อนภิรติชาดก


ขึ้นชื่อว่าหญิงเป็นของทั่วไปแก่คนทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายจะไม่ทำความขุ่นเคืองในหญิงเหล่านั้นเลยว่า หญิงเหล่านี้เป็นคนทุศีล มีแต่บาปธรรม

อนภิรติชาดก

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๕. อนภิรติชาดก (จากพระไตรปิฎก ลำดับเรื่องที่ ๖๕)

ว่าด้วยบุรุษไม่ควรถือโกรธหญิง

             (อาจารย์ทิศาปาโมกข์โพธิสัตว์หวังจะสอนศิษย์ จึงกล่าวว่า)

             [๖๕] แม่น้ำ หนทาง โรงสุรา สภา และบ่อน้ำดื่มเป็นฉันใด ธรรมดาหญิงในโลกก็ฉันนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือโกรธเธอ

อนภิรติชาดกที่ ๕ จบ

----------------------

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

เอกกนิบาตชาดก อิตถีวรรค

๕. อนภิรติชาดก ว่าด้วยเปรียบหญิงเหมือนของ ๕ อย่าง

               พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารชื่อว่าเชตวัน ทรงปรารภอุบาสกผู้มีเรื่องอย่างนั้นแหละ ดังนี้.
               ก็เมื่ออุบาสกนั้นคอยเฝ้าจับตาดูอยู่ ก็รู้ความที่หญิงผู้เป็นภรรยานั้นมีความประพฤติชั่ว จึงมีจิตเดือดดาลและเพราะเหตุที่ตนเป็นผู้มีจิตกังวลขุ่นมัว จึงไม่ได้ไปสู่ที่บำรุงพระศาสดาเสีย ๗-๘ วัน.
               ครั้นวันหนึ่ง เขาไปวิหาร ถวายบังคมพระตถาคตเจ้า นั่งเรียบร้อยแล้ว.
               เมื่อพระศาสดาตรัสว่า เพราะเหตุไร จึงไม่มาเสีย ๗-๘ วัน.
               จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของข้าพระองค์เป็นหญิงมีความประพฤติชั่ว เพราะเหตุที่ข้าพระองค์มีจิตขุ่นหมองในเรื่องชั่วๆ ของนาง จึงมิได้มาเฝ้า พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก บุรุษต้องไม่ทำความขุ่นเคืองในหญิงทั้งหลายว่า หญิงเหล่านี้ประพฤติอนาจาร พึงวางตนเป็นกลางอย่างเดียว. แม้ในกาลก่อน บัณฑิตทั้งหลายก็บอกท่านแล้ว แต่ท่านกำหนดเหตุนั้นไม่ได้ เพราะภพอื่นปกปิดไว้.
               อุบาสกกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี. พระโพธิสัตว์ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์โดยนัยก่อนนั่นแล.
               ครั้งนั้น ศิษย์ของท่านก็ได้เห็นโทษของภรรยาแล้ว ไม่มาหาเสีย ๒-๓ วัน เพราะความเป็นผู้มีจิตขุ่นหมอง. วันหนึ่งถูกอาจารย์ถาม ก็แจ้งเหตุนั้นให้ทราบ.
               ครั้นแล้ว อาจารย์ของเขาจึงกล่าวว่า พ่อเอ๋ย ขึ้นชื่อว่าหญิงเป็นของทั่วไปแก่คนทั้งปวง บัณฑิตทั้งหลายจะไม่ทำความขุ่นเคืองในหญิงเหล่านั้นเลยว่า หญิงเหล่านี้เป็นคนทุศีล มีแต่บาปธรรม.
               แล้วกล่าวคาถานี้โดยมุ่งให้เป็นคำสอน ความว่า :-
               “ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายในโลก มีอุปมาเหมือนแม่น้ำ หนทาง โรงน้ำดื่ม ที่ประชุมและบ่อน้ำ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถือโกรธหญิงเหล่านั้น.” ดังนี้
               ดูก่อนพ่อมาณพหนุ่มน้อย หญิงทั้งหลายในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของสาธารณะสำหรับคนทั่วไป คือเป็นเช่นกับ แม่น้ำ หนทาง โรงดื่ม สภาและประปา ด้วยอรรถว่าเป็นของทั่วไปนั้นแล. เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่โกรธเคืองหญิงเหล่านั้น.
               บัณฑิตคือคนฉลาด สมบูรณ์ด้วยความรู้ คิดเสียว่า หญิงเหล่านี้ลามก อนาจาร ทุศีล เป็นหญิงสาธารณะแก่คนทั่วไป ดังนี้แล้วจึงไม่โกรธหญิงเหล่านั้น.
               พระโพธิสัตว์ให้โอวาทแก่ศิษย์อย่างนี้. เขาฟังโอวาทนั้นแล้วจึงวางใจเป็นกลางได้. แม้ภรรยาของเขาก็คิดว่า ได้ยินว่า อาจารย์รู้เรื่องของเราแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นก็ไม่ทำกรรมอันลามกอีก.
               พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประกาศสัจจะทั้งหลาย.
               เมื่อจบสัจจะ อุบาสกก็ดำรงค์อยู่ในโสดาปัตติผล.
               แม้พระศาสดา ก็ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
               คู่ผัวเมียในครั้งนั้น ได้มาเป็นคู่เมียผัว ในครั้งนี้
               ส่วนพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

----------------------

 

หมายเลขบันทึก: 716670เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2023 04:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2023 04:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท