ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (10) เช้าวันนี้ที่เชียงคาน ตักบาตรข้าวเหนียว เดินเที่ยวริมโขง


ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (10) เช้าวันนี้ที่เชียงคาน ตักบาตรข้าวเหนียว เดินเที่ยวริมโขง

การทำบุญตักบาตรมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์ได้เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมาการตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้

การทำบุญตักบาตรสืบเนื่องจากเหตุผลในด้านความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ซึ่งชาวพุทธมีความเชื่อว่า "ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น" การทำบุญตักบาตรบ้างก็อธิษฐานให้ได้พบแต่ความสุขสมดังความปรารถนา บ้างก็เชื่อว่าสิ่งใดที่ได้ใส่บาตรไป เมื่อตายจากภพภูมิมนุษย์ จะได้รับตอนอยู่ปรโลก บ้างก็มีความเชื่อว่าเป็นการนำส่งอาหารและผลบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

การตักบาตรข้าวเหนียวนั้นมีมาตั้งแต่ในอดีต ชาวลาวรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ก็จะนำข้าวเหนียวมาใส่บาตร ดังเช่นการตักบาตรข้าวเหนียวที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 สถานที่ตั้งของวัดปทุมวนารามนั้นอยู่ใกล้เคียงกับชุมชนชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ชาวลาวในชุมชนนี้แสดงความประสงค์จะอยู่ที่เมืองไทยไม่กลับเมืองลาว  แต่จะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบต่อไป

รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าวัดแห่งนี้อยู่ใกล้ชุมชนชาวลาวจึงทรงโปรดให้อัญเชิญ พระใส หรือ พระสายน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเพื่อการขอฝน และพระแสนซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองหนองคาย มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปทุมวนารามเมื่อพ.ศ. 2400 เพื่อให้ชาวลาวได้สักการะบูชา 
ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเทศกาลงานบุญที่วัดปทุมวนารามก็จะมีการตักบาตรข้าวเหนียวสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกับวัดต่างๆในสปป.ลาว

การตักบาตรข้าวเหนียวที่หลวงพระบางเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเมื่อหลวงพระบางได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก มีการจัดระเบียบแบบแผนในการตักบาตรข้าวเหนียวเพื่อให้เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเมืองหลวงพระบาง เช่น การแต่งกายของหญิงชายที่มาตักบาตร ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นมีผ้าสไบพาดไหล่เพื่อใช้สำหรับกราบพระ ส่วนผู้ชายจะมีผ้าเบี่ยงพาดไว้ที่บ่าเช่นกัน

การตักบาตรข้าวเหนียว ที่เชียงคาน จังหวัดเลย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวเชียงคานที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยความงดงาม

ทุกๆเช้าจะมีพระภิกษุและสามเณรออกเดินบิณฑบาตเรียงรายบนถนนสายริมโขง ซึ่งในตอนเย็นจะเปลี่ยนสภาพเป็นถนนคนเดินที่คลาคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ในตอนเช้าจะมีชาวบ้านให้บริการชุดตักบาตรในราคาชุดละ 100 บาท ประกอบไปด้วยกระติ๊บข้าวเหนียว อาหารแห้ง ดอกไม้ธูปเทียน และขันเล็กๆสำหรับกรวดน้ำ

การตักบาตรข้าวเหนียวที่เชียงคานจะใส่เฉพาะข้าวเหนียวเท่านั้นลงในบาตร โดยใช้มือขวาหยิบข้าวเหนียวขึ้นมาเป็นก้อนเล็กๆ ไม่ต้องปั้น ใส่ลงไปในบาตร ไม่นิยมใส่อาหารใดๆลงในบาตร โดยเฉพาะจะไม่นำเงินใส่ลงในบาตรพระโดยเด็ดขาด หลังจากใส่บาตรข้าวเหนียวในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะนำกับข้าวที่ทำเสร็จใหม่ๆเดินตามไปจัด "จังหัน" หรือ ที่ชาวเชียงคานเรียกว่า "พาข้าว" กันต่อที่วัด ซึ่งจะเป็นลักษณะการนำอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ แล้วนำไปวางบนถาดกลม แยกไว้เป็นสำรับๆ เพื่อให้พระแต่ละรูปได้ฉันอาหารเหล่านั้น ภายหลังการถวายจังหัน จะมีการให้ศีลให้พรและแสดงธรรมเทศนาแก่ชาวบ้าน

ตักบาตรข้าวเหนียวเสร็จแล้วยังมีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยก่อนที่รถท้องถิ่นจะมาพาไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ภูทอก ระหว่างนี้จึงขอเดินชมบรรยากาศยามเช้าที่ริมโขง สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ทักทายกับธรรมชาติยามรุ่งอรุณ ก่อนผู้คนจะตื่นขึ้นมาเริ่มต้นวิถีชีวิตในวันนี้

ขอขอบคุณ

  • หน่อยทัวร์ ท่องเที่ยว ผู้จัดทริป "ภูเรือ-เชียงคาน หนาวสะท้านใจ " จัดทริปดีๆ ให้มาท่องเที่ยวสัมผัสสายลมหนาวที่จังหวัดเลย หนาวสุดในสยาม
     
  • มิตรภาพดีๆระหว่างเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน ทำให้ทริปนี้สนุกสนานประทับใจ
  • ขอบคุณภาพบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต
     
  • บันทึกต่อไป … ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (11) อรุณสวัสดิ์ภูทอก

 

หมายเลขบันทึก: 717127เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2024 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2024 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท