ไต้หวันในฤดูหนาว (3) ลมหนาวโชยมาเบาๆ ที่ทะเลสาบสุริยันจันทรา


ลมหนาวโชยมาเบาๆ ที่ทะเลสาบสุริยันจันทรา

Sun Moon Lake หรือ ทะเลสาบสุริยันจันทรา ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดและงดงามที่สุดของไต้หวัน

Sun Moon Lake หรือ ทะเลสาบสุริยันจันทรา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้เนื่องจากความสวยงามของธรรมชาติที่รายล้อมไปด้วยเทือกเขาอันสวยงาม และผืนน้ำที่เปล่งประกายรับแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น จะมีหมอกปกคลุมบริเวณเทือกเขา ทำให้มีความสวยงามเหมือนทิวทัศน์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นที่มาของการได้รับการขนานนามว่าเป็น " สวิตเซอร์แลนด์แห่งไต้หวัน"

ทะเลสาบสุริยันจันทราเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ มีพื้นที่มากกว่า 7.93 ตารางกิโลเมตร (3.06 ตารางไมล์) ตั้งอยู่ที่เมืองหยูซี (Yuchi) เขตหนานโถว (Nantou) ตั้งอยู่ในระดับ 748 เมตร (2,450 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 27 เมตร  (89 ฟุต) ล้อมรอบไปด้วยแนวเทือกเขาสูงใหญ่ตั้งแต่ 600 - 2,000 เมตร บริเวณทะเลสาบห้อมล้อมไปด้วยทางเดินสำหรับการปีนเขาหลายเส้นทาง

โดยรอบทะเลสาบไม่มีอาคารบ้านเรือนแออัด  น้ำในทะเลสาบลึกมากทำให้น้ำมีสีเขียวมรกต ใสสะอาด ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวว่ายน้ำในทะเลสาบ ยกเว้นในเทศกาลกลางฤดูใบไม้ผลิของทุกปีมีการแข่งขันว่ายน้ำระยะทาง 3 กิโลเมตร ชื่อว่างาน "กิจกรรมว่ายน้ำข้ามหมื่นคนที่ทะเลสาบสุริยันจันทรา" ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันว่ายน้ำเป็นจำนวนหลักหมื่น นอกจากนี้ในช่วงเวลานี้ยังมีการจัดเทศกาลอื่นๆ เช่น เทศกาลดอกไม้ไฟ การแสดงแสงสี และการแสดงคอนเสิร์ต

บันทึกวรรณคดีอังกฤษของมิชชันนารี จอร์เจียส แคนดิเดียส ในสมัยศตวรรษที่ 17 เรียกทะเลสาบแห่งนี้ว่า "ทะเลสาบแคนดิเดียส" (Lake Candidius) ส่วนที่เรียกว่า" ทะเลสาบสุริยันจันทรา" เนื่องจากรูปทรงของทะเลสาบ หากมองในมุมบนบริเวณทิศตะวันออกมีรูปร่างคล้ายพระอาทิตย์ ส่วนทางทิศตะวันตกมีรูปร่างคล้ายกับพระจันทร์เสี้ยว จึงเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบสุริยันจันทรา ทัศนียภาพของพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกเป็นสิ่งที่ประทับใจนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้

ตำนานทะเลสาบสุริยันจันทรา
ในอดีตกาลมีมังกรที่ดุร้ายอาศัยอยู่ในทะเลสาบ พวกมันได้เอาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มากลืนเข้าไปในท้องแล้วคายออกมาราวกับเป็นของเล่น มนุษย์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถแยกแยะเวลากลางวันอันสดใสกับเวลากลางคืนอันมืดมิดได้ มนุษย์จึงไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ชายหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่งเป็นผู้มีความกล้าหาญ ได้ออกมาต่อสู้กับมังกรจนมังกรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หลังจากนั้นก็นำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กลับไปไว้ที่เดิม แล้วคนทั้งสองก็ได้กลายเป็นภูเขาคอยปกป้องทะเลสาบสุริยันจันทราตราบจนปัจจุบัน

เกาะลาลูเป็นเกาะเล็กๆอยู่กลางทะเลสาบ เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าเชา ตามตำนานกล่าวว่าเป็นนักล่าสัตว์ที่ค้นพบทะเลสาบสุริยันจันทราขณะที่ไล่ล่ากวาง กวางได้นำพวกชนเผ่ามายังทะเลสาบ ซึ่งได้พบว่านอกจากจะเป็นทะเลสาบที่งดงาม ยังเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์มีปลาชุกชุม ทุกวันนี้กวางขาวตัวนั้นยังเป็นตำนานที่ไม่มีวันลืม มีการสร้างรูปปั้นหินอ่อนไว้เป็นสัญลักษณ์บนเกาะลาลู

หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 921 earthQuake ในปี 1999 ได้ทำลายเกาะลาลูให้มีขนาดเล็กลง ชาวพื้นเมืองจึงอพยพขึ้นไปอยู่บริเวณรอบๆทะเลสาบแทน ในปัจจุบันจึงไม่มีผู้คนอาศัยอยู่บนเกาะแล้ว

การมาเยือนทะเลสาบสุริยันจันทราของผู้เขียนในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 และเป็นครั้งที่ได้สัมผัสความงดงามของทะเลสาบมากที่สุด  ครั้งแรกที่มา (2016) เป็นช่วงปลายเดือนตุลาคมในฤดูใบไม้ร่วง ลงเครื่องที่เถาหยวนในตอนเช้าก็ตรงมาที่ทะเลสาบสุริยันจันทราเป็นแห่งแรก เช้าวันนั้นฝนตกพรำๆ เป็นอุปสรรคในการท่องเที่ยว มีส่วนดีคือบริเวณทะเลสาบมีหมอกลงจัดทำให้ดูสวยไปอีกแบบ ส่วนครั้งที่ 2 (2023) มาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เป็นเวลาช่วงบ่ายอากาศค่อนข้างร้อน แต่ท้องฟ้าแจ่มใสถ่ายภาพได้สวยงาม

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคมต้นฤดูหนาว  ได้ล่องเรือในทะเลสาบชมทัศนียภาพในเวลาเย็นซึ่งงดงามประทับใจมากทำให้แอบหวังว่าจะมีโอกาสมาเที่ยวชมความงดงามของทะเลสาบสุริยันจันทราอีกสักครั้งในช่วงปลายฤดูร้อนที่ป่าสวยงามชุ่มชื่นเหมาะแก่การเดินชมธรรมชาติ


  

ขอขอบคุณ

  • เลททาโก แทรเวลล์ แอนด์ ทัวร์ จัดทริปดีๆให้คณะของเราไปเที่ยวไต้หวันกันอย่างสนุกสนาน ประทับใจ
  • คุณนวล nual_teamtravel บริษัททีม ทราเวลล์ ผู้ประสานงานให้การเดินทางเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย
  • Chef Boy Guide Indy ดูแลคณะทัวร์อย่างดีเยี่ยมตลอดการเดินทาง
  • ขอขอบคุณน้ำใจไมตรีจากผู้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวทุกท่าน
  • บันทึกต่อไป  ไต้หวันในฤดูหนาว (3) ชิมชาอูหลง ชาคุณภาพดีของไต้หวัน

หมายเลขบันทึก: 716999เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2024 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2024 07:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท