนาจ ลาภยศ เงินทอง ความแข็งแกร่ง และความยิ่งใหญ่ให้กับสึนะเพื่อที่จะกำราบทุกคนที่ไม่ใช่เห็นกับให้มีอยู่แทยเท้า ขอเพียงแค่สึนะตอบ “ตกลง” เขาจะได้ทุกสิ่งนั้นแน่นอน แต่ “สึนะ” กลับปฏิเสธสิ่งนั้นอย่างหน้าตาเฉย พร้อมกล่าวว่า “ถ้าได้สิ่งเหล่านั้นมาแล้วต้องทำร้ายผู้คน เขาจะเป็นคนทำร้ายองค์กรนี้ทิ้งซะเอง !!!” คำตอบของสึนะทำให้ได้รับพลังที่แท้จริงในการต่อสู้ และได้รับรู้ความจริงในภายในว่า “แก๊งมาเฟียของเขานั้น เริ่มต้นจากการรวมกันของกลุ่มวัยรุ่นเพื่อปกป้องผู้คนในหมู่บ้าน” และจากนั้นสึนะก็ผ่านเรื่องราวมากมายจนกลายเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟียแก๊งนี้

จากการ์ตูนที่ยกตัวอย่างมาสองเรื่องนี้ย้ำให้เราเห็นว่า “การส่งต่อ” ไม่ใช่ “การบอกเล่า” หรือ “การฝากฝัง” อย่างเดียวเท่านั้น มันยังมีเรื่องของความฝัน ความต้องการ ความปรารถนา ความสัมพันธ์ การเผชิญกับเรื่องราวต่าง ๆ ความเจ็บปวด ความสุข ความเชื่อใจ ไว้ใจ การมีพื้นที่ทดลอง และอื่น ๆ อีกมากมาย การทำงานกับมนุษย์ เราไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ในทันที เราทำได้เพียงแค่สังเกต ดูแล บ่มเพาะ เรียนรู้ร่วม และดูแลกันและกันไป

เขียนมาถึงตรงนี้… เหมือนผมค่อย ๆ เห็นกระบวนการการเดินทางตามความตั้งใจขึ้นมาเหมือนกันนะ โดยกระบวนการนี้เริ่มต้นจาก…

  1. ค้นพบความตั้งใจที่แท้จริงของตัวเอง → ผ่านการสืบค้นเรื่องราวในชีวิต
  2. นิยามความตั้งใจนั้นในแบบของตนเอง ใช้ถ้อยคำที่ตรงกับใจ ไม่กว้างเกิน และไม่แคบเกินไป
  3. ออกเดินทางด้วยหัวใจแห่งผู้กล้า โดยมีความตั้งใจเป็นเข็มทิศ และมีคาถาวิเศษ (นิยามความตั้งใจนั้นในแบบของตนเอง) เป็นตัวเสริมพลังในการเดินทาง
  4. ส่งมอบเครื่องรางและเปิดทางให้หนุ่มสาวได้ผจญภัยในโลกกว้าง

เป็นสี่กระบวนการสุดพิเศษและที่น่าสนใจมากเลยที่เดียว 55555

คำสำคัญ (Tags): #reflection#การใครครวญ
หมายเลขบันทึก: 717164เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2024 02:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2024 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท