ธรรมของครูผู้สอน


 

ธรรมของครูผู้สอน

ครู ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ มารดา บิดา เป็นครูคนแรกของบุตรธิดา เรียกว่า บูรพาจารย์ เพราะ เป็นครูที่สอนให้สำเหนียกโดยนัยเป็นต้นว่า เจ้าจงนั่งอย่างนี้ จงยืนอย่างนี้ และว่า คนนี้ ควรเรียกว่า “พ่อ”  ต่อมาภายหลัง อาจารย์เหล่าอื่นให้ศึกษาศิลปวิทยาทั้งหลาย อาจารย์เหล่าอื่น ให้สรณและศีล ให้บรรพชา ให้เล่าเรียนพุทธวจนะ ให้อุปสมบท ให้บรรลุมรรคผล อาจารย์เหล่านั้นทั้งหมด ชื่อว่า ปัจฉาจารย์ เพราะ ฉะนั้น บิดา มารดา ท่านจึงเรียกว่า บูรพาจารย์ เพราะ เป็นอาจารย์ก่อนอาจารย์ทั้งหมด
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสไว้ ในสพรหมสูตร ในติกนิบาตร จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย ว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม นั้น เป็นชื่อของ บิดา มารดา คำว่า บุรพเทพ เป็นชื่อของ บิดามารดา คำว่า บุรพาจารย์ เป็นชื่อของบิดามารดา คำว่า อาหุไนยบุคคล เป็นชื่อของบิดามารดา เพราะ บิดามารดา เป็นผู้มีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ครูอาจารย์ ผู้ทำหน้าที่สอน ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ และ ประพฤติตามหลักปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
 

ก.    เป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณของ กัลยาณมิตร หรือ กัลยาณมิตร ๗ ประการ คือ
 

-    ปิโย  น่ารัก ทำให้รู้สึกสบายใจ และ สนิทสนมชอบใจ ให้อยากเข้าไปปรึกษา
-    ครุ    น่าเคารพ  มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และ ปลอดภัย
-    ภาวนีโย  น่าภูมิใจ  เป็นผู้ทรงคุณ คือ ความรู้ และ มีภูมิปัญญาอย่างแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรม และ ปรับปรุงตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่อง ควรเอาอย่าง เป็นที่เจริญใจของศิษย์
-    วัตตา  รู้จักพูด  รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่า เมื่อไร ควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำ ว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
 

-    วจนกฺขโม  อดทน ต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา สอบถาม ทุกอย่างอยู่เสมอ อดทน ฟังได้ ไม่เบื่อ
-    คัมภีรญฺ จ กถํ กตฺตา  กล่าวชี้แจง แถลงเรื่องต่าง ๆ ที่ลึกซึ้ง ให้เข้าใจได้
-    โน จฏฺฐาเน นิโยชเย  ไม่แนะนำในเรื่องที่เหลวไหล หรือ ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย
 

ข.    เป๋นผู้ตื่นตน อยู่ใน ธรรม ของผู้แสดงธรรม เรียกว่า  เทศกธรรม มี ๕ ประการ 
 

-    อนุปุพพิกถา  แสดงไปตามลำดับ  คือ แสดงหลักธรรม หรือ เนื้อหาตามลำดับ ความง่ายยาก ลุ่มลึก มีเหตุผล สัมพันธ์ต่อเนื่องกันไป โดยลำดับ
-    ปริยายทัสสาวี  ชี้แจงยกเหตุผลมา แสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละ แง่ แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความ ยักเยื้องไปต่าง ๆ ตามแนวเหตุผล
 

-    อนุทยตัง ปฏิจจะ  แสดงธรรม ด้วยอาศัยเมตตา คือ สอนด้วยจิตเมตตา มุ่งที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ ผู้รับคำสอน
-    น  อามิสสันตโร  ไม่สอนด้วยเห็นแก่อามิส คือ สอนเขา มิใช่มุ่งที่ตนจะได้ลาภ สินจ้าง หรือ ผลประโยชน์ ตอบแทน
-    อัตตานัญจะ ปรัญจะ อนุปหัจจะ  แสดงธรรม ไม่กระทบตน และ ผู้อื่น คือ สอนตามหลักเหตุผล ตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสี ข่มขี่ผู้อื่น
 

ค.    ปฏิบัติต่อศิษย์ โดยอนุเคราะห์ ตามหลักปฏิบัติในทิศ หกข้อ ที่ว่าด้วยทิศเบื้องขวา
 

-    แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
-    สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
-    สอนศิลปวิทยาให้ โดยสิ้นเชิง
-    ยกย่องศิษย์ ให้ปรากฏในหมู่คณะ
-    ช่วยคุ้มครอง ให้เป็นที่พึ่งพำนักในทิศทั้งหลาย
 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักธรรมสำหรับบุคคลที่ทำหน้าที่สอน ทำหน้าที่สั่งสอนผู้อื่น จะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ของความเป็นครู จึงจะทำหน้าที่สั่งสอนผู้อื่น จะต้องมีคุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ ของความเป็นครู จึงจะทำหน้าที่ของครูให้สำเร็จได้โดยสมบูรณ์

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713298เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2023 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2023 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท