อุจฉังคชาดก


ขอเดชะพระกรุณาเป็นล้นพ้น แม้นไม่ทรงสามารถ พระราชทานได้ทั้ง ๓ คนไซร้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพี่ชายแก่หม่อมฉันเถิด

อุจฉังคชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๗. อุจฉังคชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๖๗)

ว่าด้วยหญิงหาบุตรหาสามีได้ง่ายเหมือนหาของที่ชายพก

             (หญิงที่สามี บุตร และพี่ชายถูกราชบุรุษจับไปถวายพระราชา ทูลขอพี่ชายกลับคืน ถูกพระราชาตรัสถาม กราบทูลถึงเหตุที่บุตรและสามีหาได้ง่าย ส่วนพี่ชายหาได้ยากว่า)

             [๖๗] ขอเดชะพระองค์ผู้สมมติเทพ บุตรหม่อมฉันหาได้ง่ายเหมือนเมี่ยงที่ชายพก เมื่อหม่อมฉันเดินไปตามทาง สามีก็ยังหาได้ง่าย แต่หม่อมฉันยังไม่เห็นสถานที่ที่จะนำพี่ชายผู้ร่วมอุทรมาได้เลย

อุจฉังคชาดกที่ ๗ จบ

--------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

เอกกนิบาตชาดก อิตถีวรรค

๗. อุจฉังคชาดก ว่าด้วยหญิงหาลูกหาผัวได้ง่าย

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภหญิงชาวชนบทคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
               ความพิสดารว่า ในแคว้นโกศล มีคน ๓ คนไถนาอยู่ที่ปากดงแห่งหนึ่ง. ในสมัยนั้น พวกโจรในดงคุมพวกปล้นหมู่มนุษย์ แล้วพากันหนีไป. พวกมนุษย์สืบจับโจรพวกนั้น เมื่อไม่พบจึงตามมาจนถึงที่นั่น กล่าวว่า พวกเจ้าเที่ยวปล้นเขาในดงแล้ว เดี๋ยวนี้แสร้งทำเป็นชาวนา จับคนเหล่านั้นด้วยสำคัญว่าพวกนี้เป็นโจร นำมาถวายพระเจ้าโกศล.
               ครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งมาร่ำไห้ว่า โปรดพระราชทานเครื่องนุ่งห่มแก่หม่อมฉันเถิด เดินวนเวียนพระราชนิเวศน์ไปๆ มาๆ.
               พระราชาทรงสดับเสียงของนางแล้ว รับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ผ้าห่มแก่นาง. พวกราชบุรุษพากันหยิบผ้าสาฎกส่งให้.
               นางเห็นผ้านั้นแล้วกล่าวว่า ดิฉันไม่ได้ขอพระราชทานผ้านี้ดอก ดิฉันขอพระราชทานเครื่องนุ่งห่ม คือสามี. พวกมนุษย์พากันไปกราบบังคมทูลแด่พระราชาว่า พระเจ้าข้า นัยว่า หญิงผู้นี้มิได้พูดถึงผ้านุ่งห่มนี้ นางพูดเครื่องนุ่งห่มคือสามี.
               พระราชาจึงรับสั่งให้นางเข้าเฝ้า มีพระราชดำรัสถามว่า ได้ยินว่า เจ้าขอผ้า คือสามีหรือ ?
               นางกราบทูลว่า พระเจ้าค่ะ พระองค์ผู้สมมติเทพ สามีชื่อว่าเป็นผ้าห่มของสตรีโดยแท้ เพราะเมื่อไม่มีสามี แม้สตรีจะนุ่งผ้าราคาตั้งพันกระษาปณ์ จะต้องชื่อว่าเป็นหญิงเปลือยอยู่นั่นเอง พระเจ้าค่ะ.
               ก็เพื่อจะให้เนื้อความนี้สำเร็จประโยชน์ บัณฑิตพึงนำเรื่องมาสาธก ดังนี้ว่า :-
               “ แม่น้ำที่ไม่มีน้ำ ชื่อว่าเปลือย แว่นแคว้นที่ปราศจากพระราชา ชื่อว่าเปลือย หญิงปราศจากผัว ถึงจะมีพี่น้องตั้ง ๑๐ คน ก็ชื่อว่าเปลือย ” ดังนี้.
               พระราชาทรงเลื่อมใสนาง รับสั่งถามว่า คนทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นอะไรกับเจ้า?
               นางกราบทูลว่า ขอเดชะข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ คนหนึ่งเป็นสามี คนหนึ่งเป็นพี่ คนหนึ่งเป็นบุตร พระเจ้าค่ะ.
               พระราชารับสั่งถามว่า เราพอใจเจ้า ในคน ๓ คนนี้ เราจะยกให้เจ้าคนหนึ่ง เจ้าปรารถนาคนไหนเล่า?
               นางกราบทูลว่า ขอเดชะ พระกรุณาเป็นล้นพ้น เมื่อหม่อมฉันยังมีชีวิตอยู่ สามีคนหนึ่งต้องหาได้ แม้บุตรก็ต้องได้ด้วย. แต่เพราะมารดาบิดาของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว พี่ชายคนเดียวหาได้ยาก พระเจ้าค่ะ จงโปรดพระราชทานพี่ชายแก่กระหม่อมฉันเถิด พระเจ้าค่ะ.
               พระราชาทรงยินดีแล้ว โปรดให้ปล่อยไปทั้ง ๓ คน เพราะอาศัยหญิงนั้นผู้เดียว คนทั้ง ๓ จึงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยประการฉะนี้.
               เรื่องนั้นรู้กันทั่วในหมู่ภิกษุ.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในโรงธรรม นั่งสนทนาสรรเสริญคุณของหญิงนั้นว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย อาศัยหญิงคนเดียว คน ๓ คนพ้นทุกข์หมด.
               พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรเล่า? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว.
               ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่หญิงผู้นี้จะปลดเปลื้องคนทั้ง ๓ ให้พ้นจากทุกข์ ถึงแม้ในปางก่อนก็ปลดเปลื้องแล้วเหมือนกัน.
               ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี. คนทั้ง ๓ พากันไถนาอยู่ที่ปากดงดังนี้ ต่อนั้นไปเรื่องทั้งหมดก็เหมือนกับเรื่องก่อน นั่นแหละ.
               (แต่ที่แปลกออกไปมีดังนี้) :-
               เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ในคนทั้ง ๓ เจ้าต้องการใครเล่า?
               นางกราบทูลว่า ขอเดชะพระบารมีเป็นล้นพ้น พระองค์ไม่สามารถจะพระราชทานหมดทั้ง ๓ คน หรือพระเจ้าค่ะ?
               พระราชาตรัสว่า เออ เราไม่อาจให้ได้ทั้ง ๓ คน.
               นางกราบทูลว่า ขอเดชะพระกรุณาเป็นล้นพ้น แม้นไม่ทรงสามารถ พระราชทานได้ทั้ง ๓ คนไซร้ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพี่ชายแก่หม่อมฉันเถิด.
               เจ้าต้องการพี่ชาย เพราะเหตุไรๆ?
               จึงกราบทูลว่า ขอเดชะพระบารมีล้นเกล้า ธรรมดาคนเหล่านี้หาได้ง่าย แต่พี่ชาย กระหม่อมฉันหาได้ยาก พระเจ้าค่ะ.
               แล้วกราบทูลคาถานี้ว่า :-
               “ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ บุตรอยู่ในพกของเกล้ากระหม่อมฉัน สามีเล่า เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันไปตามทาง (ก็หาได้) แต่ประเทศที่หม่อมฉันจะหาพี่น้องร่วมอุทรได้ เกล้ากระหม่อมฉันมองไม่เห็นเลย ” ดังนี้.
               พระราชาทรงพระดำริว่านางนี้พูดจริง ดังนี้แล้วมีพระทัยยินดี แล้วโปรดให้นำคนทั้ง ๓ มาจากเรือนจำ พระราชทานให้นางไป. นางจึงพาคนทั้ง ๓ กลับไป.
               พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในครั้งก่อน นางก็เคยช่วยคนทั้ง ๓ นี้ ให้พ้นจากทุกข์แล้วเหมือนกัน ดังนี้.
               ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
               คนทั้ง ๔ ในอดีต ได้มาเป็นคนทั้ง ๔ ในปัจจุบัน
               ส่วนพระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               -----------------------------------------------------          

 

หมายเลขบันทึก: 716717เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2023 05:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2023 05:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท