การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓๕ เอกราชจริยา


เราเห็นหมู่อำมาตย์ที่แย่งชิงราชสมบัติที่มั่งคั่งภายในนครเราไป เหมือนบุตรที่รัก บุคคลมีเมตตาเสมอเราไม่มี นี้เป็นเมตตาบารมีของเรา

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๓๕ เอกราชจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

 ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            พระเจ้าทัพพเสนะเสด็จเข้าพระนครด้วยกองทัพใหญ่ ไม่ทรงเห็นข้าศึกต่อต้านแม้แต่คนเดียว เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ยึดราชสมบัติทั้งหมดให้อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ เสด็จขึ้นสู่พื้นใหญ่รับสั่งให้จับพระโพธิสัตว์ผู้ไม่มีความผิดฝังในหลุม.

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

 

๑๔. เอกราชจริยา

ว่าด้วยพระจริยาของพระเจ้าเอกราช

 

             [๑๑๔]   อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพระราชา ปรากฏนามว่าเอกราช ครั้งนั้น เราอธิษฐานศีลที่บริสุทธิ์ยิ่ง ปกครองแผ่นดินใหญ่

             [๑๑๕]   สมาทานกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ประพฤติโดยไม่มีเศษ สงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการ (สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ (๑) ทาน (๒) เปยยวัชชะ (๓) อัตถจริยา (๔) สมานัตตตา)

             [๑๑๖]   เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาทประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าโกศลพระนามว่าทัพพเสน มาชิงเอานครของเราไป

             [๑๑๗]   ทรงทำข้าราชการ ชาวนิคม พร้อมด้วยทหาร ชาวชนบท ให้อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์หมดแล้ว ตรัสสั่งให้ฝังเราเสียในหลุม

             [๑๑๘]   เราเห็นหมู่อำมาตย์ที่แย่งชิงราชสมบัติที่มั่งคั่งภายในนครเราไป เหมือนบุตรที่รัก บุคคลมีเมตตาเสมอเราไม่มี นี้เป็นเมตตาบารมีของเรา ฉะนี้แล

เอกราชจริยาที่ ๑๔ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น

๑๔. เอกราชจริยา

               อรรถกถาเอกราชจริยาที่ ๑๔               

 

               ในครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงอุบัติเป็นโอรสพระเจ้ากรุงพาราณสี.
               ครั้นทรงเจริญวัยถึงความสำเร็จศิลปะทุกแขนง.
               ครั้นพระบิดาสวรรคต จึงครองราชสมบัติมีพระนามประกาศว่าเอกราช เพราะทรงบำเพ็ญบารมี ด้วยการประกอบคุณวิเศษอันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่นมีศีลอาจาระ ศรัทธาและสุตะอันเป็นกุศลเป็นต้น และด้วยความเป็นหัวหน้าเพราะไม่มีใครเป็นที่สองในพื้นชมพูทวีป.
               อธิษฐานศีลอันได้แก่กุศลกรรมบถ ๑๐ อันบริสุทธิ์สูงสุด กล่าวคือสำรวมทางกาย ทางวาจาบริสุทธิ์ด้วยดี และประพฤติชอบทางใจบริสุทธิ์ด้วยดี ด้วยการสมาทานและด้วยการไม่ก้าวล่วง.
               ปกครองแผ่นดินใหญ่ คือครองราชสมบัติในแคว้นกาสีประมาณ ๓๐๐ โยชน์.
               เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยอาการนี้ตามที่กล่าวแล้ว คือการยังศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้บริบูรณ์ การสงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้นพระมหาสัตว์ทรงให้สร้างโรงทาน ๖ แห่งคือที่พระทวาร ๔ ด้านของพระนคร ท่ามกลางพระนคร ๑ ที่ประตูพระนิเวศน์ ๑ ทรงให้ทานแก่คนยากจนและคนเดินทางเป็นต้น ทรงรักษาศีล ทรงรักษาอุโบสถ ทรงถึงพร้อมด้วยขันติ เมตตาและความเอ็นดู ทรงยินดีสรรพสัตว์ดุจมารดาบิดายินดีบุตรที่นั่งบนตัก ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม.
               อำมาตย์ของพระองค์คนหนึ่ง คิดขบถภายในพระนครปรากฏขึ้นในภายหลัง.
               พวกอำมาตย์พากันกราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาทรงคอยสังเกตทรงรู้ชัดด้วยพระองค์ จึงตรัสให้เรียกอำมาตย์นั้นมารับสั่งว่า อ้ายคนอันธพาล เจ้าทำกรรมไม่สมควร เจ้าไม่ควรอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงถือเอาทรัพย์และพาลูกเมียไปอยู่ที่อื่น แล้วทรงขับไล่ออกจากแว่นแคว้น.
               อำมาตย์นั้นไปโกศลชนบท เข้ารับราชการกะพระเจ้าโกศลพระนามว่าทัพพเสนะ ได้ทำความคุ้นเคยกับพระราชานั้นโดยลำดับ.
               วันหนึ่งทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์กรุงพาราณสีเช่นกับรังผึ้งไม่มีตัวผึ้ง พระราชาก็อ่อนแอ พระองค์สามารถยึดราชสมบัตินั้นได้โดยง่ายทีเดียว.
               พระราชาทัพพเสนะไม่ทรงเชื่อคำของอำมาตย์นั้น เพราะพระเจ้ากรุงพาราณสีทรงอานุภาพมาก จึงทรงส่งพวกมนุษย์ให้ไปทำการปล้นมีการฆ่าชาวบ้านเป็นต้นในแคว้นกาสี ทรงสดับว่า พระโพธิสัตว์ทรงให้ทรัพย์แก่โจรเหล่านั้นแล้วทรงปล่อย.
               ครั้นทรงทราบว่าพระราชาเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ทรงดำริว่า เราจักยึดราชสมบัติในกรุงพาราณสี จึงยกกองทัพเสด็จออกไป.
               ลำดับนั้น ทหารของพระเจ้ากรุงพาราณสีได้ข่าวว่า พระเจ้าโกศลยกกองทัพมา จึงกราบทูลแด่พระราชาของตนว่า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะจับโบยพระราชานั้นตอนยังไม่ล่วงล้ำรัฐสีมาของเรา.
               พระโพธิสัตว์ทรงห้ามว่า ท่านทั้งหลาย การทำคนอื่นให้ลำบากเพราะอาศัยเราไม่มี. ผู้ต้องการราชสมบัติจงยึดราชสมบัติเถิด พวกท่านอย่าไปเลย.
               พระเจ้าโกศลเสด็จเข้าไปถึงท่ามกลางชนบท.
               พวกทหารทูลแด่พระราชาเหมือนอย่างนั้นอีก. พระราชาทรงห้ามโดยนัยก่อน. พระเจ้าทัพพเสนะประทับยืนอยู่นอกพระนคร ทรงส่งสาส์นถึงพระเจ้าเอกราชว่า จะมอบราชสมบัติให้หรือจะรบ.
               พระเจ้าเอกราชทรงส่งสาส์นตอบไปว่า เราไม่ต้องการรบ จงเอาราชสมบัติไปเถิด.
               พวกทหารทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ พวกข้าพระองค์จะไม่ให้พระเจ้าโกศลเข้าพระนครได้ จะช่วยกันโบยพระเจ้าโกศลนั้นนอกพระนครแล้วจับมาถวาย พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงห้ามเหมือนก่อน ทรงรับสั่งไม่ให้ปิดประตูพระนคร ประทับนั่งท่ามกลางบัลลังก์บนพื้นใหญ่.
               พระเจ้าทัพพเสนะเสด็จเข้าพระนครด้วยกองทัพใหญ่ ไม่ทรงเห็นข้าศึกต่อต้านแม้แต่คนเดียว เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ยึดราชสมบัติทั้งหมดให้อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ เสด็จขึ้นสู่พื้นใหญ่รับสั่งให้จับพระโพธิสัตว์ผู้ไม่มีความผิดฝังในหลุม.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 
               พระเจ้าทัพพเสนะยกกองทัพมาชิงเอาพระนครเราได้ ทรงทำข้าราชการ ชาวนิคม พร้อมด้วยทหาร ชาวชนบท ให้อยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ทั้งหมดแล้ว ตรัสสั่งให้ฝังเราเสียในหลุม.
               พระเจ้าทัพพเสนะรับสั่งให้ใส่สาแหรกแขวนเอาพระเศียรลงข้างล่างที่ธรณีประตูทางทิศเหนือ.
               พระมหาสัตว์ทรงเจริญเมตตาปรารภพระราชาโจรแล้ว ทรงกระทำกสิณบริกรรมยังฌานและอภิญญาให้เกิด ทรงผุดขึ้นจากทรายประทับนั่งขัดสมาธิบนอากาศ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 
               เราเห็นพระเจ้าทัพพเสนะกับหมู่อำมาตย์ชิงเอาราชสมบัติอันมั่งคั่งภายในพระนครของเราเหมือนบุตรสุดที่รัก.
               เราเห็นพระราชาผู้เป็นศัตรูชิงเอาราชสมบัติอันมั่งคั่งด้วยนางกำนัล ทาสหญิง ทาสชายและบริวาร และด้วยของใช้มีผ้าและเครื่องประดับเป็นต้น ภายในพระนครของเราเหมือนบุตรสุดที่รักของตนด้วยเมตตาใด ผู้เสมอด้วยเมตตานั้นของเราไม่มีในสกลโลก เพราะฉะนั้น ที่เป็นอย่างนี้นี่เป็นเมตตาบารมีของเรา ถึงความเป็นปรมัตถบารมี.
               ก็เมื่อพระมหาสัตว์ทรงแผ่เมตตาปรารภพระราชาโจรนั้น ประทับนั่งขัดสมาธิบนอากาศ พระเจ้าทัพพเสนะจึงเกิดความเร่าร้อนในพระวรกาย. พระองค์ทรงส่งเสียงร้องว่า เราถูกไฟไหม้ เราถูกไฟไหม้ ทรงกลิ้งเกลือกไปมาบนแผ่นดิน. ตรัสว่านี่อะไรกัน.
               พวกราชบุรุษทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์รับสั่งให้ฝังพระราชาผู้ทรงธรรม ผู้ไม่มีความผิดไว้ในหลุม.
               ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านรีบไปเอาพระราชานั้นขึ้นเถิด.
               พวกราชบุรุษไปเห็นพระราชานั้นประทับนั่งขัดสมาธิบนอากาศ จึงกลับมาทูลแด่พระเจ้าทัพพเสนะ.
               พระเจ้าทัพพเสนะรีบเสด็จไปถวายบังคมขอขมาแล้วตรัสว่า ขอพระองค์จงครองราชสมบัติของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จักป้องกันพวกโจรแด่พระองค์ แล้วรับสั่งให้ลงอาญาแก่อำมาตย์ชั่ว เสด็จกลับพระนคร.
               แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พวกอำมาตย์ แล้วทรงบวชเป็นฤๅษี ยังมหาชนให้ตั้งอยู่ในคุณมีศีลเป็นต้น ครั้นสิ้นอายุแล้วก็ไปสู่พรหมโลก.
               พระเจ้าทัพพเสนะในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนทเถระในครั้งนี้.
               พระเจ้าเอกราชคือพระโลกนาถ.
               พึงทราบทานบารมีด้วยการสละทรัพย์ ๖๐๐,๐๐๐ ณ โรงทาน ๖ แห่งทุกๆ วันของพระโพธิสัตว์นั้น และด้วยการทรงบริจาคราชสมบัติทั้งสิ้นแก่พระราชาข้าศึก.
               ศีลบารมี ด้วยการรักษาศีลและอุโบสถเป็นนิจ และด้วยการสำรวมศีลไม่เหลือเศษของนักบวช.
               เนกขัมมบารมี ด้วยการออกบวชและด้วยการบรรลุฌาน.
               ปัญญาบารมี ด้วยการไตร่ตรองถึงประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย และด้วยการจัดแจงทานและศีลเป็นต้น.
               วิริยบารมี ด้วยการขมักเขม้นสะสมบุญมีทานเป็นต้น และด้วยการบรรเทากามวิตกเป็นต้น.
               ขันติบารมี ด้วยการอดกลั้นความผิดของอำมาตย์โหดและของพระเจ้าทัพพเสนะ.
               สัจจบารมี ด้วยการไม่ผิดพลาดด้วยการให้เป็นต้นตามปฏิญญา.
               อธิษฐานบารมี ด้วยการอธิษฐานการสมาทานไม่หวั่นไหวต่อการให้เป็นต้น.
               เมตตาบารมี ด้วยการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ข้าศึกโดยส่วนเดียว และด้วยการยังเมตตาฌานให้เกิด.
               และอุเบกขาบารมี เพราะมีพระทัยเสมอในความผิดที่อำมาตย์โหดและพระเจ้าทัพพเสนะกระทำในอุปการะที่พวกแสวงหาประโยชน์มีอำมาตย์เป็นต้น ของพระองค์ให้เกิดขึ้น ทรงวางเฉยในคราวที่ถึงความสุขในราชสมบัติ ในคราวที่ถูกพระราชาข้าศึกฝังในหลุม.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า 
               ข้าแต่ท่านผู้เป็นจอมชน ท่านจงบรรเทาความสุขด้วยความทุกข์ หรือจงอดกลั้นความทุกข์ด้วยความสุข. สัตบุรุษทั้งหลายย่อมวางเฉย ในสุขและทุกข์ทั้งสองอย่างเพราะเกิดขึ้นแล้ว.
               อนึ่ง ในจริยานี้พึงเจาะจงกล่าวถึงคุณวิเศษมีความเป็นผู้อนุเคราะห์เสมอกันเป็นต้นในสรรพสัตว์ของพระมหาสัตว์ ดุจบุตรเกิดในอกฉะนั้น ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาเอกราชจริยาที่ ๑๔               
               -----------------------------------------------------               

 

หมายเลขบันทึก: 713410เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2023 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2023 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท