ธรรมกับชาวนา


 

ธรรมกับชาวนา

กสิกรรม  การทำไร่ไถนา  ส่วนเกษตรกรรม  หมายถึง  การใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชต่าง ๆ รวมทั้ง  การเลี้ยงสัตว์  การประมง  และ  การป่าไม้  การทำไร่  การทำนา  ก็เป็นอาชีพ อาชีพหนึ่ง  ในบรรดาอาชีพของมนุษย์ทั้งหลาย  การทำไร่  การทำนา  เป็นอาชีพ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  แม้แต่ในประวัติของพระพุทธเจ้า  ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการทำไร่ ทำนา ปรากฏอยู่ และ ถือว่า  อาชีพการทำนา เป็นอาชีพที่สำคัญ  จะเห็นได้จาก พระนามของพระโอรส และ ธิดา ลงท้ายด้วยคำว่า  โอทนะ  ซึ่งแปลว่า  ข้าว  ชาวนานั้น  ได้ชื่อว่า  เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ  ผลิตผล ทางการเกษตร ถูกนำไปเลี้ยงพลโลกปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนหลายล้านตัน  ทำรายได้ให้แก่ประเทศชาติปีละมาก ๆ แต่ ความเป็นอยู่ ของเขาก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นเลย  แม้ว่า เราจะยกย่องว่า  อาชีพเกษตรกรรม  เป็นอาชีพหลักของประชาชน  เรื่องของชาวนา ไม่เห็นจะเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา ที่ตรงไหน  มีอยู่ใน บทสังฆคุณว่า  พระสงฆ์ เป็นเนื้อนาบุญของโลก  แม้พระพุทธองค์ ก็เป็นชาวนาเหมือนพระญาติของพระพุทธองค์  คือ  พวกศากยะ และ พวกโกลิยะ  มีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน  ในการที่จะนำน้ำเข้านาของตน  พระพุทธองค์  ต้องเสด็จไปห้ามพระญาติ จนเกิดมีพระพุทธรูป ปางห้ามญาติ  มาจนถึงทุกวันนี้

แต่ในพระสูตร  พระพุทธองค์ ได้ตรัสยืนยันว่า  พระองค์ ทรงเป็นชาวนา  ดังพระดำรัส ที่พระพุทธองค์ ตรัสโต้ตอบกับกสิภารทวาชพราหมณ์  ความว่า  ครั้งหนึ่ง  เมื่อพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พราหมณคาม  ชื่อว่า  เอกนาลา  ทักขิณาคีรีชนบท  แคว้นมคธ  กสิภารทวาชพราหมณ์  ได้เทียมไถจำนวนห้าร้อย  ในฤดูหว่านข้าว  พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งห่ม จีวรเรียบร้อยแล้ว  ทรงถือบาตร เสด็จเข้าไปยังที่ เป็นที่เลี้ยงอาหารของพราหมณ์  ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง  กสิภารทวาชพราหมณ์ ได้เห็นพระพุทธองค์ ประทับยืนทรงบาตรอยู่  จึงกราบทูลว่า  ข้าแต่พระสมณโคดม  ข้าพระองค์ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ย่อมบริโภค ข้าแต่พระสมณโคดม แม้พระองค์ ก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภคเถิด

พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า  ดูกร พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน  ครั้นไถและหว่านแล้ว ก็บริโภค
พราหมณ์ กราบทูลว่า  ข้าแต่พระสมณโคดม  ข้าพระองค์ไม่เห็น แอก ไถ ผาล ปะฏัก หรือ โคทั้งหลาย ของพระโคดมเลย  เมื่อเป็นเช่นนี้  พระสมณโคดม ยังกล่าวอย่างนี้ว่า  ดูกร พราหมณ์  แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว ก็บริโภค
 

ครั้นแล้ว  กสิภารทวาชพราหมณ์  ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  ข้าแต่พระสมณโคดม ผู้เจริญ พระองค์ได้ปฏิญญาว่า  เป็นชาวนา  แต่ข้าพระองค์ ไม่เห็นการไถของพระองค์ พระองค์ ผู้เป็นชาวนา  ข้าพระองค์ ถามแล้ว ขอจงตรัสบอก ไฉน พระองค์ จะรู้การทำนาของพระองค์ ได้  พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสสอนพราหมณ์ โดยทรงแสดงธรรม เปรียบกับการทำนา เป็นใจความว่า 
 

๑.    สทฺธา  พีชํ  ศรัทธา ความเชื่อ เป็นพืช  ความเชื่อถึอ จัดเป็นหลักที่สำคัญ เพราะว่า  ศรัทธา ความเชื่อถือ ถ้าหากเกิดมีแก่ผู้ใดแล้ว  เขาสามารถจะเสียสละ แม้กระทั่งชีวิตของตนก็ได้  เช่น  เรื่องพราหมณ์ คนหนึ่ง ขอร้องภรรยา ให้งดการกล่าวคำ นมัสการต่อพระพุทธเจ้าสักวันหนึ่ง  เนื่องในวันเชิญพราหมณ์ มาเลี้ยงที่บ้าน นางก็บอกว่า งดไม่ได้ พราหมณ์ ผู้เป็นสามีโกรธมาก  จึงคว้าดาบมาจะฟันภรรยา  ภรรยาบอกว่า  ท่านอยากฆ่า อยากจะฟันตรงไหน เชิญตามสบาย  เพราะฉะนั้น  ศรัทธา ความเชื่อ จึงมีความสำคัญ พระพุทธองค์ ทรงเปรียบด้วย พืช ถ้าพืชดี หว่านลงไปก็จะงอกงาม
 

๒.    ตโป  วุฏฺฐิ  ตบะ ความเพียรเครื่องเผากิเลส  เป็นฝน  ตามปกติ การทำนาต้องอาศัยฝนแป็นหลัก  ถ้าหากฝนไม่มี ก็ไม่สามารถจะทำนาได้  พระพุทธองค์ทรงเปรียบตปะ ความแผดเผากิเลสตัณหา มีความมุ่งมั่นที่จะทำกิจให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยฝน
 

๓.    หิริ  อีสา  หิริ  ความละอายต่อการกระทำชั่ว  เป็น งอนไถ  หิริ เป็นธรรมที่คุ้มครองโลก ดังพระดำรัสที่พระพุทธองค์ตรัสว่า  ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  ธรรมอันขาวสองอย่างนี้ ย่อมคุ้มครองโลก  ธรรมอันขาวสองอย่างนี้ ได้แก่อะไรบ้าง  ได้แก่ หิริ และ โอตตัปปะ  หิริ ความละอาย คือ มีความเกลียดชัง ความชั่วเป็นลักษณะ  พระพุทธองค์ทรงเปรียบด้วย งอนไถ
 

๔.    ปญฺญา  ยุคนงฺคลํ  ปัญญา ความรอบรู้  เป็นแอกและไถ ปัญญา คือ ความรู้ชัด ความหยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะ ของสิ่งทั้งหลาย จนถึงเข้าถึงความจริง  พระพุทธองค์ทรงเปรียบปัญญาของเราด้วย  แอก และ ไถ
 

๕.    มโน  โยตฺตํ  ใจ เป็น เชือก  หมายถึง การไถนา  ในการไถนา เชือกก็เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ที่ช่วยให้การไถนาให้ดำเนินไปได้ ตามแต่ที่เราต้องการ  จะให้คด จะให้ตรง ก็อยู่ที่เชือก เป็นส่วนสำคัญ พระพุทธองค์ ทรงเปรียบใจด้วยเชือก  เพราะว่า  ใจสำคัญที่สุด ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า
 

๖.    สติ  ผาลปาจนํ  สติ ความระลึกได้  เป็นผาล และ ปฏัก  สติ ความระลึกได้ คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ  ได้แก่ การดำเนินชีวิต โดยมีสติเป็นเครื่องกำหนดความประพฤติปฏิบัติ และ กระทำทุก ๆ อย่าง  การไถนา ผาล ก็เป็นอุปกรณ์อันหนึ่ง  ที่ทำให้การไถนาเข้าไปลึกหรือไม่อย่างไร  และ ปฏัก ก็เป็นอุปกรณ์อันหนึ่ง ในการที่จะเร่งการไถนา ไปได้เร็วหรือช้า พระพุทธองค์ทรงเปรียบสติของเรา ด้วยผาลและปฏัก
 

๗.    กายคุตฺโต  มีกายที่คุ้มครองแล้ว  หมายถึง  มีกายที่เว้นจากการประพฤติชั่วด้วยกาย มีสาม คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และ กาเมสุมิจฉาจาร
 

๘.    วจีคุตฺโต  มี วาจา ที่คุ้มครองแล้ว หมายถึง มีวาจา ที่เว้นจากการประพฤติชั่วด้วยวาจา มีสี่ คือ มุสาวาท  ปิสุณาวาจา  ผรุสวาจา  และ สัมผัปปลาปะ  ประพฤติสิ่งที่เป็น วจีสุจริต
 

๙.    อาหาเร  อุทเร  ยโต  เป็นผู้สำรวมในการบริโภคอาหาร  หมายถึง  เป็นผู้บริโภคอาหาร โดยพิจารณาว่า  อาหารเป็นสภาพที่นำมาซึ่งผล โดยความเป็นปัจจัยค้ำจุนรูปธรรม และ นามธรรมทั้งหลาย  เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต  เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงร่างกาย และ จิตใจ ทำให้เกิดกำลัง และ เจริญเติบโต
 

๑๐.    สจฺจํ  กโรมิ  นิทฺธารณํ  เราทำการดายหญ้า  คือ วาจาสัปปรับด้วยคำสัตย์  หมายถึง การไม่พูดเท็จ เพราะ เหตุตนเอง และผู้อื่น หรือ กระทำเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ใด ๆ ไม่พูดคำส่อเสียด ช่วยสมานคนที่แตกร้าวกัน  ส่งเสริมคนที่สมัครสมานกัน  ไม่พูดคำหยาบ  พูดแต่คำสุภาพอ่อนหวาน  ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ  พูดแต่คำจริง มีเหตุผล  มีสารประโยชน์ ถูกกาลเทศะ
 

๑๑.    โสรัจฺจํ  ปโมจนํ  โสรัจจะ  อัธยาศัยอันงาม และ สงบเสงี่ยมของเรา  เป็นเครื่องให้การงานสำเร็จ หมายความว่า  พระพุทธองค์ ทรงมีธรรมะที่ทำให้งาม  คือ  ขันติและโสรัจจะ  ทำให้บุคคลมีกิริยา  กาย  วาจา  งาม ไม่น่าเกลียด  ไม่น่าโกรธ แก่ผู้ที่ได้พบเห็น  ทำให้เกิดศรัทธา แก่ผู้ที่ได้พบเห็น  ก็จะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้การงานสำเร็จลุล่วงไปได้โดยง่าย
 

๑๒.    วิริยํ  ธุรโธรยฺหํ  โยคกฺเขมาธิวาหนํ  วิริยะ  คือ  ความเพียรพยายามของเรา  เป็นเครื่องนำธุระไปให้ประสบความสมหวัง  นำไปถึงความเกษมจากโยคะ  ไปอย่างไม่ถอยหลัง ไปยังสถานที่บุคคล ไปแล้วไม่เศร้าโศก
พระพุทธองค์ ทรงสรุปการทำนาของพระองค์ว่า  ดูกร พราหมณ์ เราทำนาอย่างนี้  นาที่เราทำนั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ  นาที่เราทำแล้วอย่างนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง  กสิภารทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า  ข้าแต่พระโคดมผู้เป็นชาวนา  ขอจงบริโภคอมฤตผล ที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด
 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  เราไม่บริโภคโภชนะที่ได้ เพราะ ความขับกล่อม  ดูกร พราหมณ์  นี่เป็นธรรมดาของบุคคล ผู้เห็นอรรถเห็นธรรมอยู่  ดูกร พราหมณ์  เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไปยังมีอยู่  ขอท่านจงบำรุงพระขีณาสพทั้งสิ้น  ผู้แสวงหาคุณใหญ่  ผู้มีความคะนองระงับแล้ว ด้วยข้าวน้ำอันนี้  ด้วยการบำรุงนั้น เป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ  พราหมณ์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม  ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก  ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับ พระธรรมและ พระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ  ขอพระองค์ทรงจำข้าพเจ้า เป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

ไม่ควรค้าขาย มิจฉาวณิชชา
    
การค้าขาย  หมายถึง  การทำมาหากินในทางซื้อขาย  การซื้อขายแลกเปลี่ยน  แต่เดิมนั้น หมายถึง การนำสิ่งของต่างชนิดมาแลกเปลี่ยนกัน  เนื่องจากแต่ละคนนั้น  มีความต้องการไม่เหมือนกัน  จึงนำเอาสิ่งของที่ตนมีอยู่ มาแลกเปลี่ยนกัน มาถึงยุคปัจจุบัน การค้าขาย ก็เป็นศาสตร์หนึ่ง ที่จะต้องเรียนรู้ และ ถือว่า เป็นวิชาที่สำคัญวิชาหนึ่ง เรียกว่า วิชาการบริหารธุรกิจ เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการผลิต การหาตลาด และ ความต้องการ ของผู้บริโภค เป็นต้น การค้าขายได้ทำรายได้ให้แก่ประเทศ ปีละมากมาย  แต่โบราณนั้นถือว่า  การค้าขายไม่สำคัญ ดัง คำโบราณว่า สิบพ่อค้า ไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง แต่ในปัจจุบัน คำนี้ดูเหมือนว่า ใช้ไม่ได้แล้ว

ในอรรถกถาปัญจกนิบาต  ท่านแสดงไว้ว่า  อุบาสก ไม่ควรค้าขาย มิจฉาวณิช คือ การค้าขาย ที่ไม่ชอบธรรม อุบาสก หมายถึง บุคคลที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ ว่าเป็น สรณะ ตลอดชีวิต อุบาสกนั้น ต้องประกอบด้วย คุณสมบัติ ๕ ประการ คือ
 

๑.    ประกอบด้วยศรัทธา  ได้แก่ มีศรัทธา เชื่อถือพระรัตนตรัย เรียกว่า รตนตยสัทธา ประกอบด้วย กัมมสัทธา เชื่อกรรม วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม กัมมัสสกตา เชื่อว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตัว
 

๒.    มีศีลบริสุทธิ์ คือ มีศีล ๕ บริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่เป็นทาสแห่งตัณหา เป็นศีล ซื่งอาจให้เกิดสมาธิได้
 

๓.    ไม่ถือมงคล ตื่นข่าว คือ เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คำว่า มงคล ในที่นี้ หมายถึง มงคลตามลัทธิพราหมณ์ มีสามประการ ทิฏฐิมงคล สุตมงคล มุตมงคล
ทิฏฐิมงคลนั้น ได้แก่ การเชื่อถือว่า สิ่งที่ได้เห็นในเวลาเช้า คือ รูปที่โลกสมมติว่าดี ได้แก่ นกนางแอ่น หรือ หน่อไม้ไผ่ หญิงมีครรภ์ โอ่งน้ำที่มีน้ำเต็ม อื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ใดที่ตื่นเช้าได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ถือว่า เป็นมงคล คือ เป็นเครื่องเจริญ
 

สุตมงคลนั้น ได้แก่ สิ่งที่พวกพราหมณ์บัญญัติว่า เมื่อตื่นขึ้นเวลาเช้า ได้ยินเสียงที่คนทั้งหลายถือว่าดี เช่นที่ว่า เจริญแล้ว หรือ เจริญอยู่ หรือ เต็มแล้ว อื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
 

มุตมงคลนั้น ได้แก่ มงคลที่พวกพราหมณ์บัญญัติว่า เมื่อตื่นขึ้นเวลาเช้า ได้กลิ่นของหอม มีกลิ่นดอกไม้เป็นต้น  อื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าเป็นมงคล อุบาสกจะเชื่อถืออย่างนี้ไม่ได้ ต้องเชื่อกรรม คือ เชื่อถือการกระทำ จึงจะเรียกว่า เป็นอุบาสกที่ดี เรียกว่า อุบาสกแก้ว
 

๔.    ไม่แสวงหาบุญเขตนอกพระพุทธศาสนา  คือ ไม่แสวงหา ผู้ควรรับทักขิณาทาน นอกพระพุทธศาสนา ได้แก่ ไม่คิดว่า ใครหนอจะเป็นรู้สมควรแก่ทักษิณาทาน คือ สมควรแก่ทักษิณาทาน คือ สมควรแก่ทานที่ให้โดยเคารพ ก็มีอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่จำเป็นต้องคิดหานอกพระพุทธศาสนานี้
 

๕.    บำเพ็ญบุญ บำเพ็ญกุศล แต่ในพระพุทธศาสนา ข้อนี้ตามหลักที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ว่า ได้แก่ การทำอุปการคุณก่อนในพระพุทธศาสนา คือ ไม่ทำอุปการคุณในศาสนาอื่นก่อน ได้แก่ ไม่บำเพ็ญในศาสนาอื่นก่อนพระพุทธศาสนา เมื่อจะทำบุญทำในพระพุทธศาสนาก่อน แล้วภายหลัง จะทำในศาสนาอื่นก็ได้  ข้อนี้เพื่อ แสดงความเคารพในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
 

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นสมบัติของอุบาสก ผู้ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง ตลอดชีวิต เมื่อเป็นอุบาสกที่ดีของพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสว่า อุบาสก ไม่ควรค้าขายมิจฉาวาณิช ได้แก่ การค้าขายที่ไม่ชอบธรรม ๕ ประการ คือ
 

๑.    การค้าขายศาสตราวุธ ได้แก่ การค้าขายอาวุธทุกชนิด ไม่ว่าจะทำเอง หรือ ให้ผู้อื่นทำ ก็เป็นของที่ไม่สมควร เพราะ อาวุธเหล่านี้ ผู้ซื้อไปแล้ว จะนำไปประหัตประหาร ทำลายล้างชีวิตคนอื่น สัตว์อื่น
 

๒.    การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การซื้อ การขายมนุษย์ เช่น การซื้อทาส การขายทาส เป็นต้น เป็นการไม่สมควร เพราะว่า มนุษย์ ทุกคน ย่อมมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ ผิวขาว ผิวเหลือง
 

๓.    การค้าขายเนื้อสัตว์ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์เป็น มีสุกร และ โคกระบือ เป็นต้น สำหรับฆ่าเป็นอาหาร เราทุกคนต้องการความสุข เกลียดความทุกข์ ทำไม จะต้องไปเบียดเบียนคนอื่น และ สัตว์อื่นให้ได้รับทุกข์
 

๔.    การค้าขายน้ำเมา  ได้แก่ การกระทำน้ำเมาชนิดชนิดหนึ่ง มีสุราเมรัย หรือว่า เครื่องดองของเมา อันอนุโลมเข้าในสุราเมรัย เช่น กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีน เป้นต้น ไว้เพื่อค้าขาย
 

๕.    การค้าขายยาพิษ ได้แก่ ค้าขายยาที่เป็นพิษ ซึ่งจะเป็นอันตรายที่สามารถทำลาย ร่างกาย ตลอดจนชีวิตของคนและสัตว์ เป็นต้นได้
 

การค้าขาย ๕ ประการเหล่านี้ เป็นข้อห้าม สำหรับอุบาสก ที่นับถือพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง และ ยืดถือว่า เป็นสรณะอันสูงสุดในชีวิตแล้ว การที่จะไปค้าขาย ของที่ไม่ชอบธรรมเหล่านั้น จะเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงที่ดีงามว่า เป็นอุบาสก ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ไปทำสิ่งที่น่าตำหนิติเตียน หรือ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า เป็นอุบาสก แต่ไม่มีศีล เป็นผู้ขาด เมตตา กรุณา ขาด หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น อุบาสก จะค้าขายของ ๕ อย่างนี้ ด้วยตนเองก็ไม่ได้ ใช้ผู้อื่นก็ไม่สมควร พึงละเว้นให้ไกล ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสไว้ในพระธัมมปทัฏฐกถาว่า พ่อค้าทั้งหลาย ไม่เดินทางที่มีโจรชุกชุม ฉันใด คนที่รักชีวิต ก็ไม่ควรดื่มยาพิษ ฉันนั้น ภิกษุ เมื่อทราบว่า ภพทั้งสาม เช่น กับหนทางที่พวกโจรดักรออยู่ ก็ควรจากความชั่ว ฯ
 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713269เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2023 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2023 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท