ขรัสสรชาดก


พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่อำมาตย์ผู้นั้นมีปกติประพฤติอย่างนี้ แม้ในครั้งก่อนก็ได้มีความประพฤติชั่วมาแล้วเหมือนกัน

ขรัสสรชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๙. ขรัสสรชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๗๙)

ว่าด้วยเสียงดังอึกทึกครึกโครม

             (พระโพธิสัตว์กล่าวคาถานี้ตำหนิกำนันผู้ร่วมมือกับพวกโจรปล้นชาวบ้านว่า)

             [๗๙] คราวใด ชาวบ้านถูกปล้น ฝูงโคถูกเชือด บ้านเรือนถูกเผาวอดวาย ผู้คนถูกเกณฑ์ไป คราวนั้น ลูกที่ถูกแม่ทอดทิ้ง (ลูกที่ถูกแม่ทอดทิ้ง หมายถึงลูกที่ทำชั่ว เป็นคนหน้าด้าน เพราะขาดหิริโอตตัปปะ ชื่อว่าไม่มีแม่ ถึงแม่ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็ไม่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นลูก(ถูกตัดแม่ตัดลูก)) จึงมาตีกลองจนอึกทึกครึกโครม

ขรัสสรชาดกที่ ๙ จบ

------------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

เอกกนิบาตชาดก วรุณวรรค

๙. ขรัสสรชาดก ว่าด้วยบุตรที่มารดาละทิ้ง

               พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอำมาตย์ผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ได้ยินว่า อำมาตย์ผู้หนึ่งของพระเจ้าโกศลยังพระราชาให้โปรดปรานแล้ว ได้กำลังในปัจจันตคาม ไปร่วมกับพวกโจร กล่าวว่า เราจักพาพวกมนุษย์เข้าป่า พวกเจ้าปล้นบ้านแล้วแบ่งให้เราครึ่งหนึ่ง ดังนี้แล้ว เรียกพวกมนุษย์ให้ประชุมกัน แล้วพาเข้าป่าไปเสียก่อน เมื่อพวกโจรพากันมาจับแม่โคฆ่ากินเนื้อ ปล้นบ้านเรือนพากันไปแล้ว มีมหาชนแวดล้อมกลับเข้าบ้านในเวลาเย็น.
               ไม่ช้าไม่นาน การกระทำของเขาก็ปรากฏ พวกมนุษย์พากันกราบทูลพระราชา พระราชารับสั่งเรียกเขามาแล้วให้กำหนดโทษ ทรงลงพระอาญาสมควรแก่โทษานุโทษ ส่งนายอำเภอผู้อื่นไปแทน แล้วเสด็จไปพระเชตวัน ถวายบังคมพระตถาคต กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่อำมาตย์ผู้นั้นมีปกติประพฤติอย่างนี้ ถึงในกาลก่อนก็มีปกติประพฤติอย่างนี้เหมือนกัน.
               อันพระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ทรงพระกรุณาพระราชทานปัจจันตคามแก่อำมาตย์ผู้หนึ่ง.
               เรื่องต่อไปทั้งหมด ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องก่อนทั้งหมด
               ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ท่องเที่ยวไปในปัจจันตคามเพื่อการค้า พำนักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อนายอำเภอผู้นั้นตีกลองอึกทึกมากับมหาชนผู้ห้อมล้อมในตอนเย็น จึงกล่าวว่า นายอำเภอผู้ร้ายคนนี้รวมหัวกันกับพวกโจรให้ปล้นชาวบ้าน ครั้นพวกโจรพากันหนีเข้าดงไปแล้ว คราวนี้สิมีกลองตีเดินมา ทำเหมือนคนสงบเสงี่ยม แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
               "เมื่อใดชาวบ้านถูกปล้นเรียบร้อยแล้ว ฝูงโคถูกเชือดแล้ว เรือนทั้งหลายถูกไฟเผาวอดไปแล้ว ผู้คนถูกต้อนไปแล้ว เมื่อนั้นบุตรที่มารดาละทิ้งแล้ว จึงมาตีกลองเสียงอึกทึก" ดังนี้.
               พระโพธิสัตว์บริภาษเขาด้วยคาถานี้ด้วยประการฉะนี้ กรรมนั้นของเขาปรากฏต่อกาลไม่ช้าเลย ครั้งนั้น พระราชาทรงลงพระอาญาแก่เขาสมควรแก่โทษานุโทษ.
               พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่อำมาตย์ผู้นั้นมีปกติประพฤติอย่างนี้ แม้ในครั้งก่อนก็ได้มีความประพฤติชั่วมาแล้วเหมือนกัน.
               ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
               อำมาตย์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นอำมาตย์ในครั้งนี้
               ส่วนบัณฑิตผู้ยกคาถาขึ้นกล่าว ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาขรัสสชาดกที่ ๙               
               ----------------------------------------------------- 

 

คำสำคัญ (Tags): #บัณฑิต#อำมาตย์
หมายเลขบันทึก: 716860เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2023 06:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2023 06:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท