โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายองค์กรชุมชนเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน


เป้าหมาย :การสร้างความมีส่วนร่วม,สร้างความตระหนักรู้ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชุมชน
โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายองค์กรชุมชนเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน
 
1.คำสำคัญ :    อาหารปลอดภัย,การพัฒนาเครือข่าย ,พัฒนาขีดความสามารถขององค์กรชุมชน
 
2.จังหวัด :        อุบลราชธานี
 
3.กลุ่มเป้าหมาย :ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ในตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ บ้านหัวดูน บ้านดงคำอ้อ บ้านหนองมะเขือ บ้านหนองไผ่ บ้านหนองมะนาว บ้านห้วยคุ้ม บ้านหนองบัว และบ้านดอนยูง ภายใต้การส่งเสริมของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (สถานีวิจัยภาคสนาม จังหวัดอุบลราชธานี)
 
4.เป้าหมาย :การสร้างความมีส่วนร่วม,สร้างความตระหนักรู้ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชุมชน
(1) การสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในเรื่องการบริโภคอาหารปลอดภัยปราศจากสารปนเปื้อน (2) ส่งเสริมศักยภาพองค์กรเครือข่ายให้มีความรู้ในการสังเกต-เฝ้าระวัง-ใช้เครื่องมืออย่างง่ายตรวจสอบอาหารและประเมินอาหารที่บริโภคในครอบครัวและชุมขนได้อย่างปลอดภัยและมีคุณค่า และ (3) เพื่อให้องค์กรเครือข่ายสามารถเผยแพร่ความรู้ทั่วไปเรื่องอาหารสะอาดปลอดภัยแก่ชุมชนได้
 
5.สาระสำคัญของโครงการ : การขยายตัวของเมืองคืบคลานเข้ามาใกล้ชุมชนมากขึ้นทุกขณะ สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดที่ทำกิน หาเช้ากินค่ำด้วยการรับจ้างทั่วไปหรือเก็บขยะขายเพื่อแลกอาหาร และพึ่งพิงอาหารจากร้านค้าหรืออาหารเร่มากขึ้น โดยที่อาหารเหล่านั้นส่วนใหญ่จะมีคุณภาพต่ำหรือมีสารปนเปื้อน ซึ่งชาวบ้านผู้ซื้อหรือแม้แต่ผู้ขายจำนวนหนึ่งก็ไม่รู้จักวิธีสังเกต-ตรวจวัดสารปนเปื้อน ตลอดจนพิษภัยที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายเมื่อบริโภคเข้าไป  เนื่องจากสถาบันฯ ทำงานกับเด็กและสตรีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเล็งเห็นว่า คนทำงานด้านสาธารณสุขในชุมชนโดยเฉพาะ อสม. ก็เป็นผู้หญิง จึงได้เริ่มให้ความรู้กับกลุ่มสตรีแกนนำก่อน และพบว่าสตรีเหล่านี้มีศักยภาพในการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถเป็นตัวอย่างและต้นแบบแก่ชุมชนใกล้เคียงและชุมชนอื่นๆ ได้ด้วย
จากประสบการณ์ที่มีอยู่ ประกอบกับความต้องการผลักดันให้โครงการฯ ได้รับการต่อยอด สถานีวิจัยภาคสนามจังหวัดอุบลราชธานี สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  จึงได้ขอทุนสนับสนุนจาก สสส. เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมชุมชนใกล้เคียงที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของศูนย์สุขภาพชุมชนหัวดูน ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อันประกอบไปด้วย 8 หมู่บ้าน  ซึ่งต่างก็ประสบปัญหาการพึ่งพิงอาหารคุณภาพต่ำจากภายนอกเช่นเดียวกัน โดยให้ชุมชนดอนยูงซึ่งดำเนินการมาก่อนแล้วเป็นแกนนำในการส่งเสริมให้คนและองค์กรในชุมชนใกล้เคียงได้เข้ามามีส่วนร่วม และเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจนเกิดเป็นเครือข่าย หรือการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรชุมชนเหล่านั้น อันจะนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน
 
6.เครื่องมือที่ใช้ :การสร้างความมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย ,การสร้างความตระหนักรู้ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชุมชน
·       ถอดประสบการณ์การดำเนินโครงการต้นแบบ 
·       พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคณะทำงาน-แกนนำต้นแบบ
·       แนะนำ ชี้แจง โครงการ จัดประชุมประชาคมชุมชนพื้นที่เป้าหมาย
·       ประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างแนวคิด ความรู้ด้านสุขภาพ และเทคนิคการใช้เครื่องมือ
·       วิเคราะห์ปัญหาการบริโภคอาหารของชุมชน  
·       ทำแผนโครงการชุมชนและองค์กรเครือข่าย
·       เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประเมินการบริโภคอาหารปนเปื้อนในชุมชนด้วยชุดทดสอบ
·       ผลิตสื่อ ดำเนินงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้สู่ชุมชน
 
7.การจัดระบบ โครงสร้างกระบวนการทำงาน :อาศัยกลุ่มแกนนำ ทีมงาน และเครือข่ายความร่วมมือ
เพราะความที่กลุ่มสตรีและแกนนำบ้านดอนยูง เคยมีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนในชุมชนมาแล้วตั้งแต่ปี พ.. 2546  และพวกเขายังสามารถขยายความรู้สู่สมาชิกในชุมชน ในฐานะ วิทยากรต้นแบบ ส่วนด้านเทคนิคการดำเนินงานและด้านวิชาการ เจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยโภชนาการฯ จ.อุบลราชธานีและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนและติดตามการทำงานเป็นระยะ ความรู้ด้านเทคนิควิธีต่างๆ ในการออกแบบและดำเนินกิจกรรม การดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายองค์กรชุมชนเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน จะเน้นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเครือข่ายชุมชน   โดยพยายามให้องค์กรเครือข่ายชุมชนพื้นที่เป้าหมายเกิดการรวมตัวกัน ดำเนินงานเฝ้าระวัง ตรวจสอบประเมินความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน เพื่อร่วมกันป้องกันอันตรายและความเจ็บป่วยของคนในชุมชนที่อาจเกิดจากความไม่ปลอดภัยของอาหาร นอกจากนี้ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันระหว่างองค์กรเครือข่ายชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนด้านข้อมูลวิชาการ บุคลากร วิทยากร และเอกสาร เพื่อ เผยแพร่ความรู้ กระตุ้นจิตสำนึก ให้มองเห็นปัญหา รวมทั้งความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนเพื่อนำมาแก้ปัญหาได้
 
8.ขอบเขตและระยะเวลาดำเนินโครงการ : พฤศจิกายน 2547  -  ธันวาคม 2548
 
9.การประเมินผลและผลกระทบ :สิ่งที่เกิดขึ้นหลังโครงการฯ ความเข้มแข็งในการสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนและความสามารถในการขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านได้ ดังกล่าวทำให้มี อสม.จากชุมชนอื่นๆ ขอเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในระยะปลายของโครงการยังได้รับเชิญจากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ของศูนย์สุขภาพชุมชนใกล้เคียงที่อยู่ในตำบลเดียวกัน ให้ช่วยไปแนะนำ ชี้แจงเกี่ยวกับโครงการที่ดำเนินการอยู่ให้กับสมาชิกในที่ประชุมประจำเดือนฟัง และทำให้มีสมาชิกจากอีกหลายชุมชน เกิดมีความสนใจที่จะดำเนินโครงการในชุมชนของตนบ้าง
ภายหลังจากการนำเสนอผลการศึกษาและดำเนินการแก่หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัดและพื้นที่แล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง และเจ้าหน้าที่ตำบลจากอำเภอเขื่องใน ที่เข้าร่วมรับฟังผลการดำเนินงาน ก็เกิดความสนใจที่จะดำเนินการโครงการดังกล่าวด้วย ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็สนใจจะนำรูปแบบการดำเนินการดังกล่าวไปปรับใช้ในพื้นที่ที่ทางศูนย์ฯ กำลังดำเนินโครงการอยู่ในอำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี
 
10.ความยั่งยืน :แม้โครงการฯ จะสิ้นสุดลง แต่ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา จะยังคงอยู่กับชุมชนในระยะยาวต่อไปกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชน ,ศักยภาพขององค์กรชุมชน ใน 8 หมู่บ้าน และการช่วยเหลือจากภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ หากความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชนยังคงมีอยู่ ประกอบกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง มีความจริงจังในการร่วมงานและสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ชุดตรวจสอบแก่ชุมชนทุกชุมชนอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จที่ยั่งยืนก็น่าจะมีอยู่คู่กับชุมชนได้ตลอดไป และในอนาคตที่ฝ่ายงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบลใกล้เคียง ได้เสนอขอให้โครงการฯ ขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปครอบคลุมทั้งตำบลขามใหญ่และตำบลไร่น้อยที่อยู่ติดกันด้วย ก็ยิ่งทำให้การสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ และความเข็มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชนมีความสำคัญมากขึ้น
 
11.จุดแข็ง :การสร้างความมีส่วนร่วมชุมชนมีความเข้มแข็งกระตือรือร้น มีแกนนำที่เกาะติดทำจริงและสามารถทำงานประสานกันได้เป็นอย่างดีทั้งทีมนักวิจัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน อสม. และชาวบ้าน การสร้างองค์ความรู้ แกนนำได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชุดทดสอบสารบอแรกซ์ ชุดทดสอบสารฟอร์มารีนในน้ำแช่อาหารทะเล ชุดทดสอบสารกันรา(กรดซาลิซิลิก) และชุดทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟด์ ( สารฟอกขาว)
จุดด้อย :สื่อโปสเตอร์รณรงค์ ของโครงการยังไม่เหมาะสมและไม่สามารถสื่อสารให้โดนใจ//สะดุดใจให้ชุมชนได้(รูปแบบคล้ายกับราชการ) ความรู้ เรื่องอาหารปลอดภัยและการตรวจที่ให้กับชาวบ้านยังไม่ทั่วถึงและไม่มีข้อมูลเชิงลึกพอที่จะกระตุ้น อีกทั้งชุดทดสอบมีราคาค่อนข้างสูง ชาวบ้านไม่สามารถซื้อมาใช้ทดสอบเองได้ จึงต้องพึ่งพาหน่วยงานภาครัฐ ปัจจัยด้านพื้นที่ สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการผลิตอาหารในชุมชนได้ จึงต้องพึ่งพาอาหารจากภายนอก 100%
 
12.ที่ติดต่อ :
 นางสุวรรณี พรหมจันทร์ : สถานีวิจัยภาคสนาม จังหวัดอุบลราชธานี สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 01- 9673881
นางสุวนันท์ สิทธิหงษ์ : สถานีวิจัยภาคสนาม จังหวัดอุบลราชธานี สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
 โทร. 01- 3609902
นางฉลาด  ทองวงษ์  โทร. 045-312360 / 07-2605838
ตำแหน่ง       หัวหน้าศูนย์สุขภาพหัวดูน  ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
นางปรียูวัฒน์ ชาวเวียง (ป้าหวัด) โทร. 07-8276168
ตำแหน่ง       แกนนำเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขศูนย์สุขภาพชุมชนหัวดูน,อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
คณะแกนนำเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชนหัวดูน ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง อุบลฯ
คณะแกนนำสตรีและชุมชนบ้านดอนยูง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

 

หมายเลขบันทึก: 71610เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท