ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (8) วิมุตติศิลป์ตระการตา ที่วัดป่าห้วยลาด


ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (8) วิมุตติศิลป์ตระการตา ที่วัดป่าห้วยลาด

วัดป่าห้วยลาด เป็นวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย หากเดินทางจากจังหวัดเลยเป็นระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร หรือถ้าเดินทางมาจากอำเภอภูเรือระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เมื่อเดินทางมาถึงทางเข้าวัดก็ขับรถเข้าไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดป่าห้วยลาด


วัดป่าห้วยลาดก่อตั้งขึ้นโดยหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของหลวงปู่ชอบ จึงได้นิมนต์ท่านมาสร้างวัดแห่งนี้ขี้นเมื่อ พ.ศ. 2483 โดยก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ หลวงปู่ชอบได้มาพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์เพื่ออบรมธรรมะแก่ชาวบ้านห้วยลาดและหมู่บ้านใกล้เคียงระยะหนึ่ง จากนั้นท่านจึงเดินทางจาริกธุดงค์ต่อไป

นับจากปีพ.ศ.2483เป็นต้นมา สำนักสงฆ์ห้วยลาดได้มีครูบาอาจารย์ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาพำนักปฏิบัติธรรมเป็นประจำ  ในระหว่างปี พ.ศ 2518 - พ.ศ.2520 พระอาจารย์ จันทร์เรียนได้มาสร้างศาลาการเปรียญขึ้น เป็นพุทธสถานแบบชั่วคราว

ต่อมาในปีพ.ศ. 2537 พระอาจารย์อุทัย ฌาณุตตโต ศิษย์ของพระราชนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาวิศิษฏ์  (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)ได้นำพาพุทธศาสนิกชนช่วยกันพัฒนาสำนักสงฆ์ห้วยลาด และดำเนินการจดทะเบียนตั้งวัด ได้รับหนังสือรับรองจากกรมการศาสนาที่ ศธ.0303/1549 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานวิสุงคสีมา ในวันที่ 12 มิถุนายน 2542 โดยมีพระอาจารย์อุทัย ฌาณุตตโม เป็นเจ้าอาวาส

จุดเด่นของวัดป่าห้วยลาด คือ มีประติมากรรมวิมุตติศิลป์ที่แฝงนัยยะ และปริศนาธรรมมากมาย เช่น รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม พระอินทร์ พญานาค ภายในบริเวณวัดมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง มีศาลาเฉลิมพระเกียรติที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.และพระนามาภิไธยย่อ ส.ก.ขึ้นประดับไว้ที่หน้าบัน ภายในศาลาเฉลิมพระเกียรติมีพระประธานองค์ใหญ่สีขาว สูง 19 เมตร มีพระนามว่า พระสัพพัญญูแจ้งสามแดนโลกธาตุ สร้างด้วยแร่แคลไซต์ ฉากด้านหลังองค์พระประธานเป็นศิลปะลายไทยสีทองตัดกับพื้นสีเข้ม บริเวณด้านนอกศาลาเฉลิมพระเกียรติมีรูปปั้นพญานาค 9 เศียร

นอกจากนั้นยังมีรูปปั้นเทพต่างๆ เช่น ตรีมูรติ อภิมหาเทพของชาวฮินดู พระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จ และมีจระเข้เงิน จระเข้ทองที่เชื่อกันว่าเป็นสัตว์ที่จะนำความโชคดีมาให้ และมีอีกหลากหลายศิลปะที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างศิลปะ ความเชื่อ ความศรัทธา และการนำเสนอแนวคิดของศิลปินที่สื่อออกมาผ่านมุมมองของศิลปะ

งานศิลปกรรมในวัดป่าห้วยลาดที่มีอยู่หลากหลายในบริเวณวัดนั้น พระอาจารย์อุทัย ฌาณุตตโม ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเป็น "วิมุตติศิลป์" คือ ศิลปกรรมที่สัมผัสแล้ว ผู้เสพจะรู้รสของความวิจิตรจนเกิดปีติเข้าถึงทั้งกายและใจ เนื่องด้วยศิลปกรรมนั้นเกิดจากงานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างได้วางรากฐานทางความคิดอันเกิดจากพระธรรมคำสั่งสอนที่ถูกต้อง เมื่อผู้เสพได้สัมผัสถึงทั้งกายและใจแล้ว จักเกิดปัญญาระลึกรู้ และพบหนทางที่นำไปสู่ความวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้จริง ศิลปกรรมนี้จึงชื่อว่า " วิมุตติศิลป์"

ยักษ์เพี้ยง เดิมเป็นยักษ์ที่ดุร้าย ทำบาปกรรมในอดีตมากมาย ต้องไปรับกรรมในนรก เมื่อได้มารับรู้รสพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงยึดถือปฎิบัติเพียงถือศีล 5 ก็สามารถขึ้นจากนรกได้และมาเป็นสื่อให้มนุษย์ปฏิบัติความดี อาการที่ยกมือข้างซ้ายกางออกทั้ง 5 นิ้ว  คือเตือนให้รักษาศีล 5 ส่วนมือขวาถือขวานแสดงถึงการใช้ขวานฟาดฟันกิเลส เท้าที่เหยียบสัตว์ประหลาดแสดงถึงการเหยียบกิเลสทั้งหลายให้จมธรณีสู่นรก

ยักษ์เพี้ยง จึงเป็นเครื่องยืนยันการได้รับสิ่งดีๆที่ได้รับจากการปฏิบัติพระธรรมของพระพุทธเจ้า และชักชวนให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมวัดป่าห้วยลาดให้รักษาศีล 5 เพื่อให้มีความสุขความเจริญในหน้าที่การงาน ตลอดจนครอบครัว ญาติพี่น้อง โดยทั่วกัน และเป็นการสร้างบารมีให้ได้ไปเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรย

ขอขอบคุณ

  • หน่อยทัวร์ ท่องเที่ยว ผู้จัดทริป "ภูเรือ-เชียงคาน หนาวสะท้านใจ " จัดทริปดีๆ ให้มาท่องเที่ยวสัมผัสสายลมหนาวที่จังหวัดเลย หนาวสุดในสยาม
     
  • มิตรภาพดีๆระหว่างเพื่อนร่วมเดินทางทุกท่าน ทำให้ทริปนี้สนุกสนานประทับใจ
     
  • บันทึกต่อไป … ภูเรือ - เชียงคาน หนาวสะท้านใจ (9) อาทิตย์อัสดงที่สกายวอล์คเชียงคาน

หมายเลขบันทึก: 717115เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2024 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2024 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท