สังคมไทยกำลังเดินหน้าด้วยความชอบ มากกว่าความรู้ ..ในที่สุดจะเป็นจลาจล


ติดตามข่าวการเมืองบ้านเราแล้ว ก็อดเป็นห่วงคนไทยไม่ได้ ขืนสังคมไทยยังเดินต่อแบบนี้ อีกไม่นานคงจลาจล

ความชอบ เป็นความพึงพอใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราถูกใจ เป็นอารมณ์ เช่น เราชอบกินมันฝรั่งทอดมากกว่ากล้วยแขก เราขอบแพนเค้กมากกว่าขนมครก ทั้งที่มันฝรั่งไม่ใช่พืชพื้นถิ่นของไทย แพนเค้กก็ไม่ได้ทำจากแป้งข้าวจ้าวหรือข้าวเหนียว แต่มันทำจากแป้งสาลีหรือแป้งข้าวโพด (ซึ่งไม่ใช่แป้งพื้นถิ่นของไทย ไม่ว่าจะภาคไหนๆ ก็ตาม) 

ความชอบที่พึงพอใจ ถูกใจ ทำให้เกิดความนิยม กินบ่อยๆ ใช้บ่อยๆ เห็นบ่อยๆ นานๆ เข้า กลายเป็นความนิยม ความพึงพอใจหรือความนิยมนี้ เมื่อมีมาเข้าก็กลายเป็นนิสัยในที่สุดก็กลายเป็น “คติ หรือความเชื่อมั่น” 

สิ่งนี้เป็นเป้าหมายและแนวทางที่ “นักการตลาด” ยึดถือ เพราะมันทำให้สินค้าที่เขาต้องการขาย ขายดียิ่งขึ้น และนักการเมืองก็ชอบเอาแนวคิดนี้มาใช้ด้วย สถาบันการศึกษาบางแห่ง เอามาเรียนเป็นตำราสร้างนักการเมือง(แบบผิดๆ) เสียด้วยซ้ำ

การสร้างความชอบให้ถึงขนาดคลั่งไคล้ ถือเป็นสุดยอดของผลสำเร็จ เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า “Loyalty” เรียกเป็นภาษาการเมืองยุคใหม่ว่า “ติ่ง” หรือ “ด้อม” เขียนเป็นแผนผังความคิดง่าย ๆ คือ ปรารถนาของผู้คน เมื่อพบกับคุณลักษณะของสินค้าหรือของคน และมันทำให้เขาพึงพอใจ ในที่สุดความพึงพอใจนี้จะกลายเป็นความคลั่งไคล้  แม้สิ่งนี้เป็นยอดปรารถนาของนักการตลาด แต่มันก็อาจมีอันตราย เพราะเป็นความชอบที่มีแต่ความพึงพอใจเป็นหลัก ไม่มีแก่นสารและไม่มีเหตุผล วันใดที่ความพึงพอใจกลับทิศเป็นไม่พอใจ ความคลั่งไคล้ก็จะกลายเป็นความเคียดแค้นได้ง่าย ๆ 

ยิ่งคนหมู่มาก ความพึงพอใจก็จะหยาบกร้านมากขึ้น เพราะความพึงพอใจจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะความคาดหวังที่จะ “ต้องได้” “ต้องการ” ไม่ใช่การที่ “จะให้” “เสียสละ” สังคมที่มีความคลั่งไคล้ถึงขนาดนี้ (บางทีเรียกว่า บ้าคลั่ง) จะมีแต่คำถามว่า ฉันต้องได้สิ่งที่ฉันต้องการ เท่านั้น (โปรดพิจารณาแผนผังความคิดให้ชัดเจนอีกครั้ง) บางครั้งเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็จะอาละวาด และอ้างสารพัดข้อกล่าวหาว่าผู้ขัดขวางความ “ต้องได้” ของตนเป็นคนเลว คนพาล จนลืมเงื่อนไขพื้นฐานไปว่า สังคมมีคนหลายคนอยู่ร่วมกันเหมือนป่าที่มีไม้หลายร้อยหลายพันชนิด สัตว์อยู่รวมกันเป็นฝูง ดังนั้น ทุกคนจึงได้และไม่ได้ในบางสิ่งบางอย่างไม่เหมือนกัน บางคนไม่ได้เพราะมีหลักเกณฑ์บางอย่างกำกับอยู่ บางคนได้เพราะหลักเกณฑ์บางข้อ เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์ที่ไม่พึงพอใจแล้วก็ใช้กำลัง มนุษย์ใช้หลักเกณฑ์ของสภาพและเงื่อนไขเพื่อเข้าใจสิ่งที่เผชิญหน้าและผลที่ต้องการ (ดูแผนผังความคิดที่ ๒) 

การเข้าใจเรื่องหลักเกณฑ์ เป็นเรื่องความรู้ (เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Knowledge) ความเข้าใจเงื่อนไขคือเหตุและผลที่จะตามมา เมื่อเกิดเหตุจะเกิดผล เป็นความจริงที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยง (เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Logic)

สังคมไทยวันนี้ มีคนที่ทำตัวเป็นนักการตลาด สร้างความพึงพอใจในกลุ่มคนไทยอย่างไม่หยุดยั้ง เกือบทุกประเด็นของชีวิต โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นเรื่องการเลือกตั้งและการเมืองหลังการเลือกตั้ง จนก้าวข้ามเส้นเหตุผลและความรู้ (มากแค่ไหนดูได้จากเสียงเรียกร้อง “ฉันต้องได้สิ่งที่ฉันต้องการ” นั้นแหละ) 

“ฉันต้องได้สิ่งที่ฉันต้องการ” แม้จะบ่มเพาะจาก “ความพึงพอใจ” แม้จะมีคำอธิบายมากมาย แต่ทุกคำอธิบายเหล่านั้นมันจะพึ่งมาสู “ฉันต้องได้” พิจารณาให้ดีเถิด มันคือคำอธิบายเพื่อตอบสนองความคาดหวังของตัวคนผู้นั้นเอง ที่บิดเบือนเงื่อนไขและหลบเลี่ยงหลักเกณฑ์ “ฉันต้องเสียสละ”...เพื่อการอยู่ร่วมกัน.....

วันนี้ เมื่อคนคนที่พยายามสร้างให้สังคมไทยที่ขับเคลื่อน ด้วยการสร้าง “ความพึงพอใจ” เป็นหลัก ทุกคนจะชูสิ่งที่ตนอยากได้ จนสุดท้ายคนร้อยคนก็จะมีความต้องการมากมายหลายร้อยประการ ไม่ต้องพูดถึงคน 67 ล้านคนว่าจะมีความต้องการมากน้อยขนาดไหน..แล้วในที่สุดสังคมก็จะเป็นจลาจล เพราะถึงวันนั้น ทุกคนจะคิดแต่ว่า “ฉันต้องได้” ใครขัดขวางฉัน มันคือศัตรู” ถึงวันนั้น แม้นักการตลาด นักการเมืองผู้สร้างความพึงพอใจ ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบ กลายเป็นคนโกหก คิดอย่าง พูดอย่าง ทำอีกอย่าง คนหมู่มากในสังคมจะจลาจลเพราะคิดว่า “ฉันต้องได้” ตามที่นักการตลาดปั้น หรือนักการเมืองสร้างฝัน มันคือความถูกต้อง 

เพียงมองย้อนหลักไปสักเดือน หรือสองเดือน พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนด้วยตัวของท่านเองว่าสังคมไทยกำลังขับเคลื่อนด้วยความขอบมากกว่าความรู้ จริงหรือไม่  และก้าวต่อไปคือสังคมจลาจล จริงหรือไม่?

หมายเลขบันทึก: 713365เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2023 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2023 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท