ปาสราสิสูตร


ว่าด้วยกองบ่วงดักสัตว์

ปาสราสิสูตร

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

๖. ปาสราสิสูตร

 

ว่าด้วยกองบ่วงดักสัตว์

             [๒๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี

             ครั้งนั้น ภิกษุเป็นจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นเวลานานมากแล้วที่พวกกระผมไม่ได้สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกกระผมได้สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเถิด”

             ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงไปที่อาศรมของรัมมกพราหมณ์ ก็จักได้สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค”

             ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว

             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม”

             ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จพร้อมกับท่านพระอานนท์ไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า

             “มาเถิด อานนท์ เราจักไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ”

             ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว

 

มารยาทในการประชุม

             [๒๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้ไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะแล้ว เสด็จขึ้น(จากท่า)ทรงครองจีวรผืนเดียวประทับยืนผึ่งพระวรกายอยู่ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาศรมของรัมมกพราหมณ์อยู่ไม่ไกล ทั้งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ และน่าเลื่อมใส ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เพื่อทรงอนุเคราะห์เถิดพระพุทธเจ้าข้า”

             พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วได้เสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์

             สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากนั่งสนทนาธรรมีกถาอยู่ในอาศรมของรัมมกพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคประทับยืนนอกซุ้มประตู ทรงรอคอยให้ภิกษุสนทนากันจบเสียก่อน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าการสนทนาจบลงแล้ว จึงทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู

             ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

             พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้ อะไรที่เธอทั้งหลายสนทนากันค้างอยู่”

             ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารภพระผู้มีพระภาคแล้วสนทนาธรรมีกถาค้างอยู่ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง”

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาประชุมสนทนาธรรมีกถากันนั้นเป็นเรื่องสมควร เธอทั้งหลายผู้มาประชุมกันมีกิจที่ควรทำ ๒ ประการ คือ (๑) การสนทนาธรรม (๒) การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ (การสนทนาธรรม หมายถึงสนทนาเรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ประการ การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ หมายถึงการเข้าฌานสมาบัติ)

 

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

             [๒๗๔] ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่าง คือ (๑) การแสวงหาที่ประเสริฐ (๒) การแสวงหาที่ไม่ประสริฐ

             การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ เป็นอย่างไร

             คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก

             ภิกษุทั้งหลาย หากเธอทั้งหลายถามว่า

             อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา

             คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ (อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ ประการ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)) ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก

             อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา

             คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลาทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก

             อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา

             คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก

             อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา

             คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก

             อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา

             คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก

             อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา

             คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก

             นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

 

การแสวงหาที่ประเสริฐ

             [๒๗๕] การแสวงหาที่ประเสริฐ เป็นอย่างไร

             คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             นี้คือการแสวงหาที่ประเสริฐ

             [๒๗๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล

             เราจึงคิดอย่างนี้ว่า ‘เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก’ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา... มีความตายเป็นธรรมดา ... มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ... มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก’ ทางที่ดีเราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

 

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ

ในสำนักอาฬารดาบส

             [๒๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’

             เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะ (ญาณวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ารู้) และเถรวาทะ (เถรวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นใหญ่) ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้อย่างแน่นอน’

             จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’

             เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตนสมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬารดาบสกาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่

             จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’

             อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

             (เราจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’

             (อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใด ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบ

ธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใดท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสองจะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’

             ภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้ แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

 

ในสำนักอุทกดาบส

             [๒๗๘] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’

             เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและเถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’

             จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’

             เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่

             จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’

             อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

             (เราจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’

             (อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้น รามะทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’

             ภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยกย่องเราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้ แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

 

ตรัสรู้สัจธรรม

             [๒๗๙] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดยลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’

             [๒๘๐] ภิกษุทั้งหลาย เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

             ทั้งญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’

 

ทรงมีความขวนขวายน้อย

             [๒๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย (อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่าง คือกามคุณ ๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘) ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’

             อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า

             ‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส (พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึง อนิจฺจํ(ไม่เที่ยง) ทุกฺขํ(เป็นทุกข์) อนตฺตา(เป็นอนัตตา) อสุภํ(ไม่งาม) อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยง เป็นต้น ในพระวินัยปิฎกหมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน) ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’

 

สหัมบดีพรหมอาราธนาแสดงธรรม

             [๒๘๒] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม

             ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบความดำริในใจของเราด้วยใจของตน จึงได้มีความรำพึงว่า ‘ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม’

             ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมอันตรธานจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องหน้าเรา เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือมาทางที่เราอยู่ ได้กล่าวกับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้โปรดแสดงธรรมเพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย (มีธุลีในดวงตาน้อย หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะเบาบางคือเล็กน้อย ปิดบังดวงตาคือปัญญา) มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม‘ (เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม)

             สหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

 

พรหมนิคมคาถา

            ‘ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ อันคนที่มีมลทิน (คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง ๖) คิดค้นไว้ ปรากฏในแคว้นมคธ พระองค์โปรดเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากมลทิน ได้ตรัสรู้แล้ว

              ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักษุ บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วนพึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด

              พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศกและถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น

               ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ผู้ชนะสงคราม (ผู้ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวบุตรมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร) ผู้นำหมู่ (ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำสัตว์ข้ามที่กันดารคือชาติ(ความเกิด) และสามารถเป็นผู้นำของหมู่สัตว์คือเวไนยสัตว์) ผู้ไม่มีหนี้ (ผู้ไม่มีหนี้ หมายถึงไม่มีหนี้คือกามฉันทะ)

                ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก

                ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม’

 

เวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว

             [๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เรารับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะความมีกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ (พุทธจักษุ หมายถึง (๑) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือรู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ (๒) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนเนื่องอยู่) เมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย (ดวงตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ) มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว

             ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริกบางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำไม่แตะน้ำ แม้ฉันใด

             เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว (นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔ คือ บัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู (๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะเป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่าหมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบางมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และในหมู่ประชาทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้) ฉันนั้น

             ลำดับนั้น เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า

              ‘พรหม สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท จงปล่อยศรัทธามาเถิด เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมสำหรับสัตว์เหล่านั้น แต่เรารู้สึกว่าเป็นการยากลำบาก จึงไม่คิดจะแสดงธรรมอันประณีตที่เราคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์’

             ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะแสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วได้หายไปจากที่นั้น

 

ทรงรำพึงถึงผู้ควรรับธรรมเทศนา

             [๒๘๔] ภิกษุทั้งหลาย เราดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’

             ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละได้ ๗ วันแล้ว’

             อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗ วันแล้ว’ จึงดำริว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ (มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุเพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบส ตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ) แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’

             เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ จึงดำริต่อไปว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อุทกดาบสรามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’

             ลำดับนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’

             อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’

             เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ จึงดำริว่า ‘ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งบำเพ็ญเพียร ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ’ ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

             ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เราพักอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามความต้องการแล้ว จึงหลีกจาริกไปทางกรุงพาราณสี

 

ทรงพบอุปกาชีวก

             [๒๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะได้พบเราผู้กำลังเดินทางไกล ณ ระหว่างแม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ถามเราว่า ‘อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่านหรือท่านชอบใจธรรมของใคร’

             เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวคาถาตอบอุปกาชีวกว่า

             ‘เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓) รู้ธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔) มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓) ละธรรมทั้งปวง (ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓) ได้สิ้นเชิง หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า

               เราไม่มีอาจารย์ (เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม) เราไม่มีผู้เสมอเหมือน เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เราผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้เยือกเย็น ดับกิเลสในโลกได้แล้ว

                เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน‘ อุปกาชีวกกล่าวว่า ‘อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ’ เราจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า

               ‘ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ’

             เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า ‘อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น’ โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

 

ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์

             [๒๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์เห็นเราเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า ‘อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัดอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง’

             เราเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวกต้อนรับเราแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัดหาน้ำล้างเท้าแต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกเราโดยออกนามและใช้คำว่า ‘อาวุโส‘ (อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือภิกษุผู้อ่อนกว่าเรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้)

             เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงห้ามภิกษุปัญญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’

             เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’

             เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’

             แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ฯลฯ

             แม้ครั้งที่ ๒ เราก็ได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ฯลฯ

             แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’

             เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้’

             ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’

             เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’

             เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว เรากล่าวสอนภิกษุ ๒ รูป ภิกษุ ๓ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๓ รูปนำมา เรากล่าวสอนภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาต ที่ภิกษุ ๒ รูปนำมา

             ต่อมา ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เราสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว

             เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว

             เป็นผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ

             เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ

             เป็นผู้มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ฯลฯ

             เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว

             อนึ่ง ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า ‘วิมุตติของพวกเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’

             [๒๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้

             กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

             ๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

             ๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ

             ๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ

             ๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ

             ๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

             กามคุณมี ๕ ประการนี้

             สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’

 

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

             ภิกษุทั้งหลาย เนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ที่ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกนายพรานเนื้อทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนายพรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’ แต่สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ความพินาศ ไม่ถูกมารใจบาปทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’

             เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อม ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนายพรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก (ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ในที่นี้หมายถึงปัจจเวกขณญาณ) ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกมารใจบาป ทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบ’

             อนึ่ง เนื้อป่าเมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

             อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ

             อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ ฯลฯ

             อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอยถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

             อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

             อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯ อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ

             อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ

             ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็นเพราะทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย’ เป็นผู้ข้ามพ้นตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ในโลกได้ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน

             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้ดำเนินอยู่ในทางของมารใจบาป”

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ปาสราสิสูตรที่ ๖ จบ

--------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของ

อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค

ปาสราสิสูตร อุปมากองบ่วงดักสัตว์

 

               อรรถกถาปาสราสิสูตร               

               เล่ากันมาว่า ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๕๐๐ เหล่านั้น คิดจะเฝ้าพระทศพล จึงไปถึงเมืองสาวัตถี. ก็ภิกษุเหล่านั้นได้เฝ้าพระศาสดาแล้ว ยังมิได้ฟังธรรมีกถาก่อน. ด้วยความเคารพในพระศาสดา ภิกษุเหล่านั้นจึงไม่สามารถจะกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมีกถาแก่พวกข้าพระองค์เถิด. เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นครู ยากที่จะเข้าพบ เหมือนพญาราชสีห์ตัวเที่ยวไปตามลำพัง เหมือนกุญชรที่ตกมัน เหมือนอสรพิษที่แผ่พังพาน เหมือนกองไฟใหญ่.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เข้าถึงได้ยาก เหมือนงูพิษ เหมือนไกรสรราชสีห์ เหมือนพญาช้าง.
               ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจจะวิงวอนพระศาสดาผู้ที่เข้าพบได้ยาก อย่างนี้ด้วยตนเอง จึงขอร้องท่านพระอานนท์ ดังนี้.
               ไฉนหนอ พวกเราจะพึงได้.
               ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอพึงเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์. เพราะมีกิริยาปรากฏ. เพราะกิริยาของพระทศพลย่อมปรากฏแก่พระเถระ. พระเถระทราบว่า วันนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม วันนี้เสด็จเข้าบิณฑบาตลำพังพระองค์ วันนี้แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เวลานี้เสด็จจาริกไปในชนบท.
               ถามว่า ก็เจโตปริยญาณย่อมมีเพื่อให้ท่านรู้อย่างนี้ได้อย่างไร.
               ตอบว่า ไม่มี. ท่านรู้โดยถือนัยตามกิริยาที่ทำไว้โดยรู้ตามคาดคะเน.
               จริงอยู่ วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน มีพระพุทธประสงค์จะทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพารามในเวลาใด ในเวลานั้น ทรงแสดงอาการ คือการเก็บงำเสนาสนะและเครื่องบริขาร. พระเถระเก็บงำไม้กวาดและสักการะที่เขาทิ้งไว้เป็นต้น.
               แม้ในเวลาที่ประทับอยู่ในปุพพารามแล้วเสด็จมาพระเชตวัน พักกลางวันก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตตามลำพัง คราวนั้นก็จะทรงปฏิบัติสรีรกิจแต่เช้า เข้าพระคันธกุฎี ปิดพระทวารเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้นว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งตรวจเหล่าสัตว์ที่ควรตรัสรู้ แล้วจึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประสงค์จะเข้าไปตามลำพัง พวกท่านจงเตรียมภิกษาจาร.
               ก็คราวใดมีพระประสงค์จะมีภิกษุเป็นบริวารเสด็จเข้าไป คราวนั้นจะทรงแง้มทวารพระคันธกุฎี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อรับบาตรจีวร. แต่คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท คราวนั้นจะเสวยเกินคำสองคำ และเสด็จจงกรมไปๆ มาๆ ทุกเวลา. พระเถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท พวกท่านจงทำกิจที่ควรทำของท่านเสีย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าในปฐมโพธิกาลประทับอยู่ไม่ประจำ ๒๐ พรรษา ภายหลังประทับประจำกรุงสาวัตถี ๒๕ พรรษาเลียด วันหนึ่งๆ ทรงใช้สองสถาน. กลางคืนประทับอยู่ในพระเชตวัน รุ่งขึ้นแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าบิณฑบาตกรุงสาวัตถีทางประตูทิศใต้ เสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก ทรงพักผ่อนกลางวันในปุพพาราม. กลางคืนประทับอยู่ในปุพพาราม รุ่งขึ้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตยังเมืองสาวัตถี ทางประตูด้านทิศตะวันออก แล้วเสด็จออกทางประตูด้านทิศใต้ ทรงพักผ่อนกลางวันในพระเชตวัน.
               เพราะเหตุไร. เพราะจะทรงอนุเคราะห์แก่ ๒ ตระกูล.
               จริงอยู่ ธรรมดาว่า คนใดคนหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในความเป็นมนุษย์ เหมือนท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีและหญิงคนอื่นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นมาตุคาม เหมือนนางวิสาขามหาอุบาสิกาที่จะทำบริจาคทรัพย์อุทิศพระตถาคตย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงใช้ฐานะ ๒ เหล่านี้ในวันเดียวกัน เพราะอนุเคราะห์แก่ตระกูลนั้น.
               ก็ในวันนั้น พระองค์ประทับอยู่ในพระเชตวัน. เพราะฉะนั้น เถระจึงคิดว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในเวลาเย็น จักเสด็จไปยังซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เพื่อจะทรงสรงสนานพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนสรงสนานพระองค์แล้วไปยึดอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุเหล่านี้จึงจักได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้.
               เขาว่า ในปราสาทนั้น ได้มีห้องอันทรงศิริสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรงกลางห้องอันทรงศิริสำหรับพระมหาสาวกทั้ง ๒. พระเถระเปิดทวาร กวาดภายในห้อง นำซากมาลาออก จัดเตียงและตั่งแล้วได้ถวายสัญญาแด่พระศาสดา. พระศาสดาเสด็จเข้าสู่ห้องอันทรงศิริ มีสติสัมปชัญญะทรงบรรทมสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงระงับความกระวนกระวาย ลุกขึ้นประทับ นั่งเข้าผลสมาบัติ ออกจากผลสมาบัติในเวลาเย็น. 
               เล่าว่า ในกรุงสาวัตถี บางคราววิหารก็ใหญ่ บางคราวก็เล็ก. ครั้งนั้นแล วิหารนั้น ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี มีขนาดโยชน์ ๑. ครั้งพระสิขีพุทธเจ้า ขนาด ๓ คาวุต ครั้งพระเวสสภูพุทธเจ้า ขนาดกึ่งโยชน์ ครั้งพระกกุสันธพุทธเจ้า ขนาด ๑ คาวุต ครั้งพระโกนาคมนพุทธเจ้า ขนาดครึ่งคาวุต ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ขนาด ๒๐ อุสภะ. ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย มีขนาด ๘ กรีส. แม้นครนั้น บางครั้งก็อยู่ทิศตะวันออกของวิหารนั้น บางครั้งก็ทิศใต้ บางครั้งก็ทิศตะวันตก บางครั้งก็ทิศเหนือ. ก็ในพระคันธกุฎีเชตวันวิหาร สถานที่ประดิษฐ์เท้าพระแท่นสี่เท้าแน่นสนิท.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าเจตียสถานอันติดแน่น ๔ แห่ง คือ สถานที่ตั้งมหาโพธิบัลลังก์ ๑ สถานที่ประกาศพระธรรมจักรในป่าอิสิปตนะ ๑ สถานที่เป็นที่ประดิษฐานบันได ครั้งเสด็จลงจากเทวโลก ณ สังกัสสนคร ๑ สถานที่ตั้งพระแท่น (ปรินิพพาน) ๑.
               ก็ซุ้มประตูด้านหน้านี้เป็นซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก ครั้งพระวิหาร ๒๐ อสุภของพระกัสสปทศพล. แม้บัดนี้วิหารนั้นก็ยังปรากฏว่า ซุ้มประตูด้านหน้าอยู่นั้นเอง. ครั้งพระกัสสปทศพล แม่น้ำอจีรวดีไหลล้อมนคร ถึงซุ้มประตูด้านหน้า ถูกน้ำเซาะทำให้เกิดสระน้ำใหญ่มีท่าเรียบลึกไปตามลำดับ.
               ณ ที่นั้นมีท่าน้ำน่ารื่นรมย์ มีทรายเสมือนแผ่นเงินหล่นเกลื่อนแยกกันเป็นส่วนๆ อย่างนี้คือ ท่าน้ำสำหรับพระราชาท่า ๑ สำหรับชาวพระนครท่า ๑ สำหรับภิกษุสงฆ์ท่า ๑ สำหรับพระพุทธเจ้าทั้งหลายท่า ๑. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ากับท่านพระอานนท์ จึงเสด็จเข้าไปยังที่ซุ้มประตูด้านหน้าอันนี้ตั้งอยู่ เพื่อสรงสนานพระองค์.
               ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์น้อมผ้าสรงน้ำเข้าไปถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลื้องผ้าแดง ๒ ชั้น ทรงนุ่งผ้าอาบน้ำ. พระเถระรับจีวรผืนใหญ่กับผ้า ๒ ชั้นไว้ในมือของตน. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงสรงน้ำ. ฝูงปลาและเต่าในน้ำก็มีสีเหมือนทองไปหมด พร้อมกับที่พระองค์เสด็จลงสรงน้ำ. กาลนั้นได้เป็นเหมือนเวลาเอาทะนานยนต์รดสายน้ำทอง และเหมือนเวลาแผ่แผ่นทอง. ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเนียมการสรงน้ำ ทรงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว พระเถระก็น้อมผ้าผืนแดง ๒ ชั้นถวาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผ้านั้น ทรงคาดประคดเอวเสมือนสายฟ้า ทรงจับจีวรผืนใหญ่ที่ชายทั้งสองรวบชายน้อมเข้ามา ทำให้เป็นเหมือนกลีบปทุมประทับยืนอยู่.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรงพระองค์ที่ซุ้มประตูด้านหน้า เสด็จขึ้นประทับยืนมีจีวรผืนเดียว. ก็พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนอย่างนี้ รุ่งโรจน์เหมือนสระที่เต็มไปด้วยดอกบัวและอุบลกำลังแย้ม เหมือนต้นปาริฉัตตกะที่มีดอกบานสะพรั่ง และเหมือนท้องฟ้าที่ระยิบระยับไปด้วยดาวและพยับแดด เหมือนจะเรียกร้องเอามิ่งขวัญ แลกลุ่มลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ของพระองค์ซึ่งงดงามแวดล้อมด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง ไพโรจน์อย่างยิ่งเหมือนดวงจันทร์ ๓๒ ดวง ดวงอาทิตย์ ๓๒ ดวงที่ร้อยวางไว้ เหมือนพระเจ้าจักพรรดิ ๓๒ องค์ เทวราช ๓๒ องค์และมหาพรหม ๓๒ องค์ที่สถิตอยู่ตามลำดับ.
               นี้ชื่อว่าวรรณภูมิ พึงทราบกำลังของพระธรรมกถึกในฐานะเห็นปานนี้ว่า พระธรรมกถึกผู้สามารถควรจะนำเนื้อความอุปมาและเหตุมากล่าวสรรเสริญพระสรีระและพระคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในฐานะเห็นปานนี้ ด้วยจุณณิยบท หรือคาถาทั้งหลายให้บริบูรณ์.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระวรกายชุ่มด้วยน้ำ ทรงห่มจีวรก็เกิดเป็นดอก. เครื่องบริขารก็เสีย. แต่น้ำที่เจือธุลีย่อมไม่ติดในพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น้ำก็กลิ้งกลับไปเหมือนหยาดน้ำที่ใส่บนใบบัว. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะความเคารพในสิกขา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงจับจีวรผืนใหญ่ทั้งสองมุม ด้วยทรงพระดำริว่า นี่ ชื่อว่าธรรมเนียมของบรรพชิตประทับยืนปิดพระกายเบื้องหน้า.
               ขณะนั้น พระเถระคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มจีวรใหญ่ จักกลับพระองค์ลำบาก ตั้งแต่เริ่มเสด็จสู่มิคารมาตุปราสาท ชื่อว่าเปลี่ยนพุทธประสงค์ย่อมหนัก เหมือนเหยียดมือจับราชสีห์ที่เที่ยวตัวเดียว เหมือนจับงวงช้างตกมันและเหมือนจับคออสรพิษที่กำลังแผ่แม่เบี้ย จึงพรรณนาคุณอาศรมของรัมมกพราหมณ์ ทูลวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสด็จไป ณ ที่นั้น.
               พระเถระได้กระทำอย่างนั้น. อาศัยความอนุเคราะห์ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้ไปสู่อาศรมนั้นด้วยตั้งใจ จักฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อธิบายว่า กระทำความกรุณาในภิกษุทั้งหลาย.
               ภิกษุเหล่านั้นได้กระทำให้เป็นภาระของพระเถระด้วยตั้งใจจักฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์. พระเถระได้กระทำที่ไปอาศรมของภิกษุเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นนั่งในที่นั้น มิใช่สนทนากันด้วยเรื่องติรัจฉานกถา หากนั่งสนทนากันด้วยเรื่องธรรมะ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อแสดงว่า การแสวงหาของพวกเธอนี้ ชื่อว่าอริยปริเยสนา.
               บุรุษผู้ฉลาดในหนทาง เมื่อแสดงทางอุบายที่ควรเว้นก่อน จึงกล่าวว่า จงละทางซ้าย ถือเอาทางขวา ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น เพราะความที่ทรงเป็นผู้ฉลาดเทศนา จึงทรงบอกการแสวงหาอันมิใช่อริยะที่พึงละเว้นเสียก่อน ตอนหลังจึงทรงแยกลำดับอุทเทสก่อนว่า เราจักบอกการแสวงหานอกนี้ ดังนี้แล้วจึงตรัสอย่างนี้.
               ได้ยินว่า พระองค์มีพระดำริอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็เสาะแสวงสิ่งที่ไม่ใช่อริยะมาแต่ก่อน เรานั้นละการแสวงหาอันไม่ใช่อริยะนั้นแล้วแสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ จึงบรรลุสัพพัญญุตญาณ แม้พระปัญจวัคคีย์ก็แสวงหาสิ่งที่ไม่ใช่อริยะ พวกเธอก็ละสิ่งที่ไม่ใช่อริยะนั้น แสวงหาสิ่งที่เป็นอริยะ บรรลุขีณาสวภูมิ แม้พวกท่าน ก็ดำเนินตามทางเราและของพระปัญจวัคคีย์ การแสวงหาอันเป็นอริยะจึงจัดเป็นการแสวงหาของพวกท่าน.
               เพราะฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงการออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์ตั้งแต่เดิมมา.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จิตของพระองค์จึงน้อมไปอย่างนี้ว่า เรานี้พ้นแล้วจักทำผู้อื่นให้พ้น ข้ามแล้วก็จักทำผู้อื่นให้ข้ามมิใช่หรือ
               พระองค์ตั้งความปรารถนาไว้ว่า
               เราผู้มีเพศที่ไม่มีใครรู้จัก กระทำให้แจ้งธรรมในโลกนี้ ยังจะต้องการอะไร เราบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว จักทำโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามดังนี้แล้วบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย ก็บรรลุสัพพัญญุตญาณ.
               ตอบว่า ข้อนี้เป็นความจริง จิตของพระองค์น้อมไปอย่างนี้ด้วยอานุภาพแห่งปัจจเวกขณญาณ ก็พระองค์บรรลุสัพพัญญุตญาณ พิจารณาถึงความที่สัตว์ยังยึดกิเลส และความที่ธรรมเป็นสภาพลึกซึ้ง จึงปรากฏว่าสัตว์ยังยึดกิเลสและธรรมเป็นสภาพลึกซึ้งโดยอาการทั้งปวง เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ทรงพระดำริว่า สัตว์เหล่านี้เพียบไปด้วยกิเลสเศร้าหมองเหลือเกิน กำหนัดเพราะราคะ โกรธเพราะโทสะ หลงเพราะโมหะ เหมือนน้ำเต้าเต็มด้วยน้ำข้าว เหมือนตุ่มเต็มด้วยเปรียง เหมือนผ้าเก่าชุ่มด้วยมันข้น และเหมือนมือเปื้อนยาหยอดตา สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจักตรัสรู้ได้อย่างไรเล่า จึงทรงน้อมจิตไปอย่างนั้น
               แม้ด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณาถึงการยึดกิเลส ก็ธรรมนี้ พึงทราบว่าลึกเหมือนลำน้ำที่รองแผ่นดิน เห็นได้ยาก เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่เอาภูเขามาวางปิด รู้ตามได้แสนยากเหมือนปลายแห่งขนทรายที่แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน ชื่อว่าทานที่เราพยายามเพื่อแทงตลอดธรรมนี้ไม่ให้แล้วไม่มี ชื่อว่าศีลที่เราไม่ได้รักษาแล้วก็ไม่มี. ชื่อว่าบารมีไรๆ ที่เรามิได้บำเพ็ญก็ไม่มี เมื่อเรานั้นกำจัดกำลังของมารที่เหมือนไร้อุตสาหะ แผ่นดินก็ไม่ไหว เมื่อระลึกถึงปุพเพนิวาสญาณในปฐมยามก็ไม่ไหว เมื่อชำระทิพจักษุในมัชฌิมยามก็ไม่ไหว แต่เมื่อแทงตลอดปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม หมื่นโลกธาตุจึงไหว ดังนั้น ผู้ที่มีญาณกล้าแม้เช่นเรายังแทงตลอดธรรมนี้ได้โดยยากทีเดียว โลกิยมหาชนจักแทงตลอดธรรมนั้นได้อย่างไร พึงทราบว่า ทรงน้อมจิตไปอย่างนี้ แม้ด้วยอานุภาพแห่งการพิจารณาความลึกซึ้งแห่งพระธรรมด้วยประการดังนี้.
               อนึ่ง เมื่อสหัมบดีพรหมทูลอาราธนา พระองค์ก็ทรงน้อมจิตไปอย่างนี้ เพราะมีพุทธประสงค์จะทรงแสดงธรรม.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า เมื่อเราน้อมจิตไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ท้าวมหาพรหมก็จักอาราธนาเราแสดงธรรม. ด้วยว่า สัตว์เหล่านี้เคารพพรหม สัตว์เหล่านั้นสำคัญอยู่ว่า พระศาสดาไม่ประสงค์จะทรงแสดงธรรม แต่ท้าวมหาพรหมอาราธนาให้เราแสดงธรรม ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมนี้สงบประณีตหนอ จักตั้งใจฟังด้วยดี อาศัยเหตุนี้พึงทราบว่า พระองค์น้อมจิตไปเพื่อความเป็นผู้ขวนขวายน้อยมิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม.
               ได้ยินว่า ท้าวสหัมบดีพรหมนั้นครั้งศาสนาพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป เป็นพระเถระชื่อสหกะ ทำปฐมฌานให้บังเกิดแล้วไปเกิดเป็นพรหมอายุกัปหนึ่งในภูมิแห่งปฐมฌาน. ชนทั้งหลายย่อมหมายถึงท้าวมหาพรหมนั้นว่า สหัมบดีพรหมในคำนั้น.

               บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดเขาหินพึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบฉันใด ดูก่อนสุเมธผู้มีปัญญาดี พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีสมันตจักษุด้วยสัพพัญญุตญาณ แม้พระองค์โปรดขึ้นปราสาทธรรมคือปัญญาไม่เศร้าโศกด้วยพระองค์เอง โปรดใคร่ครวญพิจารณาตรวจตราหมู่ชนผู้ระงมด้วยความโศกและถูกชาติชราครอบงำ ก็ฉันนั้น.
               ในข้อนี้มีอธิบายว่า
               เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายทำนามากรอบเชิงเขา ปลูกกระท่อมไว้ที่เขตคันนา ในที่นั้น กลางคืนตามไฟไว้ ก็ความมืดมิดที่ประกอบด้วยองค์ ๔ พึงมี เมื่อเป็นดังนั้น บุรุษผู้มีจักษุยืนบนยอดเขานั้นมองดูพื้นดิน ไร่นาก็ไม่ปรากฏ เขตคันนาก็ไม่ปรากฏ กระท่อมก็ไม่ปรากฏ ผู้คนที่นอนอยู่ในที่นั้นก็ไม่ปรากฏ ปรากฏก็แต่เพียงแสงไฟที่กระท่อมเท่านั้นฉันใด
               เมื่อพระตถาคตขึ้นธรรมปราสาทตรวจดูหมู่สัตว์ หมู่สัตว์ผู้ไม่ได้ทำกรรมดีแม้จะนั่งอยู่ใกล้ พระชาณุเบื้องขวาในวิหารเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏแก่พระพุทธจักษุ เหมือนยิงธนูในเวลากลางคืน ส่วนเวไนยบุคคลผู้กระทำกรรมดีแม้จะอยู่ในที่ไกล ก็มาปรากฏแก่พระองค์เปรียบเหมือนไฟ และเหมือนหิมวันตบรรพตฉันนั้น.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต อสัตบุรุษอยู่ในที่นั้นเองก็ไม่ปรากฏ เหมือนลูกธนูที่ยิงไปในเวลากลางคืนฉะนั้น.

                 ในดอกอุบลเหล่านี้เหล่าใดขึ้นพ้นน้ำรออยู่ เหล่านั้นคอยรับสัมผัสแสงอาทิตย์จะบานในวันนี้ เหล่าใดตั้งอยู่เสมอน้ำ เหล่านั้นก็จะบานในวันพรุ่งนี้ เหล่าใดจมอยู่ใต้น้ำ จมอยู่ในน้ำธรรมชาติเลี้ยงไว้ เหล่านั้นก็จะบานในวันที่ ๓. ส่วนดอกอุบลที่อยู่ในสระเป็นต้น แม้เหล่าอื่นอยู่ใต้น้ำยังมีอยู่ เหล่าใดจักไม่บานเหล่านั้นก็จักเป็นภักษาของปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่านั้นท่านแสดงไว้ ยังไม่ขึ้นสู่บาลี ก็พึงแสดง.
               เหมือนอย่างว่า ดอกไม้ ๔ อย่างเหล่านั้นฉันใด
               บุคคล ๔ จำพวก คือ อุคฆฏิตัญญู วิปัจจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในบุคคล ๔ เหล่านั้น บุคคลใดตรัสรู้ธรรมพร้อมกับเวลายกหัวข้อธรรม บุคคลนี้ท่านเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู. บุคคลใดตรัสรู้ธรรมเมื่อท่านแจกอรรถแห่งภาษิตสังเขปได้โดยพิสดาร บุคคลนี้ท่านเรียกว่า วิปัจจิตัญญู. บุคคลใดใส่ใจโดยแยบคายทั้งโดยอุเทศทั้งโดยปริปุจฉา ซ่องเสพคบหาเข้าใกล้กัลยาณมิตร จึงตรัสรู้ธรรมบุคคลนี้ท่านเรียกว่า เนยยะ. บุคคลใดฟังมากก็ดี กล่าวมากก็ดี ทรงจำมากก็ดี สอนมากก็ดี ก็ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ท่านเรียกว่า ปทปรมะ.
               บรรดาบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุซึ่งเป็นเสมือนดงบัวเป็นต้น ก็ได้ทรงเห็นว่าอุคฆฏิตัญญู เปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันนี้ วิปัจจิตัญญูเปรียบดอกไม้บานในวันพรุ่งนี้ เนยยะเปรียบเหมือนดอกไม้บานในวันที่ ๓ ปทปรมะเปรียบเหมือนดอกไม้ที่เป็นภักษาของปลาและเต่า.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็น ก็ทรงเห็นโดยอาการทุกอย่างอย่างนี้ว่า สัตว์มีประมาณเท่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุน้อย เหล่านี้มีกิเลสธุลีในปัญญาจักษุมาก บรรดาสัตว์เหล่านั้น เหล่านี้เป็นอุคฆฏิตัญญู ดังนี้เป็นต้น.
               พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมให้สำเร็จประโยชน์ในอัตตภาพนี้เท่านั้นแก่บุคคล ๓ ประเภท ในจำนวนบุคคลเหล่านั้น ปทปรมะมีวาสนาเพื่อประโยชน์ในอนาคตกาล.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระธรรมเทศนาจะนำประโยชน์มาให้แก่บุคคล ๔ ประเภท จึงทรงทำให้เกิดพระพุทธประสงค์ที่จะทรงแสดงธรรม จึงทรงจำแนกเหล่าสัตว์ใน ๓ ภพทั้งหมด อีกสองคือภัพพบุคคลและอภัพพบุคคล.
               ท่านหมายเอาสัตว์เหล่าใด จึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า เหล่าสัตว์ผู้ประกอบด้วยการห้ามกรรมห้ามวิบาก ห้ามกิเลส ไม่มีศรัทธา ตัดไม่ขาด ไม่มีปัญญา ไม่ควรก้าวลงสู่ความชอบในกุศลธรรมแน่นอน สัตว์เหล่านี้นั้นจัดเป็นอภัพพะ. เหล่าสัตว์ผู้เป็นภัพพะเหล่านั้นเป็นไฉน คือเหล่าสัตว์ผู้ไม่ประกอบด้วยการห้ามกรรมห้ามวิบาก ห้ามกิเลส ฯลฯ สัตว์เหล่านี้นั้นจัดเป็นภัพพะ.
               ในสัตว์สองประเภทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละอภัพพบุคคลทั้งหมด ทรงกำหนดถือเอาด้วยพระญาณ เฉพาะภัพพบุคคลเท่านั้น ทรงจำแนกออกเป็น ๖ ส่วน คือ เหล่านี้มีราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต ศรัทธาจริตและพุทธิจริต.
               ครั้นจำแนกอย่างนี้แล้ว ก็ทรงพระดำริจักทรงแสดงธรรมโปรด.
               เราได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ความวิตกอันเกี่ยวด้วยการแสดงธรรมนี้เกิดขึ้นแล้ว.
               ถามว่า ก็ความวิตกนี้เกิดขึ้นเมื่อไร.
               ตอบว่า เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าสัปดาห์ที่ ๘.
               ในข้อนั้นจะกล่าวลำดับความดังนี้
               ดังได้สดับมา ในวันมหาภิเนษกรมณ์ พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นเรือนสนมกำนัลเปิดก็สลดพระทัย จึงตรัสเรียกนายฉันนะมาสั่งว่า นำม้ากัณฐกะมาซิ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จขึ้นทรงหลังพญาม้าออกจากพระนคร ทรงแสดงเจติยสถานที่ให้ม้ากัณฐกะกลับ ทรงละราชสมบัติ ทรงผนวชใกล้ฝั่งแม่น้ำอโนมานที เสด็จจาริกไปตามลำดับเที่ยวแสวงหาอาหารในกรุงราชคฤห์
               ประทับนั่ง ณ ปัณฑวบรรพต ถูกพระเจ้าพิมพิสารตรัสถามถึงนามและโคตร ตรัสขอให้ทรงรับราชสมบัติ แต่ทูลว่า อย่าเลยมหาบพิตร อาตมภาพไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพละราชสมบัติ มาประกอบความเพียร เพื่อต้องการเกื้อกูลแก่โลก ออกบวชด้วยหมายจักเป็นพระพุทธเจ้าตัดความหมุนเวียนในโลก ทรงรับปฏิญาณของพระเจ้าพิมพิสารที่ว่า ถ้าอย่างนั้น พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว โปรดเสด็จมาแคว้นหม่อมฉันก่อนดังนี้
               แล้วเสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร เมื่อไม่พบสาระแห่งธรรมเทศนาของดาบสทั้ง ๒ นั้น จึงหลีกออกไปบำเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปีที่อุรุเวลา เมื่อไม่อาจแทงตลอดอมตธรรม ทำพระกายให้เอิบอิ่มด้วยการเสวยอาหารหยาบๆ.
               ครั้งนั้น ธิดากุฏุมพีชื่อว่าสุชาดา ในอุรุเวลคาม ตั้งความปรารถนา ณ ต้นนิโครธต้นหนึ่งว่า ถ้าเราแต่งงานกับคนมีชาติเสมอกัน ได้บุตรชายท้องแรก จักกระทำการบวงสรวง. นางสำเร็จความปรารถนานั้นแล้ว. วันวิสาขปุรณมี นางตระเตรียมข้าวมธุปายาสอย่างดีเวลาใกล้รุ่งราตรี ด้วยหมายจะทำการบวงสรวงแต่เช้าตรู่. เมื่อกำลังหุงข้าวมธุปายาสอยู่นั้น ฟองข้าวมธุปายาสฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นวนเวียนไปทางขวา. แม้ส่วนที่ถูกสัมผัสอย่างหนึ่ง ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก.
               ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร. ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ถือพระขรรค์อารักขา. ท้าวสักกะรวบรวมไม้แห้ง (ฟืน) มาติดไฟ. เทวดาใน ๔ ทวีป ก็รวบรวมโอชะมาใส่ลงในมธุปายาสนั้น.
               พระโพธิสัตว์คอยเวลาภิกษาจารเสด็จไปแต่เช้าตรู่ ประทับนั่ง ณ โคนไม้. แม่นมมาเพื่อแผ้วถางโคนไม้ บอกแก่นางสุชาดาว่า เทวดามานั่งอยู่โคนไม้แล้ว. นางสุชาดาประดับเครื่องประดับทั้งปวงแล้ว บรรจงจัดข้าวมธุปายาสใส่ลงในถาดทองมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วยกขึ้นเดินไป เห็นพระมหาบุรุษ จึงวางไว้ในมือพร้อมกับถาดนั่นแหละ ไหว้แล้วกล่าวว่า มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้วฉันใด ขอมโนรถแม้ของท่านก็จงสำเร็จฉันนั้นเทอญ แล้วก็กลับไป.
               พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้ววางถาดทองไว้ริมฝั่งลงสรงน้ำเสด็จขึ้นแล้ว ทรงปั้นข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ก้อน เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงเสี่ยงทายว่า ถ้าเราจะเป็นพระพุทธเจ้าวันนี้ ขอถาดจงลอยทวนกระแสน้ำ ดังนี้แล้ว ทรงเหวี่ยงถาดไป. ถาดก็ลอยทวนกระแสน้ำแล้วหยุดหน่อยหนึ่ง เข้าไปสู่ภพของท้าวกาฬนาคราช วางทับถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์.
               พระมหาสัตว์ประทับพักกลางวัน ณ แนวป่า ตกเวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่โสตถิยพราหมณ์ถวาย แล้วเสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน ประทับยืน ณ ส่วนทิศใต้. ประเทศนั้นได้ไหว เหมือนหยาดน้ำในใบปทุม. พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ตรงนี้ไม่อาจทรงคุณของเราได้ ก็เสด็จไปส่วนทิศตะวันตก แม้ที่นั้นก็ไหวเหมือนอย่างนั้น. ได้เสด็จไปส่วนทิศเหนือ แม้ที่นั้นก็ไหวเหมือนกัน จึงเสด็จไปส่วนทิศตะวันออก ณ ที่นั้นฐานที่ทำเป็นบัลลังก์ไม่ไหวเลยเหมือนเสาหลักที่ปักไว้ดีแล้ว.
               พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ที่นี้เป็นสถานที่รื้อบัญชรกิเลสของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงจับยอดหญ้าเหล่านั้นเขย่า ยอดหญ้าเหล่านั้นก็ได้เป็นเหมือนช่างจิตรกรรม วาดด้วยปลายนุ่น. พระโพธิสัตว์ทรงเข้าประชิดต้นโพธิ ทรงอธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ว่าจักไม่ทรงทำลายบัลลังก์นี้ แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ.
               ทันใดนั้นเอง มารเนรมิตแขน ๑,๐๐๐ ขึ้น ช้างชื่อคิริเมขละสูง ๑๕๐ โยชน์ พาพลมาร ๙ โยชน์ มองดูครึ่งดวงตา เข้าประชิดประหนึ่งภูเขา. พระมหาสัตว์ทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า เรากำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ ไม่มีสมณะพราหมณ์เทวดามารหรือพรหมเป็นพยาน แต่ในอัตตภาพที่เป็นพระเวสสันดร มหาปฐพีได้เป็นพยานของเราใน ๗ ฐานะ แม้บัดนี้ มหาปฐพีที่ไม่มีใจ และอุปมาด้วยท่อนไม้ ก็เป็นสักขีพยาน.
               ทันทีนั่นเอง มหาปฐพีก็เปล่งเสียงร้อง ร้อยครั้งพันครั้ง เหมือนกังสดาลที่ถูกตีด้วยท่อนเหล็ก แล้วกลิ้งม้วนเอาพลมารไปกองไว้ที่ขอบปากจักรวาล. เมื่อดวงอาทิตย์ดำรงอยู่นั่นแล พระมหาสัตว์ก็ทรงกำจัดพลมารได้ ทรงชำระปุพเพนิวาสญาณในปฐมยาม ทิพย์จักษุญาณในมัชฌิมยาม ทรงหยั่งญาณลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาวัฏฏะและวิวัฏฏะ เวลารุ่งอรุณก็เป็นพระพุทธเจ้า ทรงดำริว่า เราทำความพยายามเพื่อบัลลังก์นี้มาตลอดหลายแสนโกฏิกัลป์ ดังนี้แล้ว ประทับนั่งขัดสมาธิท่าเดียวตลอดสัปดาห์.
               ต่อมาเทวดาบางเหล่าเกิดสงสัยว่า ยังมีธรรมที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่อีกหรือ.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาบัติในวันที่ ๘ ทรงทราบความสงสัยของเหล่าเทวดา จึงเสด็จเหาะแสดงยมกปาฏิหาริย์เพื่อกำจัดความสงสัย ครั้นทรงกำจัดความสงสัยของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ประทับยืนที่ส่วนทิศเหนือเยื้องทิศตะวันออกจากบัลลังก์หน่อยหนึ่ง ทรงสำรวจสถานที่บรรลุผลแห่งพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาตลอด ๔ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ พระบัลลังก์และโพธิพฤกษ์ด้วยดวงพระเนตรที่ไม่กระพริบ ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้นชื่อว่า อนิมมิสเจดีย์.
               ต่อมาเสด็จจงกรม ณ รตนจงกรมที่ต่อจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ในระหว่างพระบัลลังก์และสถานที่ประทับยืน ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้นชื่อว่า รตนจงกรมเจดีย์.
               ต่อนั้น เหล่าเทวดาในส่วนทิศตะวันตก เนรมิตเรือนทำด้วยแก้วไว้. ประทับนั่งขัดสมาธิ ณ เรือนนั้น ทรงเฟ้นอภิธรรมปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมันตปัฏฐานอนันตนัยในอภิธรรมนั้น ล่วงไปสัปดาห์หนึ่ง. สถานที่นั้น ชื่อว่ารัตนฆรเจดีย์. ณ ที่ใกล้โพธิมัณฑสถานนั่นเอง ล่วงไป ๔ สัปดาห์ด้วยอาการอย่างนี้ ในสัปดาห์ที่ ๕ เสด็จออกจากโคนโพธิพฤกษ์ เสด็จเข้าไปยังอชปาลนิโครธ. ทรงเฟ้นธรรมแม้ในที่นั้น ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่. เมื่อทรงเฟ้นธรรมก็ทรงพิจารณาเพียงนัยแห่งอภิธรรมในธรรมนั้น คือคัมภีร์แรกชื่อธัมมสังคณีปกรณ์ ต่อนั้นก็วิภังคปกรณ์ ธาตุกถาปกรณ์ บุคคลบัญญัติปกรณ์ กถาวัตถุปกรณ์ ยมกปกรณ์ ต่อนั้น มหาปกรณ์ชื่อปัฏฐาน.
               เมื่อจิตของพระองค์หยั่งลงในปัฏฐานอันละเอียดสุขุมในพระอภิธรรมนั้น ปีติก็เกิดขึ้น. เมื่อปีติเกิดขึ้นพระโลหิตก็ใส เมื่อพระโลหิตใส พระฉวีก็สดใส เมื่อพระฉวีสดใส พระรัศมีขนาดเท่าเรือนยอดเป็นต้นก็ผุดขึ้นจากพระกายส่วนหน้า แล่นไปตลอดอนันตจักรวาล ทางทิศตะวันออก เหมือนโขลงพญาฉัททันต์แล่นไปในอากาศ. พระรัศมีผุดขึ้นจากพระกายส่วนพระปฤษฏางค์ ก็แล่นไปทางทิศตะวันตก ผุดขึ้นจากปลายพระอังสาเบื้องขวา ก็แล่นไปทางทิศใต้ ผุดขึ้นจากปลายพระอังสาเบื้องซ้าย แล่นไปตลอดอนันตจักรวาลทางทิศเหนือ. พระรัศมีมีวรรณะดังหน่อแก้วประพาฬก็ออกจากพื้นพระบาททะลุมหาปฐพี แหวกน้ำเป็นสองส่วน ทำลายกองลม แล่นไปตลอดอชฏากาส เกลียวพระรัศมีสีเขียว เหมือนพวงแก้วมณีหมุนเป็นเกลียวผุดขึ้นจากพระเศียร ทะลุเทวโลก ๖ ชั้น เลยพรหมโลก ๙ ชั้น แล่นไปตลอดอชฎากาส วันนั้น เหล่าสัตว์ไม่มีประมาณในจักรวาลที่หาประมาณมิได้ ก็พากันมีวรรณะดังทองไปหมด. ก็แลวันนั้น พระรัศมีเหล่านั้นที่สร้านออกจากพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยังดำเนินไปอยู่ตลอดอนันตโลกธาตุ แม้กระทั่งทุกวันนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธ ล่วงไปสัปดาห์หนึ่งด้วยอาการอย่างนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ก็ประทับนั่ง ณ มุจจลินท์ อีกสัปดาห์หนึ่ง. พอพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับนั่งเท่านั้น มหาเมฆซึ่งมิใช่ฤดูกาล ก็เกิดตกทำให้ห้องสกลจักรวาลเต็มเปี่ยมไป.
               เล่าว่า มหาเมฆเช่นนั้นตกในกาลทั้งสองเท่านั้น คือเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระพุทธเจ้าอุบัติ มหาเมฆนั้นเกิดในพุทธกาลนี้.
               ก็เมื่อมหาเมฆนั้นเกิดขึ้นแล้ว พญานาค ชื่อมุจจลินท์ ก็ดำริว่า เมฆนี้เกิดขึ้นเมื่อพระศาสดาเสด็จเข้ามายังภพเรา พระองค์ควรจะได้อาคารบังฝน. พญานาคนั้นยังดำริว่า ถึงจะสามารถเนรมิตปราสาทเป็นรัตนะ ๗ ประการ เมื่อทำอย่างนั้นแล้ว ก็จักไม่มีผลใหญ่ จำเราจักทำความขวนขวายด้วยการถวายแด่พระทศพล แล้วจึงขยายอัตตภาพให้ใหญ่ เอาขนดล้อมรอบพระศาสดาไว้ ๗ ชั้น กั้นพังพานไว้ข้างบน. โอกาสภายในขนด เบื้องล่างมีขนาดเท่าโลหะปราสาท.
               พญานาคมีอัธยาศัยน้อมไปว่า พระศาสดาจักประทับอยู่ตามอิริยาบถที่ทรงต้องการ. เพราะฉะนั้นจึงล้อมโอกาสที่ใหญ่ไว้อย่างนี้. ตกแต่งรัตนบัลลังก์ไว้ตรงกลาง มีเพดานผ้ามีพวงของหอม พวงดอกไม้พรั่งพร้อมวิจิตรด้วยดาวทองอยู่เบื้องบน. ประทีปน้ำมันหอมสว่างทั้ง ๔ มุม ตั้งกล่องจันทน์เปิดไว้ ๔ ทิศ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ มุจจลินท์นั้นล่วงไปสัปดาห์หนึ่งด้วยอาการอย่างนั้น ต่อแต่นั้น ประทับนั่ง ณ ราชายตนพฤกษ์อีกสัปดาห์หนึ่ง. สัปดาห์ที่ ๘ ต่อจากราชายตนพฤกษ์ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันและสมอยาที่ท้าวสักกะจอมเทพนำมาถวาย ทรงบ้วนพระโอฐแล้ว เมื่อท้าวจตุโลกบาลน้อมบาตรศิลามีค่าพิเศษถวาย ก็เสวยบิณฑบาตของตปุสสะและภัลลิกะสองพาณิชแล้วเสด็จกลับมาประทับนั่ง ณ อชปาลนิโครธอีก ทรงเกิดปริวิตกนี้ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ทรงเคยปริวิตกกันมาแล้ว.
               นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตกลงพระทัยตามถ้อยคำที่เทวดาทูลเท่านั้น ทรงตรวจดูด้วยพระองค์เอง ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามบุตรทำกาละ (มรณภาพ) ได้ ๗ วัน นับแต่วันนี้ บังเกิดในอากิญจัญญายตนภพแล้ว.                
               นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงตกลงพระทัยตามคำของเทวดา ทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ก็ทรงเห็นว่า อุททกดาบส รามบุตร กระทำกาละเสียเมื่อเที่ยงคืนวานนี้ บังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ. เพราะฉะนั้น จึงตรัสอย่างนี้.
               เหล่าภิกษุปัญจวัคคีย์บำรุงเราผู้ตั้งความมุ่งมาดเพื่อทำความเพียร ด้วยการปัดกวาดบริเวณที่อยู่ ด้วยถือบาตรจีวรติดตามไป และด้วยการให้น้ำบ้วนปากไม้สีฟันเป็นต้น.
               ก็ใครที่ชื่อปัญจวัคคีย์นั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก พระองค์จะทรงแสดงธรรมแก่เหล่าคนที่มีอุปการะเท่านั้น ไม่ทรงแสดงธรรมแก่พวกคนที่ไม่มีอุปการะหรือ.
               ตอบว่า มิใช่ไม่ทรงแสดงธรรม ความจริง พระองค์ทรงตรวจดูอาฬารดาบสกาลามโคตรและอุททกดาบสรามบุตร โดยการสั่งสมบารมี. แต่เว้นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเสีย ก็ไม่มีผู้สามารถกระทำให้แจ้งธรรมได้ก่อน ในพุทธเขตนี้.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะท่านพระอัญญาโกณฑัญญะมีอุปนิสสัย ๓ อย่าง.
               เล่ากันว่า ในชาติก่อนมีพี่น้องสองคน ในเวลาทำบุญ ผู้พี่คิดจะถวายทานข้าวอย่างเลิศ ๙ ครั้ง ในฤดูข้าวฤดูหนึ่ง. เขาก็ถวายทานเมล็ดข้าวอย่างเลิศในเวลาหว่าน เวลาข้าวตั้งท้องก็ปรึกษากับผู้น้องว่า น้องเอ๋ย เวลาข้าวตั้งท้องพี่จะผ่าท้องข้าวถวายทาน. ผู้น้องบอกว่า พี่ต้องการจะทำข้าวอ่อนให้เสียหรือ.
               ผู้พี่รู้ว่า น้องไม่ยินยอม ก็แบ่งนากัน ผ่าท้องข้าวจากนาส่วนของตน คั้นน้ำนมปรุงกับเนยใสและน้ำอ้อย ถวายทาน. เวลาเป็นข้าวเม่าก็ให้ทำข้าวเม่าอย่างเลิศถวายทาน เวลาเก็บเกี่ยวก็ให้ทำข้าวที่เก็บเกี่ยวอย่างเลิศถวายทาน เวลาทำคะเน็ดก็ให้ทำข้าวคะเน็ดอย่างเลิศถวายทาน เวลาทำกำเป็นต้นก็ให้ถวายทานอันเลิศ เวลาทำกำทานอันเลิศเวลาขนข้าวเข้าลาน ทานอันเลิศเวลานวด ทานอันเลิศเวลาข้าวเข้ายุ้ง ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้งในฤดูข้าวฤดูหนึ่ง ดังกล่าวมานี้.
               ส่วนผู้น้องของเขา หมดฤดูข้าวแล้วจึงถวายทาน.
               ทั้งสองคนนั้น ผู้พี่ก็คือท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้น้องก็คือสุภัททปริพาชก.
               เว้นพระเถระเสียก็ไม่มีคนอื่นๆ ที่จะสามารถทำให้แจ้งธรรมได้ก่อนเพราะท่านถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้งในฤดูข้าวฤดูเดียว.
               

               เรื่องอุปกาชีวก               

               ในชนบทนั้น อุปกาชีวกอาศัยหมู่บ้านพรานล่าเนื้ออยู่ หัวหน้าพรานบำรุงเขาไว้. ในชนบทนั้นมีชาวประมงดุร้าย ให้เขาอยู่ด้วยภาชนะใบเดียว. พรานล่าเนื้อจะไปล่าเนื้อในที่ไกล จึงสั่งธิดาชื่อ นาวา ว่าอย่าประมาทในพระอรหันต์ของพวกเรา แล้วไปกับเหล่าบุตรผู้เป็นพี่ๆ.
               ก็ธิดาของพรานนั้นมีรูปโฉมน่าชม สมบูรณ์ด้วยส่วนสัด.
               วันรุ่งขึ้น อุปกะมาเรือนพบหญิงรุ่นนั้น เข้ามาเลี้ยงดูทำการปรนนิบัติทุกอย่าง เกิดรักอย่างแรง ไม่อาจแม้แต่จะกิน ถือภาชนะอาหารไปที่อยู่ วางอาหารไว้ข้างหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราได้แม่นาวา จึงจะมีชีวิต ถ้าไม่ได้ก็จะตายเสีย แล้วนอนอดอาหาร.
               วันที่ ๗ นายพรานกลับมา ถามเรื่องอุปกะกับธิดา. ธิดาบอกว่า เขามาวันเดียวเท่านั้น แล้วไม่เคยมาอีกจ๊ะ. โดยชุดที่มาจากป่านั่นแหละ. นายพรานบอกธิดาว่า พ่อจักเข้าไปถามเขาเอง แล้วไปทันที จับเท้าถามว่า ท่านเจ้าข้า ไม่สบายเป็นอะไรไป.
               อุปกะถอนใจ กลิ้งเกลือกไป.
               นายพรานกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า บอกสิ ข้าอาจทำได้ก็จักทำทุกอย่าง.
               อุปกะจึงบอกว่า ถ้าเราได้แม่นาวา ก็จะมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ได้ก็จะตายในที่นี่แหละประเสริฐกว่า.
               นายพรานถามว่า ท่านเจ้าข้า ท่านรู้ศิลปะอะไรบ้างละ.
               อุปกะตอบว่า เราไม่รู้เลย.
               นายพรานกล่าวว่า เมื่อไม่รู้ศิลปะอะไรๆ จะอยู่ครองเรือนได้หรือ. อุปกะนั้นจึงกล่าวว่า เราไม่รู้ศิลปะจริงๆ แต่เราจักเป็นคนแบกเนื้อของท่านมาขายได้นะ. นายพรานคิดว่า เขาชอบกิจการนี่ของเรา จึงให้ผ้านุ่งผืนหนึ่ง นำไปเรือนมอบธิดาให้.
               อาศัยการสมสู่ของคนทั้งสองนั้น ก็เกิดบุตรขึ้นมาคนหนึ่ง. ทั้งสองสามีภรรยาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุภัททะ. เวลาบุตรร้องนางจะพูดว่า เจ้าลูกคนแบกเนื้อ เจ้าลูกพรานเนื้อ อย่าร้องดังนี้เป็นต้น เย้ยหยันอุปกะ ด้วยเพลงกล่อมลูก.
               อุปกะกล่าวว่า แม่งาม เจ้าเข้าใจว่าข้าไม่มีที่พึงอยู่หรือ ข้ามีสหายคนหนึ่ง ชื่ออนันตชินะ ข้าจะไปยังสำนักเขา.
               นางนาวารู้ว่า สามีอึดอัดใจด้วยอาการอย่างนี้ จึงกล่าวบ่อยๆ.
               วันหนึ่ง อุปกะนั้นไม่บอกกล่าวก็มุ่งหน้าไปยังมัชฌิมประเทศ.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงสั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมาถามหาอนันตชินะ พวกท่านจงชี้แจงแก่เขา.
               แม้ชีวกก็ถามเรื่อยๆ ไปว่า อนันตชินะอยู่ไหน มาถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ ยืนอยู่กลางพระวิหาร ถามว่า อนันตชินะอยู่ไหน. ภิกษุทั้งหลายก็พาเขาไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อุปกะนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจำข้าได้ไหม. ตรัสว่า เออ อุปกะจำได้ซิ ก็ท่านอยู่ไหนละ. ทูลว่า วังกหารชนบท เจ้าข้า. ตรัสว่า อุปกะ ท่านแก่แล้วนะ บวชได้หรือ. ทูลว่า พอจะบวชได้เจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าให้บวชประทานกรรมฐานแก่เขา. อุปกะนั้นกระทำกิจในกรรมฐาน ตั้งอยู่ในอนาคามิผล กระทำกาละแล้ว บังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา แล้วบรรลุพระอรหัตในขณะที่เกิดนั่นเอง.
               จริงอยู่ ชน ๗ คน พอเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา ก็บรรลุพระอรหัต. ในจำนวน ๗ คนนั้น อุปกะก็เป็นคนหนึ่ง.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์รู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์. ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในวันอุโบสถ ทรงทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้รู้ความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทำพระโกณฑัญญะให้เป็นกายสักขี. เวลาจบพระสูตร พระเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลพร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ. พระอาทิตย์ยังไม่ทันอัสดงคตเทศนาจบลงแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าจำพรรษาในป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง.
               ลำดับนั้น บรรดาภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำภัตรออกไป อย่างนี้ โอวาทอยู่ พระวัปปเถระได้เป็นพระโสดาบันในวันปาฏิบท. แรม ๒ ค่ำพระภัททิยะ แรม ๓ ค่ำพระมหานามะ แรม ๔ ค่ำพระอัสสชิ.
               ในวันแรม ๕ ค่ำของปักษ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้พระปัญจวัคคีย์เหล่านั้นทั้งหมดประชุมรวมกันตรัสอนัตตลักขณสูตร. เวลาจบพระสูตร ภิกษุทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกถามรรคใดไว้ก่อน เมื่อทรงแสดงอนุสนธิเป็นอันเดียวกันดังนี้ว่า แม้พวกเธอก็ขึ้นสู่ทางของเราและของปัญจวัคคีย์ การแสวงหาของพวกเธอ ชื่อว่าอริยปริเยสนา ดังนี้ จึงทรงนำกถามรรคเพียงเท่านั้น.
               บัดนี้ ก็เพราะเหตุที่การแสวงหากามคุณ ๕ เป็นอนริยปริเยสนาของคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นอนริยปริเยสนา แม้ของเหล่าบรรพชิตผู้ไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ ด้วยโดยอำนาจกามคุณ ๕ ฉะนั้น. 
               ในกามคุณ ๕ เหล่านั้น กามคุณ ๔ มีรูปที่พึงรู้ด้วยจักษุเป็นต้น ย่อมได้ในปัจจัย ๔ มีบาตรและจีวรเป็นต้นที่ได้มาใหม่. ส่วนรสในกามคุณนั้น ก็คือรสในการบริโภค กามคุณแม้ทั้ง ๕ ย่อมได้ในบิณฑบาตและเภสัชที่พอใจ. กามคุณ ๔ ย่อมได้ในเสนาสนบริขารเหมือนในจีวร. ส่วนรสในเสนาสนบริขารแม้นั้น ก็คือรสในการบริโภคนั่นเอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงกามคุณ ๕ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อต้องการจะปฏิเสธพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า ชื่อว่าอนริยปริเยสนา ตั้งแต่บวช จะเป็นอริยปริเยสนาของบรรพชิตได้ที่ไหน จึงทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อแสดงว่า การบริโภคด้วยการไม่พิจารณาในปัจจัย ๔ เป็นอนริยปริเยสนาแม้ของบรรพชิต.
               สมณพราหมณ์เหมือนเนื้อในป่า ปัจจัย ๔ เหมือนบ่วงที่พรานดักไว้ในป่า เวลาที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่พิจารณาบริโภคปัจจัย ๔ เหมือนเวลาที่พรานนั้นดักบ่วงแล้วนอน เวลาที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายถูกมารกระทำตามชอบใจตกไปสู่อำนาจมาร เหมือนเวลาที่เมื่อพรานมา เนื้อไปไม่ได้ตามชอบใจ.
               อนึ่ง การพิจารณาในปัจจัย ๔ แล้วบริโภคของสมณพราหมณ์ พึงเห็นเหมือนเวลาที่เนื้อยังไม่ติดบ่วงนอนทับบ่วงเสีย การไม่ตกไปสู่อำนาจมารของสมณพราหมณ์ พึงทราบเหมือนเมื่อพรานมา เนื้อก็ไปได้ตามชอบใจ.
               

               จบอรรถกถาปาสราสิสูตร ที่ ๖               
               -----------------------------------------------------   

 

หมายเลขบันทึก: 713803เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2023 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2023 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท