การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๒๒ ยุธัญชยจริยา


เราดำริว่าเราผู้ที่พยาธิชราและมรณะยังไม่ครอบงำในชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย อันไม่ตั้งอยู่นานดุจหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า ควรบวชแสวงหามหานิพพานอันเป็นอมตะ ซึ่งไม่มีพยาธิชราและมรณะเหล่านี้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระมารดาพระบิดาถวายบังคมแล้วทูลขอบรรพชา

การบำเพ็ญบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอนที่ ๒๒ ยุธัญชยจริยา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            เราสลดใจเพราะเห็นหยาดน้ำค้างเหือดแห้งไป เพราะแสงของดวงอาทิตย์. เราทำความไม่เที่ยงของหยาดน้ำค้างนั้นให้เป็นปุเรจาริก พอกพูนความสังเวช เราถวายบังคมพระบิดา ทูลขอบรรพชา.

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

๓. ยุธัญชยวรรค

หมวดว่าด้วยกุมารนามว่ายุธัญชัยเป็นต้น

 

๑. ยุธัญชยจริยา

ว่าด้วยพระจริยาของพระยุธัญชัยกุมาร

 

             [๑]     ในกาลที่เราเป็นพระราชโอรสนามว่ายุธัญชัย มีบริวารยศหาประมาณมิได้ สลดใจเพราะได้เห็นหยาดน้ำค้างที่เหือดแห้งไปเพราะแสงดวงอาทิตย์

             [๒]     เราทำความเป็นอนิจจัง(ความไม่เที่ยง)นั้นแล ให้เป็นสิ่งที่สำคัญ พอกพูนความสังเวช ไหว้พระมารดาและพระบิดาแล้วทูลขอบรรพชา

             [๓]     พระมารดาและพระบิดาพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งชาวแว่นแคว้น ประนมมืออ้อนวอนเราว่า วันนี้ เจ้าจงปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเถิดลูก

             [๔]    เมื่อมหาชนพร้อมทั้งพระบิดา นางสนม ชาวนิคม และชาวแว่นแคว้น ร้องไห้ร่ำไรน่าเวทนายิ่งนัก เราไม่ห่วงใย สละไปแล้ว

             [๕]    เราสละราชสมบัติในแผ่นดิน หมู่ญาติ บริวารชน และยศศักดิ์ทั้งสิ้น ไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น

             [๖]     พระมารดาและพระบิดาจะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่ ยศอันยิ่งใหญ่ จะเป็นที่รังเกียจของเราก็หาไม่ แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล

ยุธัญชยจริยาที่ ๑ จบ

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนำมาจากบางส่วนของอรรถกถา 

ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น

๑. ยุธัญชยจริยา

               อรรถกถายุธัญชยวรรคที่ ๓               
               การบำเพ็ญเนกขัมมบารมี               
               อรรถกถายุธัญชยจริยาที่ ๑               

 

               กรุงพาราณสีนี้ในอุทยชาดก ชื่อว่าสุรุนธนนคร. ในจูฬสุตโสมชาดก ชื่อว่าสุทัศนนคร. ในโสณนันทชาดก ชื่อว่าพรหมวัฑฒนนคร. ในขัณฑหาลชาดก ชื่อว่าบุบผวตีนคร. แต่ในยุธัญชยชาดก ชื่อว่ารัมมนคร.
               บางครั้งชื่อของนครนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างนี้.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระราชบุตรเป็นโอรสของพระราชาพระนามว่าสัพพทัตตะ ในรัมมนคร. พระราชาพระองค์นั้นได้มีพระโอรส ๑,๐๐๐ องค์. พระโพธิสัตว์เป็นโอรสองค์ใหญ่. พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชให้.
               พระโอรสนั้นทรงให้มหาทานทุกๆ วัน ตามนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               เมื่อกาลผ่านไปอย่างนี้ วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ขึ้นประทับรถอันประเสริฐแต่เช้าตรู่ เสด็จประพาสพระราชอุทยานด้วยสมบัติอันเป็นสิริใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นหยาดน้ำค้างที่ค้างอยู่บนยอดไม้ ยอดหญ้า ปลายกิ่งและใยแมงมุมเป็นต้นมีลักษณะเหมือนข่ายแก้วมุกดา ตรัสถามว่า ดูก่อนสารถี นั่นอะไร.
               ครั้นทรงสดับว่า นั่นคือหยาดน้ำค้างที่ตกในเวลามีหิมะ. ทรงเพลิดเพลินอยู่ ณ พระราชอุทยาน ตอนกลางวัน ครั้นตกเย็นเสด็จกลับ ไม่ทรงเห็นหยาดน้ำค้างเหล่านั้น จึงตรัสถามว่า ดูก่อนสารถี หยาดน้ำค้างเหล่านั้นหายไปไหนหมด. เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นหยาดน้ำค้างเหล่านั้น.
               ครั้นทรงสดับว่า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นหยาดน้ำค้างทั้งหมดก็สลายละลายไป ทรงดำริว่า หยาดน้ำค้างเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วสลายไปฉันใด แม้สังขารคือชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ฉันนั้น เช่นกับหยาดน้ำค้างที่ยอดหญ้า. เพราะฉะนั้น เราซึ่งยังไม่ถูกพยาธิ ชราและมรณะเบียดเบียนควรทูลลาพระมารดาพระบิดาออกบวช จึงทรงทำหยาดน้ำค้างให้เป็นอารมณ์ เห็นภพทั้งสามดุจถูกไฟไหม้ เสด็จมายังพระตำหนักของพระองค์ เสด็จไปเฝ้าพระบิดาซึ่งประทับอยู่ ณ โรงวินิจฉัยซึ่งประดับตกแต่งเป็นอย่างดี ถวายบังคมพระชนก ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่งทูลขอบวช.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 
               เราสลดใจเพราะเห็นหยาดน้ำค้างเหือดแห้งไป เพราะแสงของดวงอาทิตย์. เราทำความไม่เที่ยงของหยาดน้ำค้างนั้นให้เป็นปุเรจาริก พอกพูนความสังเวช เราถวายบังคมพระบิดา ทูลขอบรรพชา.
               เราดำริว่าเราผู้ที่พยาธิชราและมรณะยังไม่ครอบงำในชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย อันไม่ตั้งอยู่นานดุจหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า ควรบวชแสวงหามหานิพพานอันเป็นอมตะ ซึ่งไม่มีพยาธิชราและมรณะเหล่านี้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระมารดาพระบิดาถวายบังคมแล้วทูลขอบรรพชาว่า ขอพระมารดาพระบิดาจงทรงอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด.
               เมื่อพระมหาสัตว์ทูลขออนุญาตบวชอย่างนี้แล้วได้เกิดโกลาหลใหญ่ทั่วพระนครว่า ได้ยินว่า พระอุปราชยุธัญชัยมีพระประสงค์จะทรงผนวช.
               ก็สมัยนั้น ชาวแคว้นกาสีมาเพื่อจะเฝ้าพระราชาพากันเข้าไปในรัมมนคร. ทั้งหมดนั้นประชุมกัน. พระราชาพร้อมด้วยบริวาร ชาวนิคม ชาวชนบท พระมารดา พระเทวีของพระโพธิสัตว์และพวกสนมทั้งปวง พากันทูลห้ามพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระกุมารอย่าทรงบวชเลย.
               บรรดาชนเหล่านั้น พระราชาตรัสว่า หากกามทั้งหลายของลูกยังพร่องอยู่ พ่อจะเพิ่มให้ลูก. วันนี้ขอให้ลูกครองราชสมบัติเถิด.
               พระมหาสัตว์ทูลถึงความพอพระทัยในการบวชของพระองค์อย่างเดียวแด่พระบิดา ตรัสว่า 
                ข้าแต่พระบิดาผู้เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น ขอพระบิดาอย่าทรงห้ามลูกเลย ลูกสมบูรณ์ด้วยกามทุกอย่าง อย่าตกไปในอำนาจของชราเลย.
               เมื่อพระมารดาพร้อมด้วยพวกสนมคร่ำครวญอยู่อย่างน่าสงสาร จึงทูลถึงเหตุแห่งการบวชของพระองค์ว่า
               อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ก็เหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้า พอดวงอาทิตย์ขึ้นก็เหือดแห้งไป ข้าแต่พระมารดา ขอพระมารดาอย่าห้ามลูกเลย.
               แม้เมื่อพระมารดาพระบิดาทรงห้ามอยู่ ก็มิได้มีพระทัยท้อถอยเพราะความสังเวชพอกพูนเป็นอย่างยิ่ง มิได้มีพระทัยห่วงใยในพระประยูรญาติหมู่ใหญ่อันเป็นที่รักและในราชอิสสริยยศอันโอฬาร ทรงบรรพชาแล้ว.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 
               มหาชนพร้อมทั้งชาวนิคม ทั้งชาวแว่นแคว้น ประนมอัญชลีอ้อนวอนเรา. พระบิดาตรัสว่า วันนี้ ลูกจงปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเถิด. เมื่อมหาชนพร้อมทั้งพระบิดา นางสนม ชาวนิคม และชาวแว่นแคว้นร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร. เราไม่ห่วงใย สละไปแล้ว.               

               พระมารดาพระบิดาตรัสว่า ลูกจงครองราชสมบัติในวันนี้เถิด. คือจงปกครองแผ่นดินอันใหญ่นี้ อันกว้างใหญ่ด้วยความเจริญยิ่งของบ้านนิคมและราชธานีและด้วยถึงความไพบูลย์อันไพศาล ด้วยความสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สารและด้วยความงอกงามของพืชพรรณมีข้าวกล้าเป็นต้น.
               พระมารดาพระบิดารับสั่งให้ยกเศวตฉัตรแล้วทรงขอร้องว่า ลูกจงครองราชสมบัติเถิด.
               ก็เมื่อมหาชนพร้อมด้วยพระราชา นางสนม ชาวนิคม ชาวแว่นแคว้นร้องไห้ คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร โดยอาการที่ความกรุณาอันใหญ่ย่อมมีแม้แก่ผู้ฟัง ไม่ต้องพูดถึงผู้เห็นเราไม่ห่วงใย ไม่เกาะเกี่ยวในบุคคลนั้นๆ บวชแล้วในกาลนั้นเอง ท่านแสดงไว้ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงว่า เราละสิริราชสมบัติเช่นกับสมบัติจักรพรรดิ พระประยูรญาติอันเป็นที่รัก ไม่ห่วงใย สละปริวารชน คนสนิทและยศอันใหญ่ที่ชาวโลกเขาเพ่งเล็งกันได้ ตรัสพระคาถาสองคาถาว่า 
               เราสละราชสมบัติในแผ่นดิน หมู่ญาติ บริวารชน และยศศักดิ์ทั้งสิ้นมิได้คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณ เราจะเกลียดพระมารดาพระบิดาก็หามิได้ เราจะเกลียดยศศักดิ์อันยิ่งใหญ่ก็หามิได้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ดังนี้.
               เมื่อพระมหาสัตว์ทรงสละทุกสิ่งทุกอย่าง เสด็จออกบวช. ยุธิฏฐิลกุมารพระกนิษฐาของพระโพธิสัตว์นั้นถวายบังคมพระชนก ทรงขออนุญาตบวชติดตามพระโพธิสัตว์. ทั้งสองกษัตริย์ก็ออกจากพระนคร รับสั่งให้มหาชนกลับ เสด็จเข้าป่าหิมวันตะ สร้างอาศรมบทในที่น่าพอใจ ทรงบวชเป็นฤๅษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิด ทรงเลี้ยงชีวิตด้วยรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นต้นจนตลอดพระชนม์ แล้วก็เสด็จไปสู่พรหมโลก.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 
               พระกุมารทั้งสอง คือ ยุธัญชยะและยุธิฏฐิละ ละพระมารดาพระบิดา ตัดความข้องของมัจจุ ออกบวชแล้ว.
               พระมารดาพระบิดาในครั้งนั้นได้เป็นมหาราชตระกูลในครั้งนี้.
               ยุธิฏฐิลกุมาร คือพระอานนทเถระ.
               ยุธัญชย คือพระโลกนาถ.
               การบริจาคมหาทานเมื่อก่อนบวชและการสละราชสมบัติเป็นต้นของพระมหาสัตว์นั้นเป็นทานบารมี.
               การสำรวมกายวาจาเป็นศีลบารมี.
               การบรรพชาและการบรรลุฌานเป็นเนกขัมมบารมี.
               ปัญญาเริ่มต้นด้วยทำมนสิการโดยความเป็นของไม่เที่ยง จนบรรลุอภิญญาเป็นที่สุดและปัญญา กำหนดธรรมเป็นอุปการะและไม่เป็นอุปการะแห่งทานเป็นต้น เป็นปัญญาบารมี.
               ความเพียรยังประโยชน์นั้นให้สำเร็จในที่ทั้งปวงเป็นวีริยบารมี.
               ญาณขันติและอธิวาสนขันติเป็นขันติบารมี.
               การไม่พูดผิดจากคำปฏิญญา ชื่อว่าสัจจบารมี.
               การตั้งใจสมาทานอันไม่หวั่นไหวในที่ทั้งปวง ชื่อว่าอธิษฐานบารมี.
               เพราะจิตคิดแต่ประโยชน์ในสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งเมตตาพรหมวิหาร ชื่อว่าเมตตาบารมี.
               ด้วยการวางเฉยในความผิดปกติที่ทำแล้วในสัตตสังขาร และด้วยอุเบกขาพรหมวิหาร ชื่อว่าอุเบกขาบารมี
               เป็นอันได้บารมี ๑๐ ด้วยประการดังนี้.
               แต่พึงทราบโดยความพิเศษว่าเป็นเนกขัมมบารมี.
               

               จบอรรถกถายุธัญชยจริยาที่ ๑               
               -----------------------------------------------------            

หมายเลขบันทึก: 713246เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2023 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2023 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท