สารีปุตตเถรคาถา


ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ

สารีปุตตเถรคาถา

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

๒. สารีปุตตเถรคาถา

ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ

             (พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

             [๙๘๑] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ

             [๙๘๒] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่

             [๙๘๓] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำ เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

             [๙๘๔] อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์นี้ ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

             [๙๘๕] เมื่อภิกษุนั่งขัดสมาธิในกุฎีใด ฝนตกไม่เปียกเข่าทั้งสอง กุฎีเท่านี้ ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

             [๙๘๖] ภิกษุใดพิจารณาเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกข์เป็นเหมือนลูกศรคอยทิ่มแทงได้ ภิกษุนั้น ไม่ได้มีความยึดมั่นในอทุกขมสุขเวทนาทั้ง ๒ นั้น ว่าเป็นของเนื่องในตน เธอจะพึงถูกกิเลสอะไรผูกมัดไว้ในโลกได้อย่างไร

             [๙๘๗] ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มีการเล่าเรียนน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ อย่าได้มีในสำนักเรา ในกาลไหนๆ เลย (เพราะ)คนเช่นนั้นในสัตวโลก จะพึงสอนแบบไหนอย่างไรได้

             [๙๘๘] ส่วนภิกษุผู้เป็นพหูสูต มีปัญญา ตั้งมั่นดีในศีล ประกอบความสงบใจเนืองๆ อยู่ ขอจงมาสถิตอยู่บนกระหม่อมของเราเถิด

             [๙๘๙] ภิกษุใดประกอบธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า (ความยินดีในกามและความติดในรูปเป็นต้น) อยู่เนืองๆ มีใจยินดีในธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ภิกษุนั้น ชื่อว่าพลาดจากนิพพาน ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

             [๙๙๐] ส่วนภิกษุใดละธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้าได้แล้ว ยินดีแล้วในทางแห่งธรรมซึ่งเป็นเหตุไม่ให้เนิ่นช้า ภิกษุนั้นบรรลุนิพพาน ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

             [๙๙๑] พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่สถานที่ใด คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน

             [๙๙๒] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี เพราะท่านเหล่านั้น ไม่แสวงหากาม

             [๙๙๓] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ (และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย

             [๙๙๔] ผู้ใดพึงกล่าวสอนพร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย

             [๙๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุ ได้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ เรามุ่งประโยชน์ ได้ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟังของเรานั้น ไม่ไร้ประโยชน์ จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วหาอาสวะมิได้

             [๙๙๖] เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาไว้ เพื่อปุพเพนิวาสญาณ (ความรู้ที่เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ทั้งของตนและของผู้อื่น) ทิพพจักขุญาณ (ความรู้คือดวงตาทิพย์) เจโตปริยญาณ (ความรู้กำหนดใจผู้อื่นได้) อิทธิวิธญาณ (ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ) จุตูปปาตญาณ (ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย) และทิพพโสตญาณ (ความรู้ที่ทำให้ฟังได้ยินหมดตามปรารถนา (หูทิพย์))

             (ยักษ์กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

             [๙๙๗] พระเถระโล้นชื่ออุปติสสะนั่นแหละ ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา ครองผ้าสังฆาฏิอาศัยโคนไม้นั่นเองนั่งเข้าฌานอยู่

             [๙๙๘] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง

             [๙๙๙] ภูเขาศิลาล้วน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา

             (พระสารีบุตรเถระฟังคำของสามเณรนั้นแล้ว จึงได้กล่าวภาษิตว่า)

             [๑๐๐๐] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ

             (พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่าตนมีจิตเสมอกัน ทั้งตาย ทั้งเป็นอยู่ จึงกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

             [๑๐๐๑] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้

             [๑๐๐๒] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่ แต่เราคอยเวลาอันควร เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง

             (และเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จึงได้กล่าวไว้อีก ๒ ภาษิตว่า)

             [๑๐๐๓] ความตายนี้มีแน่นอนใน ๒ คราว คือ คราวแก่และคราวหนุ่มจะไม่ตาย ไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าพินาศเลย ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

             [๑๐๐๔] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่

             (พระสารีบุตรเถระพบท่านพระมหาโกฏฐิตะ เมื่อจะประกาศเกียรติคุณของท่าน จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

             [๑๐๐๕] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้ เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่น

             [๑๐๐๖] ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากการทำความชั่ว มักพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมได้แล้ว เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ลอยไป

             [๑๐๐๗] ภิกษุผู้สงบระงับ ไม่มีความคับแค้น มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลอันงาม เป็นปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้

             (พระสารีบุตรเถระปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรที่เชื่อพระเทวทัตต์ จึงได้กล่าวภาษิตทั้งหลายไว้ว่า)

             [๑๐๐๘] บุคคลไม่พึงไว้ใจในปุถุชนบางพวก ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต แม้เบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ภายหลังจะเป็นคนไม่ดี หรือเบื้องต้นเป็นคนไม่ดี ภายหลังจะกลับเป็นคนดีก็ตาม

             [๑๐๐๙] นิวรณธรรม ๕ เหล่านี้ คือ (๑) กามฉันทะ (๒) พยาบาท (๓) ถีนมิทธะ (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (๕) วิจิกิจฉา เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองใจของภิกษุ

             [๑๐๑๐] สมาธิของภิกษุใดผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ

             [๑๐๑๑] ภิกษุผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) นั้น นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ

             [๑๐๑๒] มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ ลม ๑ ไม่ควรที่จะเปรียบเทียบกับความหลุดพ้นอย่างประเสริฐของพระศาสดา

             [๑๐๑๓] พระเถระผู้ประพฤติตามพระธรรมจักร ที่พระศาสดาทรงให้เป็นไป มีปัญญามาก มีจิตตั้งมั่น เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ และไฟ ไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย

             [๑๐๑๔] ภิกษุถึงที่สุดสาวกปัญญาบารมี มีความรู้มาก เป็นมหามุนี ไม่โง่เขลา ไม่ใช่เหมือนผู้โง่เขลา เป็นผู้เย็นอยู่เป็นนิตย์

             [๑๐๑๕] เราปรนนิบัติพระศาสดา ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ปลงภาระที่หนักได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว

             [๑๐๑๖] ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา เราหลุดพ้นจากกิเลสและภพได้ทั้งหมดแล้ว จะปรินิพพานละ

--------------------

คำอธิบายนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย เถรคาถา ติงสนิบาต

๒. สารีปุตตเถรคาถา

               อรรถกถาสาริปุตตเถรคาถาที่ ๒               

   ในอดีตกาล ในที่สุดแห่งอสงไขยกำไรแสนกัป แต่กัปนี้ไป ท่านพระสารีบุตรบังเกิดแล้วในตระกูลพราหมณ์มหาศาล โดยมีชื่อว่าสรทมาณพ. ท่านพระมหาโมคคัลลานะบังเกิดแล้วในตระกูลคฤหบดีมหาศาล โดยมีชื่อว่าสิริวัฑฒกุมฎุพี. คนทั้งสองนั้นได้เป็นสหายร่วมเล่นฝุ่นด้วยกัน.
               ในบรรดาคน ๒ คนนั้น สรทมาณพพอบิดาล่วงลับดับชีพแล้ว ก็ครอบครองทรัพย์สมบัติอันเป็นของมีประจำตระกูล วันหนึ่งไปในที่ลับคนคิดว่า ขึ้นชื่อว่าสัตว์เหล่านี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุดอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราควรเข้าไปบวชแสวงหาโมกขธรรมเถิด ดังนี้แล้วจึงเข้าไปหาสหาย กล่าวว่า เพื่อนเอ๋ย! เรามีความประสงค์จะบวช, ท่านเล่า! จักสามารถเพื่อจะบวชได้ไหม. เมื่อเพื่อนตอบว่า เราไม่สามารถจะบวชได้ จึงกล่าวว่า ก็ตามใจเถอะ เราจักบวชคนเดียวก็ได้ ดังนี้แล้วจึงให้คนใช้เปิดประตูเรือนคลังสำหรับเก็บรัตนะออกมา ให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น แล้วไปยังเชิงบรรพต บวชเป็นฤาษี.
               บรรดาบุตรพราหมณ์ประมาณ ๗๔,๐๐๐ คนได้พากันออกบวชตามสรทมาณพนั้นแล้ว. สรทมาณพนั้นทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้นแล้ว ก็บอกการบริกรรมกสิณแก่พวกชฎิลแม้เหล่านั้น. พวกชฎิลแม้เหล่านั้นทั้งหมดก็พากันทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้นแล้ว.
               สมัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสี ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงยังพระธรรมจักรอันประเสริฐให้เป็นไปแล้ว ทรงยังหมู่สัตว์ให้ข้ามพ้นจากห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร วันหนึ่งจึงคิดว่า เราจักทำการสงเคราะห์สรทดาบสและพวกอันเตวาสิก ดังนี้ พระองค์เดียวไม่มีใครเป็นที่สอง ทรงถือเอาบาตรและจีวรเสด็จไปโดยอากาศ ตรัสว่า ดาบสจงรู้เราว่าเป็นพระพุทธเจ้าเถิด ดังนี้ เมื่อดาบสกำลังเห็นอยู่นั่นแหละจึงเสด็จลงจากอากาศ ประทับยืนเหนือปฐพี.
               สรทดาบสจึงใคร่ครวญถึงมหาปุริสลักษณะในสรีระของพระศาสดา ถึงความตกลงใจว่า บุคคลนี้คือพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แท้ จึงทำการต้อนรับปูลาดอาสนะถวาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดถวายแล้ว สรทดาบสนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง ใกล้พระศาสดา.
               สมัยนั้น พวกอันเตวาสิกของสรทดาบสนั้น เป็นชฎิลมีประมาณ ๗๔,๐๐๐ คนพากันถือเอาผลไม้น้อยใหญ่ที่ประณีตอย่างยิ่ง มีโอชารสดีมาแล้ว เห็นพระศาสดา เกิดมีความเลื่อมใส และแลดูอาการที่อาจารย์และพระศาสดานั่ง จึงกล่าวว่า อาจารย์ เมื่อก่อนพวกเราเข้าใจว่า ไม่มีใครยิ่งใหญ่เกินกว่าท่าน แต่บุรุษนี้เห็นจะยิ่งใหญ่กว่าท่านเป็นแน่.
               สรทดาบสตอบว่า พ่อทั้งหลาย นี่พวกพ่อพูดอะไรกัน พวกพ่อปรารถนาจะทำภูเขาสิเนรุซึ่งสูงตั้ง ๖,๘๐๐,๐๐๐ โยชน์ให้เสมอกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้อย่างไร พวกท่านอย่าเอาเราไปเปรียบกับพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเลย.
               ครั้งนั้น พวกดาบสนั้นฟังคำของอาจารย์แล้วพากันคิดว่า บุรุษนี้เป็นผู้ยิ่งใหญ่หนอ ทั้งหมดจึงพากันหมอบลงที่แทบเท้า ถวายบังคมพระศาสดา.
               ครั้งนั้น อาจารย์กล่าวกะพวกอันเตวาสิกนั้นว่า แน่ะพวกพ่อ ไทยธรรมของพวกเราที่จะสมควรแด่พระศาสดา ไม่มีเลย, และพระศาสดาเสด็จมาในที่นี้ ในเวลาภิกขาจาร, เอาเถอะ พวกเราจักถวายไทยธรรมตามกำลัง, พวกท่านจงนำผลไม้น้อยใหญ่ที่ประณีตนั้นมาเถิด ครั้นให้นำมาแล้ว ล้างมือให้สะอาดแล้ว ตนเองจึงวางไว้ในบาตรของพระตถาคต. และพอพระศาสดารับผลไม้น้อยใหญ่ พวกเทวดาก็เติมทิพยโอชาลง.
               ดาบสทำการกรองน้ำถวายเอง. ต่อแต่นั้น เมื่อพระศาสดาประทับนั่งทำโภชนกิจให้เสร็จสิ้นแล้ว ดาบสก็เรียกอันเตวาสิกทั้งหมดมานั่ง กล่าวสารณียกถาในสำนักของพระศาสดา. พระศาสดาทรงดำริว่า อัครสาวกทั้งสองจงมาพร้อมกับภิกษุสงฆ์เถิด. อัครสาวกทั้งสองนั้นทราบพระดำริของพระศาสดาแล้ว ในขณะนั้นจึงมีพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร พากันมาไหว้พระศาสดาแล้ว ยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น สรทดาบสจึงเรียกพวกอันเตวาสิกมาว่า พวกพ่อพึงเอาอาสนะดอกไม้ทำการบูชาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์เถิด เพราะฉะนั้นจงเอาดอกไม้มาเถิด. ในขณะนั้นนั่นเอง พวกอันเตวาสิกนั้นนำเอาดอกไม้ที่ถึงพร้อมด้วยสีและกลิ่น ด้วยฤทธิ์แล้วปูลาดเป็นอาสนะดอกไม้ประมาณโยชน์หนึ่งแด่พระพุทธเจ้า, ประมาณ ๓ คาวุตแก่พระอัครสาวกทั้งสอง ประมาณกึ่งโยชน์แก่พวกพระภิกษุที่เหลือ ปูลาดประมาณ ๑ อุสภะ แก่ภิกษุสงฆ์นวกะ.
               เมื่อพวกอันเตวาสิกนั้นพากันปูลาดอาสนะเรียบร้อยแล้วอย่างนั้น. สรทดาบสจึงยืนประคองอัญชลีข้างหน้าพระตถาคต กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงเสด็จขึ้นบนอาสนะดอกไม้นี้เพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพระองค์เถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้แล้ว. เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว อัครสาวกทั้งสองและพวกภิกษุที่เหลือต่างก็พากันนั่งบนอาสนะที่ถึงแล้วแก่ตนๆ. พระศาสดาตรัสว่า ขอผลเป็นอันมากจงสำเร็จแก่ดาบสเหล่านั้นเถิด แล้วทรงเข้านิโรธสมาบัติ. พระอัครสาวกทั้งสองก็ดี ภิกษุที่เหลือก็ดี ทราบว่าพระศาสดาเข้าสมาบัติแล้ว จึงพากันเข้านิโรธสมาบัติบ้าง.
               ดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้ตลอด ๗ วันอันหาระหว่างมิได้. ฝ่ายอันเตวาสิกนอกนี้พากันบริโภคมูลผลาผลในป่าแล้ว ในกาลที่เหลือก็พากันยืนประคองอัญชลี.
               พอล่วง ๗ วัน พระศาสดาก็เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ตรัสเรียกนิสภเถระอัครสาวกมาว่า เธอจงทำอนุโมทนาอาสนะดอกไม้ของดาบสทั้งหลายเถิด. พระเถระดำรงอยู่ในสาวกบารมีญาณ ได้กระทำการอนุโมทนาอาสนะดอกไม้แก่ดาบสเหล่านั้นแล้ว. ในที่สุดแห่งเทศนาของพระเถระนั้น พระศาสดาตรัสเรียกอโนมเถระอัครสาวกที่สอง (ฝ่ายซ้าย) มาว่า แม้เธอก็จงแสดงธรรมแก่ดาบสเหล่านี้บ้างเถิด.
               แม้พระอโนมเถระนั้นก็พิจารณาถึงพระพุทธวจนะ คือพระไตรปิฎกแล้ว จึงแสดงธรรมแก่ดาบสเหล่านั้น การบรรลุธรรมด้วยการแสดงธรรม แม้ของพระอัครสาวกทั้งสองไม่ได้มีแล้วแก่คนแม้สักคนเดียว.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงดำรงอยู่ในพุทธวิสัยแล้ว เริ่มพระธรรมเทศนา. ในที่สุดเทศนา เว้นสรทดาบสเสีย พวกชฎิลที่เหลือทั้งหมดประมาณ ๗๔,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัต. พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด. ในบัดดลนั้นเอง พวกชฎิลนั้นเป็นผู้มีเพศแห่งดาบสอันตรธานไปแล้ว เป็นผู้ทรงบริขาร ๘ อันประเสริฐ ได้เป็นราวกะพระเถระอายุ ๖๐ ปี.
               ฝ่ายสรทดาบสตั้งความปรารถนาว่า โอหนอ แม้ตัวเราพึงได้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนพระนิสภเถระนี้เถิด ดังนี้ ในเวลาพระศาสดาทรงแสดงธรรม เป็นผู้ส่งใจไปในที่อื่นเสีย เพราะค่าที่ตนเกิดความปริวิตกขึ้น จึงไม่สามารถจะบรรลุแจ้งมรรคและผลได้.
               ลำดับนั้น สรทดาบสจึงถวายบังคมพระตถาคตแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้เหมือนอย่างนั้น.
               แม้พระศาสดาทรงเห็นว่าสรทดาบสนั้นจะสำเร็จความปรารถนาโดยหาอันตรายมิได้ จึงตรัสพยากรณ์ว่า ตั้งแต่นี้ไปล่วงอสงไขยกำไรแสนกัป เธอจักชื่อว่าสาริบุตร เป็นอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ดังนี้แล้วจึงตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เสด็จไปทางอากาศ.
               ฝ่ายสรทดาบสไปหาสิริวัฑฒะผู้เป็นสหายแล้วกล่าวว่า เพื่อนเอ๋ย เราปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ผู้จะอุบัติในอนาคตกาล ณ บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสี, แม้ท่านก็จงปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่สอง (ฝ่ายซ้าย) ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นบ้างเถอะ.
               สิริวัฑฒะได้ฟังคำแนะนำนั้นแล้ว จึงให้ปรับพื้นที่ประมาณ ๘ กรีสใกล้ประตูที่อยู่ของตนให้สม่ำเสมอแล้ว เกลี่ยดอกไม้ทั้งหลายมีดอกบวบขมเป็นที่ ๕ แล้วให้สร้างมณฑปมุงด้วยดอกอุบลเขียวแล้ว ปูลาดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้า และปูลาดอาสนะสำหรับพวกภิกษุ ตระเตรียมสักการะและสัมมานะเป็นอันมากแล้ว ให้สรทดาบสนิมนต์พระศาสดา ยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วันแล้ว ให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นุ่งห่มผ้าอันควรแก่ค่ามากมายแล้ว ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นอัครสาวกที่ ๒.
               ถึงพระศาสดาก็ทรงเล็งเห็นว่า เขาจะสำเร็จความปรารถนาโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์โดยนัยดังกล่าวแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาภัตแล้วเสด็จหลีกไป.
               สิริวัฑฒะร่าเริงดีใจมาก บำเพ็ญกุศลกรรมจนตลอดชีวิต ในวาระจิตที่ ๒ บังเกิดในกามาวจรเทวโลก. สรทดาบสเจริญพรหมวิหาร ๔ บังเกิดในพรหมโลก.
               จำเดิมแต่นั้น ท่านก็มิได้กล่าวถึงกรรมในระหว่างแม้แห่งบุคคลทั้งสองนั้นเลย. ก็ก่อนหน้าการอุบัติของพระผู้มีภาคเจ้าของพวกเรา สรทดาบสถือปฏิสนธิในท้องของนางพราหมณีชื่อว่ารูปสารี ในอุปติสสคาม ไม่ไกลกรุงราชคฤห์. ในวันนั้นนั่นเอง แม้สหายของเขาก็ถือปฏิสนธิในท้องของนางพราหมณีชื่อว่าโมคคัลลี ในโกลิตคาม ไม่ไกลกรุงราชคฤห์นักเลย.
               ได้ยินว่า สกุลทั้งสองนั้นเป็นสหายสืบเนื่องกันมานับได้ ๗ ชั่วสกุลนั่นเทียว. ชนทั้งหลายได้ให้คัพภบริหารเริ่มตั้งแต่วันที่หนึ่งนั่นแลแก่ตระกูลทั้งสองนั้น. โดยล่วงไป ๑๐ เดือน แม่นม ๖๖ คนได้พากันบำรุงคนทั้งสองที่เกิดแล้ว, ในวันตั้งชื่อ พวกญาติได้ทำการตั้งชื่อบุตรของนางพราหมณีรูปสารีว่า อุปติสสะ เพราะเป็นบุตรแห่งสกุลอันประเสริฐสุดในอุปติสสคาม, ตั้งชื่อบุตรนอกนี้ว่า โกลิตะ เพราะเป็นบุตรแห่งสกุลอันประเสริฐสุดในโกลิตคาม.
               เด็กทั้งสองคนนั้นมีบริวารมากมาย เจริญวัยแล้ว ได้สำเร็จการศึกษาทุกอย่างแล้ว.
               ครั้นวันหนึ่ง เมื่อคนทั้งสองนั้น ดูการเล่นมหรสพบนยอดภูเขา ณ กรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกันแล้ว มีโยนิโสมนสิการเกิดผุดขึ้น เพราะค่าที่ตนมีญาณแก่กล้าแล้ว จึงพากันคิดว่า คนเหล่านี้แม้ทั้งหมดไม่ถึงร้อยปีก็จักตั้งอยู่ในปากแห่งความตาย ดังนี้แล้วได้ความสังเวช ทำความตกลงใจว่า พวกเราควรจะแสวงหาโมกขธรรม, และการจะแสวงหาโมกขธรรมนั้นควรเพื่อจะได้การบรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คนพากันบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก.
               จำเดิมแต่กาลที่คนเหล่านั้นบวชแล้ว สัญชัยได้เป็นผู้ถึงความเลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ.
               โดยล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น คนทั้งสองนั้นพากันยึดถือลัทธิของสัญชัยทั้งหมดแล้ว มองไม่เห็นสาระในลัทธินั้น จึงพากันออกจากลัทธินั้น ถามปัญหากะสมณพราหมณ์ที่สมมติกันว่าเป็นบัณฑิตเหล่านั้นในที่นั้นๆ. สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกคนทั้งสองนั้นถามปัญหาแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ โดยที่แท้คนทั้งสองต้องแก้ปัญหาแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               คนทั้งสองนั้น ขณะแสวงหาโมกขธรรม ได้ทำกติกากันไว้แล้วอย่างนี้ว่า ในพวกเราผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อนกว่า ผู้นั้นจงบอกแก่คนนอกนี้ให้ทราบบ้าง.
               ก็สมัยนั้น เมื่อพระศาสดาของพวกเราบรรลุพระอภิสัมโพธิญาณครั้งแรก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวรให้เป็นไปแล้ว ทรงทรมานพวกชฎิล ๑,๐๐๐ คนมีอุรุเวลกัสสปะเป็นต้นโดยลำดับแล้ว ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์.
               วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังอารามของปริพาชก มองเห็นท่านพระอัสสชิเถระ กำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงคิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยาเห็นปานนี้ เราไม่เคยเห็นเลย, ชื่อว่าธรรมอันสงบพึงมีในที่นี้ ดังนี้ จึงเกิดความเลื่อมใส รอท่าติดตามไปข้างหลังท่าน เพื่อจะถามปัญหา.
               แม้พระเถระได้บิณฑบาตแล้วก็ไปยังโอกาสอันสมควร เพื่อจะทำการบริโภค, ปริพาชกจึงปูลาดตั่งสำหรับปริพาชกของตนถวายท่าน. ก็ในที่สุดภัตกิจ เขาได้ถวายน้ำจากคนโทน้ำของตนแก่ท่าน.
               ปริพาชกนั้นกระทำอาจริยวัตรอย่างนั้นแล้ว กระทำปฏิสันถารกับพระเถระผู้มีภัตกิจอันกระทำแล้ว จึงถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน, หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร.
               พระเถระแสดงอ้างถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. พระเถระนั้นถูกปริพาชกนั้นถามอีกว่า ก็พระศาสดาของท่านมีปกติกล่าวอะไร ดังนี้แล้วจึงตอบว่า เราจักแสดงความลึกซึ้งของพระศาสนานี้ จึงแสดงชี้แจงความที่ตนเป็นผู้ใหม่แล้ว และเมื่อจะกล่าวศาสนธรรมแก่ปริพาชกนั้นโดยสังเขป จึงกล่าวคาถาว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด ดังนี้เป็นต้น.
               ปริพาชกได้ฟังสองบทแรกเท่านั้นก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลอันสมบูรณ์ด้วยพันนัย, สองบทนอกนี้ จบลงในเวลาที่เป็นพระโสดาบันแล้ว.
               ก็ในเวลาจบคาถา อุปติสสปริพาชกเป็นพระโสดาบัน กำหนดความวิเศษที่เหนือขึ้นไปที่พระเถระยังมิให้เป็นไปว่า เหตุในข้อนี้จักมีดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับพระเถระว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อย่าแสดงพระธรรมเทศนาให้สูงขึ้นไปเลย เท่านี้ก็พอแล้ว. พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ในที่ไหน?
               พระเถระตอบว่า ที่พระเวฬุวัน.
               อุปติสสะเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงล่วงหน้าไปก่อนเถอะ กระผมจักเปลื้องปฏิญญาที่ให้ไว้กับสหายของกระผมก่อนแล้ว จักพาเขาไปดังนี้แล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทำประทักษิณ ๓ ครั้งแล้ว ส่งพระเถระไปแล้ว จึงได้ไปยังอาศรมของปริพาชก.
               โกลิตปริพาชกมองเห็นอุปติสสปริพาชกกำลังเดินมาแต่ที่ไกลเทียว คิดว่า วันนี้เขามีหน้าตาแจ่มใส ไม่เหมือนในวันอื่นๆ เลย, เห็นทีจักบรรลุอมตธรรมเป็นแน่แท้ ดังนี้แล้ว ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละจึงยกย่องการบรรลุคุณวิเศษของเขาแล้ว ถามถึงการบรรลุอมตธรรม.
               แม้อุปติสสะนั้นก็แสดงให้รู้ว่า ใช่! อาวุโส เราบรรลุอมตธรรมแล้ว ดังนี้แล้วจึงกล่าวคาถานั้นนั่นแหละแก่เขา. ในเวลาจบคาถา โกลิตะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวว่า พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ไหน?
               อุปติสสะตอบว่า ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน. โกลิตะกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเราไปกันเถอะ อาวุโส, จักได้เข้าเฝ้าพระศาสดา. อุปติสสะเป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ตลอดกาลทั้งปวง เพราะฉะนั้นไปหาสัญชัยแล้ว ประกาศคุณของพระศาสดาแล้ว ได้เป็นผู้ประสงค์จะนำแม้สัญชัยนั้นไปยังสำนักพระศาสดาบ้าง.
               สัญชัยปริพาชกนั้นเป็นผู้ถูกความหวังในลาภเข้าครอบงำ จึงไม่ต้องการเป็นอันเตวาสิก ห้ามว่า เราไม่อาจจะเป็นตุ่มใส่น้ำอาบได้.
               อุปติสสะและโกลิตะนั้นไม่สามารถจะให้สัญชัยนั้นกลับใจได้ จึงพร้อมกับพวกอันเตวาสิก ๒๕๐ คนผู้ประพฤติตามโอวาทของตน ได้ไปยังเวฬุวัน.
               พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นอันเตวาสิกเหล่านั้นกำลังเดินทางมาแต่ไกล จึงตรัสว่า นั่นจักเป็นคู่สาวกของเรา เป็นคู่อันเลิศ เป็นคู่อันเจริญ ดังนี้ ทรงแสดงธรรมด้วยอำนาจความประพฤติของบริษัทของอัครสาวกทั้งสองนั้นแก่บริษัทแล้ว ให้ตั้งอยู่ในความเป็นพระอรหัต ได้ประทานอุปสมบทโดยเอหิภิกษุ. บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ได้มาแล้วแม้แก่อัครสาวกทั้งสอง เหมือนอย่างบริษัทของอัครสาวกทั้งสองนั้นนั่นแล แต่กิจแห่งอริยมรรค ๓ เบื้องบนยังไม่สำเร็จ.
               เพราะเหตุไร? เพราะสาวกบารมีญาณนั้นยิ่งใหญ่.
               ในบรรดาพระอัครสาวกทั้งสองนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะตั้งแต่วันบวชมา ในวันที่ ๗ บำเพ็ญสมณธรรมที่บ้านกัลลวาลคาม ที่มคธรัฐ ก้าวลงสู่ความง่วง เป็นผู้อันพระศาสดาให้เกิดความสลดใจแล้ว บรรเทาความง่วงเสียได้ ฟังธาตุกัมมัฏฐานนั่นแล บรรลุอริยมรรค ๓ เบื้องบนแล้ว บรรลุที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ.
               ส่วนท่านพระสารีบุตร ตั้งแต่วันบวชมาล่วงไปได้กึ่งเดือน เมื่อพระศาสดาแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกหลานของตน ณ ที่ถ้ำสูกรขาตา ในกรุงราชคฤห์ ส่งญาณไปตามแนวเทศนาก็บรรลุที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณได้ เหมือนบริโภคภัตที่คนอื่นคดไว้แล้วฉะนั้น.

  สาวกบารมีญาณของอัครสาวกทั้งสองนั้น ถึงที่สุดในที่ใกล้พระศาสดานั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า :-
               ในที่ไม่ไกลจากหิมวันตประเทศ มีภูเขาชื่อลัมพกะ เราสร้างอาศรมไว้อย่างดี สร้างบรรณศาลาไว้ใกล้ภูเขานั้น อาศรมของเราไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำอันไม่ลึก มีท่าน้ำราบเรียบเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เกลื่อนกล่นด้วยหาดทรายขาวสะอาด.
               ที่ใกล้อาศรมของเรานั้นมีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ตลิ่งไม่ชัน น้ำจืดสนิทไม่มีกลิ่นเหม็นไหลไป ทำให้อาศรมของเรางาม. ฝูงจระเข้ มังกร ปลาฉลามและเต่าว่ายน้ำเล่นอยู่ในแม่น้ำ ไหลไป ณ ที่ใกล้อาศรมของเรา ย่อมทำอาศรมของเราให้งาม.
               ฝูงปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน และปลานกกระจอกว่ายโลดโดดอยู่ ย่อมทำอาศรมของเราให้งาม.
               ที่สองฝั่งแม่น้ำมีหมู่ไม้ดอก หมู่ไม้ผลห้อยย้อยอยู่ทั้งสองฝั่ง ย่อมทำอาศรมของเราให้งาม. ไม้มะม่วง ไม้รัง หมากเม่า แคฝอย ไม้ยางทราย ส่งกลิ่นหอมอบอวลอยู่เป็นนิจ บานอยู่ใกล้อาศรมของเรา ไม้จำปา ไม้อ้อยช้าง ไม้กระทุ่ม กระถินพิมาน บุนนาคและลำเจียก มีกลิ่นหอมฟุ้งไปเป็นนิจ บานสะพรั่งอยู่ใกล้อาศรมของเรา ไม้ลำดวน ต้นอโศก ดอกกุหลาบ บานสะพรั่งอยู่ใกล้อาศรมของเรา ไม้ปรูและมะกล่ำหลวง ดอกบานสะพรั่งอยู่ใกล้อาศรมของเรา การะเกด พะยอมขาว พิกุลและมะลิซ้อนมีดอกหอมอบอวล ทำอาศรมเราให้งาม ไม้เจตภังคี ไม้กรรณิการ์ ไม้ประดู่และไม้อัญชันมีมาก มีดอกหอมฟุ้ง ทำให้อาศรมของเรางาม. มะนาว มะงั่วและแคฝอย ดอกบานสะพรั่งหอมตลบอบอวล ทำอาศรมของเราให้งาม. ไม้ราชพฤกษ์ อัญชันเขียว ไม้กระทุ่มและพิกุลมีมาก ดอกหอมฟุ้งไป ทำอาศรมของเราให้งาม.
               ถั่วดำ ถั่วเหลือง กล้วยและมะกรูด งอกงามด้วยน้ำ หอม ออกผลสะพรั่ง ดอกปทุมอย่างอื่นบานเบ่ง ดอกบัวชนิดอื่นก็เกิดขึ้น บัวหลวงชนิดหนึ่งดอกร่วงพรู บานอยู่ในบึงในกาลนั้น กอปทุมมีดอกตูม เหง้าบัวเลื้อยไปเสมอ กระจับเกลื่อนด้วยใบ งามอยู่ในบึงในกาลนั้น ไม้ ตาเสือ จงกลนี ไม้อุตตรา และชบากลิ่นหอมตลบไป ดอกบานอยู่ในบึง.
               ในกาลนั้น ฝูงปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน ปลาสังกุลาและปลารำพัน มีอยู่ในบึงในกาลนั้น ฝูงจระเข้ ปลาฉลาม ปลาฉนาก ผีเสื้อน้ำและงูเหลือมใหญ่ที่สุดอยู่ในบึงนั้น.
               ในกาลนั้น ฝูงนกคับแค นกเป็ดน้ำ นกจากพราก (ห่าน) นกกาน้ำ นกดุเหว่าและสาลิกา อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ฝูงนกกวัก ไก่ป่า ฝูงนกกะลิงป่า นกต้อยตีวิด นกแขกเต้า ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกแขกเต้า ไก่งวง นกค้อนหอยและนกออก ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ฝูงนกแสก นกหัวขวาน นกเขา เหยี่ยวมีมากและฝูงนกกาน้ำ ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิต อยู่ใกล้สระนั้น.
               ฝูงเนื้อฟาน กวาง หมู หมาป่า หมาจิ้งจอกมีอยู่มาก ละมั่งและเนื้อทราย ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาในกับเสือดาว โขลงช้างแยกเป็นสามพวก อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น เหล่ากินนร วานรและแม้คนทำการงานในป่า หมาไล่เนื้อ และนายพราน ก็อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น.
               ต้นมะพลับ มะหาด มะซาง หมากเม่า เผล็ดผลทุกฤดู อยู่ ณ ที่ใกล้อาศรมของเรา ต้นคำ ต้นสน กระทุ่ม สะพรั่งด้วยผลรสหวาน เผล็ดผลทุกฤดู อยู่ ณ ที่ใกล้อาศรมของเรา ต้นสมอ มะขามป้อม ต้นหว้า สมอพิเภก กระเบา ไม้รกฟ้าและมะตูม เผล็ดผลเป็นนิจ เชือกเขา มันอ้อน ต้นนมแมว มันนก กะเม็งและคัดมอน มีอยู่มากมายใกล้อาศรมของเรา.
               ณ ที่ใกล้อาศรมของเรานั้น มีสระที่ขุดไว้อย่างดี มีน้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดารดาษด้วยบัวหลวง อุบลและบัวขาว เกลื่อนกลาดด้วยบัวขม บัวเผื่อน กลิ่นหอมตลบไป.
               ในกาลนั้น เราเป็นดาบสชื่อสุรุจิ เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยวัตร มีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌานทุกเมื่อ บรรลุถึงอภิญญา ๕ และพละ ๕ อยู่ในอาศรมที่สร้างเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ ในป่าอันบริบูรณ์ด้วยใบไม้ไม้ดอกและไม้ผลทุกสิ่งอย่างนี้
               ศิษย์ ๒๔,๐๐๐ นี้แลเป็นพราหมณ์ทั้งหมด ผู้มีชาติมียศบำรุงเรา มวลศิษย์ของเรานี้เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ในตำราทายลักษณะและในคัมภีร์อิติหาสะ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ รู้จบไตรเพท
               บรรดาศิษย์ของเราเป็นผู้ฉลาดในลางดีร้าย ในนิมิตดีร้าย และในลักษณะทั้งหลาย ศึกษาดี ในพื้นแผ่นดินและในอากาศ ศิษย์เหล่านี้มีความปรารถนาน้อย มีปัญญา กินหนเดียว ไม่โลภ สันโดษด้วยลาภและความเสื่อมลาภ บำรุงเราทุกเมื่อ เป็นผู้เพ่งฌาน ยินดีในณาน เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบตั้งมั่น ปรารถนาความไม่มีกังวล บำรุงเราอยู่ทุกเมื่อ เป็นผู้ถึงที่สุดอภิญญา ยินดีในอารมณ์อันเป็นโคจรของบิดา เที่ยวไปในอากาศ เป็นนักปราชญ์ บำรุงเราอยู่ทุกเมื่อ
               ศิษย์ของเราเหล่านั้นสำรวมในทวารทั้ง ๖ ไม่หวั่นไหว รักษาอินทรีย์ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นนักปราชญ์ หาผู้อื่นเสมอได้ยาก. ศิษย์ของเราเหล่านั้นยับยั้งอยู่ด้วยการนั่งคู้บัลลังก์ การยืนและเดินตลอดราตรี หาผู้อื่นเสมอได้ยาก. มวลศิษย์ของเราไม่กำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งความขัดเคือง ไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้งความหลง ยากที่จะคร่าไปได้.
               ศิษย์เหล่านั้นแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ ประพฤติอยู่เป็นนิตยกาล บันดาลให้แผ่นดินไหวก็ได้ ยากที่ใครๆ จะแข่งได้. ศิษย์เหล่านั้นเข้าปฐมฌานเป็นต้น พวกหนึ่งไปยังอมรโคยานทวีป พวกหนึ่งไปยังปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปยังอุตตรกุรุทวีป ไปนำเอาผลหว้ามา. ศิษย์ของเราหาผู้อื่นเสมอได้ยาก. ศิษย์เหล่านั้นส่งหาบไปข้างหน้า ตนไปข้างหลัง ท้องฟ้าเป็นฐานะอันดาบส ๒๔,๐๐๐ ปกปิดแล้ว. ศิษย์บางพวกปิ้งให้สุกด้วยไฟกิน บางพวกกินดิบๆ นั่นเอง บางพวกเอาฟันแทะเปลือกออกแล้วกิน บางพวกซ้อมด้วยครกแล้วกิน บางพวกตำด้วยครกหินกิน บางพวกกินผลไม้ที่หล่นเอง บางพวกชอบสะอาดลงอาบน้ำทั้งเวลาเย็นและเช้า บางพวกเอาน้ำรดอาบ.
               ศิษย์ของเราหาผู้อื่นเสมอได้ยาก ศิษย์ของเราปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้งอกยาว ขี้ฟันเขรอะ มีธุลีบนเศียร หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้อื่นเสมอได้ยาก
               ดาบสทั้งหลายมีตบะแรงกล้า ประชุมกันในเวลาเช้าแล้ว ไปประกาศลาภน้อยลาภมากในอากาศ.
               ในกาลนั้น เมื่อดาบสนี้หลีกไป เสียงอันดังย่อมเป็นไป เทวดาทั้งหลายย่อมยินดีด้วยเสียงหนังสัตว์ ฤาษีเหล่านั้นกล้าแข็งด้วยกำลังของตน เหาะไปในอากาศ ไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ตามปรารถนา.
               ปวงฤาษีนี้แลทำแผ่นดินให้หวั่นไหว เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป ยากที่จะข่มขี่ได้ ดังสาครยากที่ใครๆ จะให้ขุ่นได้. ฤาษีศิษย์ของเราบางพวกประกอบการยืนและเดิน บางพวกไม่นอน บางพวกกินผลไม้ที่หล่นเอง หาผู้อื่นเสมอได้ยาก.
               ท่านเหล่านี้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ไม่ยกย่องตน ทั้งหมดไม่ติเตียนใครๆ ทั้งนั้น เป็นผู้ไม่เย้ยหยันใครๆ เป็นผู้ไม่กลัวดังพระยาราชสีห์ มีกำลังเหมือนพระยาคชสาร ยากที่จะข่มได้ ดุจเสือโคร่งย่อมมาในสำนักของเรา.
               พวกวิทยาธร เทวดา นาค คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ อสูรและครุฑ ย่อมอาศัยและเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น. ศิษย์ของเราเหล่านั้นทรงชฎา เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้และเหง้ามัน นุ่งห่มหนังสัตว์ เที่ยวไปในอากาศได้ทุกตน อยู่ใกล้สระนั้น.
               ในกาลนั้น ศิษย์เหล่านี้เป็นผู้สมควร มีความเคารพกันและกัน เสียงไอจามของศิษย์ทั้ง ๒๔,๐๐๐ ย่อมไม่มี. ท่านเหล่านี้ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า เงียบเสียงสังวรดี เข้ามาไหว้เราด้วยเศียรเกล้าทั้งหมดนั้น.
               เราผู้เพ่งฌาน ยินดีในฌาน ห้อมล้อมด้วยศิษย์เหล่านั้นผู้สงบระงับ มีตบะอยู่ในอาศรมนั้น อาศรมของเรามีกลิ่นหอมด้วยกลิ่นศีลของเหล่าฤาษี และด้วยกลิ่นสองอย่าง คือกลิ่นดอกไม้และกลิ่นผลไม้ เราไม่รู้สึกตลอดคืนและวัน ความไม่ยินดีไม่มีแก่เรา เราสั่งสอนบรรดาศิษย์ของตน ย่อมได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง เมื่อดอกไม้ทั้งหลายบานและเมื่อผลไม้ทั้งหลายสุก กลิ่นหอมตลบอบอวล ทำอาศรมของเราให้งาม เราออกจากสมาธิแล้ว มีความเพียร มีปัญญา ถือเอาภาระคือหาบเข้าป่า
               ในกาลนั้น เราศึกษาชำนาญในลางดีลางร้าย ฝันดีฝันร้ายและตำราทำนายลักษณะ ทรงลักษณมนต์อันกำลังเป็นไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี เป็นผู้ประเสริฐในโลก เป็นนระผู้องอาจ ทรงใคร่วิเวก เป็นสัมพุทธเจ้า เข้าไปยังป่าหิมวันต์ พระองค์ผู้เลิศ เป็นมุนีประกอบด้วยกรุณา เป็นอุดมบุรุษ เสด็จเข้าป่าหิมวันต์แล้ว ทรงนั่งคู้บัลลังก์.
               เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีรัศมีสว่างจ้า น่ารื่นรมย์ใจดังดอกบัวเขียว ทรงรุ่งเรืองควรบูชา ดังกองไฟ เราได้เห็นพระนายกของโลก ทรงรุ่งโรจน์ดุจดวงไฟ เหมือนสายฟ้าในอากาศ เช่นกับพญารังมีดอกบานสะพรั่ง เพราะอาศัยการได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นมหาวีระ ทรงทำที่สุดทุกข์ เป็นมุนีนี้ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.
               ครั้นเราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเทวดาล่วงเทวดาแล้ว ได้ตรวจดูลักษณะว่าเป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่ มิฉะนั้น เราจะดูพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจักษุ เราได้เห็นจักรมีกำพันหนึ่งที่พื้นฝ่าพระบาท ครั้นได้เห็นพระลักษณะของพระองค์แล้ว จึงถึงความตกลงในพระตถาคต.
               ในกาลนั้น เราจับไม้กวาดกวาดที่นั่นแล้ว ได้นำเอาดอกไม้ ๘ ดอกมาบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ครั้นบูชาพระพุทธเจ้าผู้ข้ามโอฆะไม่มีอาสวะนั้นแล้ว ทำหนังเสือดาวเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นมัสการพระนายกของโลก พระสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ ทรงอยู่ด้วยพระญาณใด เราจักประกาศพระญาณนั้น.
               ท่านทั้งหลายจงฟังคำเรากล่าว พระสยัมภูผู้มีความเจริญมากที่สุด ทรงถอนสัตวโลกนี้แล้ว สัตว์เหล่านั้นอาศัยการได้เห็นพระองค์ ย่อมข้ามกระแสน้ำคือความสงสัยได้ พระองค์เป็นพระศาสดา เป็นยอด เป็นธงชัย เป็นหลัก เป็นร่มเงา เป็นที่พึ่ง เป็นประทีปส่องทาง เป็นพระพุทธเจ้าของสัตว์ทั้งหลาย.
               น้ำในสมุทรอาจประมาณด้วยมาตราตวง แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ได้เลย เอาดินมาชั่งดูแล้วอาจประมาณแผ่นดินได้ แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ได้เลย อาจวัดอากาศได้ด้วยเชือกหรือนิ้วมือ แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ได้เลย พึงประมาณลำน้ำในมหาสมุทรและแผ่นดินทั้งหมดได้ แต่จะถือเอาพระพุทธญาณมาประมาณนั้นไม่ควร.
               ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ จิตของสัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลกย่อมเป็นไป สัตว์เหล่านี้เข้าไปภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ พระองค์ทรงบรรลุโพธิญาณอันอุดมสิ้นเชิงด้วยพระญาณใด พระสัพพัญญูก็ทรงย่ำยีอัญญเดียรถีย์ด้วยพระญาณนั้น.
               ท่านสุรุจิดาบสกล่าวชมเชยด้วยคาถาเหล่านี้ แล้วปูลาดหนังเสือบนแผ่นดินแล้วนั่งอยู่. ท่านกล่าวไว้ในบัดนี้ว่า ขุนเขาสูงสุดหยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ขุนเขาสิเนรุทั้งด้านยาวและด้านกว้าง สูงสุดเพียงนั้น ทำให้ละเอียดได้ด้วยประเภทการนับว่าแสนโกฏิ เมื่อตั้งเครื่องหมายไว้ พึงถึงความสิ้นไป แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ได้เลย.
               ผู้ใดพึงเอาข่ายตาเล็กๆ ล้อมน้ำไว้ สัตว์น้ำบางเหล่าพึงเข้าไปภายในข่ายผู้นั้น ข้าแต่พระมหาวีระ เดียรถีย์ผู้มีกิเลสหนาบางพวกก็เช่นนั้น แล่นไปถือเอาทิฏฐิผิด หลงอยู่ด้วยการลูบคลำ เดียรถีย์เหล่านี้เข้าไปภายในข่ายด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์ อันแสดงว่าไม่มีอะไรห้ามได้ของพระองค์ ไม่ล่วงพระญาณของพระองค์ไปได้.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มียศใหญ่ทรงชำนะกิเลส เสด็จออกจากสมาธิแล้วทรงตรวจดูทิศ พระอัครสาวกนามว่านิสภะของพระมุนีพระนามว่าอโนมทัสสี ทราบพระดำริของพระพุทธเจ้าแล้ว อันพระขีณาสพหนึ่งแสน ผู้มีจิตสงบระงับ มั่นคง บริสุทธิ์สะอาดได้อภิญญา ๖ คงที่ แวดล้อมแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้นายกของโลก.
               ท่านเหล่านั้นอยู่บนอากาศ ได้ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วลงมาประนมอัญชลี นมัสการอยู่ในสำนักพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี เชษฐบุรุษของโลก เป็นนระอาจหาญ ทรงชำนะกิเลส ประทับนั่งท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทรงแย้ม.
               ภิกษุนามว่าวรุณ อุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นายกของโลกว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อะไรเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงยิ้มแย้มหนอ อันพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงยิ้มแย้ม เพราะไม่มีเหตุ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าอโนมทัสสี เชษฐบุรุษของโลก เป็นนระองอาจ ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า ผู้ใดบูชาเราด้วยดอกไม้และเชยชมญาณของเรา เราจักประกาศผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว.
               เทวดาทั้งปวงพร้อมทั้งมนุษย์ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้วประสงค์จะฟังพระสัทธรรม จึงพากันมาเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า หมู่ทวยเทพผู้มีฤทธิ์มากในหมื่นโลกธาตุ ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม จึงพากันมาเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า.
               จตุรงคเสนา คือพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้าจักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า. ดนตรีหกหมื่น กลองที่ประดับสวยงาม จักบำรุงผู้นี้เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า. หญิงล้วนแต่สาวๆ หกหมื่นประดับประดาสวยงาม มีผ้าและเครื่องอาภรณ์อันวิจิตร สวมแก้วมณีและกุณฑล มีหน้าแฉล้ม ยิ้มแย้ม ตะโพกผาย ไหล่ผึ่งเอวกลม จักห้อมล้อมผู้นี้ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า. ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอดแสนกัป จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในแผ่นดินพันครั้ง จักเป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลกพันครั้ง จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับไม่ถ้วน.
               ครั้นถึงภพที่สุด ถึงความเป็นมนุษย์ จักคลอดจากครรภ์แห่งนางพราหมณีชื่อสารี นระนี้จักปรากฏตามชื่อและโคตรของมารดา โดยชื่อว่าสารีบุตร จักมีปัญญาคมกล้า จักเป็นผู้ไม่มีกังวล จะทิ้งทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้วออกบวช จักเที่ยวแสวงหาสันติบททั่วแผ่นดินนี้ สกุลโอกกากะสมภพในกัปอันประมาณมิได้แต่กัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร จักมีในโลก ผู้นี้จักเป็นโอรสทายาทในธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้น อันธรรมนิรมิตแล้ว จักได้เป็นพระอัครสาวกมีนามว่าสารีบุตร
               แม่น้ำคงคาชื่อภาคีรถีนี้ ไหลมาแต่ประเทศหิมวันต์ ย่อมไหลถึงมหาสมุทรยังห้วงน้ำใหญ่ให้เต็มฉันใด พระสารีบุตรนี้ก็ฉันนั้น เป็นผู้อาจหาญ แกล้วกล้าในพระเวทสาม ถึงที่สุดแห่งปัญญาบารมี จักยังสัตว์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญ
               ตั้งแต่ภูเขาหิมวันต์จนถึงมหาสมุทรสาคร ในระหว่างนี้โดยจะนับทรายนี้นับไม่ถ้วน การนับทรายแม้นั้นก็อาจนับได้โดยไม่เหลือฉันใด ที่สุดแห่งปัญญาของพระสารีบุตรจักไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อตั้งคะแนนไว้ ทรายในแม่น้ำคงคาพึงสิ้นไปฉันใด แต่ที่สุดแห่งปัญญาของพระสารีบุตรจักไม่เป็นฉันนั้นเลย
               คลื่นในมหาสมุทรโดยจะนับก็นับไม่ถ้วนฉันใด ที่สุดแห่งปัญญาพระสารีบุตรจักไม่มีฉันนั้นเหมือนกัน พระสารีบุตรยังพระสัมพุทธเจ้าผู้ศากยโคดมสูงสุดให้โปรดปรานแล้ว จักได้เป็นพระอัครสาวกถึงที่สุดแห่งปัญญา จักยังธรรมจักรที่พระผู้มีพระภาคศากยบุตรให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบ จักยังเมล็ดฝนคือธรรมให้ตกลง.
               พระโคดมผู้ศากยะสูงสุดทรงทราบข้อนั้นทั้งมวลแล้ว จักประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอัครสาวก.
               โอ กุศลกรรมเราได้ทำแล้ว เราได้ทำการบูชาพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี ด้วยดอกไม้แล้ว ได้ถึงที่สุดในที่ทุกแห่ง กรรมที่เราทำแล้วประมาณไม่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงผลแก่เรา ณ ที่นี้ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว เปรียบเหมือนกำลังลูกศรอันพ้นแล้วด้วยดี เรานี้แสวงหาบทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ดับสนิท ไม่หวั่นไหว ค้นหาลัทธิทั้งปวงอยู่ ท่องเที่ยวไปแล้วในภพ
               คนเป็นไข้พึงแสวงหาโอสถ ต้องสั่งสมทรัพย์ไว้ทุกอย่างเพื่อพ้นจากความป่วยไข้ฉันใด เราก็ฉันนั้น แสวงหาบทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ดับสนิท ไม่หวั่นไหว ได้บวชเป็นฤาษีห้าร้อยครั้งไม่คั่นเลย เราทรงชฎา เลี้ยงชีวิตด้วยหาบคอน นุ่งห่มหนังเสือ ถึงที่สุดอภิญญาแล้ว ได้ไปสู่พรหมโลก
               ความบริสุทธิ์ในลัทธิภายนอกไม่มี เว้นศาสนาของพระชินเจ้า สัตว์ผู้มีปัญญาทั้งปวงย่อมบริสุทธิ์ได้ในศาสนาของพระชินเจ้า ฉะนั้น เราจึงไม่นำเรานี้ผู้ใคร่ประโยชน์ไปในลัทธิภายนอก เราแสวงหาบทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งอยู่ เที่ยวไปสู่ลัทธิอันผิด บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ พึงตัดต้นกล้วยแล้วผ่าออกก็ไม่พึงได้แก่นไม้ในต้นกล้วยนั้น เพราะมันว่างจากแก่นฉันใด คนในโลกผู้เป็นเดียรถีย์เป็นอันมาก มีทิฏฐิต่างกัน ก็ฉันนั้น คนเหล่านั้นเป็นผู้ว่างเปล่าจากอสังขตบท เหมือนต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่นฉะนั้น
               ครั้นเมื่อภพถึงที่สุดแล้ว เราได้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ เราละทิ้งโภคสมบัติเป็นอันมาก แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ข้าพระองค์อยู่ในสำนักพราหมณ์นามว่าสญชัย ซึ่งเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท
               ข้าแต่พระมหาวีระ พราหมณ์ชื่ออัสสชิสาวกของพระองค์ หาผู้เสมอได้ยาก มีเดชรุ่งเรือง เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกาลนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้มีปัญญา เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี มีจิตสงบระงับ เป็นมหานาค แย้มบานดังดอกปทุม ครั้นข้าพระองค์เห็นท่านผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว มีใจบริสุทธิ์ องอาจประเสริฐ มีความเพียร จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ ท่านผู้นี้มีอิริยาบถน่าเลื่อมใส มีรูปงาม สำรวมดี จักเป็นผู้ฝึกแล้วในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด จักเป็นผู้เห็นอมตบท ผิฉะนั้นเราพึงถามท่านผู้มีใจยินดีถึงประโยชน์อันสูงสุด หากเราถามแล้ว ท่านจักตอบ เราจักสอบถามท่านอีก ข้าพระองค์ได้ตามไปข้างหลังของท่านซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต รอคอยโอกาสอยู่ เพื่อจะสอบถามอมตบท
               ข้าพระองค์เข้าไปหาท่านซึ่งพักอยู่ในระหว่างถนน แล้วได้ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ มีความเพียร ท่านมีโคตรอย่างไร ท่านเป็นศิษย์ของใคร.
               ท่านอันข้าพระองค์ถามแล้ว ไม่ครั่นคร้ามดังพระยาไกรสร พยากรณ์ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก ฉันเป็นศิษย์ของพระองค์ ท่านผู้มีความเพียรใหญ่ ผู้เกิดตาม มียศมาก. ศาสนธรรมแห่งพระพุทธเจ้าของท่านเช่นไร ขอได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด ท่านอันข้าพระองค์ถามแล้ว ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียดทุกอย่าง เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือตัณหา เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล ว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้.
               เมื่อท่านอัสสชิแก้ปัญหาแล้ว ข้าพระองค์นั้นได้บรรลุผลที่หนึ่ง เป็นผู้ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เพราะได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ได้ฟังคำของท่านมุนี ได้เห็นธรรมอันสูงสุด จึงหยั่งลงสู่พระสัทธรรมได้กล่าวคาถานี้ว่า ธรรมนี้แล เหมือนบทอันมีสภาพอันเห็นประจักษ์ ไม่มีความโศก ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นล่วงเลยไปแล้วหลายหมื่นกัป ข้าพระองค์แสวงหาธรรมอยู่ ได้เที่ยวไปในลัทธิผิด ประโยชน์นั้นข้าพระองค์บรรลุแล้ว ไม่ใช่กาลที่เราจะประมาท
               ข้าพระองค์อันท่านพระอัสสชิให้ยินดีแล้ว บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว แสวงหาสหายอยู่ จึงได้ไปยังอาศรม. สหายเห็นข้าพระองค์แต่ไกลเทียว อันข้าพระองค์ให้ศึกษาดีแล้ว ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านเป็นผู้มีหน้าและตาอันผ่องใส ย่อมจะเห็นความเป็นมุนีแน่ ท่านได้บรรลุอมตบทอันดับสนิทไม่เคลื่อนแลหรือ ท่านมีรูปงามราวกะว่ามีความไม่หวั่นไหวอันได้ทำแล้ว มาแล้ว ฝึกแล้วในอุบายอันฝึกแล้ว เป็นผู้สงบระงับแล้วหรือพราหมณ์
               เราได้บรรลุอมตบทอันเป็นเครื่องบรรเทาลูกศรคือความโศกแล้ว แม้ท่านก็จงบรรลุอมตบทนั้น เรามาไปสำนักพระพุทธเจ้ากันเถิด สหายผู้อันข้าพระองค์ให้ศึกษาดีแล้วรับคำแล้ว ได้จูงมือพากันเข้ามายังสำนักของพระองค์. ข้าแต่พระองค์ผู้ศากโยรส แม้ข้าพระองค์ทั้งสองจักบวชในสำนักของพระองค์ จักขออาศัยคำสอนของพระองค์ เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่.
               ท่านโกลิตะเป็นผู้ประเสริฐด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์ถึงที่สุดแห่งปัญญา เราทั้งสองจะร่วมกันทำพระศาสนาให้งาม เรามีความดำริยังไม่ถึงที่สุด จึงเที่ยวไปในลัทธิผิด เพราะได้อาศัยทัศนะของท่าน ความดำริของเราจึงเต็ม ต้นไม้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีดอกบานตามฤดูกาลส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ยังสัตว์ทั้งปวงให้ยินดีฉันใด
               ข้าแต่พระมหาวีรศากโยรสผู้มียศใหญ่ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ดำรงอยู่ในศาสนธรรมของพระองค์แล้ว ย่อมเบ่งบานในสมัย ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ เป็นที่พ้นภพสงสาร ย่อมยังสัตว์ทั้งปวงให้ยินดีด้วยการให้ได้ดอกไม้คือวิมุตติ.
               ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ เว้นพระมหามุนีแล้ว ตลอดพุทธเขต ไม่มีใครเสมอด้วยปัญญาแห่งข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบุตรของพระองค์.
               ศิษย์และบริษัทของพระองค์ พระองค์แนะนำดีแล้ว ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกแล้วในอุบายเครื่องฝึกจิตอันสูงสุด ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ. ท่านเหล่านั้นเพ่งฌาน ยินดีในฌาน เป็นนักปราชญ์มีจิตสงบ ตั้งมั่น เป็นมุนี ถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนี ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ. ท่านเหล่านั้นมีความปรารถนาน้อย มีปัญญาเป็นนักปราชญ์ มีอาหารน้อย ไม่โลเล ยินดีทั้งลาภและความเสื่อมลาภ ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ. ท่านเหล่านั้นถืออยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีธุดงค์ เพ่งฌาน มีจีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในวิเวก เป็นนักปราชญ์ ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ. ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ ตั้งอยู่ในผล เป็นพระเสขะ พรั่งพร้อมด้วยผล หวังผลประโยชน์อันอุดม ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ทั้งท่านที่เป็นพระโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ปราศจากมลทิน ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ.
               สาวกของพระองค์เป็นอันมาก ฉลาดในสติปัฏฐาน ยินดีในโพชฌงค์ภาวนา ทุกท่านย่อมแวดล้อมพระองค์ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในสมาธิภาวนา หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ. ท่านเหล่านั้นมีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ ถึงที่สุดแห่งปัญญา ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ.
               ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า บรรดาศิษย์ของพระองค์เช่นนี้แลหนอศึกษาดีแล้ว หาผู้เสมอได้ยาก มีเดชรุ่งเรือง แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ. พระองค์อันศิษย์เหล่านั้นผู้สำรวมแล้ว มีตบะแวดล้อมแล้ว ไม่ครั่นคร้ามดังราชสีห์ ย่อมงดงามดุจพระจันทร์ ต้นไม้ตั้งอยู่บนแผ่นดินแล้วย่อมงาม ถึงความไพบูลย์และย่อมเผล็ดผลฉันใด
               ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร ผู้มียศใหญ่ พระองค์เป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ตั้งอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้อมฤตผล.
               แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสรัสสดี แม่น้ำจันทภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภูและแม่น้ำมหี เมื่อแม่น้ำเหล่านั้นไหลมาสาครย่อมรับไว้หมด แม่น้ำเหล่านี้ย่อมละชื่อเดิม ย่อมปรากฏเป็นสาครนั่นเองฉันใด วรรณะ ๔ เหล่านี้ก็ฉันนั้น บวชแล้วในสำนักของพระองค์ ย่อมละชื่อเดิมทั้งหมด ปรากฏว่าเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า.
               เปรียบเหมือนดวงจันทร์อันปราศจากมลทิน โคจรอยู่ในอากาศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงมวลหมู่ดาวในโลกด้วยรัศมีฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น อันศิษย์ทั้งหลายแวดล้อมแล้ว ย่อมรุ่งเรืองก้าวล่วงเทวดาและมนุษย์ ตลอดพุทธเขตทุกเมื่อ.
               คลื่นตั้งขึ้นในน้ำอันลึก ย่อมไม่ล่วงเลยฝั่งไปได้ คลื่นเหล่านั้นกระทบทั่วฝั่ง ย่อมเป็นระลอกเล็กน้อยเรี่ยรายหายไปฉันใด ชนในโลกเป็นอันมากผู้เป็นเดียรถีย์ก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างๆ กัน ต้องการจะข้ามธรรมของพระองค์ แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้. ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ก็ถ้าชนเหล่านั้นมาถึงพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน เข้ามายังสำนักของพระองค์แล้วย่อมกลายเป็นจุรณไป.
               เปรียบเหมือนดอกโกมุท บัวขมและบัวเผื่อนเป็นอันมาก เกิดในน้ำ ย่อมเอิบอาบ (ฉาบ) อยู่ด้วยน้ำและเปือกตมฉันใด สัตว์เป็นอันมากก็ฉันนั้น เกิดแล้วในโลก ย่อมงอกงาม ไม่อิ่มด้วยราคะและโทสะ เหมือนดอกโกมุทในเปือกตมฉะนั้น ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ ย่อมไพโรจน์ในท่ามกลางน้ำ มันมีเกสรบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่ด้วยน้ำฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น เป็นมหามุนีเกิดแล้วในโลก ไม่ติดอยู่ด้วยโลก ดังดอกปทุมไม่ติดด้วยน้ำฉะนั้น
               เปรียบเหมือนดอกไม้อันเกิดในน้ำเป็นอันมาก ย่อมบานในเดือนกัตติกมาส ไม่พ้นเดือนนั้นไป สมัยนั้นเป็นสมัยดอกไม้น้ำบานฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็ฉันนั้น เป็นผู้บานแล้วด้วยวิมุตติของพระองค์ สัตว์ทั้งหลายไม่ล่วงเลยศาสนาของพระองค์ ดังดอกบัวเกิดในน้ำย่อมบานไม่พ้นเดือนกัตติกมาสฉะนั้น
               เปรียบเหมือนพญาไม้รังดอกบานสะพรั่ง กลิ่นหอมตลบไป อันไม้รังอื่นแวดล้อมแล้ว ย่อมงามยิ่งฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น บานแล้วด้วยพระพุทธญาณ อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้วย่อมงามเหมือนพญาไม้รังฉะนั้น. เปรียบเหมือนภูเขาหินหิมวา เป็นโอสถของปวงสัตว์ เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลายฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น เป็นดังโอสถของมวลสัตว์.
               ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า บุคคลผู้บรรลุเตวิชชา บรรลุอภิญญา ๖ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้ว ย่อมยินดีด้วยความยินดีในธรรม ย่อมอยู่ในศาสนาของพระองค์ เปรียบเหมือนราชสีห์ผู้พระยาเนื้อ ออกจากถ้ำที่อยู่แล้วเหลียวดูทิศทั้ง ๔ แล้วบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง เมื่อราชสีห์คำราม เนื้อทั้งปวงย่อมสะดุ้ง แท้จริง ราชสีห์ผู้มีชาตินี้ย่อมยังสัตว์เลี้ยงให้สะดุ้งทุกเมื่อฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ พสุธานี้ย่อมหวั่นไหว สัตว์ผู้ควรจะตรัสรู้ย่อมตื่น หมู่มารย่อมสะดุ้งฉันนั้น
               ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ปวงเดียรถีย์ย่อมสะดุ้ง ดังฝูงกาเหยี่ยวและเนื้อ วิ่งกระเจิงเพราะราชสีห์ฉะนั้น ผู้เป็นเจ้าคณะทั้งปวง ชนทั้งหลายเรียกว่าเป็นศาสดาในโลก ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันสืบๆ กันมาแก่บริษัท ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า
               ส่วนพระองค์ไม่ทรงแสดงธรรมแก่มวลสัตว์อย่างนั้น ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายและโพธิปักขิยธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงทราบอัธยาศัย กิเลส อินทรีย์ พละและมิใช่พละ ทรงทราบภัพบุคคลและอภัพบุคคลแล้ว จึงทรงบันลือเหมือนมหาเมฆ บริษัทพึงนั่งอยู่เต็มตลอดที่สุดจักรวาล มีทิฏฐิต่างๆ กัน คิดต่างๆ กัน เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของบริษัทเหล่านั้น พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงทราบจิตของบริษัททั้งปวง ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น ก็ทรงตัดความสงสัยของสัตว์ทั้งปวงได้
               แผ่นดินพึงเต็มด้วยต้นไม้ หญ้า (และมนุษย์) ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหมดนั้นประนมมืออัญชลีสรรเสริญพระองค์ผู้นายกของโลก หรือว่าเขาเหล่านั้นสรรเสริญอยู่ตลอดกัป พึงสรรเสริญด้วยคุณต่างๆ ก็ไม่สรรเสริญคุณให้สิ้นสุดประมาณได้ พระตถาคตเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ ด้วยว่าพระมหาชินเจ้า อันใครๆ สรรเสริญแล้วด้วยกำลังของตนเหมือนอย่างนั้น ชนทั้งหลายสรรเสริญจนที่สุดกัป ก็พึงสรรเสริญอย่างนี้ๆ. ถ้าแหละว่าใครๆ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ผู้ศึกษาดีแล้ว พึงสรรเสริญให้สุดประมาณ ผู้นั้นก็พึงได้ความลำบากเท่านั้น.
               ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มียศมาก ข้าพระองค์ตั้งอยู่ในศาสนาของพระองค์ ถึงที่สุดแห่งปัญญาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้อยู่ ข้าพระองค์จะย่ำยีพวกเดียรถีย์ ยังศาสนาของพระชินเจ้าให้เป็นไป วันนี้เป็นธรรมเสนาบดีในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าศากยบุตร กรรมที่ข้าพระองค์ทำแล้วหาประมาณมิได้ แสดงผลแก่ข้าพระองค์ ณ ที่นี้.
               ข้าพระองค์เผากิเลสได้แล้ว ดังกำลังลูกศรพ้นดีแล้ว มนุษย์คนใดคนหนึ่ง เทิน(ทูน) ของหนักไว้บนศีรษะเสมอ ต้องลำบากด้วยภาระฉันใด อันภาระเราต้องแบกอยู่ก็ฉันนั้น เราถูกไฟ ๓ กองเผาอยู่เป็นทุกข์ด้วยการแบกภาระในภพ ท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย เหมือนถอนขุนเขาสิเนรุฉะนั้น.
               ก็ (บัดนี้) เราปลงภาระลงแล้ว กำจัดภพทั้งหลายได้แล้ว กิจที่ควรทำทุกอย่างในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าศากยบุตร เราทำเสร็จแล้ว.
               ในกำหนดพุทธเขต เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าศากยบุตร เราเป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีใครเหมือนเรา (ด้วยปัญญา) เราเป็นผู้ฉลาดดีในสมาธิ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ วันนี้เราปรารถนาจะนิรมิตคนสักพันคนก็ได้
               พระมหามุนีทรงเป็นผู้ชำนาญในอนุบุพวิหารธรรม ตรัสคำสั่งสอนแก่เรา นิโรธเป็นที่นอนของเรา เรามีทิพยจักษุอันหมดจด เราเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ อันกิจทุกอย่างที่พระสาวกพึงทำ เราทำเสร็จแล้วแล เว้นพระโลกนาถแล้ว ไม่มีใครเสมอด้วยเรา เราเป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ ได้ฌานและวิโมกข์เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ ถึงที่สุดแห่งสาวกคุณ เราทั้งหลายมีความเคารพในอุดมบุรุษ ด้วยการถูกต้องสาวกคุณ ด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ จิตของเราสงเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ
               เรามีมานะและความเขลา (กระด้าง) วางเสียแล้ว ดุจงูถูกถอนเขี้ยวแล้ว ดังโคอุสภราชถูกตัดเขาเสียแล้ว เข้าไปหาหมู่คณะด้วยคารวะหนัก ถ้าปัญญาของเราพึงมีรูปก็พึงเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย นี้เป็นผลแห่งการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
               เราย่อมยังธรรมจักรอันพระผู้มีพระภาคเจ้าศากยบุตรผู้คงที่ ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบ นี้เป็นผลแห่งการชมเชยพระญาณ.
               บุคคลผู้มีความปรารถนาลามก ผู้เกียจคร้าน ผู้ละความเพียร ผู้มีสุตะน้อยและผู้ไม่มีอาจาระอย่าได้สมาคมกับเราในที่ไหนๆ สักครั้งเลย. ส่วนบุคคลผู้มีสุตะมาก ผู้มีเมธา ผู้ตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในศีลทั้งหลายและผู้ประกอบด้วยสมถะทางใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเรา เหตุนั้นเราจึงขอกล่าวกะท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันในสมาคมนี้ ท่านทั้งหลายจงมีความปรารถนาน้อย สันโดษ ให้ทานทุกเมื่อ.
               เราเป็นผู้ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เพราะเห็นท่านอัสสชิก่อน ท่านพระสาวกนามว่าพระอัสสชินั้นเป็นอาจารย์ของเรา เป็นนักปราชญ์ เราเป็นสาวกของท่านวันนี้ เราเป็นธรรมเสนาบดี ถึงที่สุดในที่ทุกแห่ง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ท่านพระสาวกนามว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของเราย่อมอยู่ในทิศใด เราย่อมทำท่านไว้เหนือศีรษะในทิศนั้น (นอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น)
               พระโคดมศากยบุตรพุทธเจ้าทรงระลึกถึงกรรมของเราแล้ว ประทับนั่งใน (ท่ามกลาง) ภิกษุสงฆ์ ทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งอันเลิศ เราเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว ... ฯ ล ฯ ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้วแล.

               ก็ในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงตั้งเอตทัคคะด้วยคุณวิเศษนั้นๆ แก่พระสาวกของพระองค์ จึงทรงตั้งเอตทัคคะให้พระเถระ โดยความมีปัญญามากว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีปัญญามากของเรา.

พระสารีบุตรนั้นบรรลุถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณอย่างนั้นแล้วดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี บำเพ็ญประโยชน์แก่ปวงสัตว์.
               วันหนึ่ง เมื่อจะพยากรณ์ความเป็นพระอรหัต โดยมุ่งจะแสดงความประพฤติของตนแก่เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ มีความดำริชอบ ไม่ประมาท ยินดีแต่เฉพาะกัมมัฏฐานภาวนาอันเป็นธรรมภายใน มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ.
                         ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสียแล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควรเพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.
                         อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรอันเป็นกัปปิยะ นับว่าเป็นประโยชน์ จัดว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว การนั่งขัดสมาธิ นับว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว.
                         ภิกษุรูปใดพิจารณาเห็นความสุข โดยความเป็นทุกข์ พิจารณาเห็นความทุกข์ โดยความเป็นลูกศรปักอยู่ที่ร่าง ความถือมั่นว่า เป็นตัวเป็นตนในอทุกขมสุขเวทนา ไม่ได้มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นจะพึงติดอยู่ในโลกอย่างใด ด้วยกิเลสอะไร
                         ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ได้สดับน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ อย่าได้มาในสำนักของเราแม้ในกาลไหนๆ เลย จะมีประโยชน์อะไรด้วยการให้โอวาทบุคคลเช่นนั้น ในหมู่สัตว์โลกนี้.
                         อนึ่ง ขอให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูต เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบใจให้สงบระงับเป็นเนืองนิตย์ จงมาประดิษฐานอยู่บนศีรษะของเราเถิด.
                         ภิกษุใดประกอบด้วยธรรมเครื่องเนิ่นช้า ยินดีในธรรมเครื่องเนิ่นช้า ภิกษุนั้นย่อมพลาดนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ส่วนภิกษุใดละธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ยินดีในอริยมรรค อันเป็นทางไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า ภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม.
                         พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในสถานที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตาม ที่ดอนหรือที่ลุ่มก็ตาม สถานที่นั้นเป็นภูมิสถานที่น่ารื่นรมย์ คนผู้แสวงหากาม ย่อมไม่ยินดีในป่าอันน่ารื่นรมย์เช่นใด ท่านผู้ปราศจากความกำหนัด จักยินดีในป่าอันน่ารื่นรมย์เช่นนั้น เพราะท่านเหล่านั้นไม่เป็นผู้แสวงหากาม.
                         บุคคลควรเห็นท่านผู้มีปัญญา ชี้โทษมีปกติกล่าวข่มขี่ เหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่าเมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนั้นย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วเลย นักปราชญ์ก็ควรโอวาทสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่นจากธรรมที่มิใช่ของสัตบุรุษ แต่บุคคลเห็นปานนั้น ย่อมเป็นที่รักใคร่ของสัตบุรุษเท่านั้น ไม่เป็นที่รักใคร่ของอสัตบุรุษ.
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมแก่ผู้อื่นอยู่ เมื่อพระองค์กำลังทรงแสดงธรรมอยู่ เราผู้มุ่งประโยชน์ตั้งใจฟัง การตั้งใจฟังของเรานั้นไม่ไร้ประโยชน์ เราเป็นผู้หมดอาสวะ เป็นผู้หลุดพ้นพิเศษ
                         เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาเพื่อปุพเพนิวาสญาณ ทิพยจักษุญาณ เจโตปริยญาณ อิทธิวิธี จุตูปปาตญาณ ทิพโสตญาณอันเป็นธาตุบริสุทธิ์ มาแต่ปางก่อนเลย แต่คุณธรรมของสาวกทั้งหมดได้มีขึ้นแก่เราพร้อมกับการบรรลุมรรคผล เหมือนคุณธรรมคือพระสัพพัญญุตญาณได้มีแก่พระพุทธเจ้าฉะนั้น
                         มียักษ์ตนหนึ่งมากล่าวว่า มีภิกษุหัวโล้นรูปหนึ่งชื่ออุปติสสะ เป็นพระเถระผู้อุดมด้วยปัญญา ห่มผ้าสังฆาฏินั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้กำลังเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก ในขณะถูกยักษ์ตีศีรษะ ก็ยังประกอบด้วยธรรมคือความนิ่งอย่างประเสริฐ
                         ภูเขาหินล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหวฉันใด ภิกษุย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา เพราะสิ้นโมหะก็ฉันนั้น ความชั่วช้าเพียงเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนเท่าก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า แก่ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์
                         เราไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต เราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ จักละทิ้งร่างกายนี้ไป ไม่ยินดีต่อความตายและชีวิต รอคอยเวลาตายอยู่ เหมือนลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงานฉะนั้น.
                         ความตายนี้มีแน่นอนใน ๒ คราว คือในเวลาแก่หรือในเวลาหนุ่ม ที่จะไม่ตายเลยย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญแต่สัมมาปฏิบัติเถิด ขอจงอย่าได้ปฏิบัติผิด อย่าพินาศเสียเลย ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสียเลย
                         เมืองที่ตั้งอยู่ชายแดน เขาคุ้มครองป้องกันดีทั้งภายนอกและภายในฉันใด ท่านทั้งหลายก็จงคุ้มครองตนฉันนั้นเถิด ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้มีขณะอันล่วงเลยไปเสียแล้ว ต้องพากันไปเศร้าโศกยัดเยียดอยู่ในนรก
                         ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้อย่างเด็ดขาด มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมได้ เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไปฉะนั้น.
                         ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากโทษเครื่องเศร้าหมองใจได้อย่างเด็ดขาด มีปกติพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ได้ลอยบาปธรรมเสียได้ เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไปฉะนั้น
                         ภิกษุผู้สงบระงับ ละเว้นกองกิเลสและกองทุกข์ที่เป็นเหตุทำให้เกิดความคับแค้น มีใจผ่องใสไม่ขุ่นมัว มีศีลงาม เป็นนักปราชญ์ พึงทำที่สุดทุกข์ได้.
                         บุคคลไม่ควรคุ้นเคยในบุคคลบางพวก จะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม หรือเบื้องต้นเขาจะเป็นคนดี ตอนปลายเป็นคนไม่ดีก็ตาม.
                         นิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองจิต
                         สมาธิจิตของภิกษุผู้มีปกติ ชอบอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่หวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือด้วยมีสักการะ ๑ ด้วยไม่มีสักการะ ๑ นักปราชญ์เรียกบุคคลผู้เพ่งธรรมอยู่เป็นปกติ พากเพียรเป็นเนืองนิตย์ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาสุขุม สิ้นความยึดถือและความยินดีว่าเป็นสัตบุรุษ.
                         มหาสมุทร ๑ แผ่นดิน ๑ ภูเขา ๑ และแม้ลม ๑ ไม่ควรเปรียบเทียบความหลุดพ้นกิเลสอย่างประเสริฐของพระศาสดาเลย พระเถระผู้ยังพระธรรมจักรอันพระศาสดา ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตาม ผู้มีปัญญามาก มีจิตมั่นคง เป็นผู้เสมอด้วยแผ่นดินและไฟ ย่อมไม่ยินดียินร้าย.
                         ภิกษุผู้บรรลุปัญญาบารมีธรรมแล้ว มีปัญญาเครื่องตรัสรู้มาก เป็นนักปราชญ์ผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นคนเขลา ทั้งไม่เหมือนคนเขลา เป็นผู้ดับความทุกข์ร้อนได้ทุกเมื่อ ท่องเที่ยวไปอยู่
                         เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดามาก เราทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงได้แล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นอนุสาสนีของเรา เราพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว จักปรินิพพาน ดังนี้.
               

               จบอรรถกถาสาริปุตตเถรคาถาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------         

 

หมายเลขบันทึก: 714708เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2023 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2023 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท