“การบริหารทรัพยากรมนุษย์ : ในมุมมองทุกคนเป็นคนสำคัญ”


                                                            “เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
                                                             จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
                                                             เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
                                                             ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

                                                             จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว
                                                             อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย
                                                             เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย                                                                                                          ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง”

                                                                         - ท่านพุทธทาสภิกขุ – 

 

                                  “การบริหารทรัพยากรมนุษย์ : ในมุมมองทุกคนเป็นคนสำคัญ”

 

       ตามหลักการของการบริหารจัดการเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ปัจจัยในการบริหาร ประกอบด้วย 1. คน (Man) 2. เงิน (Money) 3. วัสดุ (Materails) 4. การจัดการ (Management) หรือเรียกย่อว่า “4 M” โดยถือว่า “คน (Man)” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด

       “คน (Man)” มีความสำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ทำกิจกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การควบคุม การสั่งการ การประสานงาน การปฏิบัติการ และเป็นผู้รับผลประโยชน์ การบริหารจัดการ “คน (Man)” ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับองค์การ จึงเป็นภารกิจหน้าที่ที่ถือว่ามีความสำคัญยิ่งของผู้บริหารองค์การ 

       แนวคิดการบริหารจัดการสมัยใหม่ถือว่า “คน (MAN)” เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า จึงให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน การใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การธำรงรักษาคนที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์การนาน ๆ และการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพ้นหน้าที่ไปจากองค์การอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้บริหารจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการบริหารจัดการ ความเป็นอิสระในกระบวนการตัดสินใจ อาจมีความแตกต่างกันไปบ้างตามรูปแบบ วัฒนธรรม และกฎกติกาที่ต้องถือปฏิบัติของแต่ละองค์การ  

       ปัญหาที่อาจพบได้ คือ บางครั้งผู้บริหารไม่สามารถเลือกคนตามที่ตนต้องการมาร่วมทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนในองค์การ ในทางกลับกันผู้ปฏิบัติงานก็อาจจะมีความรู้สึกไม่สามารถเลือกผู้บริหารได้เช่นกัน ทำให้อาจมีความรู้สึกว่าต้องทำงานกับคนที่ไม่ได้เลือก โดยเฉพาะหน่วยงานหรือองค์การภาครัฐที่มีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน โยกย้ายผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานตามหลักการบริหารราชการ

       อีกทั้ง อาจจะมีปัญหาที่สร้างความยุ่งยากให้กับผู้บริหารเพิ่มขึ้นไปอีก หากบุคลากรที่มีอยู่ในองค์การ มีบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีปัญหา ทั้งในเรื่องการทำงาน และในทางประพฤติส่วนตัว เช่น ขาดความรู้ความสามารถ ขาดความตั้งใจ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความประพฤติหรือพฤติการณ์ไม่เหมาะสม เป็นต้น 

       สภาพปัญหาดังกล่าวอาจนำไปสู่สภาวการณ์ที่อาจจะไม่เป็นผลดีกับองค์การ กล่าวคือ ในด้านตัวคน อาจเกิดความรู้สึกไม่ดีระหว่างคนในองค์การ เช่น มีคนที่ชอบและไม่ชอบ คนทำงานดีและทำงานไม่ดี คนทำงานหนักและทำงานน้อย หรือบางคนไม่ทำงาน เป็นต้น ในด้านการบริหารจัดการ ก็อาจจะมีปัญหาในการมอบหมายงาน การดูแลความก้าวหน้า และการพิจารณาความดีความชอบ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง การแตกแยกของคนในองค์การ และอาจจะจบลงด้วยการไม่มอบหมายงานให้ทำหรือให้พ้นไปจากการทำหน้าที่หรือพ้นไปจากองค์การ ด้วยการโยกย้าย สับเปลี่ยน ให้ออก หรือลาออก ซึ่งอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่ควรเสมอไป

       ตามแนวคิดหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้นำหรือผู้บริหารในการดำเนินกลยุทธหรือวิธีจัดการกับปัญหาในหลายประการ ซึ่งอาจสรุปเป็นแนวทาง ได้ดังนี้        

  1. การนำหลักการทำงานเป็นทีมมาปรับใช้ ด้วยการทำให้ทุกคนเป็นสมาชิกของทีม ผู้บริหารบางคนอาจจะโชคดีที่สามารถเลือกคนที่ถูกใจทั้งจากคนในและคนนอกมาทำงาน แต่คนอื่น ๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน ด้วยความรู้ความสามารถ และพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อลักษณะงานที่แตกต่างกันในทีม จึงควรให้ความสำคัญและสร้างความรู้สึกที่ดีกับทุกคน เป็นการเลือกทุกคนในองค์การเป็นทีม ซึ่งอาจจะมีทีมหลักหรือทีมประเภทอื่น ๆ ตามลักษณะงานสำคัญ ๆ ขององค์การ 
  2. การใช้คนให้ถูกกับงาน (Put the right man on the right job) คนเรามีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน จึงต้องให้ความสำคัญกับเรียนรู้คน และพิจารณามอบหมายงานให้ทุกคนได้มีโอกาสทำงาน ซึ่งอาจจะไปเป็นตามตำแหน่งหน้าที่ และตามความถนัดของแต่ละบุคคลประกอบกัน เพื่อให้ทุกคนได้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในงานตามตำแหน่งหน้าที่และงานตามที่ได้รับมอบหมายตามความรู้ ความสามารถ 
  3. การพัฒนาเสริมสร้างความรู้ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีปัญหาต้องได้รับการดูแลเป็นการเร่งด่วน ด้วยการติดตามดูแล ช่วยเหลือสนับสนุน ให้คำแนะนำ การสอนงาน การเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนให้เข้ารับการฝึกอบรมตามความประสงค์ และความถนัด รวมทั้ง สนับสนุนให้มีโอกาสเปลี่ยนงานหรือมอบหมายให้ทำงานตามที่มีความถนัด
  4. การดูแลเอาใจใส่ทั้งในทางการทำงานและในทางส่วนตัว ด้วยการติดตามดูแล ทุกข์สุข ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ให้กำลังใจ สนับสนุนการพัฒนา และให้มีโอกาสทำงานตามความเหมาะสม ไม่มองข้ามความรู้ความสามารถ ไม่มองคนเป็นอากาศ ไม่ทอดทิ้งใคร ให้เกียรติกับทุกคน มีการให้รางวัล ผลประโยชน์ตอบแทน การพิจารณาความดีความชอบ และการลงโทษอย่างเป็นธรรม โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรมเป็นสำคัญ  
  5. การจากกันอย่างมีความสุข ในกรณีที่บุคลากรต้องพ้นจากการทำหน้าที่ภายในองค์การหรือต้องพ้นหน้าที่ไปจากองค์การ ตามระบบงานหรือความประสงค์ของบุคคล ด้วยการโยกย้าย สับเปลี่ยน หมุนเวียน หรือการลาออก จะต้องเป็นไปด้วยความเหมาะสม เป็นธรรม พึงพอใจและได้ประโยชน์ทั้งในส่วนขององค์การและบุคคลนั้น ๆ   

       ทั้งนี้ โดยมีปัจจัยองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ คือ การมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อาทิเช่น หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เป็นพื้นฐานที่ยึดถือกันทั่วไป ได้แก่ พรหมวิหาร 4 (ครองตน) 1. เมตตา 2. กรุณา 3. มุทิตา 4. อุเบกขา สังคหวัตถุ 4 (ครองคน) 1. ทาน 2. ปิยวาจา 3. อัตถจริยา 4. สมานัตตา และอิทธิบาท 4 (ครองงาน) 1. ฉันทะ  2. วิริยะ 3. จิตตะ 4. วิมังสา และหลักธรรมอันพึงถือปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ สัปปุริสธรรม 7, ทศพิธราชธรรม 10, ธรรมโลกบาล และกัลยาณมิตรธรรม เป็นต้น 

       “การบริหารทรัพยากรมนุษย์ : ในมุมมองทุกคนเป็นคนสำคัญ” “คน (MAN)” ทุกคนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า อาจมีความแตกกต่างกันในคุณลักษณะทางกายภาพ นิสัยใจคอ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความรู้ความสามารถ และพรสวรรค์ แต่ด้วยคุณลักษณะและพรสวรรค์ที่มีอยู่ในแต่ละคน สามารถทำประโยชน์ให้กับองค์การได้ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และวิธีการในการเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรเป็นสำคัญ.  

                                20230805175541.doc     -------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 713867เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2023 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2023 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท