การคบมิตร


 

การคบมิตร

คนเราไม่สามารถจะอยู่ในโลกนี้เพียงผู้เดียว จะต้องมีพรรคพวก เพื่อนฝูง คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัยได้ เพราะฉะนั้น เพื่อนก็มีความสำคัญต่อชีวิตเราส่วนหนึ่ง ในเมื่อเพื่อนมีความสำคัญในวิถีการดำเนินชีวิต ก็สมควรที่เราจะได้เพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร ถ้าเรามีเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตร ย่อมได้ชื่อว่า เรามีเพื่อนคู่คิด ได้มิตรคู่ใจ มิตรนั้นแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ มิตรเทียม และ มิตรแท้
 

มิตรเทียม หรือ มิตรปฏิรูปนั้น ตรงกับมิตร ที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงแก่สิงคาลมาณพในสิ่งคาลสูตรว่า
ดูกร คฤหบดี บุคคล ๔ จำพวก คือ ผู้นำไปฝ่ายเดียว ๑ ผู้ดีแต่พูด ๑ ผู้พูดคล้อยตาม ๑ ผู้ชักชวนในทางเสียหาย ๑ บุคคลเหล่านี้ พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตร เป็นแต่มิตรปฏรูป คือ คนเทียมมิตรเท่านั้น

ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ตรัสต่อไปอีกว่า บุตรคฤหบดี ที่ว่า ผู้นำไปฝ่ายเดียวนั้น ได้แก่ ผู้ที่มาบ้านเพื่อนมือเปล่า แล้วชมของสิ่งต่าง ๆ ของเพื่อน มีผ้านุ่งเป็นต้น เพื่อนตอบว่า เธอชมผ้าผืนนี้ดีนัก แล้วนุ่งผ้าผืนอื่น ให้ผ้าผืนนั้นแก่เพื่อนไป มิตรชนิดนี้ พึงทราบด้วยฐานะ ๔ ประการ คือ
 

๑.    คิดที่จะนำเอาของเพื่อนไปฝ่ายเดียว
๒.    ต้องการมากด้วยของมีน้อย
๓.    เมื่อมีภัยเกิดขึ้น จึงทำกิจของเพื่อน 
๔.    คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

เพื่อนผู้ดีแต่พูด พึงทราบด้วยฐานะ ๔ ประการ คือ
 

๑.    เก็บเอาสิ่งที่ล่วงมาแล้วมาปราศรัย เช่น พูดว่า เมื่อวานเพื่อนไม่มา ข้าวกล้าของเราคราวนี้ได้ผลดียิ่ง เราเก็บเกี่ยวไว้มาก เหลือพันธ์ข้าวไว้มาก นั่งคอยอยู่ก็ไม่เห็นเพื่อนมา วันนี้เราขายมันไปหมดแล้ว
๒.    อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย เช่น พูดว่า ปีนี้ข้าวกล้าของเราจักดีมาก เพราะ ข้าวมีรวงงาม เมื่อทำนาเสร็จแล้ว เราก็สามารถช่วยเหลือเพื่อนได้
๓.    สงเคราะห์ด้วยสิ่งของ หาประโยชน์มิได้ เช่น พูดว่า ผ้าผืนนี้เหมาะแก่เพื่อนมาก แต่เราไม่มีผ้าอื่นอีก จะให้ผ้าผืนนี้แก่เพื่อนก็ไม่ได้
๔.    เมื่อมีกิจเกิดขึ้น ก็แสดงความเสื่อมเสีย เช่น เพื่อนพูดว่า เราต้องการเกวียนก็ตอบว่า ได้ แต่ว่าล้อมันหักเสียแล้ว และ เพลามันก็เกิดหักอีก

ผู้พูดคล้อยตาม คือ คล้อยตามการกระทำชั่วของเพื่อน ควรทราบด้วยฐานะ ๔ ประการ
 

๑.    คล้อยตามในการกระทำความชั่วของเพื่อน
๒.    คล้อยตามในการกระทำดีของเพื่อน
๓.    สรรเสริญเพื่อนต่อหน้า
๔.    เวลาลับหลังเพื่อนก็ติเตียน

ผู้ชักชวนในทางฉิบหาย พึงทราบด้วยฐานะ ๔ ประการ
 

๑.    ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ได้แก่ สุราเมรัยเนือง ๆ
๒.    ชักชวนให้เที่ยวในเวลากลางคืนบ่อย ๆ
๓.    ชักชวนไปดูมหรสพ
๔.    ชักชวนเล่นการพนันเนือง ๆ

บุคคลใด มีเพื่อนประกอบด้วยลักษณะดังกล่าวมาแล้ว คือ ผู้นำไปฝ่ายเดียว ผู้ดีแต่พูด ผู้พูดคล้อยตาม ผู้ชักชวนในทางเสียหาย พึงทราบว่า บุคคลผู้นั้น มิใช่มิตรแท้ เป็นบุคคลเทียมมิตร บัณฑิตเมื่อรู้ว่า บุคคล ๔ จำพวกนั้น ไม่ใช่มิตร ควรหลีกให้ห่างไกล เหมือนกับบุคคล หลีกเร้นหนทางที่มีภัยฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะคบบุคคลเหล่านั้นเป็นมิตร

มิตรแท้ ตรงกันข้ามกับมิตรเทียม เป็นมิตรที่เพื่อนคู่คิด เป็นมิตรคู่ใจ สามารถสละชีวิตตายแทนได้ เมื่อถึงคราวที่จำเป็น มิตรผู้มีใจดีอย่างนี้ คือ กัลยาณมิตร คือ มิตรแท้ ดังที่พระพุทธองค์ ทรงตรัสแก่สิงคาลมาณพว่า ดูกร คฤหบดี มิตรผู้มีใจดีมีอยู่ ๔ จำพวก คือ มิตรอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรแนะนำประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ มิตรตามที่กล่าวมานี้ เป็นมิตรแท้

มิตรมีอุปการะ มีลักษณะ ๔ ประการ คือ
 

๑.     ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว คือ เมื่อเห็นเพื่อนเมานอนหลับอยู่กลางบ้าน หรือ ที่ประตูบ้าน หรือ ที่หนทางแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็นั่งเฝ้า เพื่อไม่ให้ใครมาขโมยผ้านุ่งผ้าห่ม หรือ สิ่งของอื่น ของเพื่อน เมื่อเพื่อนตื่น จึงไป ถึงเพื่อนประมาทอย่างอื่น ก็ช่วยระวังอย่างนี้
๒.    ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว เช่น เมื่อเห็นเพื่อนดื่มสุราเมา ไม่รักษาบ้านเรือน ก็ช่วยรักษาบ้านเรือนให้ ช่วยรักษาทรัพย์ให้
๓.    เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ คือ เมื่อมีภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดแก่เพื่อน ก็บอกว่าอย่ากลัวเลย เมื่อมีเพื่อน เช่นเรายังอยู่จะกลัวไปทำไม แล้วก็กำจัดภัยนั้นเสีย
๔.    เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปากขอ คือ เมื่อเพื่อนมีธุระที่จะต้องใช้เงินทองแล้วออกปากขอ เมื่อออกปากขอ ๑ ก็ให้ ๒ คือ ออกปากขอเท่าใด ก็ให้ ๒ เท่าที่ออกปากขอนั้น

มิตรร่วมทุกข์ ร่วมสุข ประกอบด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ
 

๑.    ขยายความลับของตนแก่เพื่อน คือ เรื่องที่ตนควรจะปกปิดไว้ ตนก็ไม่บอกแก่ผู้อื่น บอกเฉพาะเพื่อนเท่านั้น
๒.    ปิดความลับของเพื่อนไม่แพร่งพราย คือ ความลับที่เพื่อนบอกตนแล้ว ตนก็ปกปิดไว้ไม่ให้ผู้อื่นรู้
๓.    ไม่ละทิ้งเพื่อนในยามวิบัติ คือ ไม่ละทิ้งเพื่อนในยามมีภัยอันตราย
๔.    แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้ คือ ถึงแม้ชีวิตของตน ตนก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ช่วยเหลือเพื่อนได้โดยไม่เห็นแก่ชีวิตของตน

มิตรแนะนำประโยชน์ ประกอบด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ
 

๑.    ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว คือ เมื่อเพื่อนจะทำความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง ห้ามเสียว่าอย่าทำ เช่น เมื่อเห็นเพื่อนจะทำเวร ๕ คือ ฆ่าผู้อื่น ลักขโมยผู้อื่น ผิดลูกเมียผู้อื่น พูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น ดื่มสุรา สูบกัญชา ยาฝิ่น และ ฮีโรอีน เป็นต้น ก็ห้ามไม่ให้ทำ
๒.    แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี คือ แนะนำเพื่อนให้ทำแต่ความดี เช่น แนะนำให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ คือ นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ แนะนำให้รักษาศีล ๕ ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ มีการให้ทาน ให้ทำบุญ และ ให้พึ่งธรรม เป็นต้น
๓.    ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง คือ เหตุการณ์อันละเอียดลึกลับ อันใดที่เพื่อนไม่เคยได้ยินได้ฟัง เมื่อตนได้ยินได้ฟังมา ก็เล่าให้ฟังเป็นต้น
๔.    บอกทางสวรรค์ให้ คือ บอกว่า คนทั้งหลายทำบุญกุศลอย่างนี้แล้ว รักษาศีลฟังธรรมอย่างนี้แล้ว เวลาตายไป แล้วจะได้ไปสู่สุคติ

มิตรมีความรักใคร่ ประกอบด้วยลักษณะ ๔ ประการ คือ
 

๑.    ทุกข์ ๆ ด้วย คือ เมื่อเห็นหรือได้ยินว่า เพื่อนหรือ บุตรภรรยาของเพื่อน บริวารของเพื่อนมีความทุกข์ ประหนึ่งว่า ความเสียหายนั้น หรือ ความทุกข์นั้น เกิดขึ้นแก่ตัวเอง ข้อนี้ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า ไม่ยินดีต่อความไม่เจริญของเพื่อน ได้แก่ เมื่อเห็นหรือได้ยินว่า เพื่อนไม่เจริญ ก็พลอยไม่สบายใจ
๒.    สุข ๆ ด้วย คือ เมื่อเห็นหรือได้ยินว่า เพื่อนหรือบุตรภรรยา หรือ บริวารของเพื่อนมีความเจริญได้ดีมีสุข เช่น ทำนาได้ข้าว หรือ ได้เป็นใหญ่โต ก็พลอยดีใจไปด้วย ตรงตามหลัดในพระพุทธศาสนา ที่กล่าวว่า ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน
๓.    โต้เถียงคนที่ติเตียนเพื่อน คือ เมื่อมีผู้อื่นพูดติเตียนเพื่อน ก็ห้ามปรามเสีย เช่น มีผู้ติเตียนว่า คนโน้นรูปร่างวิกลปริตรไม่น่าดู ตระกูลต่ำ ความประพฤติไม่ดี ก็ห้ามเสียว่า อย่าพูดอย่างนี้ เพราะว่า เขามีรูปร่างดี น่าดู ตระกูลดี ความประพฤติดี
๔.    รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน คือ เมื่อมีผู้สรรเสริญเพื่อนว่า คนโน้น รูปร่างดี น่าดู มีตระกูลดี มีความประพฤติดี ก็รับว่า ท่านพูดถูก พูดดี เพราะ ความจริง เขาเป็นอย่างนั้น ตามหลักในทางพระพุทธศาสนา กล่าวว่า สรรเสริญผู้ที่สรรเสริญเพื่อน

บัณฑิตรู้ว่า มิตร ๔ จำพวก คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข มิตรแนะนำประโยชน์ มิตรมีความรักใคร่ เป็นมิตรแท้ ควรคบไว้ให้ดีเหมือนมารดากับบุตร ฉะนั้น บัณฑิตผู้สมบูรณ์ศีล ย่อมรุ่งเรืองเหมือนเปลวไฟ เมือ่บุคคลรวบรวมทรัพย์ ไว้เหมือนกับแมลงผึ่งที่ทำรัง ทรัพย์ย่อมมากขึ้น เหมือนกับจอมปลวก ฉะนั้น คฤหัสถ์ผู้สามารถรวบรวมทรัพย์ไว้ได้อย่างนี้แล้ว ก็แบ่งทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน คฤหัสถ์นั้น ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ทรัพย์ ๔ ส่วนนั้น ควรใช้สอยเสียส่วน ๑ ประกอบกิจการงานเสีย ๒ ส่วน เก็บส่วนที่ ๔ ไว้ในเวลามีอันตราย

อบายมุข (ทางเสื่อม)

ทางดำเนินชีวิตของคนเราในโลกนี้ ย่อมดำเนินไปสู่ทางสองทาง คือ ทางที่นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง กับ ทางที่นำไปสู่ความหายนะ การที่จะดำเนินชีวิตไปในวิถีทางไหนนั้น สิ่งแวดล้อมและฝึกหัดอบรม ก็มีอิทธิพลอยู่มาก ตามหลักพระพุทธศาสนา ที่กล่าวว่า คบค้าเสวนากับบุคคลประเภทใด ก็ย่อมจะเป็นไปตามบุคคลประเภทนั้น ถ้าคบบัณฑิต บัณฑิตก็จะพาความดีความงาม ความเจริญรุ่งเรือง ให้เกิดแก่ผู้นั้น ถ้าคบค้าเสวนากับบุคคลที่ไม่เป็นบัณฑิต ย่อมจะนำความหายนะ ความเสื่อม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์มาสู่เขาเหล่านั้น พระพุทธเจ้านอกจากพระองค์ทรงสอนให้ประชาชนรู้จักทางที่ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ ความรุ่งโรจน์ แล้ว 

พระพุทธองค์ยังทรงสั่งสอนให้เราได้รู้จักทางที่จะทำความเสื่อมเสีย ความหายนะ ความตกต่ำ และ สิ่งอันไม่อำนวยประโยชน์สุข แก่บุคคลที่เลือกเดินไปในทางนั้น ท่านเรียกว่า อบายมุข ทางนำไปสู่ความเสื่อม และ ทางของความพินาศ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระสาวกว่า อริยสาวก ย่อมไม่เกาะเกี่ยวอบายมุข คือ ทางของความเสื่อมทรัพย์ มี ๖ ประการ คือ อย่างไร คือ 

การประกอบเนือง ๆ ซึ่งเหตุที่ให้เกิดความประมาท ได้แก่การดื่มน้ำเมา ดื่มสุราเมรัย ๑ 

การประกอบเนื่องในการเที่ยวกลางคืน ๑ การดูมหรสพ ๑ 

การประกอบ เนื่องในการเล่นการพนัน ๑ การคบคนชั่วเป็นมิตร ๑ การเกียจคร้านการทำงาน ๑ 

ทั้งหมดนี้ จัดเป็นอบายมุข คือ ทางที่จะนำไปสู่ความพินาศ ล่มจม

การดื่มน้ำเมา ได้แก่ การดื่มสุราเมรัย กัญชา ยาฝิ่น ฮีโรอีน คำว่า เมา หมายความว่า มีอาการฟั่นเฟือน เมื่อนำไปต่อกับคำว่า คน เป็น คนเมา ใคร ๆ ก็ไม่ชอบคนเมา แม้แต่คนเมาด้วยกันก็ไม่ชอบ เอาไปต่อกับคำว่า น้ำ เป็น น้ำเมา เมื่อคนดื่มไปแล้ว มีอาการฟั่นเฟือน เพราะ ฤทธิ์สุรา กัญชา ยาฝิ่น ฯ พระพุทธองค์ ทรงตรัสถึงโทษของการดื่มน้ำเมาไว้ ๖ ประการ คือ

๑.  เสียทรัพย์  การดื่มสุราเมรัย และ สิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย ทำให้เสียทรัพย์ ทรัพย์ย่อมฉิบหาย เพราะ ธรรมดานักเลงสุรา ย่อมทำสิ่งที่มีอยู่ ให้ฉิบหายไป ย่อมไม่ได้ ทรัพย์ที่ยังไม่ได้ ด้วยเหตุว่า เมื่อเมาสุราแล้ว ย่อมใช้จ่ายทรัพย์ โดยไม่รู้จักเสียดาย และ ละทิ้งการงานที่จะได้ทรัพย์มา
 ๒.  ก่อการทะเลาะวิวาท  คือ เมื่อเมาสุราแล้ว ย่อมก่อการวิวาทต่าง ๆ เพราะ เหตุว่า ผู้เมาสุราแล้วขาดสติ เห็นผิดเป็นถูก แม้คนอื่นจะพูดถูก ก็หาว่าพูดผิดทั้งนั้น และ ชอบพูดมากสร้างความรำคาญใจให้เกิดแก่ผู้อื่น
 ๓.  ทำให้เกิดโรค  การดื่มน้ำเมาเนือง ๆ ย่อมทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มีโรคลำไส้ และ โรคตา เป็นต้น โรคที่เกิดจากน้ำเมา เขาเรียกว่า โรคเหล้า โรคเหล้า ที่สำคัญ คือ โรคหิวเหล้า ดื่มเท่าไรก็ไม่พอ
 ๔.  ถูกติเตียน  คือ เมื่อเมาเหล้าแล้ว จะทำให้พูดและพูดในสิ่งที่ไม่สมควรต่าง ๆ เช่น สามารถที่จะด่า และ ตีจนกระทั่งบิดามารดาของตนเอง ซึ่งล้วนแต่เป็นทางให้ได้รับการติเตียนทั้งนั้น
 ๕.  ไม่รู้จักอาย  คือ เมื่อเมาแล้ว ย่อมไม่รู้จักอาย แม้แต่ผ้านุ่ง ก็อาจเปลื้องได้ คำพูดที่หยาบคายก็พูดได้ สิ่งที่ควรปกปิดก็นำมาเปิดเผยเสียหมด
  ๖.  ทอนกำลังปัญญา  คือ ทำให้ขาดปัญญา ที่รู้จักดีชั่ว ดี บาป บุญ คุณโทษ ใครจูงไปทางไหน ก็ไปกับเขา เป็นเหตุให้ประกอบความชั่วได้ง่าย

การเที่ยวกลางคืน
 

กลางคืน เป็นเวลาพักผ่อน แต่เราเองเป็นเวลาเที่ยว เมื่อเที่ยวกลางคืน กลางวันก็กลายเป็นเวลานอน แทนเวลากลางคืน งานที่จะต้องทำในเวลากลางวัน ก็ไม่ได้ทำ ทำให้เสียงานเสียการ เสียสุขภาพ พระพุทธเจ้า ทรงตรัสถึงโทษของการเที่ยวกลางคืนไว้ ๖ ประการ คือ

๑.    ชื่อว่า ไม่รักษาตัว เพราะว่า ผู้เที่ยวกลางคืน ย่อมจะพบอันตราย ๆ พบสัตว์ร้าย พบคนร้าย พวกศตรูได้โอกาสก็จะทำอันตรายแก่เราได้
๒.    ชื่อว่า ไม่รักลูกเมีย คือ เมื่อลูกเมียเห็นบิดา หรือ สามีทำได้ ก็จะเอาอย่าง พากันเที่ยวกลางคืนกันหมด ก็จะได้รับอันตรายต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่เพียงแต่เสียเงินเสียทองเท่านั้น อาจถึงกับเสียชีวิตก็ได้
๓.    ชื่อว่า ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ หมายความว่า ผู้เที่ยวกลางคืน ทั้งลูกเมีย บริวาร ย่อมทิ้งบ้านช่อง ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ ไม่มีผู้ใดดูแลรักษา โจรก็จะขโมยได้ง่าย
๔.    เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลาย หมายความว่า ทำให้คนทั้งหลาย มีความสงสัย ในเมื่อมีผู้ทำความชั่ว เช่น เมื่อมีการลักขโมยเกิดขึ้น ก็สงสัยว่า คงจะเป็นฝีมือของพวกที่เที่ยวกลางคืนกระทำ
๕.    มักถูกใส่ความ  หมายความว่า  เมื่อบุคคลเหล่านั้น ผ่านประตูบ้านของผู้ใดไป เวลามีการทำโจรกรรมเกิดขึ้น หรือ การลอบทำชู้ ชิงเมียเกิดขึ้นที่บ้านนั้น คนทั้งหลาย ก็ต้องใส่ความ บุคคลเหล่านั้นว่า เรื่องนี้คงเป็นของผู้เที่ยวกลางคืน แหละกระทำ ถึงแม้ว่า มันจะไม่จริงก็ฟังไม่ขึ้น
๖.    ได้ความลำบาก หมายความว่า เมื่อผู้เที่ยวกลางคืน เป็นที่ระแวงสงสัย ถูกใส่ความพวกเขาเหล่านั้น ก็จะได้รับความลำบาก อยู่อย่างสุขสบายไม่ได้ ต้องเดือดร้อน

การเที่ยวดูการเล่น
 

หมายความว่า เราไปดูของไม่จริง ของหลอก ถ้าดูบ่อย ๆ ก็ติดไม่ได้ไปดู ก็นอนไม่หลับ จะต้องไปดู จึงจะนอนหลับ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง โทษของการเที่ยวดูการเล่นไว้ ๖ ประการ คือ

๑.    มีฟ้อนรำที่ไหน ก็ไปที่นั้น
๒.    มีขับร้องที่ไหน ก็ไปที่นั้น
๓.    มีดีดสีตีเป่าที่ไหน ก็ไปที่นั้น
๔.    มีเสภาที่ไหน ก็ไปที่นั้น
๕.    มีเพลงที่ไหน ก็ไปที่นั้น
๖.    มีเถิดเทิงที่ไหน ก็ไปที่นั้น

ส่วนโทษนั้น ย่อมมีตามเวลา และ ทรัพย์ที่เสียไป เสียเวลาทำการงาน เสียทรัพย์นั้น เสียไปด้วยเครื่องแต่งตัวบ้าง ค่าพาหนะบ้าง ค่าอาหารการกินบ้าง

การเล่นการพนัน
 

หมายถึง การเล่นนกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป คือ การเล่นที่ได้ทรัพย์ และ เสียทรัพย์ ได้แก่ การเล่นเอาเงิน หรือ สิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือ พระพุทธเจ้า ทรงตรัสถึงโทษของการเล่นการพนันไว้ ๖ ประการ คือ

๑.    ผู้ชนะย่อมก่อเวร  หมายความว่า ผู้ชนะย่อมจะแย่งชิงเอาผ้านุ่งผ้าห่ม ตลอดจนผ้าโพกหัวของผู้แพ้ ในท่ามกลางชุมชน ผู้แพ้ย่อมผูกใจเจ็บว่า เราจะแก้แค้นให้ได้
๒.    ผุ้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป  คือ ผู้แพ้เมื่อเสียทรัพย์สิ่งใดไป เช่น ผ้านุ่ง หรือ เงินทองไป เป็นต้น ก็ย่อมเสียดายสิ่งนั้น ย่อมเศร้าใจว่า สิ่งนั้นของเราหมดไป
๓.    ทรัพย์ย่อมฉิบหาย หมายความว่า ทรัพย์สินเงินทอง ย่อมฉิบหายไป เพราะ การพนัน
๔.    ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ  หมายความว่า  เมื่อนักเลงการพนัน ไปเป็นพยานในโรงศาล พูดก็ไม่มีใครเขาเชื่อถือ จะมีผู้พูดว่า คนนี้เป็นนักเลงการพนัน เชื่อถือถ้อยคำของเขาไม่ได้
๕.    เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน หมายความว่า เพื่อนฝูงที่ดี ย่อมกล่าวว่า เพื่อนเอ๋ย เพื่อนเป็นบุตรของตระกุลผู้ดี แต่เพื่อนเป็นนักเลงการพนันเสียแล้ว เป็นการไม่สมควรแก่ชาติตระกูล อย่าเล่นการพนันอีกเลย เมื่อไม่เชื่อคำตักเตือนของเพื่อน เพื่อนก็ไม่คบค้าสมาคมด้วย
๖.    ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย คือ ไม่มีผู้หญิง หรือ ผู้ปกครองคนใด ประสงค์จะแต่งงาน และ ให้แต่งงานกับนักเลงการพนัน เพราะ นักเลงการพนัน จะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้

การคบคนชั่ว เป็นมิตร
 

หมายถึง การคบค้าสมาคม กับคนไม่ดี คนลามก คนชั่ว มีพวกนักเลงประเภทต่าง ๆ การคบกับคนพวกนี้ มีแต่ทางเสียส่วนเดียว คบค้าสมาคมกับนักเลงการพนัน ก็จะชักจูงให้เป็นนักเลงการพนัน คบกับคนเช่นไร ก็จะเป็นคนเช่นนั้น ในมงคลสูตร ท่านกล่าวไว้ว่า การไม่คบกับคนพาล คบกับบัณฑิต เป็นอุดมมงคล พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึง โทษที่คบคนชั่วเป็นมิตรไว้ ๖ ประการ คือ
๑.  นำให้เป็นนักเลงการพนัน หมายความว่า การคบคนชั่วเป็นมิตรนั้น จะทำให้ผู้นั้น กลายไปเป็นนักเลง มีนักเลงการพนัน เป็นต้น
๒.  นำให้เป็นนักเลงเจ้าชู้ หมายความว่า บุคคลผู้นั้น จะเป็นผู้ฝักใฝ่ในหญิงสาว โดยไม่เลือกหน้าว่า หญิงนั้นจะเป็นเมียเขา ลูกเขา ขอให้เป็นผู้หญิงก็ใช้ได้
๓.  นำให้เป็นนักเลงเหล้า หมายความว่า การคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นสหายนั้น จะนำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ฝักใฝ่ในการดื่มสุราเมรัย ตลอดจนสิ่งเสพติดให้โทษอื่น ๆ ต่อไป
๔.  นำให้เป็นนักเลงหลอกลวงเขา ด้วยของปลอม หมายความว่า จะทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ที่หลอกลวง ผู้อื่นด้วยของปลอม คนลวงเขาต่อหน้า คนที่ทำกรรมหยาบช้า มีการปล้นสะดม เป็นต้น
๕.  นำให้เป็นคนโกงเขาซึ่ง ๆ หน้า ได้แก่ การคดโกงเขาต่อหน้า ต่อตา
๖.  นำให้เป็นคนหัวไม้ หมายความว่า จะทำให้บุคคลนั้น กลายเป็นนักเลงตีรันฟันแทง หรือ เป็นพวกปล้นสะดม พวกที่ทำกรรมหยาบช้า

การคบคนชั่วเป็นมิตร คือ การคบคนเลวเป็นมิตร การคบคนเลวเป็นมิตรนั้น ย่อมมีแต่เสีย คือ เสียชื่อเสียงเกียรติยศ และ นำให้เป็นคนเลวตามเขาไป เมื่อคบคนเลวเช่นใด ก็อาจเลวตามคนที่ตนคบแล้ว ก็จะได้รับโทษตามที่ตนกระทำ
 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713470เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2023 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2023 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท