ฆฏิการสูตร


เมื่อศาสนาพระกัสสปพุทธเจ้า ที่นี้เป็นนิคมชื่อว่า เวภัลลิคะ. ในกาลนั้น เราเป็นมาณพ ชื่อโชติปาละ เรามีสหายเป็นช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะ.

ฆฏิการสูตร

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

๑. ฆฏิการสูตร

ว่าด้วยช่างหม้อชื่อฆฏิการะ

 

             [๒๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทางแล้วได้ทรงแย้มพระโอษฐ์ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้คิดว่า “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ”

             ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้ทูลถามพระองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์ เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์โดยไม่มีสาเหตุ”

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ เป็นนิคมมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยเวคฬิงคนิคมอยู่ ได้ยินว่า ที่นี้เคยเป็นอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาก่อน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ ณ ที่นี้”

             ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงประทับนั่ง ณ ที่นี้เถิด ภาคพื้นส่วนนี้จักเป็นส่วนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ทรงใช้สอย”

             พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า

             “อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ สถานที่แห่งนี้ มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ เป็นนิคมมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอาศัยเวคฬิงคนิคมอยู่ ได้ยินว่าที่นี้เคยเป็นอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นมาก่อน ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ ณ ที่นี้

             [๒๘๓] อานนท์ ในเวคฬิงคนิคม ได้มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากผู้เลิศของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีมาณพชื่อโชติปาละเป็นสหายที่รักกันของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเรียกโชติปาลมาณพมากล่าวว่า ‘มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นถือกันว่าเป็นความดี’

             เมื่อช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลยฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’

             แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ

             แม้ครั้งที่ ๓ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวกับโชติปาลมาณพว่า ‘มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้พระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’

             แม้ครั้งที่ ๓ โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’

             ช่างหม้อชื่อฆฏิการะจึงกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น เรานำจุรณถูตัว (จุรณถูตัว หมายถึงเครื่องหอมที่เป็นผงละเอียด อาจทำให้เป็นก้อนเก็บไปใช้ได้ทุกเวลา) ไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำกันเถิด’ โชติปาลมาณพรับคำแล้ว ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพ ได้นำจุรณถูตัวไปยังแม่น้ำเพื่ออาบน้ำ

             [๒๘๔] อานนท์ ต่อมา ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ได้เรียกโชติปาลมาณพมากล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถือกันว่าเป็นความดี’

             เมื่อช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวอย่างนี้แล้ว โชติปาลมาณพได้กล่าวว่า ‘อย่าเลยฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’

             แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ

             แม้ครั้งที่ ๓ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถือกันว่าเป็นความดี’

             แม้ครั้งที่ ๓ โชติปาลมาณพก็กล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’

             ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้จับชายพกของโชติปาลมาณพแล้วกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นถือกันว่าเป็นความดี’

             ลำดับนั้น โชติปาลมาณพให้ช่างหม้อชื่อฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วกล่าวว่า ‘อย่าเลย ฆฏิการะเพื่อนรัก การเห็นพระสมณะโล้นนั้นจะมีประโยชน์อะไร’

             ช่างหม้อชื่อฆฏิการะนั้นจับที่ผมของโชติปาละมาณพผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้วกล่าวว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ที่นี่ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านัก มาเถิด โชติปาละเพื่อนรัก เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกัน เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นถือกันว่าเป็นความดี’

             ต่อมา โชติปาลมาณพได้คิดว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะผู้มีสกุลรุนชาติต่ำ บังอาจมาจับผมของเราผู้อาบน้ำดำเกล้าแล้ว การที่เราจะไปด้วยนี้ เห็นจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย’ แล้วได้กล่าวกับช่างหม้อชื่อฆฏิการะว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก การที่เพื่อนทำความพยายามตั้งแต่พูดชักชวน จับที่ชายพกจนล่วงเลยถึงบังอาจจับที่ผมของเรานั้น ก็เพื่อจะชวนให้ไปในสำนักของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เท่านั้นเองหรือ’

             ช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวว่า ‘เท่านั้นเอง โชติปาละเพื่อนรัก จริงอย่างนั้น การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นถือกันว่าเป็นความดี’

             โชติปาลมาณพกล่าวว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น ปล่อยเราเถิด พวกเราจักไปด้วยกัน’

             [๒๘๕] อานนท์ ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ส่วนโชติปาลมาณพได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือโชติปาละมาณพผู้เป็นสหายรักกันของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงธรรมแก่โชติปาลมาณพนี้เถิด’

             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา (ธรรมีกถา ในที่นี้หมายถึงธรรมีกถาที่เกี่ยวข้องกับขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในชาติก่อนเพื่อการได้สติ) จากนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มี

พระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทำประทักษิณแล้วจากไป

             [๒๘๖] อานนท์ ครั้งนั้น โชติปาลมาณพได้ถามช่างหม้อชื่อฆฏิการะว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ท่านเมื่อฟังธรรมนี้ หลังจากนี้จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตหรือไม่’

             ช่างหม้อชื่อฆฏิการะตอบว่า ‘โชติปาละเพื่อนรัก ท่านก็รู้อยู่มิใช่หรือว่า ‘เราต้องเลี้ยงดูมารดาบิดาซึ่งเป็นคนตาบอดและแก่ชรา’

             โชติปาลมาณพจึงกล่าวว่า ‘ฆฏิการะเพื่อนรัก ถ้าเช่นนั้น เราจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเอง’

             ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะและโชติปาลมาณพได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือโชติปาลมาณพ ผู้เป็นสหายรักกันของข้าพระองค์ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงบวชให้โชติปาลมาณพนี้ด้วยเถิด’

             โชติปาลมาณพได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

เรื่องพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี

             [๒๘๗] อานนท์ ครั้งนั้น เมื่อโชติปาลมาณพอุปสมบทได้ไม่นานประมาณกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในเวคฬิงคนิคมตามควรแก่อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางเขตกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปแล้วโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี

             อานนท์ ได้ยินว่า ในคราวนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีทรงสดับข่าวว่า ‘ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงกรุงพาราณสีประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน’ ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีรับสั่งให้จัดยานพาหนะคันงามๆ หลายคัน ทรงขึ้นยานพาหนะคันงามเสด็จจากเขตกรุงพาราณสีพร้อมกับยานพาหนะคันงามๆ ตามเสด็จด้วยราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อทรงเยี่ยมพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จไปจนสุดทางที่ยานพาหนะจะไปได้ จึงเสด็จลงจากยาน เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีทรงเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้เถิด’

             พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

             ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทรงลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาท ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป เมื่อล่วงราตรีนั้นไป พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีได้รับสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต ล้วนเป็นข้าวสาลีซึ่งอ่อนละมุน เก็บกากออกหมดแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง ในพระราชนิเวศน์ของท้าวเธอ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษกราบทูลภัตตกาลแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า’

             [๒๘๘] อานนท์ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยพระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีก็เลือกประทับนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของหม่อมฉันเถิด พระสงฆ์จักได้รับการบำรุงเห็นปานนี้’

             พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ‘อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาไว้แล้ว’

             แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ

             แม้ครั้งที่ ๓ พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของหม่อมฉันเถิด พระสงฆ์จักได้รับการบำรุงเห็นปานนี้’

             พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ‘อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาไว้แล้ว’

             ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี ทรงเสียพระทัย ทรงโทมนัสว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษา ณ กรุงพาราณสีของเรา’ จากนั้น ได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีใครอื่นที่เป็นผู้อุปัฏฐากยิ่งกว่าหม่อมฉันหรือ พระพุทธเจ้าข้า’

 

พระกัสสปพุทธเจ้าทรงสรรเสริญช่างหม้อชื่อฆฏิการะ

             พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ‘มหาบพิตร มีนิคมชื่อเวคฬิงคะ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะอยู่ในนิคมนั้น เขาเป็นอุปัฏฐากผู้เลิศของอาตมภาพ’ พระองค์ทรงเสียพระทัย มีความโทมนัสว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาในกรุงพาราณสีของเรา’

             แต่ความเสียใจและความโทมนัสนั้นย่อมไม่มี และจักไม่มีแก่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เพราะช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) เว้นขาดจากอทินนาทาน(การลักทรัพย์) เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) เว้นขาดจากมุสาวาท(การพูดเท็จ) เว้นขาดจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน(การเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท)

             ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธเจ้า เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระธรรม เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นคงในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะรักใคร่ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขสมุทัย เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขนิโรธ เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บริโภคภัตรมื้อเดียว เป็นพรหมจารี มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่ใช้แก้วมณีและทองคำเป็นเครื่องประดับ ปราศจากการใช้ทองและเงิน

             มหาบพิตร ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ไม่ใช้พลั่วและมือของตนขุดแผ่นดิน หาบแต่ดินริมตลิ่งที่พังหรือขุยหนูมาใช้ทำเป็นภาชนะ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ต้องการภาชนะสำหรับใส่ข้าวสาร ใส่ถั่วเขียว ใส่ถั่วดำ ขอให้นำภาชนะที่ต้องการนั้นไปเถิด’ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเลี้ยงดูมารดาบิดา ซึ่งเป็นคนตาบอดและแก่ชรา (หลังจากตายแล้ว) ช่างหม้อชื่อฆฏิการะจะเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไปจักปรินิพพานในภพนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นอีก

             [๒๘๙] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ครั้นเวลาเช้า อาตมภาพครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปที่ไหนเสียเล่า’

             มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐากของพระองค์ออกไปแล้ว ขอพระองค์จงรับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกงเสวยเถิด’

             ครั้งนั้น อาตมภาพได้รับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกงฉันแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ใครมารับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง บริโภคแล้วลุกจากอาสนะจากไป’

             มารดาบิดาบอกว่า ‘ลูกเอ๋ย พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับข้าวสุกจากหม้อข้าว รับแกงจากหม้อแกง เสวยแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป’

             มหาบพิตร ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอเราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน

             [๒๙๐] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ครั้นเวลาเช้า อาตมภาพครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปหามารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ดูเถิด นี่คนหาอาหารไปไหนเสียเล่า’

             มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะทูลตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปัฏฐากของพระองค์ออกไปแล้ว ขอพระองค์จงรับขนมกุมมาสจากกระเช้านี้ รับแกงจากหม้อแกงเสวยเถิด’

             ครั้งนั้น อาตมภาพได้รับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกงฉันแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ เข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วได้ถามว่า ‘ใครมารับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกง บริโภคแล้วลุกจากอาสนะจากไป’

             มารดาบิดาบอกว่า ‘ลูกเอ๋ย พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับขนมกุมมาสจากกระเช้า รับแกงจากหม้อแกงเสวย แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไปแล้ว’

             มหาบพิตร ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน

             [๒๙๑] มหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมชื่อเวคฬิงคะนั้นเอง ขณะนั้นกุฏิรั่วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปดูว่าในเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะมีหญ้าหรือไม่’

             เมื่ออาตมภาพกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น(ไปดูกลับมาแล้ว)ได้กล่าวกับอาตมภาพว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะไม่มีหญ้า มีแต่หญ้าที่มุงหลังคาเรือนของเขาเท่านั้น’

             อาตมภาพจึงได้สั่งภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันไปรื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ’

             ภิกษุเหล่านั้นได้ไปรื้อหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ครั้งนั้น มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า ‘พวกใครเล่ามารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือน’

             ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ‘คุณโยม กุฏิของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว’

             มารดาบิดาของช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้กล่าวว่า ‘นำไปเถิดเจ้าข้า นำไปตามสะดวกเถิด พระคุณเจ้า’

             ครั้งนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะเข้าไปหามารดาบิดาถึงที่อยู่แล้วถามว่า ‘พวกใครเล่ามารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือน’

             มารดาบิดาตอบว่า ‘ลูกเอ๋ย ภิกษุทั้งหลายบอกว่า ‘กุฏิของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว’

             ลำดับนั้น ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้คิดว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’ ครั้งนั้น ปีติและสุขไม่จางหายจากช่างหม้อชื่อฆฏิการะตลอดกึ่งเดือน ไม่จางหายจากมารดาบิดาตลอด ๗ วัน

             มหาบพิตร ครั้งนั้น เรือนที่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะอาศัยอยู่หลังนั้น มีอากาศเป็นหลังคาอยู่ตลอด ๓ เดือน ถึงฝนตกก็ไม่รั่ว ช่างหม้อชื่อฆฏิการะมีคุณเช่นนี้’

             พระเจ้ากาสีทรงพระนามว่ากิกีกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของช่างหม้อชื่อฆฏิการะหนอ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะได้ดีแล้วหนอ ที่พระผู้มีพระภาคทรงคุ้นเคยอย่างยิ่งเช่นนี้’

             [๒๙๒] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกีทรงให้ราชบุรุษส่งเกวียนบรรทุกข้าวสาร ข้าวบัณฑุมุฑิกสาลีประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องแกงพอสมควรกับข้าวสารนั้นไปพระราชทานแก่ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ ราชบุรุษทั้งหลายเข้าไปหาช่างหม้อชื่อฆฏิการะแล้วได้กล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญ นี้ข้าวสาร ข้าวบัณฑุมุฑิกสาลีประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน และเครื่องแกงพอสมควรกับข้าวสารนั้น พระเจ้ากิกีกาสีทรงส่งมาพระราชทานแก่ท่านแล้ว จงรับของพระราชทานเหล่านั้นไว้เถิด’

             ช่างหม้อชื่อฆฏิการะกล่าวว่า ‘พระราชามีพระราชกิจมาก มีพระราชกรณียกิจมาก สิ่งของที่พระราชทานมานี้อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด’

             อานนท์ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น โชติปาลมาณพคงเป็นคนอื่นเป็นแน่ แต่เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้น เราก็คือโชติปาลมาณพนั่นเอง”

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ฆฏิการสูตรที่ ๑ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค

ฆฏิการสูตร

               อรรถกถาราชวรรค               
               ๑. อรรถกถาฆฏิการสูตร               

 

               ฆฏิการสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
               ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำเนินไปโดยมหามรรคา ทรงตรวจดูภูมิประเทศแห่งหนึ่ง แล้วทรงรำพึงว่า เมื่อเราประพฤติจริยาอยู่ เคยอยู่ในที่นี้บ้างหรือหนอ ดังนี้ ทรงเห็นว่า เมื่อศาสนาพระกัสสปพุทธเจ้า ที่นี้เป็นนิคมชื่อว่า เวภัลลิคะ.

               ในกาลนั้น เราเป็นมาณพ ชื่อโชติปาละ เรามีสหายเป็นช่างหม้อ ชื่อฆฏิการะ. เรากับนายฆฏิการะนั้นได้กระทำเหตุอันดีไว้อย่างหนึ่งในที่นี้ ความดีนั้นยังปกปิดอยู่ ยังไม่ปรากฏแก่ภิกษุสงฆ์ เอาเถิด เราจะกระทำเรื่องนั้นให้ปรากฏแก่ภิกษุสงฆ์ทรงดำริดังนี้แล้ว ทรงหลีกออกจากทางประทับยืนอยู่ ณ ประเทศหนึ่งเทียว ทรงกระทำความแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ ทรงแย้มพระโอษฐ์. พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงพระสรวล เหมือนอย่างพวกมนุษย์ชาวโลกีย์ ย่อมตีท้องหัวเราะว่า ที่ไหน ที่ไหน ดังนี้. ส่วนการยิ้มแย้มของพระพุทธเจ้าทั้งหลายปรากฏเพียงอาการยินดีร่าเริงเท่านั้น.
               อนึ่ง ความแย้มนี้นั้นถึงมีประมาณเล็กน้อยอย่างนี้ ก็ได้ปรากฏแก่พระเถระ.
               ถามว่า ปรากฏอย่างไร.
               ตอบว่า ธรรมดาในกาลเช่นนั้น เกลียวรัศมีมีประมาณเท่าต้นตาลใหญ่ รุ่งเรืองแปลบปลาบประดุจสายฟ้ามีช่อตั้ง ๑๐๐ จากพระโอษฐ์ ประหนึ่งมหาเมฆที่จะยังฝนให้ตกในทวีปทั้ง ๔ ตั้งขึ้นจากพระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ กระทำประทักษิณพระเศียรอันประเสริฐ ๓ รอบ แล้วก็อันตรธานหายไป ณ ปลายพระเขี้ยวแก้วนั่นแล. เพราะเหตุนั้น ท่านพระอานนท์ถึงจะเดินตามไปข้างพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทราบถึงความแย้มพระโอษฐ์ด้วยสัญญานั้น.
               นัยว่า ท่านพระอานนท์คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ย่อมทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ ทรงกระทำการประกาศสัจจธรรมทั้ง ๔ เราจักให้พระผู้มีพระภาคเจ้าพอพระทัยประทับนั่ง ณ ที่นี้ ภูมิภาคนี้จักเป็นอันพระพุทธเจ้าถึงสองพระองค์ทรงใช้สอย มหาชนจักบูชาด้วยของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น จักกระทำเจดีย์สถานบำรุงอยู่ก็จักมีสวรรค์เป็นที่ไปในภายหน้า ดังนี้แล้ว จึงได้กราบทูลคำว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้นนั้น.
               จะเรียกคนศีรษะโล้นว่าคนโล้น หรือเรียกสมณะว่าสมณะ ย่อมสมควร. ก็แลโชติปาละนี้ระอาอยู่ด้วยโวหารที่ตนเรียนแล้ว ในพราหมณสกุล เพราะยังมีญาณไม่แก่กล้าแล้ว จึงกล่าวอย่างนั้น.
               ผงบดที่ทำไว้สำหรับอาบน้ำที่เคล้าจุณหินสีดังพลอยแดงกับด่างทำแล้ว ท่านเรียกว่าผงบด. สหายทั้งสองนั้นถือเอาผงหินแดงสำหรับขัดสีตัวนั้นไปขัดสีตัว. แม้ในปัจจุบันนี้ พวกมนุษย์มีใครชวนว่า พวกเราไปไหว้พระเจดีย์ ไปฟังธรรมกันเถอะ จะไม่กระทำความอุตสาหะ แต่ใครๆ ชวนว่า พวกเราไปดูฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นกันเถอะ ดังนี้ จะรับคำด้วยการชักชวนเพียงครั้งเดียวฉันใด โชติปาละก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อฆฏิการะชวนว่า ไปอาบน้ำกันเถอะ ก็รับคำด้วยการชวนคำเดียว จึงตอบไปอย่างนั้น.
               ฆฏิการะช่างหม้ออาบน้ำด้วยการบริหารอย่างดีที่ข้างหนึ่งแล้วขึ้นก่อนยืนรออยู่ เมื่อโชติปาละอาบอยู่ด้วยการบริหารอย่างผู้มีอิสริยยศอันใหญ่ จนอาบเสร็จแล้วเรียกโชติปาละผู้นุ่งห่มแล้ว กำลังกระทำผมให้แห้งอยู่. 
               ฆฏิการะนั้นดำริว่า มาณพโชติปาละนี้เป็นคนมีปัญญา เมื่อได้เห็นครั้งเดียวจักเลื่อมใสในการเห็นพระตถาคตด้วย จักเลื่อมใสในธรรมกถาด้วย ธรรมดาผู้ที่เลื่อมใสแล้วจักอาจทำอาการที่ได้เลื่อมใส ชื่อว่ามิตรย่อมมีคุณประโยชน์อันนี้เราจักทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จับสหายผู้เสมอไปยังสำนักพระทศพลให้จงได้ ดังนั้น จึงจับโชติปาลมาณพนั้นที่ผมแล้วได้กล่าวคำนั้น.
               พึงทราบธรรมิกถาที่ปฏิสังยุตด้วยปุพเพนิวาสญาณเพื่อได้เฉพาะซึ่งสติในที่นี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมกถาเพื่อให้โชติปาละนั้นกลับได้สติโดยนัยนี้ว่า ดูก่อนโชติปาละ ตัวท่านมิใช่สัตว์ผู้หยั่งลงสู่ฐานะอันต่ำทราม แต่ท่านปรารถนาสัพพัญญุตญาณหยั่งลง ณ มหาโพธิบัลลังก์ ธรรมดาคนเช่นท่านไม่ควรอยู่ด้วยความประมาท ดังนี้. ฝ่ายพระเถระผู้อยู่ ณ สมุทรข้างโน้นกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมิกถาว่า โชติปาละ เราบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ตรัสรู้สัพพัญญุตญาณ มีภิกษุสองหมื่นแวดล้อม เที่ยวไปในโลกด้วยประการใด แม้ตัวท่านก็จงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ แทงตลอดสัพพัญญุตญาณ มีหมู่สมณะเป็นบริวาร ท่องเที่ยวไปในโลก ด้วยประการเช่นเดียวอย่างนั้นเถิด เราเห็นปานนี้ไม่สมควรจะต้องประมาท ดังนี้ จิตของโชติปาละนั้นย่อมน้อมไปในบรรพชาด้วยประการใด ก็ทรงสั่งสอนถึงโทษในกามทั้งหลายและอานิสงส์ในการออกบวชด้วยประการนั้น.
               โชติปาลมาณพบวชแล้วได้กระทำอย่างไร ที่ผู้เป็นพระโพธิสัตว์จะพึงกระทำ. ธรรมดาพระโพธิสัตว์ย่อมบรรพชาในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ก็แลครั้นบวชแล้วย่อมไม่เป็นผู้มีเขาอันตกแล้วดุจสัตว์นอกนี้ ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลแล้วเล่าเรียนพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก สมาทานธุดงค์ ๑๓ เข้าป่า บำเพ็ญคตวัตรและปัจจาคตวัตร กระทำสมณธรรม เจริญวิปัสสนา จนถึงอนุโลมญาณจึงหยุด ไม่กระทำความพยายามเพื่อมรรคผลต่อไป แม้โชติปาลมาณพก็ได้กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังทารกแห่งตระกูลให้บวชแล้ว ไม่ประทับอยู่หนึ่งเดือน เสด็จไปแล้ว ความเศร้าโศกของมารดาบิดาไม่สงบ. เขายังไม่รู้การถือบาตรและจีวร ความคุ้นเคยกับภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายยังไม่เกิด ความเยื่อใยกับพระเถระทั้งหลายยังไม่มั่นคง ยังไม่เกิดความยินดีในที่ที่ไปแล้วๆ แต่เมื่ออยู่ตลอดเวลามีประมาณเท่านี้ มารดาบิดาก็ย่อมได้เพื่อเห็น ด้วยเหตุนั้น ความโศกของมารดาและบิดานั้นย่อมเบาบางลง ย่อมรู้การถือบาตรและจีวร ย่อมเกิดความคุ้นเคยกับสามเณรและภิกษุหนุ่มทั้งหลาย ความเยื่อใยกับพระเถระทั้งหลาย ย่อมตั้งมั่น ในที่ไปแล้วๆ ย่อมมีความยินดียิ่ง ย่อมไม่กระสัน เพราะฉะนั้น จึงควรอยู่ตลอดกาลมีประมาณเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป ทรงประทับอยู่สิ้นกึ่งเดือน ทรงหลีกไปแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป ตรัสหมายถึงอย่างไร? ตรัสหมายถึงว่า ในเวลาพระองค์เสด็จออกจากเวภัลลิคะ ฆฏิการะได้ถือเอาปฏิญญาเพื่อให้เสด็จประทับอยู่จำพรรษาในสำนักของตนนั้นเสียแล้ว. ตรัสหมายถึงการจำพรรษานั้น.
               พระเจ้ากิกิกาสิราชทรงปรารภถึงความไม่มีลาภ มีความเสียพระทัย มีจิตโทมนัสว่า เราไม่ได้เพื่อถวายทานตลอดไตรมาส และไม่ได้เพื่อฟังพระธรรม และไม่ได้เพื่อปฏิบัติพระภิกษุถึง ๒ หมื่นรูป โดยทำนองนี้เสียแล้ว. ไม่ทรงปรารภพระตถาคต.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะพระองค์เป็นพระโสดาบัน.
               ได้ยินมาว่า แต่ก่อนพระเจ้ากิกิกาสิราชนั้นทรงนับถือพราหมณ์. ต่อมาสมัยหนึ่ง เมื่อชายแดนกำเริบขึ้น ทรงเสด็จไประงับ จึงตรัสสั่งธิดาพระนามว่าอุรัจฉทาว่า ลูกรัก เจ้าจงอย่าประมาทในเทวดาของเรา. พวกพราหมณ์ทั้งหลายเห็นราชธิดานั้นแล้ว ต่างหมดความสำคัญไป. ราชบุรุษทั้งหลายเมื่อพระนางถามว่า คนพวกนี้คือใคร ก็ตอบว่า เป็นเทวดา

               พระราชธิดาตรัสถามว่า ชื่อว่าภุมเทวดา มีรูปอย่างนี้เอง แล้วทรงเสด็จขึ้นปราสาท. วันหนึ่ง พระนางทรงยืนทอดพระเนตรถนนหลวง ทรงเห็นพระอัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป ทรงสั่งให้นิมนต์มาแล้วถวายบิณฑบาต ทรงสดับอนุโมทนาอยู่เทียว ได้เป็นพระโสดาบัน จึงตรัสถามว่า ภิกษุรูปอื่นๆ ยังมีอีกบ้างไหม. ได้ทรงสดับว่า พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์สองหมื่นรูป เสด็จประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ จึงทรงให้ไปนิมนต์มาแล้วทรงถวายทาน. พระราชาทรงยังพระราชอาณาเขตให้สงบแล้ว เสด็จกลับแล้ว. ทีนั้น พวกพราหมณ์ทั้งหลายมาเฝ้าพระราชาก่อนกว่าทีเดียว กล่าวโทษพระธิดาแล้วแตกกัน. แต่พระราชาได้ทรงประทานพรไว้ในเวลาพระราชธิดาประสูติ. พระญาติทั้งหลายขอพรถวายพระนางว่า ขอให้ครองราชย์ ๗ วัน.
               ครั้งนั้น พระราชาจึงทรงมอบราชสมบัติให้พระราชธิดาสิ้น ๗ วัน. พระราชธิดาทรงยังพระศาสดาให้เสวยอยู่ สั่งให้เชิญพระราชาเสด็จประทับนั่ง ณ ภายนอกม่านแล้ว. พอพระราชาได้ทรงสดับอนุโมทนาของพระศาสดาก็ได้เป็นพระโสดาบัน.
               ได้ยินว่า ฆฏิการะช่างหม้อทำภาชนะทั้งหลายไว้ ไม่กระทำการซื้อและการขาย. ก็ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงไปสู่ป่า เพื่อหาฟืนบ้าง เพื่อหาดินบ้าง เพื่อหาใบไม้บ้าง.
               มหาชนได้ยินว่า ฆฏิการะช่างหม้อทำภาชนะเสร็จแล้ว จึงถือเอาข้าวสาร เกลือ นมส้ม น้ำมันและน้ำอ้อยที่อย่างดีๆ เป็นต้นมา. ถ้าภาชนะมีค่ามาก มูลค่ามีน้อย จะต้องให้สิ่งของสมควรกันจึงค่อยเอาไป ฉะนั้น มหาชนจึงยังไม่เอาภาชนะนั้นไป จะต้องไปนำเอามูลค่ามาอีก ด้วยคิดว่า ฆฏิการะช่างหม้อเป็นพ่อค้า ประกอบด้วยธรรมปฏิบัติบำรุงมารดาบิดา บำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อกุศลจักมีแก่เราเป็นอันมากดังนี้. แต่ถ้าภาชนะมีค่าน้อย มูลค่าที่เขานำมามีมาก จะช่วยเก็บงำมูลค่าที่นำมาให้ดีเหมือนเจ้าของบ้านแล้วจึงไปด้วยคิดว่า ฆฏิการะช่างหม้อเป็นพ่อค้าที่ประกอบด้วยธรรม จักเป็นบุญของพวกเรา ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป เมื่อจะทรงตัดขาดคลองแห่งพระดำรัสของพระราชาว่า ก็ฆฏิการะ ช่างหม้อมีคุณถึงอย่างนี้ เหตุไรจึงยังไม่บวช จึงตรัสว่า ฆฏิการะช่างหม้อเลี้ยงมารดาบิดาผู้ตาบอด ผู้แก่เฒ่า ดังนี้.
               ได้ยินว่า ฆฏิการะช่างหม้อหุงข้าวแล้วต้มแกงแล้ว ให้มารดาบิดาบริโภคแล้ว ตัวเองจึงบริโภคแล้วตั้งข้าว ตั้งแกงที่ตักไว้ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ปูลาดอาสนะไว้ นำอาหารเข้าไปวางไว้ใกล้ ตั้งน้ำไว้ให้สัญญาแก่มารดาบิดาแล้วจึงไปสู่ป่า เพราะฉะนั้นจึงกล่าวอย่างนี้.
               ฆฏิการะช่างหม้อไม่ละปีติสุขตลอดไป โดยแท้จริง ฆฏิการะช่างหม้อระลึกอยู่เนืองๆ ไม่ว่าขณะใดๆ เป็นกลางคืนก็ตาม กลางวันก็ตาม ทั้งในบ้านทั้งในป่าว่า พระผู้ยอดบุคคลในโลกที่เรียกว่า พร้อมทั้งเทวโลก ทรงเข้ามาในบ้านเรา ถือเอาอามิสไปบริโภค ช่างเป็นลาภของเราหนอ ปีติมีวรรณะ ๕ ย่อมเกิดขึ้นทุกขณะๆ. ท่านกล่าวคำนั้นหมายถึงเรื่องนี้.
               อนึ่ง การบัญญัติสิกขาบทย่อมมีแก่พระสาวกทั้งหลายเท่านั้น ชื่อว่าเขตแดนแห่งสิกขาบทย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. เหมือนอย่างว่าดอกไม้และผลไม้ที่มีอยู่ในพระราชอุทยาน คนเหล่าอื่นเก็บดอกไม้และผลไม้เหล่านั้นไปย่อมมีโทษ ส่วนพระราชาทรงบริโภคได้ตามพระราชอัธยาศัย ข้อนี้ก็มีอุปไมยเหมือนอย่างนั้น. ส่วนเถระผู้อยู่ ณ ฝั่งสมุทรข้างโน้น กล่าวว่า ได้ยินว่า พวกเทวดาทั้งหลายจัดแจงถวายแล้ว ดังนี้.
               ลูกของเรา เมื่อถามว่าจะไปไหน. ก็ตอบว่า ไปสำนักพระทศพล. มัวไปที่ไหนเสียกระมังหนอ จึงไม่รู้ว่าที่ประทับของพระศาสดารั่ว เป็นผู้มีจิตยินดีแล้วในการถือเอา มีความสำคัญว่าไม่มีความผิด จึงกล่าวอย่างนั้น.
               ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเลยไปเดือนหนึ่ง สำหรับฤดูฝน ๔ เดือน จึงทรงให้ภิกษุไปนำหญ้ามุงมา เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.
               อนึ่ง ความเฉพาะบทในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่ามีอากาศเป็นเครื่องมุง เพราะอรรถว่าอากาศเป็นเครื่องมุงของเรือนนั้น.
               มิใช่ว่าฝนจะไม่รั่วอย่างเดียวตามธรรมดา หยดน้ำแม้สักหยดหนึ่งมิได้รั่วแล้วในภายในที่น้ำตกแห่งชายคาที่เรือนฆฏิการะช่างหม้อนี้ฉันใด แม้ลมและแดดก็ไม่ทำความเบียดเบียนเหมือนดังภายในเรือนที่มีเครื่องมุงอันแน่นหนาฉันนั้น. การแผ่ไปแห่งฤดูก็ได้มีตามธรรมดานั่นเอง. ในภายหลังเมื่อนิคมนั้นแม้ร้างไปแล้ว ที่ตรงนั้น ฝนก็ไม่ตกรดอยู่นั่นเทียว. พวกมนุษย์ เมื่อกระทำการงานในเมื่อฝนตกก็จะเก็บผ้าสาฎกไว้ที่ตรงนั้นแล้วกระทำการงาน. ที่ตรงนั้นจักเป็นเช่นนั้นเรื่อยไปตลอดการปรากฏกัปหนึ่ง. ก็อาการที่เป็นเช่นนั้นนั่นแล มิใช่ด้วยอิทธานุภาพของพระตถาคต แต่ด้วยคุณสมบัติของมารดาและบิดาของฆฏิการะช่างหม้อนั้นนั่นเทียว.
               แท้จริง มารดาและบิดาของฆฏิการะช่างหม้อนั้นมิได้เกิดโทมนัส เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงได้ในที่ไหนจึงทรงให้ทำการรื้อหลังคานิเวสน์ของเราผู้ตาบอดทั้งสองคน. แต่เกิดความโสมนัสอย่างมีกำลังมิใช่น้อยแก่เขาว่า พระผู้ยอดบุคคลในโลกทั้งเทวโลกให้มานำหญ้าจากนิเวศน์ของเราไปมุงพระคันธกุฎี ดังนี้.
               บัณฑิตพึงทราบว่า ปาฏิหาริย์นี้เกิดขึ้นด้วยคุณสมบัติของมารดาบิดาฆฏิการะช่างหม้อนั้นนั่นเทียว ด้วยประการฉะนี้.               

               ได้ยินว่า พระราชาทรงส่งของมีประมาณเท่านี้ไปด้วย ทรงสำคัญว่า ภัตรจักมีแก่ภิกษุพันรูปเพื่อประโยชน์ไตรมาส.
               คำว่า อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด ฆฏิการะช่างหม้อปฏิเสธแล้ว
               เพราะเหตุไร. เพราะเป็นผู้บรรลุความมีความปรารถนาน้อย.
               ได้ยินว่า ฆฏิการะช่างหม้อนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาไม่เคยทรงเห็นเรา ส่งมาแล้วเพื่ออะไรหนอแล. แต่นั้นจึงดำริว่า พระศาสดาเสด็จไปยังพระนครพาราณสี พระองค์เมื่อถูกพระราชาทูลวิงวอนให้อยู่จำพรรษา ก็ตรัสบอกว่า ทรงรับปฏิญญาของเราไว้แล้วจะตรัสบอกคุณกถาของเราแน่แท้ ก็ผู้ที่มีลาภแห่งคุณกถาที่ได้แล้ว ย่อมเป็นเหมือนลาภที่คนฟ้อน ฟ้อนแล้วจึงได้ และเหมือนลาภที่คนขับ ขับแล้วได้แล้ว ประโยชน์อะไรด้วยสิ่งนี้แก่เรา เราอาจกระทำการบำรุงทั้งมารดาและบิดา ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยลาภที่เรากระทำการงานแล้วเกิดขึ้น ดังนี้.
               

               จบอรรถกถาฆฏิการสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------      

 

หมายเลขบันทึก: 713939เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2023 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2023 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท