การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓๖ มหาโลมหังสจริยา


ในภพที่เราเป็นโลมหังสบัณฑิต เป็นอุเบกขาปรมัตถบารมี

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓๖ มหาโลมหังสจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อมยศ เป็นผู้มีใจเสมอในสิ่งทั้งปวง นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา.

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

 

๑๕. มหาโลมหังสจริยา

ว่าด้วยจริยาของมหาโลมหังสบัณฑิต

 

             [๑๑๙]   เรานอนอยู่ในป่าช้า เอาซากศพซึ่งมีแต่กระดูกทำเป็นหมอนหนุน เด็กชาวบ้านพวกหนึ่ง พากันแสดงอาการหยาบช้าร้ายกาจนานัปการ

             [๑๒๐]   อีกพวกหนึ่งร่าเริงดีใจ พากันนำของหอม ดอกไม้ อาหาร และเครื่องบรรณาการต่างๆ เป็นอันมากมาให้เรา

             [๑๒๑]   พวกใดนำทุกข์มาให้เรา และพวกใดนำสุขมาให้เรา เราเป็นผู้เสมอแก่เขาทั้งหมด ไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความโกรธ

             [๑๒๒]   เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อมยศ เป็นผู้เสมอในสิ่งทั้งปวง นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา ฉะนี้แล

มหาโลมหังสจริยาที่ ๑๕ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น

๑๕. มหาโลมหังสจริยา

               อรรถกถามหาโลมหังสจริยาที่ ๑๕               

               

               ในครั้งนั้น พระมหาสัตว์บังเกิดในตระกูลมีโภคะยิ่งใหญ่ อาศัยความเจริญอยู่กับครูในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สำเร็จศิลปะทุกแขนง มายังเรือนของตระกูล.
               เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว แม้พวกญาติขอร้องให้ครอบครองทรัพย์สมบัติ เป็นผู้เกิดความสังเวชในภาวะทั้งปวงด้วยมนสิการถึงความเป็นของไม่เที่ยง ได้อสุภสัญญาในกาย ไม่ยึดถือกิเลสอันทำให้มีความกังวลในการครองเรือน เพิ่มพูนอัธยาศัยในเนกขัมมะที่สะสมมาช้านาน ประสงค์ละกองโภคะใหญ่ออกบวช จึงคิดต่อไปว่า หากเราบวชจักเป็นผู้ไม่ปรากฏด้วยการยกย่องทางคุณธรรม.
               พระมหาสัตว์รังเกียจลาภและสักการะ ไม่เข้าไปบวชตรึกถึงตนว่า เราเพียงพอเพื่อไม่เป็นผู้ผิดปกติในลาภและเสื่อมลาภเป็นต้น จึงคิดว่าเราบำเพ็ญปฏิปทามีความอดทนคำเย้ยหยันของผู้อื่นเป็นต้นอย่างวิเศษ จักยังอุเบกขาบารมีให้ถึงที่สุดได้ จึงออกจากเรือนด้วยผ้าผืนที่นุ่งอยู่นั่นแหละ.
               เป็นผู้ประพฤติขัดเขลากิเลสอย่างยิ่ง หมดกำลังก็ทำเป็นมีกำลัง ไม่โง่ก็ทำเป็นโง่ ถูกคนอื่นเยาะเย้ย เย้ยหยันด้วยรูปร่างอันไร้จิตใจ เที่ยวไปในหมู่บ้าน นิคมและราชธานีโดยอยู่เพียงคืนเดียวเท่านั้น.
               ในที่ใดได้รับการเย้ยหยันมาก ก็อยู่ในที่นั้นนาน.
               เมื่อผ้าที่นุ่งเก่า แม้ผ้านั้นจะเก่าจนเป็นผ้าขี้ริ้วก็ไม่รับผ้าที่ใครๆ ให้ เที่ยวไปเพียงปกปิดอวัยวะยังหิริให้กำเริบเท่านั้น.
               เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ เขาได้ไปถึงบ้านและนิคมแห่งหนึ่ง.
               ณ ที่นั้น เด็กชาวบ้านนิสัยนักเลงชอบตีรันฟันแทง บางคนก็เป็นบุตรหลานและทาสเป็นต้น ของพวกราชวัลลภ หยิ่ง ทะลึ่ง ล่อกแล่ก ปากจัด พูดจาสามหาว เที่ยวเล่นตลอดเวลาเสียแหละมาก.
               เด็กชาวบ้านเหล่านั้นเห็นชายและหญิงที่เป็นคนแก่เข็ญใจก็เอาฝุ่นละอองโปรยไปบนหลัง ห้อยใบลำเจียกไว้ในระหว่างรักแร้ แสดงการเล่นด้วยท่าทางอันไม่เหมาะสมน่าตำหนิ ก็หัวเราะใส่คนที่กำลังดู.
               พระมหาบุรุษเห็นพวกเด็กนักเลงเหล่านั้นเที่ยวไปในนิคมนั้น จึงคิดว่า บัดนี้ เราได้อุบายเครื่องบำเพ็ญอุเบกขาบารมี แล้วจึงอยู่ ณ ที่นั้น.
               พวกเด็กนักเลงเห็นพระมหาบุรุษนั้น จึงเริ่มที่จะทำความไม่เหมาะสม.
               พระมหาสัตว์ลุกขึ้นเดินไปทำคล้ายกับทนไม่ได้ และทำคล้ายกลัวเด็กพวกนั้น. พวกเด็กเหล่านั้นก็ตามพระโพธิสัตว์ไป. พระโพธิสัตว์เมื่อถูกพวกเด็กตามไป จึงไปป่าช้าด้วยเห็นว่าที่ป่าช้านี้คงไม่มีใครขัดคอ เอาโครงกระดูกทำเป็นหมอนหนุนแล้วนอน. พวกเด็กนักเลงก็พากันไปที่ป่าช้านั้น ทำความไม่เหมาะสมหลายๆ อย่างมีการถ่มน้ำลายเป็นต้น แล้วก็กลับไป. พวกเด็กนักเลงทำอย่างนี้ทุกๆ วัน.
               พวกที่เป็นวิญญูชนเห็นเด็กๆ ทำอย่างนั้น ก็ห้าม รู้ว่าท่านผู้นี้มีอานุภาพมาก มีตบะเป็นมหาโยคี จึงพากันกระทำสักการสัมมานะอย่างมากมาย.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์เป็นเช่นเดียว คือเป็นกลางในทุกอย่าง.
               เรานอนอยู่ในป่าช้านั้น เพราะเรามีจิตเสมอกันในสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด จึงเอาบรรดากระดูกที่กระจัดกระจายอยู่ในที่นั้น จากซากที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบมีสุนัขบ้านและสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น กระดูกชิ้นหนึ่งเป็นหมอนหนุน.
               เด็กชาวบ้านเหล่านั้นกระทำความไม่เหมาะสม ความหยาบช้าหลายอย่างด้วยการถ่มน้ำลายหัวเราะเยาะและถ่ายปัสสาวะเป็นต้น และด้วยการแยงเส้นหญ้าเป็นต้นเข้าไปในช่องหู เพราะเล่นได้ตามความพอใจ.
               เด็กชาวบ้านพวกนั้นสังเกตดูว่า ท่านผู้นี้ เมื่อเด็กเหล่านี้ทำความไม่เหมาะสม เห็นปานนี้ด้วยการเยาะเย้ยยังไม่แสดงความผิดปกติไรๆ เลย จึงพากันนำของหอม ดอกไม้ อาหารหลายอย่างและเครื่องบรรณาการอย่างอื่นมาให้.
               หรือว่า มนุษย์ผู้เป็นวิญญูชนเหล่าอื่น นอกจากเด็กชาวบ้านไร้มารยาทเหล่านั้น ร่าเริงว่า ท่านผู้นี้เมื่อเด็กเหล่านี้ทำความไม่เหมาะสมหลายอย่างอย่างนี้ก็ไม่โกรธ กลับเข้าไปตั้งขันติ เมตตาและความเอ็นดูในเด็กเหล่านั้นอีก. โอ อัจฉริยบุรุษ. มีใจสังเวชว่า เด็กพวกนี้ปฏิบัติผิดในท่านผู้นี้เป็นผู้ขวนขวายบาปเป็นอันมาก จึงนำของหอม ดอกไม้เป็นอันมาก อาหารหลายอย่างและเครื่องสักการะอื่นเข้ามาให้.
               เราเป็นผู้มีจิตเสมอ คือเป็นเช่นเดียวกันแก่ชนเหล่านั้น เพราะเรามีจิตเสมอโดยไม่เกิดความผิดปกติในที่ไหนๆ. กล่าวคือความมีจิตเมตตาในผู้ทำอุปการะไม่มีแก่เรา. แม้ความโกรธ กล่าวคือความประทุษร้ายทางใจในผู้ไม่ทำอุปการะก็ไม่มี ฉะนั้น เราจึงเป็นผู้มีใจเสมอแก่ชนทั้งปวง. ท่านแสดงไว้ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ในกาลนั้น เพื่อทรงแสดงถึงความไม่มีผิดปกติ และความไม่ติดอยู่ในโลกธรรมทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงสะสมญาณสัมภารไว้ จึงมีพระทัยเสมอในสัตว์ทั้งหลายทั้งที่มีอุปการะและไม่มีอุปการะ จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า 
                เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อมยศ เป็นผู้มีใจเสมอในสิ่งทั้งปวง นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา.
               ด้วยประการฉะนี้ ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแสดงความที่พระองค์เป็นกลางในสรรพสัตว์ และในโลกธรรมทั้งปวง ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น แล้วเมื่อจะทรงประกาศความที่พระองค์ถึงยอดแห่งอุเบกขาบารมี ในอัตภาพนั้นด้วยบทนั้น ดังนี้.
               แม้ในจริยานี้ พระมหาสัตว์ย่อมได้บารมี ๑๐ ครบโดยเฉพาะทานบารมีก่อน.
               การบริจาคสมบัติทั้งปวงและการบริจาคอัตภาพของตนโดยไม่คำนึงว่าใครๆ ถือเอาสรีระนี้ แล้วจงทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนปรารถนา เป็นทานบารมี.
               การไม่ทำสิ่งไม่ควรทำทั้งปวงมีความเลวเป็นต้น เป็นศีลบารมี.
               การเพิ่มพูนอสุภสัญญาในกายของพระโพธิสัตว์ผู้หันหลังให้ความยินดีในกาม ออกจากเรือน เป็นเนกขัมมบารมี.
               ความเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดธรรมเป็นอุปการะแก่สัมโพธิสมภาร และในการละธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปการะธรรมนั้น และการคิดถึงสภาวธรรมจากธรรมอันไม่วิปริต เป็นปัญญาบารมี.
               การบรรเทากามวิตกเป็นต้น และการพยายามอดกลั้นความทุกข์ เป็นวีริยบารมี.
               ความอดทนด้วยความอดกลั้น เป็นขันติบารมี.
               จริงวาจา และจริงด้วยการเว้นโดยไม่ผิดสมาทาน เป็นสัจบารมี.
               การตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหวในธรรมอันไม่มีโทษ เป็นอธิษฐานบารมี.
               ความเป็นผู้มีเมตตา และความเอ็นดูในสรรพสัตว์โดยไม่เจาะจง เป็นเมตตาบารมี.
               ส่วนอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นพึงทราบตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อนึ่ง ในจริยานี้ ท่านทำอุเบกขาบารมีให้เป็นบารมียอดเยี่ยมอย่างยิ่ง จึงยกอุเบกขาบารมีนั้นขึ้นสู่เทศนา.
               อนึ่ง ในจริยานี้ พึงประกาศคุณานุภาพของพระมหาสัตว์มีอาทิอย่างนี้ คือ
               การละกองโภคสมบัติใหญ่และวงศ์ญาติใหญ่ แล้วออกจากเรือนเช่นกับการออกบวช.
               การไม่ถือเพศบรรพชิตของพระมหาสัตว์ผู้ออกไปอย่างนั้นแล้ว รังเกียจลาภและสักการะประสงค์จะรักษาความนับถือของผู้อื่น แล้วอธิษฐานคุณของบรรพชาไม่ให้มีเหลือด้วยจิตเท่านั้น แล้วอยู่เป็นสุขอย่างยิ่ง.
               ความเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง. ความยินดีในความสงัด การไม่คำนึงถึงกายและชีวิตของตนด้วยประสงค์จะวางเฉย.
               การประพฤติขัดเกลากิเลสถึงขั้นอุกฤษฏ์ อดกลั้นความน่าเกลียดที่ผู้อื่นทำเบื้องบนของตน.
               การยังตนให้ตั้งมั่นด้วยความที่กิเลสอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโพธิสมภารมีน้อย ด้วยความเป็นกลางในที่ทั้งปวง อันเป็นเหตุแห่งความไม่ผิดปกติในผู้มีอุปการะและไม่มีอุปการะของคนอื่น ดุจพระขีณาสพฉะนั้น แล้วไม่ติดด้วยโลกธรรมทั้งหลาย.
               การถึงยอดแห่งอุเบกขาบารมี อันเป็นพุทธบารมีของบารมีทั้งปวง.

               จบอรรถกถามหาโลมหังสจริยาที่ ๑๕               
               -----------------------------------------------------               


               

 

หมายเลขบันทึก: 713432เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2023 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท