ระเบียบวินัย


 

ระเบียบวินัย

ชาติศาสนา มีสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าชาติเป็นอันตราย ศาสนาก็จะอยู่ไม่ได้ ศาสนาจะดำรงมั่น ก็ต้องอาศัยความมั่นคงของชาติ ชาติจะมั่นคงก็เพราะ ประชาชนในชาติมีระเบียบวินัย ชาติกับศาสนา จะมั่นคง ก็ต้องมีระเบียบวินัยคุ้มครองป้องกัน คนในชาติจะเคารพนับถือกัน ตั้งใจปฏิบัติรักษาโดยเอื้อเฟื้อ เพราะ คนในชาติมีระเบียบวินัยเสมอกัน ไม่ฝ่าฝืนล่วงละเมิดทั้งในที่ลับที่แจ้ง ก็แสดงว่า ประชาชน เป็นผู้มีวินัยได้ศึกษามาดีแล้ว
ชุมชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่เป็นหมู่ ๆ มีกำเนิดเชื้อชาติ หรือ สัญชาติที่สืบเนื่องมาแต่เผ่าพันธุ์เดียวกัน มีภาษาพูดร่วมกัน มีภูมิลำเนาที่อาศัยร่วมกัน อยู่ในเขตปกครองเดียวกัน มีประเพณีคล้ายคลึงกัน มีประมุขบังคับบัญชากิจการ ให้เป็นไปอย่างเดียวกัน แต่ละคนร่วมกัน เรียกว่า ชาติ

ศีลธรรมอันดีงาม ที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้ละชั่วประพฤติดี และ ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ที่ประชาชนในชาติ ประมวลถือเป็นจรรยาของประเทศ เป็นบ่อเกิดของความเจริญ และ ความสงบสุขของชาติบ้านเมือง เป็นดวงประทีปส่องทาง ให้ชาติได้ดำเนิน ไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง และ ก้าวไปสู่ความเป็นอารยชาติ และ เป็นหลักแห่งความประพฤติที่ดีงามของประชาชนในชาติ เรียกว่า ศาสนา
คำว่า วินัย มีความหมายแปลได้เป็น ๓ ประการ คือ
 

๑.    วินัย แปลว่า นำไปดี
๒.    วินัย แปลว่า นำไปแจ้ง
๓.    วินัย แปลว่า นำไปต่าง

วินัยที่ว่า นำไปดี นั้น หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัย เป็นคนดีขึ้น วิเศษขึ้นในทางตรงกันข้าม คนไม่มีวินัย ก็เป็นคนไม่ดี ดีไม่ขึ้น มีแต่เลวลง ตัวอย่างที่ว่า วินัยดี วิเศษ เช่น เด็ก ๆ ลูกหลานของเราแท้ ๆ พอไปบวชเป็นพระ ครองวินัยสงฆ์เท่านั้น ญาติพี่น้อง ตลอดจนเพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชา ต้องพากันกราบไหว้ด้วยความอ่อนน้อม แม้ราษฎรแท้ ๆ พอบวชเป็นพระครองวินัยสงฆ์เท่านั้น พระมหากษัตริย์ ก็ทรงถวายความเคารพ อย่างนี้ เรียกว่า วินัย ทำให้ คนดี คนวิเศษ ขึ้น

วินัยที่ว่า นำไปแจ้ง นั้น ของในโลกนี้ บางที่รูปพรรณสัณฐานเหมือนกัน แต่คุณภาพแตกต่างกัน เช่น ธนบัตรเก๊กับธนบัตรแท้ ขนาดและน้ำหนักก็พอ ๆ กัน พลอยกับเพชร รูปร่างก็คล้ายคลึงกัน ทองแท่งกับตะกั่วแท่ง สัณฐานก็คล้ายกัน ในแผ่นกระดาษ ขนาดและชนิด อย่างเดียวกันนั่นเอง จะทำอย่างไร จึงจะทราบว่า อันไหนเป็นอย่างไร เราต้องนำของสิ่งนั้นไปสู่ที่แจ้ง คือ ที่ที่มีแสงสว่าง คนเราในโลกนี้ ก็มีหลายชนิด ที่ดีก็มาก ที่ร้ายก็เถอะ เราจะรู้ได้อย่างไร สิ่งที่จะเปิดเผยความจริงในเรื่องนี้ ก็คือวินัย วินัยเป็นเครื่องส่อให้เรารู้ว่า ธาตุแท้ของคนเป็นอย่างไร วินัยเป็นเครื่องวินิจฉัยชี้ขาด วินัยเปรียบเสมือน แสงสว่างที่ส่องดูคน

วินัยที่ว่า นำไปต่าง  สิ่งที่ขีดคั่นภูมิของคนและสัตว์ทั้งหลาย ไม่เหมือนกัน สัตว์ทั้งหลาย ใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องวัดความแตกต่างกัน แต่มนุษย์เรา จะดูความแตกต่างกันด้วยวินัย คนที่ส้องสุมสมัครพรรคพวก และ ศัตราวุธ ไว้สู้กัน ถ้าเป็นฝ่ายที่มีระเบียบวินัย เรียกว่า กองทหาร เป็นมิ่งขวัญของประเทศ คนที่พกพาอาวุธ เดินอยู่ในชุมชนอย่างองอาจ ถ้าเป็นฝ่ายที่มีระเบียบวินัย เรียกว่า ตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าเป็นพวกที่ไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย เรียกว่า นักเลง ผู้ก่อกวน สันติสุขของราษฎร
 

วินัย สำหรับควบคุมคนในชาติ และ ศาสนา ให้ดำเนินไปได้ ถ้าจะแบ่งประเภทของวินัย ก็จะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทด้วยกัน คือ  ๑. วินัยของชาติ  ๒.  วินัยของศาสนา
 

ชีวิตจิตใจ ของคนในชาติ ทุกเพศทุกวัย ต้องอยู่ในความควบคุมของวินัย ทั้งสองประเภทนี้ ชาวบ้าน แม้จะรักษาระเบียบวินัยของชาติแล้ว ก็ต้องรักษาระเบียบวินัยของศาสนาอีกด้วย แม้บรรพชิต นักบวช ที่ครองชีวิต ด้วยวินัยของบรรพชิต ก็ต้องรักษาระเบียบวินัย ของชาติด้วย เพราะ ผู้ที่ถือวินัยของชาติแต่เพียงอย่างเดียว ทิ้งวินัยทางศาสนาเสีย แม้จะมีความเจริญทางชีวิต แต่ก็มีความเสื่อมทางจิตใจ

วินัยของชาติ

ระเบียบที่ควบคุมคนในสังคมต่าง ๆ ที่สมาชิกของสังคมนั้นได้ตั้งขึ้นไว้ เพื่อเป็นระเบียบข้อปฏิบัติสำหรับสมาชิก ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สิ่งใดควรประพฤติ สิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสมาชิกในสังคมนั้น ข้อบัญญัติเหล่านั้น อาจเรียกชื่อได้หลายอย่าง เช่น พระราชบัญญัติ กฎหมาย คำสั่ง และ อื่น ๆ อีก รวมเรียกว่า วินัยของชาติ
 

ชนชาติที่เจริญแล้ว ย่อมมีระเบียบวินัย เป็นเครื่องควบคุมชีวิตจิตใจ ให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดีงาม และ ให้ความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน เมื่อจะทำอะไร ก็ทำตามระเบียบ ไม่ล่วงละมิดระเบียบ วินัย แต่ละคนทำงาน ตามหน้าที่ของตน ไม่ละเว้น ไม่เพิกเฉย ไม่นิ่งดูดาย ไม่ก้าวก่ายการงานของกันและกัน
 

ภายในบ้าน เช่น การกิน การนอน การแต่งกาย การออกจากบ้าน และการเข้าสู่สถานที่ต่าง ๆ ล้วนแต่มีระเบียบวินัยทั้งนั้น พึ่งทราบว่า ความมีระเบียบ มีวินัยมีอยู่ ณ ที่ใด เราจะพบแต่ความสวย ความงาม ณ ที่นั้น ความมีระเบียบวินัยนี้ ไม่เพียงแต่จะประดับคนให้สวยงามเท่านั้น ยงยกคนผู้มีระเบียบนั้น ขึ้นเป็นอารยชนอีกด้วย  ความเป็นระเบียบ เป็นมูลเหตุให้เกิดความสวยงาม เป็นมูลเหตุให้เกิดความเป็นระเบียบ เป็นมูลเหตุให้เกิดความเรียบร้อย ส่วนความไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย เป็นมูลเหตุให้เกิดความไม่สวย ไม่งาม ไม่เจริญตา เจริญใจ ไม่เป็นทัศนานุตริยะ

วินัยศาสนา

วินัยของศาสนา หมายถึงกฎ บัญญัติ ที่พุทธอาณา เป็นข้อห้ามไม่ให้ทำบ้าง เป็นข้ออนุญาตให้ทำบ้าง มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
 

๑.    อาคาริยวินัย เป็นวินัยของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน
๒.    อนาคาริยวินัย  เป็นวินัยของบรรพชิต ที่พระพุทธองค์ ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อนำความประพฤติ ของศาสนิกให้สม่ำเสมอกัน

อาคาริยวินัย คือ วินัยของคฤหัสถ์  ได้แก่ ชาวบ้านผู้ครองเรือน จำเป็นจะต้องมีที่พึ่ง เพื่อป้องกันเวรภัย โทษทุกข์ในปัจจุบันและอนาคต ดำเนินไปในทางที่ดีที่ชอบ จำแนกเป็น ๔ ประการ คือ
 

๑.    ไตรสรณคมน์  เป็นอุบายสำหรับนำผู้มีศรัทธาเลื่อมใส หยั่งลงในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ที่เรียกว่า พระรัตนตรัย น้อมกาย วาจาใจ เข้าไปยึดถือ พระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งของใจ ได้ชื่อว่า ไตรสรณคมน์ ไตรสรณคมน์นี้ เป็นวินัยเบื้องต้นของคฤหัสถ์ สำหรับควบคุมจิตใจของตน ให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดีงาม ยึดถือพระรัตตรัยเป็นหลักดำเนินชีวิต

๑.๑   พระพุทธคุณ ๙ บท ย่อลงเป็น ๓ คือ พระปัยยาคุณ พระปริสุทธิคุณ และ พระกรุณาคุณ หรือจะย่อพระพุทธคุณ ๓ บท ลงเป็น ๒ คือ
 

- อัตตหิตคุณ คุณประโยชน์ ที่เป็นสมบัติส่วนตัว
- ปรหิตคุณ คุณประโยชน์ที่เป็นไปเพื่อผู้อื่น บุคคลที่ยึดเอาพระพุทธคุณถือปฏิบัติ โดยวิธีฝึกฝนอบรมตนให้เกิดปัญญา อบรมกายวาจาของตนให้บริสุทธิ์สะอาด และ อบรมจิตใจของตนให้มีเมตตา และ กรุณาในคนและสัตว์ หรือ บำเพ็ญความดีที่เกื้อกูลแก่ตน และ ผู้อื่น ให้เกิดมีขึ้นในตน
 

๑.๒   พระธรรมคุณ ๖ บท ย่อลงเป็น ๒ คือ สุธัมมตา เป็นธรรมที่ดีจริง ทำให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นคนดีจริง และ ทำให้ผู้ปฏิบัติตามประสบสุขให้ประจักษ์ในปัจจุบัน รักษาผู้ปฏิบัติมิให้ตนไปในทางชั่ว ให้คงอยู่ในทางดี และ ให้ดียิ่งขึ้นไป ผู้ที่ยึดเอาพระธรรมคุณมาปฏิบัติ โดยการรักษาศีล เจริญสมาธิ อบรมปัญญา ให้ตนเป็นคนดีขึ้น ดีด้วยศีล ดีด้วยสมาธิ และ ดีด้วยปัญญา
 

๑.๓   พระสังฆคุณ ๙ บท ย่อลงได้เป็น ๒ คือ อัตตหิตคุณ คือ คุณที่เกื้อกูลแก่ตนเอง คือ ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร ปรหิตคุณ คือ คุณที่เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น คือ ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรแก่การประนมมือไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า ยึดเอาพระสังฆคุณมาถือปฏิบัติ โดยการบำเพ็ญความดีที่เกื้อกูลแก่ตน และ แก่บุคคลอื่นให้เกิดมีในตน
    
๒.   เบ็ญจศีล ศีล ๕ ได้แก่ ศีลที่รักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาปกติตามระเบียบวินัย คือ
 

          ๒.๑   เว้นจากการเบียดเบียนกัน
          ๒.๒   เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
          ๒.๓   เว้นจากการล่าวละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน
          ๒.๔   เว้นจากการโกหกหลอกลวงกัน
          ๒.๕   เว้นจากการเสพติดสิ่งให้โทษ
 

เบญจศีลนี้ เป็นวินัยเบื้องต้นของชาวบ้าน และ เป็นวินัยพื้นฐานของวินัยทุกประเภท ลาวบ้าน     แต่   ละคนจะต้องสังวรระวังรักษาโดยตลอด เพราะ ถ้าไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้ จะรักษาวินัยที่สูงขึ้นไปได้อย่างไร 
 

๓.    อุโบสถศีล คือ ศีลอุโบสถ เป็นศีลที่คฤหัสถ์ชายหญิง พึงถือปฏิบัติประจำเดือนละ ๆ ๔ ครั้ง เพื่อหักห้ามจิตใจให้ห่างไกลจากรรมที่เป็นข้าศึกแก่กุศลธรรม เพื่ออบรมจิตใจของตนให้ละเอียดขึ้น เรียกว่า อุโบสถศีล ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
 

๓.๑   เว้นจากการฆ่าการเบียดเบียนกัน
๓.๒   เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
๓.๓   เว้นจากการเสพเมถุน อันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์
๓.๔   เว้นจากการโกหกหลอกลวงกัน
๓.๕   เว้นจากการเสพติดสิ่งให้โทษ
๓.๖   เว้นจากการบรโภคอาหารในเวลาวิการ ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงไปแล้ว
๓.๗  เว้นจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การประโคม และ การละเล่น การประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และของหอม เครื่อย้อม เครื่องแต่งต่าง ๆ
๓.๘   เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงและใหญ่ ภายในที่ยัดนุ่นหรือสำลี
    

๔.   กุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งกุศล ทางความดี ความดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุข ความเจริญทั้งในชีวิตนี้ และ ชีวิตในภายภาคหน้า มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓
 

           ๔.๑   กายกรรม ๓ คือ การกระทำทางกาย มีดังต่อไปนี้
        -   เว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน ให้มีเมตตา กรุณาช่วยเหลือผู้อื่น
        -   เว้นจากการลักทรัพย์ เคารพในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของผู้อื่น
        -   เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ล่วงละเมิดประเพณีในทางเพศ
 

          ๔.๗   วจีกรรม ๔ คือ การกระทำทางวาจา มีดังต่อไปนี้
        -   เว้นจากการพูดเท็จ ไม่กล่าวเท็จ เพราะเหตุของตนและผู้อื่น
        -   เว้นจากการพูดส่อเสียด ช่วยสมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมความสมัครสมานกัน
        -   เว้นจากการกล่าวคำหยาบ พูดแต่คำสุภาพอ่อนหวาน
        -   เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริงมีเหตุผล มีสารประโยชน์ ถูกกาลเทศะ
 

           ๔.๓   มโนกรรม ๓ คือ การกระทำทางใจ มีดังต่อไปนี้
        -   ไม่เพ็งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
-   ไม่มีจิตคิดร้าย คิดปรารถนาแต่ว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีเวร ไม่  เบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์   ปกครองตนอยู่อย่างเป็นสุขเถิด
        -   มีความเห็นชอบ เช่น เห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การบูชามีผล ผลวิบากกรรมดี กรรมชั่วมี
อนาคาริยวินัย

    อนาคาริยวินัย  เป็นวินัยของนักบวช วินัยของนักบวชนั้น ต่างจากวินัยของคฤหัสถ์ชาวบ้าน นักบวชในพระศาสนานี้ มีอยู่ ๒ ประเภท คือ สามเณร กับ พระภิกษุ วินัยของนักบวชทั้งสองประเภทนี้ มีแตกต่างกันดังนี้ คือ
 

๑.    วินัยของสามเณร วันนัยของสามเณรมีอยู่ ๑๐ ข้อ ก็คือ ศีล ๑๐ ซึ่งเรียกว่า สิกขาบท ๑๐ ประการ ในวินัยทั้ง ๑๐ ประการนี้ แบ่งโทษแก่สามเณร ผู้ล่วงละเมิด ออกเป็น ๒ ประเภท คือ
 

๑.๑   โทษนาสนังคะ หมายถึง โทษที่ให้ผู้ล่วงละเมิด ฉิบหายจากเพศ ได้แก่ การให้สึกออกไป
๑.๒   โทษทัณฑกรรม หมายถึง การทำโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกวาดวัด ล้างห้องน้ำ ห้องส้วม
 

๒.   วินัยของพระภิกษุ วินัยของพระในพระพุทธศาสนา เป็นมูลเหตุให้ชำระกาย วาจา ให้บริสุทธิ์สะอาด ท่านเรียกว่า ปาริสุทธิศีล ๔ ประการ คือ 
 

๒.๑   ปาติโมกข์สังวรศีล ศีล คือ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้ามทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัด ในสิกขาบททั้งหลาย
๒.๒   อินทรียสังวรศีล  ศีล คือ ความสำรวมอินทรีย์ ระวังมิให้บาปอกุศล เกิดขึ้น เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ สำรวมระวังให้รู้เท่าทัน
๒.๓   อาชีวปาริสุทธิศีล ศีล คือ ความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ได้แก่ การเลี้ยงชีวิต โดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา มีการหลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิตเป็นต้น
๒.๔   ปัจจัยสันนิสิตศีล ศีล คือ การพิจารณาปัจจัย ๔ ได้แก่ จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรค และ ปัจจเวกขณปัจจัย การพิจารณา การใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปตามความหมาย และ ประโยชน์ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา
 

คำสำคัญ (Tags): #ระเบียบวินัย
หมายเลขบันทึก: 713392เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2023 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2023 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท