ธรรมที่ทำให้เป็นคนเที่ยงธรรม


 

สิ่งที่บุคคล ไม่ควรดูถูก ดูหมิ่น

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมมีศักยภาพในตัวของมัน ซึ่งเป็นพลังที่แฝงอยู่ในสรรพสิ่ง ที่เราไม่ควรดูถูกหมายถึง การดูหมิ่นว่า เขาต่ำต้อย ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูกว่า ไม่ดีจริง ไม่เก่งจริง ไม่อาจให้คุณ ให้โทษอะไรได้ เรื่องเป็นเรื่อง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ความว่า
สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ว่า ข้าแต่พระสมณโคดม ผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มื่ชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ท่านปูรณกัสสป ท่านมักขลิโคศาล นิครนถ์นาฎบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายน และ อชิตเกสกัมพล ฯ
สมณพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อถูกหม่อมฉันถามว่า ท่านทั้งหลาย ย่อมปฏิญญาณ ได้หรือไม่ว่า เราได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดังนี้ ก็ยังไม่ปฏิญญาณตนได้ว่า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระสมณโคดม ผู้เจริญยังเป็นหนุ่มโดยกำเนิด และ ยังทรงเป็นผู้ใหม่ โดยบรรพชา ไฉนจึงปฏิญญาณได้เล่า ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร ของสี่อย่างเหล่านี้ อันบุคคลไม่ควรดูถูก ดูหมิ่นว่า เป็นของเล็กน้อย ของสี่อย่างนั้นเป็นไฉน ของสี่อย่างเหล่านั้น คือ
 

๑.    กษัตริย์  บุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า  ยังทรงพระเยาว์
๒.    งู          บุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า ตัวเล็ก
๓.    ไฟ        บุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า  เล็กน้อย
๔.    ภิกษุ      บุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า  ยังหนุ่ม
 

ดูก่อน มหาบพิตร ของสี่อย่างเหล่านี้ บุคคลไม่ควรดูถูก ดูหมิ่นว่า เล็กน้อย อธิบายว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ คือ
 

๑.    กษัตริย์  นรชนไม่พึงดูถูก ดูหมิ่นว่า กษัตริย์ ผู้ถึงพร้อมด้วยพระชาติ มีพระชาติสูง ผู้ทรงพระยศว่า ยังทรงพระเยาว์ เพราะเหตุว่า  พระองค์ เป็นมนุษย์ชั้นสูง ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระพิโรธขึ้น ย่อมทรงลงพระราชอาญาแก่เขาได้ ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทกษัตริย์นั้นเสีย
 

๒.    งู  อันนรชน เห็นงูที่บ้าน หรือ ป่าก็ตาม  ไม่พึงดูถูกดูหมิ่นว่า เล็ก เพราะเหตุว่า งู เป็นสัตว์มีพิษ ย่อมเที่ยวไปด้วยรูปร่างต่าง ๆ พึงมากัดชายหญิงผู้พลั้งเผลอ ในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทงู นั้นเสีย
 

๓.    ไฟ  อันนรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นว่า ไฟที่กินเชื้อมาก  ลูกเป็นเปลว มีทาง คำว่า เล็กน้อย เพราะว่า ไฟนั้นได้เชื้อแล้ว ก็เป็นกองไฟใหญ่ได้ พึงลามไหม้ชายหญิง ผู้พลั้งเผลอในกาลบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทไฟนั้นเสีย
 

๔.    ภิกษุ อันนรชนไม่พึงดูถูก ดูหมิ่นว่า ยังหนุ่ม ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำไปแล้ว เมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พันธ์หญ้าต่าง ๆ หรือ ต้นไม้ยังงอกขึ้นในป่าได้ ส่วนผู้ใดถูกภิกษุผู้มีศีลแผดเผา อธิบายว่า ผู้ใดประทุษร้ายต่อพระภิกษุผู้มีศีล อำนาจเดชศีลของท่าน ย่อมแผดเผาผู้นั้นไปเอง มิใช่ว่า ท่านผูกพยาบาทต่อเขา และ ผลกรรมที่ชั่วย่อมเกิดมีแก่เขาในปัจจุบัน บุตรธิดาและ ปศุสัตว์ ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ไม่มีเผ่าพันธ์ ยอมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน
 

ฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต พึงพิจารณาเห็น งู ไฟ กษัตริย์ผู้ทรงยศ และ พระภิกษุผู้มีศีล ว่า เป็นภัยพึงประพฤติปฏิบัติต่อท่านโดยชอบทีเดียว
 

สิ่งทั้งสี่นี้ พึงทำความพินาศให้แก่เราได้เฉพาะในชีวิตนี้เท่านั้น ส่วนจิตของบุคคลที่ตั้งไว้ผิด ย่อมทำความพินาศแก่เราทั้งในชีวิตนี้ และ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังทำความพินาศให้แก่เราอีก ยิ่งกว่าโจร หรือ บุคคลผู้เป็นเวรแก่กันจะพึงทำเสียอีก ซัดให้ตกไปในอบายภูมิทั้งสี่ ไม่ให้โอกาสโผล่หัวขึ้นมาผูดมาเกิดอีกต่อไป ส่วนจิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ ย่อมยังบุคคลผู้นั้น ให้ถึงความเกษมสำราญ ทั้งในชีวิตนี้ และ ชีวิตในภายภาคหน้า

ธรรมที่ทำให้เป็นคนเที่ยงธรรม

คนเราเกิดมาทุกคน ต้องการความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม และ ความชอบด้วยเหตุด้วยผลกันทั้งนั้น แต่ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความยุติธรรม จะเกิดขึ้นได้นั้น เพราะ คนเรามีหลักธรรม คือ หลักธรรมที่ทำให้คนเราไม่ลำเอียง ได้แก่ ความไม่เอนเอียง หรือ ความไม่เที่ยงตรง คือ ไม่หนักไปข้างโน้น เบาไปทางนี้ หลักธรรมะข้อนี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ นายแพทย์ ครู ผู้พิพากษา นักปกครอง บิดามารดา และ ภัตตุเทส เป็นต้น เพราะว่า บุคคลเหล่านี้ ย่อมต้องการความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ในตนยิ่งกว่าคนสามัญธรรมดา เหตุที่จะชักพาไม่ให้คนตั้งอยู่ในความเที่ยงธรรม นั้นมีอยู่สี่ประการ เรียกว่า อคติ พระพุทธองค์แสดงไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย การถึงอคตินั้นมีอยู่สี่ประการ คือ ถึงฉันทาคติ ๑ ถึงโทสาคติ ๑ ถึงโมหาคติ ๑ และ ถึงภยาคติ ๑
 

๑.     ฉันทาคติ  มีความรักเป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง เป็นต้นว่า แพทย์มีคนไข้ที่จะต้องรักษาหลายคน เพราะเหตุที่มีความหวัง หรือ เห็นแก่ลาภที่จะพึงได้ ก็ดูแลรักษาพยาบาลในฝ่ายนั้นมาก ทอดทิ้งอีกฝ่ายหนึ่ง จนเสียการเสียประโยชน์ ที่ไม่ถึงตายก็ต้องตาย เพราะเหตุที่ ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อ จากแพทย์ผู้รักษาพยาบาล ให้สมแก่หน้าที่อย่างนี้ เรียกว่า ลำเอียงเพราะรักใคร่ ในอรรถกถา ได้อธิบายไว้ว่า ผู้ใด ทำผู้มิใช่เจ้าของให้เป็นเจ้าของ ด้วยอำนาจฉันทะ คือ ด้วยอำนาจความพอใจว่า ผู้นี้เป็นมิตรของเรา หรือ เป็นเพื่อนกินของเรา เป็นเพื่อนเห็นของเรา เป็นญาติของเรา หรือ ให้สินบนแก่เรา ผู้นี้ชื่อว่า ทำความชั่ว เพราะ ถึงฉันทาคติ
 

๒.    โทสาคติ มีความโกรธ เป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง โทสะ ความคิดประทุษร้าย ความขัดเคือง บุคคลที่มีโทสะครอบงำแล้ว ย่อมให้ทุกข์แก่บุคคลอื่นโดยการฆ่า หรือ การผูกมัดจองจำ การกระทำให้เสื่อมเสีย การครหา การขับไล่ การกดขี่ข่มเหง รังแก ย่อมเกิดจากโทสะ มีโทสะ เป็นต้นเหตุ มีโทสะเป็นเหตุให้เกิดขึ้น มีโทสะ เป็นปัจจัย ในอรรถกถา กล่าวไว้ว่า บุคคลใด ทำผู้มิใช่เจ้าของให้เป็นเจ้าของ ด้วยอำนาจการจองเวร ไวในกาลก่อนว่า บุคคลผู้นี้เป็นศตรูของเรา หรือ ด้วยอำนาจความโกรธที่เกิดขึ้นในขณะนั้น บุคคลผู้นั้น ชื่อว่า ชั่ว เพราะ โทสะ ถึงความลำเอียง เพราะ ความโกรธ
 

๓.    โมหาคติ  มีความลำเอียง เพราะ หลง เป็นคนเขลาเบาปัญญา ผิดพลาดเพราะ เขลา คนเขลา มีความมืดมากำบังปัญญา คนที่เขลา หลงงมงาย รู้เหมือนคนตาบอด เช่น มีผู้กล่าวคำใดคำหนึ่ง แล้ว ทำให้ผู้ที่มิใช่เจ้าของ ให้เป็นเจ้าของ เพราะ ความโง่เขลา หรือ ผู้ที่ฆ่าสัตว์ด้วยความเข้าใจว่า “จะได้บุญ จะได้กุศล คือ การฆ่าสัตว์ บูชายัญ”
 

๔.    ภยาคติ  ลำเอียง เพราะ กลัว ผู้ใดกลัวว่า บุคคลผู้นี้ เป็นราชวัลลภ คือ เป็นผู้คุ้นเคยกับพระราชา หรือ กลัวว่า บุคคลผู้นี้เป็นผู้ทุจริต อาจทำความฉิบหายให้แก่เราได้ แล้วทำผู้มิใช่เจ้าของ ให้เป็นเจ้าของ เรียกว่า ภยาคติ ลำเอียง เพราะ กลัว
 

อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดแบ่งของอย่างหนึ่ง ก็แบ่งให้มากกว่าผู้อื่น ด้วยอำนาจแห่งความรัก ว่า ผู้นี้เป็นเพื่อนเห็น หรือ เพื่อนกินของเรา ให้น้อยกว่า ด้วยอำนาจโทสะว่า เป็นศตรูของเรา ไม่รู้ว่าตนให้แล้วหรือยัง เพราะ ตนโง่เขลา ก็ให้แก่บางคนน้อยไป ให้แก่บางคนมากไป ให้แก่บางคนเกินเลยไป ด้วยความกลัวว่า ผู้นี้ เมื่อไม่ให้สิ่งนี้ ก็จะทำความพินาศให้แก่เรา บุคคลทั้งสี่ประเภทนี้ ชื่อว่า ลำเอียง เพราะ รัก เพราะโกรธ เพราะหลง และ เพราะกลัว

มีสิงห์โตตัวหนึ่ง ไปนอน ณ ที่แห่งหนึ่ง และ ได้นอนทับโพรงที่งูเข้าไปนอนขนดอยู่ พองูตื่นขึ้นหายใจไม่ออก จึงได้กัดสิงห์โตตาย ขณะนั้น ฤๅษีไปพบสิงห์โต ทราบว่า ตายแล้ว แต่เมื่อจับดูก็รู้สึกว่า ยังอุ่นอยู่ จึงได้เสกคาถาเป่าลงไปที่ตัวสิงห์โต ทำให้สิงห์โตฟื้นขึ้นมา สิงห์โตโกรธมาก หาว่าฤๅษี มารบกวนการนอน จะฆ่าฤๅษี ฤๅษีพูดว่า สิงห์โต นั้นตายไปแล้ว ที่ฟื้นขึ้นมานั้น เพราะ ตนได้เสกคาถาเป่าลงไป สิงห์โต ก็เถียงว่า ไม่จริง 
 

ทั้งสองจึงตกลงกันไม่ได้ จึงพากันไปหาความยุติธรรม ไปพบเทวดา ฤๅษีได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง เมื่อ เทวดา ได้ฟังแล้ว ก็ตัดสินให้สิงห์โตกินฤๅษี ด้วยอำนาจฉันทาคติ ลำเอียงเพราะ รักใคร่ แต่ฤๅษีบอกว่า ไม่ยุติธรรม ทั้งสองจึงพากันไปหาสุนัขจิ้งจอก ฤๅษีก็เล่าเรื่องให้ฟัง เมื่อสุนัขจิ้งจอกได้ฟังแล้ว ก็ตัดสินว่า สิงห์โต เป็นฝ่ายถูก ฉะนั้น ต้องฆ่าฤๅษี เพระ มีจิตประทุษร้ายว่า สิงห์โตฆ่าตายแล้ว คงกินไม่หมด คงจะเหลือกระดูกให้เราบ้าง ถึงโทสาคติ ลำเอียงเพราะ คิดประทุษร้าย ฤๅษีก้ไม่ยอมบอกว่า อย่างนี้ไม่ยุติธรรม

ทั้งสองจึงเดินทางต่อไปและได้พบกับโค  ฤๅษีได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง เมื่อฟังจบ จึงตัดสินว่า สิงห์โตเป็นฝ่ายถูก เพราะ กลัวสิงห์โต ถึงภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว ฤๅษีก็ยังไม่ยอม ต้องไปหาความยุติธรรมให้ได้ ทั้งสองจึงเดินทางต่อไป พบลิงตัวหนึ่ง ฤๅษีก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็มืดแปดด้าน มองไม่เห็นหนทางที่จะตัดสิน เพราะ ความที่ตนโง่เขลาเบาปัญญา จึงตัดสินไปว่า สิงห์โตสมควรชนะ ชื่อว่า ถึงโมหาคติ ลำเอียงเพราะความโง่เขลา แต่ฤๅษีไม่ยอมรับคำตัดสินของลิงนั้น ทั้งสองจึงพากันเดินทางต่อไป เพื่อไปหาความยุติธรรม 
 

ในที่สุดไปพบกระต่าย ทั้งสองจึงขอร้องให้กระต่ายช่วยตัดสินคดีความให้ กระต่ายบอกว่า จะตัดสินก็ได้ แต่จะต้องไปดูสถานที่เกิดเหตุเสียก่อน จึงจะสามารถตัดสินความกันได้ ท่านทั้งสองจะยินยอมไม่ ทั้งสองยินยอมแล้ว ทั้งหมดจึงพากันไปยังสถานที่เกิดเหตุ ไปตรวจดูสถานที่ แล้วถามว่า สิงห์โต ท่านนอนอย่างไร ขอให้ท่านแสดงวิธีนอนให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย สิงห์โตก็แสดงท่านอนอย่างที่ตนนอนให้ดู ในขณะนั้น งูซื่งนอนอยู่ในโพรงนั้น ก็ออกมากัดสิงห์โต สิงห์โตก็ตาย กระต่ายบอกว่า ท่านฤๅษี ควรช่วยชีวิตสิงห์โต ให้ฟื้นคืนชีพ ขึ้นมา ฤๅษีกล่าวว่า สิงห์โตตายไปก็ยุติธรรมดี ไม่ต้องไปช่วยชีวิตมันอีกต่อไป

จากเนื้อหาสาระของนิทานที่นำมาเล่าทั้งหมดนี้ ก็จะเป็นแนวทางให้ท่านได้หัวข้อธรรม ที่จะนำไปเป็นเครื่องพิสุจน์ว่า ท่านได้ปฏิบัติตนตาม แนวของความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม และ ความชอบด้วยเหตุ ด้วยผล มากน้อยเพียงใด ถ้าหากท่านสามารถวิเคราะห์ แยกแยะ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวท่านโดยปราศจากความลำเอียง เพราะ เหตุแห่งความรักใหม ความชอบใจว่า บุคคลเหล่านั้น เป็นเพื่อนรักเพื่อนกิน เพราะ เหตุแห่งความขัดเคืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เคยมีกันมาก่อน หรือ โกรธเคืองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วทำให้เกิดความโกรธ เพราะ เหตุแห่งความกลัว โดยคิดว่า บุคคลผู้นี้ เป็นที่โปรดปรานของพระราชา เป็นคนสนิทของอำมาตย์ มหาอำมาตย์ ตลอดจนเจ้านาย ผู้มีสามารถให้คุณให้โทษแก่ตนได้ และ เพราะ ความโง่เขลา เบาปัญญา หลงงมงาย มืดแปดด้าน มองไม่เห็นหนทาง เหมือนคนตาบอด เมื่อเราสามารถวิเคราะห์ แยกแยะ ปัญหาที่เราได้เผชิญมา แล้วดำเนินการ โดยความเที่ยงธรรม ก็จะเกิดความชอบธรรม ในหมู่คณะ ตลอดจนประเทศชาติ ในที่สุด

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713258เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2023 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2023 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท