เครื่องแบบมิใช่โซ่ตรวน แต่คือสัญลักษณ์หน้าที่ต่อตนเอง และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม


ข่าวรองผู้ว่าราชการ กทม. (ด้านการศึกษา) มีหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัด เพื่อหาวันเวลาที่จะไม่ต้องสวมเครื่องแบบนักเรียนมาโรงเรียน อนุโลมให้ใช้เสื้อผ้าชุดลำลอง ที่เคยใส่อยู่กับบ้านมาเรียนได้  น่าจะมีผลมาจากปรากฏการณ์ นักเรียนหยก

ปรากฏการณ์ของนักเรียนหยก  ผู้ปฏิเสธเครื่องแบบนักเรียนอย่างหนักแน่น  เมื่อติดตามอ่านข่าวระยะหนึ่ง พอจับเค้าความคิดของเธอได้ว่า เธอปฏิเสธมันเพราะเข้าใจว่า มันคือโซ่ตรวนเชิงสัญลักษณ์เพื่อกดขี่ให้นักเรียนอยู่ภายใต้กฎ ระเบียบ ที่ครูและโรงเรียนวางไว้ เป็นการลิดรอนเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคล เธอย้ำเสริมด้วยว่า เครื่องแบบไม่ใช่เครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่เกื้อหนุนสติปัญญาใด ๆ รวมถึงทรงผมที่เธอปรารถนาจะตัดผมตามสบาย ย้อม ดัด ซอย เซ็ท ได้อย่างอิสระ  เธอมีคนหนุ่มสาว (นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชน) สนับสนุนคำเรียกร้องของเธอเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ พอสมควร มีฐานเสียงจากพรรคการเมืองยุคใหม่ (..ที่เชื่อว่าเป็นแนวคิดยุคใหม่) 

                หวนคิดถึงคำบอกเล่า (อาจจะเคยเล่าแล้วในเรื่องลูกเสือ ที่เคยเขียนไว้ แต่ก็อยากเล่าอีก..(ฮา) 

                ครั้งหนึ่งเพื่อนของเรา เดินทางไปต่างประเทศ ขณะที่กำลังจะเข้าประเทศทางยุโรป (สมัยนั้นยังไม่มีโควิด) ผู้คนเดินทางกันมากจน การสัญจรที่ท่าอากาศยานหนาแน่น ผู้คนค่อนข้างจอแจ  ทันใดนั้น ด้านหลัง ก็มี  คนในเครื่องแบบ เดินมากลุ่มใหญ่ ผู้คนในบริเวณนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างประเทศและอีกส่วนก็เป็นคนพื้นเมือง ต่างแหวกเป็นช่อง กว้างขวางเพื่อหลีกทางให้แก่ คนในเครื่องแบบกลุ่มใหญ่นี้  ทันใดนั้น มีเด็กน้อยอายุราว ๙-๑๐ ขวบ ซึ่งเดินอยู่ข้างหน้าเพื่อนของเรา เอ่ยถามพ่อแม่ของเขาขึ้นว่า  “ทำไม เราต้องแหวกทางเป็นช่องให้ คนเหล่านั้นด้วย  เขามาทีหลัง น่าจะรอให้พวกเราไปก่อน สิ จึงจะถูก” 

พ่อของเขาตอบเด็กน้อยว่า  “ลูกเห็นคนเหล่านั้นชัดเจนไหม “     ลูกก็ตอบว่า “ชัดเจน มากันหลายคนด้วย”   “เขาแต่งเครื่องแบบ (Uniform)  นั่นหมายถึงว่า เขากำลังไปทำหน้าที่บางอย่าง กับใครสักคนหนึ่ง”   “พ่อรู้ได้อย่างไร”  เด็กน้อยถาม   “เพราะเครื่องแบบที่เขาสวมอย่างไรล่ะ  ดังนั้น คนที่หลีกทางให้เขานั้น เพราะรู้ว่า เขาเหล่านั้น กำลังไปทำอะไรสักอย่างที่สำคัญตามเครื่องแบบที่เขาสวมอยู่” 

เพื่อนไม่ได้เล่าต่อว่า เด็กน้อยผู้นั้นจะเข้าใจ คำสอนของพ่อหรือไม่ แต่ทำให้เรารู้สึกว่า คำสอนของชาวยุโรปผู้นั้น รู้จักสิ่งที่เราเรียกว่า สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเสรีภาพ ชัดเจนมาก ถึงขนาดใช้ได้กับชีวิตจริง ๆ เลยเชียว   หวนคิดถึงกรณีของนักเรียนหยก และกลุ่มหนุ่มสาวนักกิจกรรมเพื่อเสรีภาพมากมายที่ประกาศตัวในเมืองไทยวันนี้ ดูเหมือนความคิดของเขาเหล่านั้นต่อเครื่องแบบนักเรียน ไม่เหมือนกับเครื่องแบบในความคิดของพ่อและเด็กน้อยชาวยุโรป

เครื่องแบบ เป็นเครื่องนุ่งห่มธรรมดา ๆ ที่เหมือนๆ กัน ผู้คนสวมใส่เหมือนๆ กันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เพื่อให้เหมือนกัน รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน   แต่ที่มันพิเศษจริงๆ นั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวเสื้อผ้าใด ๆ แต่เพราะเบื้องหลังของมัน คือหน้าที่ บทบาทและความรับผิดชอบต่างหากที่ทำให้ เสื้อผ้าธรรมดาๆ  ไม่ธรรมดา  แต่ไม่ใช่โซ่ตรวนที่กักขัง บีบบังคับให้ผู้สวมใส่ต้องทำโน่น นี่  นั้น ตามคำข่มขู่ของผู้มีอำนาจ หรือ “กดทับ” เสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิมนุษยชนเอาไว้ อย่างที่นักเรียนหยกสำคัญผิด และที่นักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนประโคมโฆษณา

เสื้อผ้า หน้า ผม ทรวดทรง รูปลักษณ์การแต่งกายใด ๆ ของนักเรียน ก็ล้วนเกิดขึ้นเพราะมันมีส่วนช่วยเตือนให้ผู้สวมใส่ระลึกถึง บทบาท หน้าที่และตระหนักถึงความรับผิดชอบของนักเรียน (ซึ่งยังเป็นเยาวชน) หากผู้สวมใส่เป็นคนไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่นักเรียน สวมเครื่องแบบแล้วก็คงอึดอัด ทำหน้าที่ไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น หนักเข้าเมื่อไม่อยากเป็น จึงกล่าวโทษต่อเครื่องแบบว่า เพราะมัน จึงทำให้ตนเองกลายเป็นคนเช่นนั้น เช่นนี้  เครื่องแบบจึงเป็นสิ่งเลวร้าย เพราะมันทำให้ฉันเป็นคนที่ทำในสิ่งที่ควรจะทำไม่ได้ 

น่าเสียดาย ที่รองผู้ว่าราชการ ฝ่ายการศึกษา ของ กทม. ก็เล่นกับเรื่องนี้ด้วย ความจริงมีโรงเรียนมากมายที่อนุญาตให้ใช้ชุดพละของโรงเรียนเป็นเครื่องแบบชุดที่สอง ซึ่งก็ประหยัดและเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นนักเรียนของโรงเรียนนี้ที่สมบูรณ์ชัดเจน  ราคาก็ไม่แพง  โรงเรียนของลูกก็ให้นักเรียนแต่งชุดพละ  มาเรียนได้เหมือนกับชุดนักเรียนปกติ สวมชุดไหนมาก็ได้ กฏเกณฑ์นี้ใช้มานานเกือบ ๒๐ ปีแล้ว  นักเรียนก็เรียนอย่างมีคุณภาพ  ดีกว่าชุดลำลองที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครมากมาย

เครื่องแบบย่อมมีความแตกต่างกว่าชุดลำลอง อยู่แล้ว  หากเราไม่เข้าใจมัน ก็ยิ่งน่าเสียดาย

 

หมายเลขบันทึก: 713396เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2023 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2023 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท