ความเคารพ


 

ความเคารพ

ความเคารพ ตามมูลรากศัพท์ หมายถึง ความตระหนัก ได้แก่ การไม่ดูเบา คือ ไม่ดูถูกความเคารพ เป็นระเบียบวินัย สำหรับร้อยรัดคนให้รวมกันเป็นหมู่คณะ ให้หมู่คณะ ดึงดูดหมู่คณะ ให้รักใคร่นับถือกัน ยกย่องเชิดชู กันตามฐานะผู้ใหญ่ผู้น้อย มีความสามัคคีกัน กลมเกลียวกัน มีเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเห็นอกเห็นใจกัน ความเคารพ เป็นคุณธรรมชั้นสูง คือ ยอดของความดีของคน ผู้ที่จะบำเพ็ญธรรมข้อนี้ได้อย่างถูกต้อง จะต้องมีปัญญาเป็นมูลฐาน จึงจะเป็นคารวะที่ชอบด้วยพุทธประสงค์


ลักษณะความเคารพ

เราศึกษาให้รู้ก่อนว่า อะไร คือ ความเครารพ ความตระหนักในตัวบุคคล หรือ วัตถุ ที่เทิดทูน ยกย่อง เชิดชู และ เอื้อเฟื้อ เชื่อถือตามสถานะที่ควร ประกอบด้วยกิริยา อ่อนน้อม วาจาอ่อนน้อม และ น้ำใจอ่อนโยน เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ความเคารพนี้ เป็นคุณสมบัติ จูงใจให้ปรารภถึงความดีของบุคคลอื่น และ วัตถุอื่น ที่ควรเทิดทูน ยกย่อง เชิดชู เป็นอุบายกำจัดกิเลส ๔ อย่าง คือ

๑.  มักขะ การลบหลู่ คุณท่าน    ๒.  ปลาสะ  การยกตนเทียมท่าน
๓.  ถัมภะ  ความดื้อดึง แข็งกระด้าง  ๔.  อติมานะ  การดูหมิ่นท่าน

ในทางพระพุทธศาสนา ท่านระบุตัวบุคคลและวัตถุที่ควรเคารพ ๖ ประการ และ ยกการแสดงลักษณะการเคารพในตัวบุคคล และ วัตถุที่ควรเคารพขึ้นเป็นจารีตประเพณี ที่ถูกต้อง เป็นประเพณีที่ชอบ และ เป็นธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ท่านจำแนกไว้เป็น ๖ ประการ เป็นธรรมที่เทวดาตนหนึ่ง ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ณ เชตะวันมหาวิหาร ในคืนวันหนี่งว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมสำหรับภิกษุ ธรรม ๖ อย่างนั้น คือ อะไรบ้าง
 

ความเคารพในพระศาสดา หนึ่ง ความเคารพในพระธรรม หนึ่ง ความเคารพในพระสงฆ์ หนึ่ง ความเคารพในการศึกษา หนึ่ง ความเคารพในความไม่ประมาท หนึ่ง ความเคารพในการปฏิสัณฐาน หนึ่ง พระเจ้าข้า ฯ พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเห็นดีด้วย รุ่งเช้า พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ตามที่เทวดากราบทูล

ในอรรถกถาฉักกนิบาต  ได้กล่าวว่า คำว่า ความเคารพในพระศาสดานั้น หมายความถึง ความเคารพในพระพุทธเจ้า คือ การกระทำความตระหนัก ได้แก่ ไม่ดูเบาต่อพระพุทธเจ้า การเคารพพระพุทธเจ้า มีหลักดังต่อไปนี้ คือ เมื่อพระพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุใดอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้ไปเฝ้าในเวลาทั้ง ๓ ก็ตี เมื่อพระพุทธเจ้าเดินจงกรม ไม่สวมฉลองพระบาท ตนสวรมองเท้าเดินจงกรมก็ดี เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเดินจงกรมอยู่ในที่ต่ำ ตนเดินจงกรมอยู่ในที่สูงก็ดี เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว คนพอจะไปไหว้เจดีย์ได้ แต่ไม่ไปไหว้ก็ดี  เรียกว่า ไม่เคารพในพระพุทธเจ้า

ภิกษุใด เมื่อมีการป่าวร้องให้ไปฟังธรรม ไปม่ตั้งใจไปก็ด ไม่ตั้งใจฟังธรรมก็ดี นั่งหลับเสีย หรือ นั่งพูดกันเสียก็ดี ภิกษุนั้น ก็ชื่อว่า ไม่เคารพในพระธรรม ส่วนการไม่ทำอย่างภิกษุนั้น คือ ตั้งใจไปฟังธรรม เมื่อไปแล้วก็ตั้งใจฟัง ไม่นั่งหลับ หรือ ไม่นั่งพูดกันเสีย และ ตั้งใจเรียน ตั้งใจจำ ชื่อว่า เคารพในพระธรรม

ภิกษุใด ไม่ได้รับคำอนุญาต ภิกษุผู้แก่กว่า เสียก่อน ก็แสดงธรรม หรือ แก้ปัญหา หรือ เดิน ยืน นั่ง กระทบพระผู้แก่กว่า หรือ นั่งกอดเข่าด้วยผ้า ด้วยมือ ห่มผ้าคลุมใหล่ ท่ามกลางสงฆ์ การกระทำของภิกษุนี้ ไม่ชื่อว่า ไม่เคารพในพระสงฆ์ ส่วนการไม่ทำอย่างภิกษุนี้ เรียกว่า เคารพในพระสงฆ์

การไม่ทำไตรสิกขาให้สมบูรณ์ด้วยความเอื้อเฟื้อ ชื่อว่า การไม่เคารพในการศึกษา ส่วนการไม่ทำสิกขาทั้งสามให้บริบูรณ์ด้วยหมดความสามารถ ไม่ใช่ด้วยความเอื้อเฟื้อ ไม่เรียกว่า  ไม่เคารพต่อการศึกษา

การไม่ทำลักษณะแห่งความไม่ประมาทให้เจริญขึ้น เรียกว่า ความไม่เคารพต่อความไม่ประมาท ลักษณะแห่งความไม่ประมาทนั้น ได้แก่ สัมมาปฏิบัติ คือ การปฏิบัติชอบ การไม่ทำการปฏิบัติชอบ ให้เจริญขึ้น คือ ให้ดีขึ้น ให้มากขึ้น เรียกว่า ไม่เคารพในความไม่ประมาท ส่วนการทำการปฏิบัติชอบให้ดีขึ้น ให้มากขึ้น เรียกว่า ความเคารพต่อความไม่ประมาท

การไม่ต้อนรับสองอย่าง คือ การต้อนรับด้วยอามิส และ ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า ไม่เคารพต่อการปฏิสันถาร คือ ไม่ทำความตระหนักต่อการปฏิสันถาร เป็นการทำความดูเบา คือ ดูหมิ่นดูแคลนต่อปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยอามิส เช่น ให้อาสนะ ให้น้ำ เป็นต้น แก่แขกผู้ที่มาหา เรียกว่า การต้อนรับด้วยอามิส การไต่ถามธรรมะ หรือ พูดธรรมะให้ฟัง เรียกว่า การต้อนรับด้วยธรรมะ

โทษและคุณแห่งการไม่เคารพ และ เคารพนั้น มีอยู่หลายอย่าง ทั้งในชาตินี้ และ ชาติหน้าต่อไป ส่วนในชาตินี้ ก็คือ ความไม่เจริญด้วยความรู้ และ คุณธรรมตามสมควรแก่ฐานะของตน ส่วนในชาติหน้านั้นได้แก่ ความไม่เจริญด้วยความรู้ และ คุณธรรม เป็นต้นอีก อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า การไม่เคารพในพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์นั้น ทำให้เกิดในตระกูลต่ำ ส่วนการเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระสงฆ์นั้น เป็นเหตุให้เกิดในตระกูลสูง ส่วนการไม่เคารพในพระธรรม ก็ไม่เจริญด้วยธรรม ส่วนการเคารพในพระธรรมนั้น เป็นเหตุให้เจริญด้วยธรรม ส่วนการไม่เคารพต่อการศึกษา ก็ไม่เจริญด้วยการศึกษา ส่วนการเคารพต่อการศึกษา ก็เป็นเหตุให้เจริญด้วยการศึกษา การไม่เคารพต่อความไม่ประมาท ก็เป็นเหตุให้เจริญด้วยความไม่ประมาท การไม่เคารพต่อการปฏิสันถารนั้น จะเป็นมูลเหตุให้ได้รับโทษทุกข์ภัยต่าง ๆ จากผู้ที่ตนควรต้อนรับ ส่วนการเคารพต่อการปฏิสันถารนั้น ก็ย่อมได้รับคุณจากผู้ที่มาหา ซึ่งตนควรต้อนรับ

ความเคารพนี้ เป็นคุณสมบัติทั่วไป แก่บุคคลทุกเพศทุกวัย ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย จะต้องปฏิบัติร่วมกัน เพราะว่า มรรยาที่ดีงามนั้น นับว่าเป็นจรรยาทั้งของผู้น้อยผู้ใหญ่ เมื่อสรุปแล้ว ลักษณะการเคารพมีอยู่สามประการ คือ
 

๑.    เคารพตน  ผู้ที่รักตัวกลัวตาย ต้องมุ่งทำความดีเว้นสิ่งที่เป็นความชั่ว คือ ละอายชั่ว กลัวผิด ตั้งจิตเว้นให้ห่างไกล มุ่งกระทำแต่สิ่งที่ดี เพื่อความสวัสดีแก่ตน ให้ปลอดจากเวรภัย มีแต่ความเกษมสำราญเบิกบานใจ นี้คือ คนที่เคารพตนเอง
๒.    เคารพคนอื่น  หมายถึง บุคคลที่มีความนับถือรักใคร่คนอื่น มีน้ำใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตนฝ่ายเดียว มุ่งทำความดีต่อกัน เพื่อให้ผู้อื่นได้สำเร็จประโยชน์ และ ถ่อมตนลง เพื่อแสดงความนับถือต่อกัน นี้คือ คนที่เคารพคนอื่น
๓.    เคารพธรรมะ  ธรรมะ หมายถึง หน้าที่ และ ความเที่ยงตรง บุคคลที่ถือธรรมะเป็นสำคัญ เห็นว่า สิ่งใดเป็นหน้าที่และมีความเที่ยงตรงแล้ว ก็จะทำ ไม่นำเอาความรู้สึกส่วนตน มาขัดขวางให้เสียหน้าที่ และ ความเที่ยงตรง ตั้งใจประพฤติธรรม ให้สมควรแก่หน้าที่ และ ความเที่ยงตรง ไม่ลุอำนาจ อคติ ชื่อว่า ผู้เคารพธรรมะ

บุคคลที่ควรเคารพ

ในทางพระพุทธศาสนา ได้แบ่งประเภทบุคคลที่ควรเคารพไว้เป็น สามประเภทด้วยกัน คือ
 

๑.    ชาติวุฑฺโฒ  บุคคลผู้เจริญด้วยชาติกำเนิด หมายถึง บุคคลที่ประชาชนยอมรับ นับถือว่า เป็นผู้ดีมีศีลธรรม เป็นผู้ใหญ่ยิ่งในดินแดน แคว้นต่าง ๆ สูงศักดิ์ โดยชาติ เช่น พระมหากษัตริย์ เป็นต้น
๒.    วยฺวุฑโฒ  บุคคลผู้เจริญด้วยวัย หมายถึง ผู้สูงอายุที่มีชีวิตผ่านประสบการณ์มานาน มีคุณสมบัติแห่งวัย เป็นเครื่องวัด เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีธรรมะเป็นอำนาจ สามารถดึงดูด ประชาชนในถิ่นนั้น ให้มานิยมนับถือ บุคคลเช่นนี้ เป็นบุคคลที่ควรเคารพยำเกรง
๓.    คุณวุฑฺโฒ  บุคคลที่เจริญด้วยคุณความดี หมายถึง บุคคลที่มีคุณสมบัติส่วนตัว เป็นเครื่องวัด จะเป็นโดยดีตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือ คุณความดีต่างๆ แม้ว่าจะเป็นผู้เยาว์วัย แต่ก็เจริญด้วยคุณความดี เป็นผู้น้อยก็น่าเมตตา เป็นผู้ใหญ่ก็น่านับถือ เป็นผู้เฒ่าก็น่ากราบไหว้ แม้บุคคลนี้ ก็น่าเคารพยำเกรง

มงคลจากการเคารพ

ความเคารพนี้ นอกจากจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นระเบียบวินัยแล้ว และ มีอำนาจดึงดูดเสียอีก เป็นเกลียวสัมพันธ์ ให้บุคคลเข้ากันได้สนิท และ สามารถปรับตนให้เหมาะสมกับสังคม รู้จักกาลอันเหมาะสมในการเข้าไปพบหาบุคคลนั้น ๆ นับว่า เป็นทางนำมาของความเจริญ นี้คือ มงคลที่เกิดจากความเคารพ
เราได้รู้จักบุคคล และ วัตถุที่ควรเคารพแล้ว ปฏิบัติตนให้มีสัมมาคารวะตามสมควร แก่ฐานะของบุคคลนั้น ๆ แสดงออกด้วยกิริยาสุภาพ ผุ้น้อยก็เป็นที่น่ารักใคร่เมตตากรุณา ของผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหฐ่ก็เป็นที่น่าเคารพนับถือของผู้น้อย แม้บัณฑิต ก็ยกย่องสรรเสริญผู้นั้น ที่สามารถดำเนินชีวิต ให้บรรลุถึงความเจริญก้าวหน้าได้ ข้อนี้ก็เป็นมงคลที่เกิดจากความเคารพ
 

ความเคารพ เป็นเหตุแห่งความเจริญ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน พึงเห็นในอริหานิยสูตร ที่พระพุทธองค์ ตรัสสอน คฤหัสถ์และบรรพชิต ว่า หมู่ภิกษุยังความเคารพนับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นผู้นำแห่งหมู่ จักเชื่อฟังถ้อยคำของท่านอยู่เพียงใด ก็หวังความเจริญได้ไม่มีเสื่อมอยู่เพียงนั้น แม้ในฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ทรงตรัสว่า ถ้าหมู่ชน ยังเคารพผู้ใหญ่โดยอายุ โดยคุณความดี หรือ โดยตำแหน่งหน้าที่เพียงใด ก็เป็นอันหวังความเจริญได้ ไม่มีเสื่อมอยู่เพียงนั้น
 

คำสำคัญ (Tags): #ความเคารพ
หมายเลขบันทึก: 713439เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท