เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล


ดูก่อนพราหมณ์ การบูชาซึ่งบุคคลควรบูชาชนิดเช่นนี้ ย่อมสมควรกว่าแท้

เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๑๔. พุทธวรรค

หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖

๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ

เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล

             (พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)

             [๑๙๕] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า (ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ) ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว

             [๑๙๖] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ใครๆ ไม่อาจนับได้ว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้

--------------

คำอธิบายนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา

ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

               ๙. เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล                

 

               พระบรมศาสดา เมื่อเสด็จจาริกไป ทรงปรารภพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้.
               ความพิสดารว่า พระตถาคตเจ้ามีพระสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสีโดยลำดับ เสด็จถึงเทวสถานแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้บ้านโตไทยคาม ในระหว่างทาง.
               พระสุคตเจ้าได้ประทับใกล้เทวสถานนั้น ทรงส่งพระธรรมภัณฑาคาริก (คือพระอานนท์ผู้เป็นขุนคลังแห่งพระธรรม) ให้บอกพราหมณ์ซึ่งกำลังทำกสิกรรม อยู่ในที่ไม่ไกลมาเฝ้า. พราหมณ์นั้นมาแล้วไม่ถวายอภิวาทแด่พระตถาคต แต่ไหว้เทวสถานนั้นอย่างเดียว แล้วยืนอยู่.
               แม้พระสุคตเจ้าก็ตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านสำคัญประเทศนี้ว่าเป็นที่อะไร?"
               พราหมณ์จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าไหว้ด้วยตั้งใจว่า ที่นี้เป็นเจติยสถานตามประเพณีของพวกข้าพเจ้า."
               พระสุคตเจ้าจึงให้พราหมณ์นั้นชื่นชมยินดีว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านไหว้สถานที่นี้ ได้ทำกรรมที่ดีแล้ว." ภิกษุทั้งหลายได้สดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว จึงเกิดสงสัยขึ้นว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พราหมณ์ชื่นชมยินดีอย่างนี้ ด้วยเหตุอะไรหนอ."
               ลำดับนั้น พระตถาคตเจ้าเพื่อทรงปลดเปลื้องความสงสัยของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสเทศนา ฆฏิการสูตร ในมัชฌิมนิกาย แล้วทรงนิรมิตพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล สูงหนึ่งโยชน์ และพระเจดีย์ทองอีกหนึ่งองค์ไว้ในอากาศ ทรงแสดงให้มหาชนเห็นแล้วตรัสว่า
               "ดูก่อนพราหมณ์ การบูชาซึ่งบุคคลควรบูชาชนิดเช่นนี้ ย่อมสมควรกว่าแท้"
               ดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศปูชารหบุคคล ๔ จำพวก มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยนัยดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้นเอง แล้วทรงแสดงโดยพิเศษถึงพระเจดีย์ ๓ ประเภทคือ สรีรเจดีย์ ๑ อุททิสเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑
               (ครั้นแล้ว) ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

          ปูชารเห ปูชยโต                    พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก

          ปปญฺจสมติกฺกนฺเต                 ติณฺณโสกปริทฺทเว

          เต ตาทิเส ปูชยโต                  นิพฺพุเต อกุโตภเย

          น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุํ            อิเมตฺตมปิ เกนจิ.

          "ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับบุญของบุคคลผู้บูชาอยู่ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้า หรือว่าพระสาวกทั้งหลายด้วย ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้มีความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ อันข้ามพ้นแล้ว (หรือว่า) ของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควรบูชาเช่นนั้นเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ ด้วยการนับแม้วิธีไรๆ ก็ตามว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้" ดังนี้.

               ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา พราหมณ์นั้นได้เป็นพระโสดาบันแล้วแล.
               พระเจดีย์ทองสูงตั้งโยชน์ ได้ตั้ง (เด่น) อยู่ในอากาศนั้นแลตลอด ๗ วัน. ก็สมาคมได้มีแล้วด้วยชนเป็นอันมาก พวกเขาบูชาพระเจดีย์ด้วยประการต่างๆ ตลอด ๗ วัน. ต่อนั้นมา ความแตกต่างแห่งลัทธิของผู้มีลัทธิต่างกันได้เกิดมีแล้ว.
               พระเจดีย์นั้นได้ไปสู่ที่เดิมแห่งตนด้วยพุทธานุภาพ ในขณะนั้น พระเจดีย์ศิลาใหญ่ได้มีขึ้นแล้วในที่นั้นนั่นแล.
               ประชาสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย (คือตรัสรู้ธรรม) แล้วในสมาคมนั้น.


               เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล จบ.               
                              
               -----------------------------------------------------  

 

หมายเลขบันทึก: 714588เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2023 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2023 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท