พญานาคองค์ดำคำแสนสิริจันทรานาคาธิบดี ณ วัดถ้ำบาดาล ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี


ประวัติวัดถ้ำบาดาล(ธ) 

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ วัดถ้ำบาดาล(ธ) ได้รับอนุญาต”ขอสร้าง” จากนายบัณฑิตย์  เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ในขณะนั้น

วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ได้รับอนุญาตจากเถระสมาคม ให้ตั้งขึ้นเป็นวัดถ้ำบาดาล (ธ)

 วัดถ้ำบาดาลมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๔๐ ไร่ และมีถ้ำ ๑๙ ถ้ำ แต่บริเวณที่ตั้งวัดมีพื้นที่ จำนวน ๑๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่ ๑๔๘ หมู่ ๔  ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

การเดินทางไปวัดถ้ำบาดาลจากตัวเมืองสระบุรี ต้องมุ่งหน้าไปทางหลวงหมายเลข ๒ หรือถนนมิตรภาพ ผ่านร้านครูต้อ สถานีไฟฟ้ามวกเหล็ก ตรงข้ามฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค  เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนหมายเลข ๒๒๒๔ มุ่งหน้าไปตามทาง ก่อนเข้าสู่ถนนหมายเลข ๒๒๗๓ ตรงไปตามทางก่อนเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนหมายเลข ๒๒๒๔ และไปตามทางก่อนเลี้ยวซ้ายไปตำบลลำพญากลาง เข้าสู่ทางหลวงชนบท สระบุรี ๔๐๐๕ วิ่งไปตามทาง จะพบทางเข้าวัดถ้ำบาดาลอยู่ทางขวามือ

 หลวงพ่อชาญ เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าโนนสมบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา เดินธุดงค์จนพบถ้ำบาดาลแห่งนี้และเห็นว่าเหมาะสมกับการสร้างวัด จึงหารือกับพระปลัดธนภณ อริยวํโส เจ้าอาวาสวัดถ้ำบาดาลรูปปัจจุบัน 

จากนั้นพระปลัดธนภณ อริยวํโส ได้นำลูกศิษย์ไปเจริญวิปัสสนากรรมฐานและเกิดนิมิตเห็นยักษ์แปลงกายร่างเหมือนมนุษย์อยู่ในถ้ำทั้งให้สร้างรูปหล่อเหมือนยักษ์ไว้ในถ้ำ แล้วจะบันดาลให้สถานนี้แห่งนี้เป็นที่รู้จักภายใน ๗ วัน แต่ขณะนั้นพระปลัดธนภณ อริยวํโส  มีเงินจำนวน ๒๘ บาท ต่อเมื่อชาวบ้านในละแวกนั้นทราบว่ามีพระธุดงค์มา ณ ถ้ำบาดาล จึงเกิดจิตศรัทธาและบริจาคทรัพย์จนเกิดเป็นวัดถ้ำบาดาล และได้สร้างยักษ์แปลงกายร่างเหมือนมนุษย์หรือปู่อธิบดีเวสสุวรรณ ซึ่งได้รับแรงศรัทธาและมีชื่อเสียงโด่งดังจนปัจจุบัน

แต่เดิมภายในวัดถ้ำบาดาลจะมี “ท้าวเวสสุวรรณองค์ใหญ่” ความสูง ๖ เมตร ฐานสูง ๑.๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ปากทางเข้าถ้ำวงกตอธิบดีท้าวเวสสุวรรณ ชั้นที่ ๒ และเมื่อเดินเข้าไปภายในถ้ำจะพบกับ “ปู่อธิบดีเวสสุวรรณ” หรือ ท้าวเวสสุวรรณร่างมนุษย์ และมีความเชื่อว่าผู้ใดสักการะจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย รวมถึงสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย พร้อมบังเกิดโชคลาภมากมาย มีกิน มีใช้  

ปัจจุบันนี้ปู่อธิบดีเวสสุวรรณ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ใน สวนนันทวัน ทำให้สะดวกต่อการสักการะบูชายิ่งขึ้น

วัดถ้ำบาดาล(ธ) เป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย คือมี (ธ)  และพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นนิกายเถรวาท (อ่านว่า เถ-ระ-วาดแปลว่า 'นิกายพระเถระ เป็นชื่อของนิกายที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายานเรียกนิกายนี้ว่า หีนยาน 

นิกายเถรวาทเป็นนิกายหลักที่ได้รับการนับถือในประเทศศรีลังกา (ประมาณ ๗๐ % ของประชากรทั้งหมดและประเทศในแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และพม่า และเป็นส่วนน้อยในประเทศจีนและเวียดนาม โดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน เนปาล บังกลาเทศที่ภาคจิตตะกอง เวียดนามทางตอนใต้ใกล้ชายแดนกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซียมีนับถือทางตอนเหนือของประเทศ มีศาสนิกส่วนใหญ่เป็นชาวไทยและชาวสิงหล ตัวเลขผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทอยู่ที่ประมาณ ๑๗๗,๔๐๐,๐๐๐ ล้านคน

สำหรับประเทศไทยมีผู้นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทประมาณ ๙๔ % ของประชากรทั้งหมด นิกายเถรวาทได้รับการนับถือคู่กับนิกายอาจริยวาท หรือ นิกายมหายาน ในปัจจุบัน

คณะสงฆ์ได้แบ่งลักษณะการบริหารออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ "มหานิกาย" ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่จำนวนกว่า ๘๐ % ของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกกว่า ๑๐ % คือพระสงฆ์ใน ธรรมยุติกนิกาย

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถระ ขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎและผนวชอยู่จังหวัดเพชรบุรี ทรงศรัทธาเลื่อมใสจริยาวัตรของพระมอญ นามว่า ซาย พุทฺธวํโส จึงทรงอุปสมบทใหม่ ในวงศ์พระสงฆ์มอญ หรือรามัญนิกาย และทรงตั้งคณะธรรมยุตในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ แยกจากคณะพระสงฆ์ไทยแต่เดิมซึ่งเป็นสายเถรวาทลังกาวงศ์เดิมว่า พระส่วนมาก หรือ "มหานิกาย"แล้วจึงเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุต

เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.๑๒๑" มีสาระสำคัญคือ ยกสถานะคณะธรรมยุต ให้เป็นนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เรียกนิกายของคณะสงฆ์ใหม่ ตามศัพท์บัญญัติของพระวชิรญาณเถระ ว่า "ธรรมยุติกนิกาย" และเรียกกลุ่มพระสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์พื้นเมือง ที่มีมาอยู่แต่เดิมว่า "มหานิกาย" สืบต่อมาจนปัจจุบันนี้

ธรรมยุติกนิกาย ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟู ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัย ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่โบราณให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นความพยายามของพระวชิรญาณเถระ เพื่อปฏิรูปคณะสงฆ์และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย

ความแตกต่าง ของ "พระมหานิกาย" กับ "พระธรรมยุติกนิกาย" ได้แก่ พระสงฆ์ธรรมยุติ จะมีการผูกพัทธสีมาโดยพระสงฆ์ธรรมยุติเอง ไม่สามารถอุปสมบทพระในพระอุโบสถที่เป็นพัทธสีมาของพระมหานิกายได้ ทั้งการทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ สวดปาฏิโมกข์ร่วมกันก็ไม่ได้ และต่างต้องมีพัทธสีมาของตน 

การออกเสียงของภาษาบาลีในการทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ต้องสวดออกเสียงบาลีให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ แต่พระสงฆ์มหานิกายออกเสียงบาลีตามสำเนียงภาษาไทย

ส่วนปฏิทินจันทรคติของการทำสังฆกรรมในวันพระของวัดธรรมยุติกนิกายอาจจะต่างวันกันกับมหานิกาย อันเนื่องมาจากการคำนวณปฏิทินต่างกันเรียกว่าปฏิทินปักขคณนา 

วิธีการบวชแบบธรรมยุติกนิกายเรียกว่า การบวชแบบเอสาหัง ส่วนการบวชแบบมหานิกายเรียกว่าการบวชแบบอุกาสะ ด้านการรับปัจจัยเงินทองนั้นปกติพระทั้งหลาย ย่อมไม่รับปัจจัยอยู่แล้วโดยพระวินัย แต่พระธรรมยุติเปลี่ยนวิธีการรับโดยใช้ใบปวารณาแทน  ไม่ได้รับโดยตรง แต่บางรูปก็ไม่รับเลยก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ  

เรื่องของสีผ้า ส่วนมากมหานิกาย ครองผ้าสีเหลืองส้มสด พระนิกายธรรมยุติจะครองสีหม่นกว่า แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป แล้วแต่ว่าจะเป็นวัดป่า หรือวัดบ้านก็จะครองสีกรัก หรือสีแก่นขนุน ซึ่งก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ การครองจีวร ปัจจุบันนี้แยกค่อนข้างยาก ในเรื่องการห่มดอง ห่มคลุม ห่มมังกร ก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ แต่เวลาทำสังฆกรรม พระสงฆ์มหานิกาย ก็จะมีผ้ารัดอก ซึ่งเป็นแบบแผนของมหานิกายที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนจริยาวัตรอื่น เช่น การฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ฯลฯ ก็เป็นวัตรปฏิบัติของทั้งธรรมยุติและมหานิกาย แต่ธรรมยุติ จะไม่ฉันนมในเวลาหลังเพล หรือ น้ำผลไม้ที่มีกากปนลงไป ถือว่าเป็นอาหารไม่ใช่น้ำปานะ หรือน้ำอัฐบาล

ศาสนาพุทธ นอกจากแบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ ๒ นิกายคือ เถรวาทและมหายานแล้ว ยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกเป็น ๓ นิกาย เนื่องจากวัชรยานถือว่าตนเป็นยานพิเศษโดยเฉพาะ ต่างจากมหายาน เถรวาท หรือ หีนยาน (แปลว่า ยานเล็ก) หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอนและหลักปฏิบัติจะเป็นไปตามพระไตรปิฎก ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือเป็นส่วนมาก  รวมทั้งศรีลังกา, พม่า, ลาว และกัมพูชา ส่วนที่นับถือเป็นส่วนน้อยพบทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายเขมร, บังกลาเทศ ในกลุ่มชนเผ่าจักมา และคนในสกุลพารัว และทางตอนบนของมาเลเซีย ในหมู่ผู้มีเชื้อสายไทย มหายาน แปลว่า ยานใหญ่  หรือ      อาจาริยวาท แพร่หลายในสาธารณรัฐประชาชนจีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, เวียดนามและสิงคโปร์ พบเป็นประชาชนส่วนน้อยในประเทศเนปาล ซึ่งอาจพบว่านับถือร่วมกับศาสนาอื่นด้วย  ทั้งยังพบในประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน วัชรยาน หรือ มหายานพิเศษ พบมากในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน, ประเทศภูฏาน, มองโกเลีย และดินแดนในการปกครองรัสเซีย เช่น สาธารณรัฐตูวา และสาธารณรัฐคัลมืยเคีย (Kalmykia) ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตการปกครองรูปแบบสาธารณรัฐของประเทศรัสเซีย เป็นรัฐเดียวในยุโรปที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  รวมทั้งประชากรส่วนน้อยในดินแดนลาดัก รัฐชัมมูและกัษมีร์ ประเทศอินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน ในเขตบัลติสถาน

หมายเลขบันทึก: 714568เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2023 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2023 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท