การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓๗ วิสัยหชาดก


ธรรมดาท้าวสักกะ พระองค์เองให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ บำเพ็ญวัตรบท ๗ ประการ จึงถึงความเป็นท้าวสักกะ แต่พระองค์ทรงห้ามการให้ทานอันเป็นเหตุแห่งความเป็นใหญ่ของพระองค์ ทรงทำวัตรจรรยาอันมิใช่ของอารยชน

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓๗ วิสัยหชาดก

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

 ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ธรรมดาท้าวสักกะ พระองค์เองให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ บำเพ็ญวัตรบท ๗ ประการ จึงถึงความเป็นท้าวสักกะ แต่พระองค์ทรงห้ามการให้ทานอันเป็นเหตุแห่งความเป็นใหญ่ของพระองค์ ทรงทำวัตรจรรยาอันมิใช่ของอารยชน.

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

 

๑๐. วิสัยหชาดก (๓๔๐)

ว่าด้วยวิสัยหเศรษฐี

 

             (ท้าวสักกะเสด็จมายืนอยู่ในอากาศ ได้ตรัสกับวิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ว่า)

             [๑๕๗] ท่านวิสัยหเศรษฐี เมื่อก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น โภคะทั้งหลายของท่านก็สิ้นไปเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไป ถ้าท่านจะไม่พึงให้ทานโภคะทั้งหลายของท่านผู้งดให้ทานก็จะพึงดำรงอยู่

             (วิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ได้ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)

             [๑๕๘] ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวอนารยธรรมว่า เป็นกิจที่อริยชนหรือแม้คนยากจนไม่ควรทำ ท่านจอมชน เราพึงสละศรัทธาเพราะเหตุแห่งการบริโภคทรัพย์ใด ขอทรัพย์นั้นอย่าพึงเกิดแก่เราเลย

             [๑๕๙] รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็จะแล่นไปทางนั้น ท้าววาสวะ ธรรมเนียมที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาแต่ก่อน ขอจงดำเนินต่อไปเถิด

             [๑๖๐] ถ้ายังมียังเป็นอยู่ก็จะให้เรื่อยไป เมื่อไม่มีชีวิตจะให้อย่างไร ข้าพเจ้าแม้มีสภาพอย่างนี้ ก็ยังจะให้ ข้าพเจ้าจะไม่ลืมการให้เลย

วิสัยหชาดกที่ ๑๐ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา วิสัยหชาดก

ว่าด้วย ความยากจนไม่เป็นเหตุให้ทำชั่ว

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

               ส่วนในชาดกนี้ พระศาสดาตรัสเรียกท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาแล้ว ตรัสว่า คฤหบดี โบราณบัณฑิตทั้งหลาย ห้ามท้าวสักกเทวราชผู้ประทับยืนในอากาศ ห้ามอยู่ว่า ท่านอย่าให้ทาน ก็ยังได้ให้ทานอยู่เหมือนเดิม อันท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้

               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีนามว่าวิสัยหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ได้เป็นผู้ประกอบด้วยศีล ๕ มีอัธยาศัยในทางทาน ยินดียิ่งในทาน. พระโพธิสัตว์นั้นให้สร้างโรงทานในที่ ๖ แห่ง คือที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ท่ามกลางพระนครและที่ประตูนิเวศน์ของตน แล้วยังการให้ทานให้เป็นไปอยู่ บริจาคทรัพย์วันละหกแสนทุกวัน. พระโพธิสัตว์และยาจกทั้งหลาย ย่อมมีภัตตาหารเป็นเช่นเดียวกัน.
               เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นให้ทานกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้มีงอนไถอันยกขึ้นแล้ว คือไม่ต้องทำไร่ไถนา ภพของท้าวสักกะก็กัมปนาทหวั่นไหวด้วยอานุภาพของการให้ทาน บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวเทวราชแสดงอาการร้อน.
               ท้าวสักกะทรงดำริว่า ใครหนอประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ จึงทรงพิจารณาใคร่ครวญอยู่ ทรงเห็นท่านมหาเศรษฐี จึงทรงพระดำริว่า วิสัยหเศรษฐีนี้แผ่ไปกว้างขวางยิ่งนัก ให้ทานกระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ไม่ต้องทำไร่ไถนา ชะรอยจักให้เราเคลื่อนจากที่แล้วเป็นท้าวสักกะเสียเองด้วยทานแม้นี้ เราจักทำทรัพย์ของเขาให้ฉิบหายเสีย กระทำเศรษฐีนั่นให้เป็นคนขัดสนจนให้ทานไม่ได้ จึงบันดาลทรัพย์ทั้งปวง แม้แต่ข้าวเปลือก น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น จนชั้นที่สุด แม้ทาสและกรรมกรให้อันตรธานหายไป.
               พวกคนผู้จัดทานมาบอกท่านเศรษฐีว่า ข้าแต่นาย โรงทานขาดหายไป พวกข้าพเจ้าไม่เห็นอะไรๆ ในที่ที่เก็บไว้. ท่านเศรษฐีกล่าวว่า พวกท่านจงนำทรัพย์สำหรับจับจ่ายไปจากที่นี้ อย่าตัดขาดทานเสียเลย แล้วเรียกภรรยามาพูดว่า นางผู้เจริญ เธอจงให้ทานดำเนินไป. ภรรยานั้นค้นหาจนทั่วเรือนไม่พบแม้แต่กึ่งมาสก จึงกล่าวว่า ข้าแต่นายดิฉันไม่เห็นอะไรๆ อื่น ยกเว้นผ้าที่เราทั้งหลายนุ่งห่มอยู่ ว่างเปล่าไปทั่วทั้งเรือน. ท่านเศรษฐีให้เปิดประตูห้องเก็บรัตนะ ๗ ก็ไม่เห็นอะไรๆ แม้ทาสและกรรมกรอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏ ยกเว้นเศรษฐีกับภรรยา.
               มหาสัตว์เรียกภรรยามาอีกแล้วกล่าวว่า นางผู้เจริญ เราไม่อาจตัดขาดการให้ทาน เธอจงค้นหาให้ทั่วนิเวศน์ พิจารณาดูของบางอย่าง. ขณะนั้น คนหาบหญ้าคนหนึ่งทิ้งเคียวคานและเชือกมัดหญ้าไว้ระหว่างประตูแล้วหนีไป. ภรรยาของเศรษฐีเห็นดังนั้น จึงได้นำมาให้โดยพูดว่า ข้าแต่นาย เว้นสิ่งนี้ ดิฉันไม่เห็นของอย่างอื่น.
               พระมหาสัตว์กล่าวว่า นางผู้เจริญ ธรรมดาหญ้าเราไม่เคยเกี่ยวตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ แต่วันนี้ เราจักเกี่ยวหญ้านำมาขายแล้วให้ทานตามสมควร เพราะกลัวการให้ทานจะขาด จึงถือเอาเคียว คานและเชือกออกจากพระนครไปยังที่มีหญ้าแล้วเกี่ยวหญ้าคิดว่า หญ้าฟ่อนหนึ่งจักเป็นของพวกเรา และจักให้ทานด้วยหญ้าฟ่อนหนึ่ง จึงมัดหญ้าเป็น ๒ ฟ่อน คล้องที่คานถือเอาไปขายที่ประตูเมืองได้มาสกมาแล้ว ได้ให้ส่วนหนึ่งแก่พวกยาจก แต่พวกยาจกมีมากด้วยกัน เมื่อพวกเขาร้องขอว่า ให้ข้าพเจ้าบ้าง จึงได้ให้ส่วนแม้นอกนี้ไปอีก วันนั้นจึงไม่มีอาหารพร้อมทั้งภรรยา ให้เวลาล่วงผ่านไป. โดยทำนองนี้ ล่วงไป ๖ วัน.
               ครั้นวันที่ ๗ เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังนำหญ้ามา เป็นผู้อดอาหารมา ๗ วัน ทั้งเป็นสุขุมาลชาติ พอเมื่อแสงอาทิตย์กระทบหน้าผาก นัยน์ตาทั้งสองข้างก็พร่าพราย. เศรษฐีนั้นไม่อาจดำรงสติไว้ได้ จึงล้มทับหญ้าลงไป. ท้าวสักกะเสด็จเที่ยวตรวจดูกิริยาอาการของเศรษฐีนั้นอยู่.
               ทันใดนั้น ท้าวเธอเสด็จมาประทับยืนในอากาศ ตรัสกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า : ดูก่อนวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้อยู่อย่างนั้น ความเสื่อมได้มีแก่ท่านแล้ว ต่อแต่นี้ไป ถ้าท่านจักไม่ให้ทานไซร้ เมื่อท่านประหยัดไว้ โภคะทั้งหลายก็คงดำรงอยู่ตามเดิม.

               ท่านวิสัยหะผู้เจริญ เมื่อก่อนแต่กาลนี้ เมื่อทรัพย์ในเรือนของท่านยังมีอยู่ ท่านได้ให้ทานทำสกลชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ยกงอนไถขึ้นแล้ว และเมื่อท่านนั้นให้ทานอยู่อย่างนี้ ธรรมคือความเสื่อมได้แก่ สภาวะคือความเสื่อมโภคะ จึงได้มีขึ้น คือทรัพย์ทั้งมวลหมดสิ้นไป แม้ถ้าเบื้องหน้าแต่นี้ ท่านจะไม่ให้ทานไซร้ คือจะไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ เมื่อท่านประหยัดไว้ คือไม่ให้อยู่ โภคะทั้งหลายจะพึงดำรงอยู่เหมือนอย่างเดิม ท่านจงปฏิญญาว่า ตั้งแต่นี้ไปจักไม่ให้ทาน เราจักให้โภคะทั้งหลายแก่ท่าน.
               พระมหาสัตว์ได้ฟังดำรัสของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงถามว่า ท่านเป็นใคร.
               ท้าวสักกะตรัสว่าเราเป็นท้าวสักกะ.
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ธรรมดาท้าวสักกะ พระองค์เองให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถ บำเพ็ญวัตรบท ๗ ประการ จึงถึงความเป็นท้าวสักกะ แต่พระองค์ทรงห้ามการให้ทานอันเป็นเหตุแห่งความเป็นใหญ่ของพระองค์ ทรงทำวัตรจรรยาอันมิใช่ของอารยชน.
               แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถาว่า 
               ข้าแต่ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวถึงบาปกรรมว่า อันอารยชนถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ ข้าพระบาทจะพึงเลิกละศรัทธา เพราะการบริโภคทรัพย์อันใดเป็นเหตุ ทรัพย์อันนั้นอย่าได้มีเลย.
               รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็แล่นไปทางนั้น ข้าแต่ท้าววาสวะ วัตรที่ข้าพระบาทบำเพ็ญมาแล้วแต่ครั้งก่อน ขอจงเป็นไปเหมือนอย่างนั้นเถิด.
               ถ้ายังมียังเป็นอยู่ ข้าพระบาทก็จะให้ เมื่อไม่มีไม่เป็น จะให้ได้อย่างไร แม้ถึงจะมีสภาพเป็นอย่างนี้แล้วก็ตาม ก็จะต้องให้ เพราะข้าพระบาทจะลืมการให้ทานเสียมิได้.

               ท้าวสักกะ เมื่อไม่อาจทรงห้ามวิสัยหเศรษฐีนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านให้ทานเพื่อประโยชน์อะไร?
               วิสัยหเศรษฐีทูลว่า ข้าพระบาทมิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะ หรือความเป็นพระพรหม แต่ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ จึงให้ทาน.
               ท้าวสักกะได้ทรงสดับคำของวิสัยหะนั้นแล้วดีพระทัย จึงเอาพระหัตถ์ลูบหลัง.
               เมื่อพระโพธิสัตว์พอถูกท้าวสักกะทรงลูบหลัง ในขณะนั้นนั่นเอง สรีระทั้งสิ้นก็เต็มบริบูรณ์และด้วยอานุภาพของท้าวสักกะ กำหนดเขตแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระโพธิสัตว์นั้นก็กลับเป็นไปตามปกติอย่างเดิม.
               ท้าวสักกะตรัสว่าท่านมหาเศรษฐี จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงสละทรัพย์ ๑๒ แสน ให้ทานทุกวันเถิด แล้วประทานทรัพย์หาประมาณมิได้ไว้ในเรือนของพระโพธิสัตว์นั้น ทรงส่งพระโพธิสัตว์แล้ว เสด็จไปเทวสถานของพระองค์.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               ภรรยาของเศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็น มารดาพระราหุล
               ส่วนวิสัยหเศรษฐีได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาวิสัยหชาดกที่ ๑๐   

-------------------------            

 

 

หมายเลขบันทึก: 713448เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2023 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2023 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท