เริ่องเล่าเคล้า  Mindset : ไทรอยด์เป็นพิษ


เริ่องเล่าเคล้า  Mindset : ไทรอยด์เป็นพิษ

ฉัน :  “วันนี้ ความดันเท่าไรคะ”  เมื่อคืนนอนหลับดีไหม

แม่ :   138 / 96   ความดันดี  ไม่สูง  หลับๆ ตื่นๆ

ฉัน:   แม่นอนหลับดีนะ  มีกรนเบาๆด้วย

(รับฟังข้อมูลที่แม่ตอบกลับ ในใจคิดว่า  แม่หลับดีมาก นอนได้ยาวๆ ฉันชื่นชมที่คุณแม่สามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างชำนาญ และจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ หรือ อุดตัน โรคนี้มีอันตรายที่ทำให้ครอบครัวเราลำบากมานานกว่า 20 ปี)

 

การมีปฏิสัมพันธ์แบบนี้  ได้รับฟัง ทวนสอบ และพูดคุยเพื่อรับรู้ความรู้สึกของบุคคลในครอบครัว เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอบ่างสม่ำเสมอ และฉันพยายามทำให้มากขึ้น เพื่อชดเชยรอยแผลที่ทำร้ายคุณแม่เมื่อยี่สิบปีก่อนให้ทุเลาลง  เหลือเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยที่จะสะดุดนิ้วเมื่อต้องสัมผัสราวกับจะคอยสะกิดเตือนใจให้คอย “รับฟัง” อย่างตั้งใจเสมอ และไม่มีความเจ็บอีกต่อไป 

ยี่สิบปีก่อน  คุณแม่โทรมาบอกฉันว่า  แม่นอนไม่หลับ ทำยังไงดี  ในตอนนั้น ฉันทำงานที่กรุงเทพอยู่ในช่วงเปลี่ยนงานใหม่  จึงค่อนข้างยุ่งมากๆ  หลายครั้งที่ตอบกลับ  ด้วยความเคยชิน และตอบซ้ำๆว่า  “แม่กังวลไปเองหรือเปล่า  พอกังวลมาก ก็นอนไม่หลับ  แม่คิดมาก ปล่อยวางบ้างสิ  พอไม่คิดมาก เดี๋ยวก็จะหลับไปเอง”

( ช่วงเวลาแห่งการสนทนานี้  ฉัน ไม่ได้ “ฟัง อย่างตั้งใจ”   และใช้ความคิดตัวเองเหมารวม และตอบกลับเพื่อให้ผ่านพ้นบทสนทนานั้นโดยไม่ได้คิดไปถึง  สิ่งที่แม่ไม่ได้พูด คือ “แม่รู้สึกกังวลกับอาการที่จะต่อเนื่องจากการนอนไม่หลับนานๆ ที่จะทำให้ความดันโลหิตสูง และ อาจกระทบไปถึงโรคหลอดเลือดสมองแบที่ป๊าเป็น   แม่ไม่อยากเป็นคนป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต”    นี่คือสิ่งฉันคาดเดาเมื่อได้ทบทวนในเวลาต่อมา)

กว่า 4 เดือน แม่โทรมาบ่อยครั้ง จะได้คำตอบแบบนี้ตลอด  สิ่งที่ฉันพลาดที่ไม่ได้นำความรู้เรื่องการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นมาใช้ คือการสอบถามประวัติอย่างละเอียดในทุกๆอาการที่เป็นไปได้ของโรคในปัจจุบันและประวัติการเจ็บป่วยในอดีต โรคประจำตัว ที่ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน นั่นคือ  โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เคยผ่าตัดไปนานแล้วและต้องทานยาเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนไปตลอดชีวิต

จนกระทั่ง เมื่อครบกำหนดการพบแพทย์เพื่อติดตามและเฝ้าระวังโรคประจำตัวในรอบ 4 เดือน ( เบาหวาน  ความคัน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)  คุณแม่ต้องเข้ากทม. เพื่อพบแพทย์    ผลการวินิจฉัยปรากฏว่า คุณแม่มีอาการกำเริบของต่อมไทยรอยด์เป็นพิษที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปทั้งๆที่ผ่าตัดออกไปแล้ว  ส่งผลให้มีอาการนอนไม่หลับ  ใจสั่น เหนื่อน ผอมลง ทานอาหารไม่อิ่ม หิวตลอดเวลา   การรักษาครั้งนี้ คือ การกลืนรังสี เพื่อทำลายต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไปออกไปให้หมด  กว่า 4 เดือนที่คุณแม่ ทุกข์ทรมานจากการป่วยที่ไม่ได้รับการดูแลและรับฟังอย่างตั้งใจของฉัน   หากปล่อยต่อไปอีกคุณแม่คงเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้นไปกว่านี้  ขอบคุณที่เรายังสามารถจัดการได้จนสำเร็จ  เรื่องนี้ติดค้างในใจและค้นพบด้วยการฝึกปฏิบัติใน workshop ที่เกี่ยวกับการค้นหาปมในจิตใต้สำนึกที่ไม่กล้าเผชิญหน้าและต้องการกล่าวขอโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างจริงใจ  ครั้งนั้นฉันร้องไห้โฮออกมาอย่างหนัก  น้ำตาไหล รู้สึกสำนึกผิด และกล่าวขอโทษคุณแม่ และไม่มีอะไรติดค้าง  และสาเหตุของเรื่องราวนี้ก็คือ การยึดโยงแต่ Inward   Mindset ของตัวเอง ไม่เคยได้ฝึกการมี Outward Mindset  ตามที่สุภาษิตไทย “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ที่ให้ข้อคิดได้ในแนงทางเดียวกัน  

รอยแผลนั้น  มาประกอบกับ ความรู้ในเรื่อง  Outward Mindset ที่พึ่งเรียนรู้ใหม่  ยิ่งประกอบร่างให้เห็นถึง ความสำคัญของการเฝ้าระวังและรักษาความสัมพันธ์ รวมทั้ง การรับฟังอย่างตั้งใจ   จากนั้นเฝ้าติดตามสติ ตื่นรู้   รู้เท่าทันความรู้สึก  มีระยะห่างได้ใคร่ครวญ  ก่อนที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนอง  และพร้อมยอมรับผลของพฤติกรรมของเรา   แน่นอน ต้องยอมรับผลของการกระทำที่ไปกระทบจิตใจของผู้อื่นเสมอ  หากเราตระหนักรู้ที่จะรักษาสัมพันธภาพ  พยายามที่ให้มีบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกัน  ความร้าวฉานย่อมเกิดขึ้นน้อยลงเป็นลำดับ

หมายเลขบันทึก: 713328เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2023 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2023 11:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท