อุปกิเลส ๑๐


อุปกิเลส ๑๐ หรือ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐

มี ๑๐ อย่าง

 

๑. โอภาส  หมายถึง แสงสว่าง (ที่ปรากฏเป็นธรรมารมณ์ในใจ)

โอภาส เป็นภาษาบาลี แปลว่า แสงสว่าง เพราะฉะนั้น เห็นโอภาส คือ เห็นแสงสว่างเมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิแล้วจะเกิดความสว่างในทางใจ ความสว่างนี้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

๒. ญาณ  หมายถึง ความหยั่งรู้

ญาณะ เมื่อจิตมีความสงบเป็นสมาธิได้แล้วย่อมมีความรู้เกิดขึ้น ความรู้ที่เกิดขึ้นนี้เองจะทำให้เกิดความหลงผิดไปได้ง่าย จะตีความหมายไปว่าปัญญาญาณได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว อยากรู้เรื่องอะไรอยากรู้ในธรรมหมวดไหนก็กำหนดถามลงไปที่ใจ ก็จะมีความรู้ตอบขึ้นมาในหมวดธรรมนั้น ๆ จะเข้าใจไปว่าคุณธรรมได้เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว

๓.  ปีติ  หมายถึง ความอิ่มใจ

ปีติ คือความรู้สึกอิ่มใจ ความดื่มด่ำ ความเบิกบาน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและวิมุตติมรรค แบ่งปีติเป็นห้าประเภท

๑.  ขุททกาปีติ

๒.  ขณิกาปีติ

๓.  โอกกันติกาปีติ

๔.  อุพเพตาปีติ

๕.  ผรณาปีติ

๔.  ปัสสัทธิ  หมายถึง ความสงบเย็น

ปัสสัทธิ เป็นความสงบระงับที่เย็นกายและเย็นใจ กายปัสสัทธิเป็นความสงบระงับทางกายที่เกิดกับอาการของจิตคือเวทนา สัญญาและสังขาร เกิดขึ้นระหว่างทุติยฌานและตติยฌานเมื่อปีติระงับไป อาจนับเป็นปีติชนิดหนึ่งที่ละเอียดอย่างยิ่งแต่ผู้ปฏิบัติสร้างไม่ได้ ส่วนจิตปัสสัทธิเป็นความสงบเย็นทางใจซึ่งเกิดตามมา

๕.  สุข  หมายถึง ความสุขสบายใจ

สุข เมื่อจิตมีความสงบดีแล้วย่อมเกิดความสุขภายในใจเป็นอย่างมาก จะยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ในที่ไหนใจจะมีแต่ความสุขอยู่ตลอดเวลา ถือว่าใจมีความสุขแล้ว อยากให้ความสุขนี้อยู่เป็นคู่ของใจตลอดไปไม่อยากให้เสื่อมคลาย

๖.  อธิโมกข์  หมายถึง ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้า ความปลงใจ

อธิโมกข์ ความหมาย คือ 

๑.  ความปลงใจ ความตกลงใจ ความปักใจในอารมณ์

๒.  ความน้อมใจเชื่อ ความซาบซึ้งศรัทธาหรือเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ซึ่งทำให้จิตใจเจิดจ้าหมดความเศร้าหมอง แต่ไม่เป็นไปตามแนวทางแห่งเหตุผลน้อมใจเชื่อว่าเป็นของจริงอย่างฝังใจทีเดียว เข้าใจว่าเรามีดวงตาเห็นธรรม ก็เพราะมีญาณรู้ที่เกิดขึ้นจากสมาธิความสงบเป็นต้นเหตุนั่นเอง

๗.  ปัคคาหะ  หมายถึง ความเพียรที่พอดี

ปัคคาหะ มีความเพียรที่เข้มแข็งเป็นอย่างมาก ความเพียรนั้นจะมุ่งทำสมาธิให้จิตมีความสงบเพียงอย่างเดียว จะไปที่ไหนอยู่ในที่ใดจะปรารภความเพียรทำสมาธิอยู่เสมอ จะอยู่เฉพาะตัวหรือในสังคมใดจะอยู่ในความสำรวมผิดปกติ จะอยู่แบบนิ่งเฉยไม่อยากจะพูดคุยกับใคร ๆ ผู้ที่ไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นผู้ปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก

๘.  อุปัฏฐาน  หมายถึง สติแก่กล้า สติชัด

อุปัฏฐาน มีสติระลึกรู้ในอารมณ์ภายในใจได้ดีมาก แต่เป็นเพียงสติสมาธิเท่านั้น ส่วนสติปัญญาจะไม่มีกับผู้เป็นในลักษณะนี้แต่อย่างใด ถ้าอารมณ์ของใจเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยอย่างไร ก็จะมีสติระลึกรู้ไปตามอารมณ์ประเภทนั้นๆ

๙.  อุเบกขา  หมายถึง ความมีจิตเป็นกลาง

อุเบกขา ความวางเฉยในทางใจได้ดีมาก ใจไม่รับในอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ อะไรที่มาสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นสิ่งที่จะให้เกิดความรักความชัง ใจจะวางเฉยอยู่ตลอดเวลาเมื่อใจลงสู่อุเบกขาความวางเฉยที่มั่นคงแล้ว

๑๐.  นิกันติ  หมายถึง ความพอใจ ติดใจ

นิกันติ มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ยอมรับผลที่เกิดขึ้นว่าเป็นของจริง มีความเชื่อ ว่าเป็นแนวทางที่จะทำให้ถึงซึ่งมรรคผลนิพพานได้แน่นอน ใครจะมาว่าภาวนาผิดอย่างไรก็มีความมั่นใจในตัวเองว่าภาวนาถูกต่อไป และยังไปตำหนิผู้อื่นว่าภาวนาไม่เก่งเหมือนเรา ถึงครูอาจารย์องค์ที่มีความฉลาดรอบรู้เข้ามาช่วยเหลือก็สายไปเสียแล้ว ชีวิตได้ทุ่มเทในการทำสมาธิอย่างจริงจัง ก็มาพังเพราะวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นนี้เอง

 

อุปกิเลสแห่งวิปัสสนานี้มี ๑๐ อย่าง แต่ละอย่างมีความยึดถือ
ได้อย่างละ ๓ แบบ 

๑.ทิฏฐิคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยทิฏฐิ เช่น ยึดถืออยู่ว่า "โอภาสเกิดขึ้นแก่เราแล้ว"

๒.มานคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยมานะ เช่น ยึดถืออยู่ว่า "โอภาสน่าพึงพอใจจริงหนอ เกิดขึ้นแล้ว"

๓.ตัณหาคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยตัณหา เช่น ชื่นชมโอภาสอยู่ วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่

๑.พระอริยสาวก ผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว

๒.ผู้ปฏิบัติผิด เริ่มต้นมาแต่ศีลวิบัติ

๓.ผู้ละทิ้งกรรมฐาน ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติกรรมฐาน

๔.บุคคลเกียจคร้าน แม้ปฏิบัติถูกมาแต่เริ่มต้น

๕.แต่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติโดยชอบ ประกอบความเพียร ผู้เริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนาแล้ว เท่านั้น

 

สรุป

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาสามารถยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย ขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ที่ละอย่างๆ จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เกิดเป็นวิปัสสนาญาณอ่อนๆ (หรือตรุณวิปัสสนา เช่น ในช่วงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ) ในช่วงนี้ก็จะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา

(ไฟล์อ้างอิง)

อ - อุทยัพพยานุปัสนาญาณ | มูลนิธิอุทยานธรรม (uttayarndham.org)

วิปัสสนูปกิเลสทั้งสิบนี้ เป็นภาวะที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และไม่เคยเกิดมี ไม่เคยประสบมาก่อน จึงชวนให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิด คิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว หรือหลงยึดเอาคิดว่าวิปัสสนูปกิเลสนั้นเป็นทางที่ถูก ถ้าหลงไปตามนั้นก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป คือพลาดทางวิปัสสนา แล้วก็จะทิ้งกรรมฐานเดิมเสีย นั่งชื่นชมอุปกิเลสของวิปัสสนาอยู่นั่นเอง

(ไฟล์ powerpoint)

20231119094527.pptx

โปรดประเมินความพึงพอใจจากการอ่านการอ่านเรื่องนี้ https://forms.gle/aVuG8jc2bxHLPBKu6

                                                                                                                                พระอรรถพล ปญฺญาพโล

หมายเลขบันทึก: 716343เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2023 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท