ธรรมจริยา


 

ธรรมจริยา

จริยา แปลว่า ความประพฤติ ธรรมจริยา จึงแปลว่า การประพฤติธรรม ถ้าจะแปลให้ได้ความชัด และ มองเห็นแนวปฏิบัติได้ด้วย คือ ให้เห็นว่า ประพฤติอย่างไร ก็ต้องแปลตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า การประพฤติเป็นธรรม การประพฤติถูกธรรม
คำว่า “ธรรม” ในพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง เช่น คุณความดี ความชอบ คำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามคำสั่งสอน ในพระพุทธศาสนา มรรค ผล นิพพาน ความถูกต้อง เป็นต้น
คำว่า การประพฤติธรรม กับคำว่า การประพฤติถูกธรรม นั้น มีความหมายไม่เหมือนกัน
คำว่า การประพฤติธรรม หมายความว่า ปรับความประพฤติของตนเข้าหาธรรม ตรงกับที่พระท่านเทศน์ว่า น้อมตนเข้าไปหาธรรม นั่นเอง กล่าวคือ ใครมีหน้าที่ทำงานอะไร หรือ มีอาชีพอย่างไร อยู่แล้วก็คงทำงาน หรือ อาชีพตามเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพใหม่ แต่พยายามทำงาน หรือ อาชีพนั้น ๆ ให้ดีขึ้น ให้ถูกต้องขึ้นกว่าเดิม
คำว่า ประพฤติถูกธรรม หมายความว่า ประพฤติให้ถูกตามธรรม หรือ ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเองจากธรรมดาสามัญ โดยมุ่งจะปฏิบัติ (ธรรม) ตนตามแนวทางธรรมสูงขึ้น ประณีตขึ้น ตามลำดับ คือ การน้อมตนเข้าหาธรรม นั่นเอง ตัวอย่างเช่น คนที่เคยทำ อาชีพผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งอยู่ ก็หาทางทำอาชีพใหม่ หรือ คนที่ไม่เคยเข้าวัด ถือศีลฟังธรรม ก็เข้าวัดถือศีลฟังธรรม เจริญเมตตา อย่างนี้ เรียกว่า ประพฤติถูกธรรม

ความหมายอย่างแรก เป็นการประพฤติธรรมเบื้องต้น ส่วน ความหมายอย่างหลัง เป็นการประพฤติธรรมชั้นสูงขึ้นไป
ความประพฤติถูกธรรม ก็ย่อมได้รับผลดีตามควรแก่กรณี คือ ได้รับความดี ความสุข ความเจริญ สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ในมงคลสูตรว่า “การประพฤติธรรม เป็นอุดมมงคล”

ธรรมจริยาทางกาย

ความประพฤติธรรม และ ความประพฤติถูกธรรม ผู้ประพฤติทั้ง ๒ ความหมายนี้ จะได้รับความสุข ความเจริญ ซึ่งเรียกว่า อุดมมงคล การประพฤติธรรม หรือ ธรรมจรรยา แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
ธรรมจริยาทางกาย ๓    ธรรมจริยาทางวาจา ๔    ธรรมจริยาทางใจ ๓

การกระทำทางกาย เรียกว่า กายกรรม หมายถึง ความประพฤติดี ประพฤติชอบทางกาย ที่เรียกว่า กายสุจริต มีอยู่ ๓ ประการคือ
- การไม่ฆ่าสัตว์ มีเมตตากรุณา    - การไม่ลักขโมย ไม่โกงตาชั่ง ไม่หลีกเลี่ยงภาษีอากร
- การไม่ล่วงละเมิด ในบุตรภรรยาผู้อื่น

ความประพฤติชอบทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต ท่านจำแนกไว้เป็น ๔ ประการ คือ
-    การเว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่ความจริง
-    การเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด พูดแต่คำสมานสามัคคี
-    การเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ พูดแต่คำไพเราะ เสนาะโสต เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ
-    การเว้นขาอจากการพูดเพ้อเจ้อ  พูดแต่คำจริง มีหลักฐาน

ความประพฤติชอบทางใจ เรียกว่า มโนสุจริต มีอยู่ ๓ ประการ คือ
-    ความไม่โลภ ไม่อยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น ยินดีในส่วนที่ตนควรจะได้
-    การไม่มีจิตคิดพยาบาท ปองร้ายต่อผู้อื่น มีแต่ความเมตตากรุณา ปรารถนาความสุข ต่อผู้อื่น สัตว์อื่น
-    การเป็นผู้มีความเห็นถูก ไม่วิปริต ผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่า ความดีความชั่วนั้นมีอยู่ ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล เป็นต้น


อีกประการหนึ่ง การประพฤติกุศลธรรม ๑๐ ประการ ชื่อ ธรรมจริยา การประพฤติธรรม ในอรรถกถามงคลสูตร กล่าวไว้ว่า ความประพฤติธรรม หรือ ความประพฤติที่ไม่ปราศจากธรรม ชื่อว่า ธรรมจริยา

ประพฤติสุจริตธรรม

ประพฤติเป็นสุจริตธรรม ก็คือ การประพฤติกุศลธรรมบทนั่นเอง เพราะ สุจริตธรรม เป็นคำรวมแห่งความดี ได้แก่ ไม่ทำชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่คิดชั่ว ทำแต่สิ่งดี พูดแต่สิ่งดี คิดแต่สิ่งดี การละอายต่อความชั่ว และ การเกรงกลัวต่อความผิด คอยเตือนให้คนทำแต่สิ่งที่ไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น สุจริตธรรม เป็นความดีของมนุษย์ การอบรมตนให้มีสุจริตธรรม สำคัญกว่าการอบรมตนให้มีวิชา ก็เทียบกับ ผู้มีวิชาที่ประกอบด้วยสุจริตธรรมไม่ได้ การประพฤติสุจริตธรรม อาจแบ่งได้ ดังนี้

การประพฤติสุจริตธรรมในบุคคล
มนุษยชาติ ย่อมต้องมีความเกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ผู้ใกล้ชิดที่สุด คือ ครอบครัว ที่ห่างออกไปได้แก่เพื่อนบ้าน และ ที่ห่างไกลออกไปคนละซีกโลก ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกันได้ นับว่าเกิดมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อกัน เช่น สามี ภรรยา พ่อแม่ กับ ลูก ครู กับ ศิษย์ มิตร กับ มิตร เป็นต้น เมื่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกัน ได้ปฏิบัติหน้าที่ชอบต่อกัน ชื่อว่า ประพฤติสุจริตธรรมในบุคคล

การประพฤติสุจริตธรรมในอาชีพ
การประกอบอาชีพที่ชอบ เป็นทางแห่งชีวิตบริสุทธิ์ เป็นยาเย็นแก้ร้อนในให้ความเย็นชื่นใจ เอิบอิ่มใจ ในขณะที่กำลังหา ขณะที่หาได้มาแล้ว และ ขณะที่บริโภค และ ที่บริโภคแล้ว ผู้ที่ประกอบอาชีพสุจริต ผลที่ได้รับก็คือ ความสงบสุข ผู้สุจริตในอาชีพนี้ ย่อมประพฤติเป็นธรรมในการแสวงหา ละเว้นอาชีพที่ผิด พยายามหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ไม่ทำลายประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ถือการดำรงชีวิตอยู่โดยสุจริต ว่าเป็นการดำรงชีวิตอยุ่อย่างมีเกียรติ ชื่อว่า ครองชีวิตของตนโดยทางแห่งความบริสุทธิ์แท้

การประพฤติสุจริตในการงาน
ชีวิตของคน อยู่ที่ผลของงาน มิใช่เพียงแต่มีอาหาร ชีวิตก็เป็นอยู่ได้ จะต้องมีงานจึงจะมีเงิน ดังคำขวัญที่ว่า งานคือ เงิน เงินคือ งาน ตัวเรา และ ประเทศชาติ จะมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ก็เพราะ ประชาชนประกอบธุระกิจการงาน เพราะว่า การงานก็คือ ฐานของชีวิต เหมือนเศรษฐกิจเป็นหัวใจของประเทศ ฉันใด ก็ฉันนั้น การประพฤติสุจริตธรรมในการงานนั้น ก็คือ การประพฤติปฏิบัติที่เป็นธรรมในกิจการงาน ตั้งใจทำจริง ผู้ทำการไร ๆ ก็ทำแต่กิจการที่สุจริต เว้นสิ่งที่ผิดศีลธรรม และ กฎหมาย ไม่ค้ากำไรที่ขูดรีด ตั้งหน้าบากบั่น ทำงานโดยไม่ท้อถอย บุคคลผู้ปฏิบัติตามที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า ผู้ประพฤติเป็นสุจริตในการงาน

การประพฤติสุจริตในหน้าที่
หน้าที่ กิจที่ควรทำ การที่ควรคิด ธุระที่ต้องรับผิดชอบ คือ หน้าที่ของคนสุจริต ทำงานในหน้าที่ใด ได้ถือหน้าที่นั้น เป็นสิ่งสำคัญ ยืนหยัดในทางที่ถูก ไม่คล้อยตามในทางที่ผิด สามารถทำการงานที่ได้รับมอบหมาย ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เรียบร้อย คนที่ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน ดังคำโบราณที่ว่า ตัวโรคร้ายของชาติ คือ อำมาตย์ผู้ทุจริต

การประพฤติเป็นสุจริตธรรม
นี้เป็นยอดจรรยาของคน สามารถห้ามกิริยาที่ผิด วาจาที่ผิด และ การคิดที่ผิด ผู้ที่มีคุณธรรม คือ สุจริตธรรม เป็นคนมีใจสูง มุ่งให้เป็นประโยชน์แก่ตน และ สังคมส่วนรวม

การประพฤติสุจริตธรรม เป็นมงคล
ได้ชื่อว่า เป็นมงคล เพราะ เป็นเหตุให้ผู้ประพฤติได้รับผล คือ ความเจริญรุ่งเรือง นอกจากจะเป็นสิริมงคลในตัวผู้ประพฤติ ปฏิบัติแล้ว ตัวผู้ประพฤติปฏิบัติเอง ยังเป็นมงคลแก่คนอื่นด้วย คือ เป็นมงคลสำหรับครอบครัว สำหรับเพื่อนฝูง และ เป็นมงคลสำหรับประเทศชาติ พระศาสนา พระพุทธองค์ เมื่อทรงแก้ปัญหาของเทวดา จึงตรัสว่า ธรรมจริยา การประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นมงคลยอดชีวิต
 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713586เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2023 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2023 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท