หลักธรรมสมานไมตรี


 

หลักธรรมสมานไมตรี

การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นธรรมดา เพราะว่า ไม่มีใครในโลกที่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ด้วยตัวเพียงคนเดียว แต่การที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั้น ก็จะต้องมีหลักการ แต่ถ้าทำอะไรไม่มีหลักการแล้ว การงานย่อมก้าวก่ายกัน ไม่ประสานกัน การที่เราจะสร้างแนวร่วมในสังคมที่เราดำรงอยู่นั้น จะต้องสร้างบรรยากาศในสังคมนั้น ให้เป็นไปด้วยมิตรภาพ ถ้าหากต่างคนต่างอยู่ โดยแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก ความสามัคคีในสังคม ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อความสามัคคีไม่มี ก็เป็นโอกาสดี สำหรับศตรูที่จะทำลายล้างเราได้ เพราะ ฉะนั้น ทุกสังคม ตลอดจนประเทศชาติและโลกด้วย จึงต้องมีหลักการ เพื่อผดุงสังคมให้ดำรงอยู่อย่างสงบสุข ในทางพระพุทธศาสนา ก็มีหลักธรรม เครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ เรียกว่า สังคหวัตถุ ดังที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ ทานหนึ่ง ปิยวาจาหนึ่ง สมานัตตาหนึ่ง อัตถจริยาหนึ่ง แล้วทรงแสดงเป็นคาถาว่า สังคมวัตถุ ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปในโลกนี้ ทำให้โลกเป็นไปได้ เหมือนกับล้อแห่งรถหมุนไปได้ ฉะนั้น ถ้าสังคหวัตถุไม่มี บิดา มารดา ก็ไม่ได้รับความเคารพนับถือบูชา จากบุตรธิดา บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมเพ่งมองดูสังคหวัตถุ อยู่เสมอ จึงได้ถึงความเป็นผู้ใหญ่ และ เป็นผู้ควรสรรเสริญ สังคหวัตถุ มี ๔ ประการ คือ
 

๑.    ทาน การให้ ได้แก่ การให้แก่ผู้ที่ควรให้ คือ บุคคลใด เป็นบุคคลที่ควรสงเคราะห์ด้วยการให้ การให้ปัน คือ บุคคลใด ควรยึดหน่วงน้ำใจไว้ได้ ก็ควรให้ปันแก่บุคคลนั้น คนที่อยู่ร่วมกัน ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ต่างให้ความโอบอ้อมแก่กัน ผู้ใหญ่สงเคราะห์ ผู้น้อย ผู้น้อย สมนาคุณ ผู้ใหญ่ ผู้มั่งคั่ง เกื้อกูลแก่ ผู้ขัดสน ผู้ขัดสน ก็ตอบแทนตามโอกาส แต่ละคนต้องมีทานไว้ เป็นเชือกต่อที่ขาดให้ติดกัน มีทานไว้เป็นยาสมานรอยร้าวให้สนิท มีทานไว้เป็นเครื่องปิดช่องทะลุให้มิดชิด มีทานไว้เป็นบ่วงคล้องน้ำใจกัน ทานการให้ ท่านแยกเป็น ๒ ประเภท คือ
 

ก.    อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของ ๆ ตน คือ การให้สิ่งของเครื่องล่อใจ ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้ด้วยเต็มใจ ให้ด้วยกิริยาอันอ่อนโยน ให้ด้วยหน้าเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ให้ด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน
 

ข.    ธรรมทาน การให้ธรรมะ ให้วิชาความรู้อันหาโทษมิได้ด้วยบริสุทธิ์ มีน้ำใจอัธยาศัยกว้างสอนศิลปวิทยาให้แก่ผู้อื่น ช่วยปรับปรุงความประพฤติให้เป็นระเบียบ แนะนำให้ละชั่ว ประพฤติดี โดยมิได้หวังผลตอบแทน เรียกว่า ธรรมทาน
 

๒   ปิยวาจา  การกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก ได้แก่ การพูดถ้อยคำที่น่ารัก เมื่อผู้ใดชอบฟังถ้อยคำที่น่ารัก คือ ถ้อยคำที่อ่อนหวาน ก็พึงพูดถ้อยคำที่อ่อนหวานต่อผู้นั้น บางคนกล่าวว่า ถ้อยคำของเขาเพียงคำเดียวเท่านั้น ก็มีค่าตั้งพัน บุคคลเช่นนี้ ย่อมไม่หวังการให้ หวังแต่ถ้อยคำอันเป็นที่รักเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวเฉพาะถ้อยคำ อันเป็นที่รักเท่านั้นแก่เขา การที่ตนจะกล่าวถ้อยคำที่น่ารักแก่ใคร ๆ จะต้องกล่าวด้วยความจริงใจ
 

๒.    อัตถจริยา ได้แก่ การกล่าวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ บางคนไม่ต้องการการให้ปัน ไม่ต้องการคำพูดอันเป็นที่รัก ต้องการแต่ถ้อยคำอันจักเป็นประโยชน์ ที่จักเป็นความเจริญแก่ตนเท่านั้น บุคคลเช่นนี้ ควรกล่าวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขาว่า สิ่งนี้เธอควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ คนใดควรคบ ไม่ควรคบ เป็นต้น
 

๓.    สมานัตตา ความเป็นผู้มีสุขทุกข์เสมอกัน ได้แก่ ความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอ ไม่ถือตัว อธิบายว่า บางคนไม่ต้องการการให้ปัน ไม่ต้องการถ้อยคำที่น่ารัก ไม่ต้องการถ้อยคำอันเป็นประโยชน์ แต่ต้องการเพียงการนั่งบนอาสนะเดียวกัน นอนบนที่นอนเดียวกัน กินด้วยกันเท่านั้น คือ ต้องการทำตัวให้เข้ากับเขาได้ วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเสมอภาพ ปฏิบัติสม่ำเสมอกันต่อคนทั้งหลาย ไม่เอาเปรียบและเสมอในสุขทุกข์ คือ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อเกิดประโยชน์สุขร่วมกัน
 

สังคหวัตถุนี้ ควรใช้ให้ถูกแบบแก่บุคคล จึงจะได้ผลดี เมื่อเห็นว่า ผู้ใดชอบอย่างไหน ก็แสดงออกอย่างนั้น สังคหวัตถุนี้ ทำให้โลก คือ มนุษย์ชาติอยู่ด้วยกันได้ ให้โลกเป็นไปได้ เหมือนกับหมุดของรถ ทำให้รถแล่นไปได้ หรือ ลิ่มสลักที่เพลาเกวียน ซึ่งทำให้เกวียนไปได้ คือ ถ้ารกไม่มีหมุด ที่เพลาเกวียนไม่มีหลัก รถและเกวียนก็ไปไม่ได้ ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ คนทั้งหลายควรมีสังคหวัตถุ ๔ ต่อกัน ถึงบิดามารดา กับ บุตรธิดา ก็ควรมีสังคหวัตถุต่อกัน จึงจะรักใคร่นับถือกัน ถ้ามารดาบิดา ขาดสังคหวัตถุ ๔ แล้ว ก็ไม่เป็นที่รักใคร่นับถือ ของบุตรธิดา ฝ่ายบุตรธิดาก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีสังคหวัตถุ ๔ ต่อบิดามารดา ก็ไม่เป็นที่รักของมารดาบิดา มิตรต่อมิตร ญาติต่อญาติ สามีกับภรรยา ประชาชนกับรัฐบาล สมณพราหมณ์กับประชาชน อาจารย์กับศิษย์ ก็เหมือนกัน

หลักธรรมที่ทำให้งาม
    
ความสวยงามเป็นสิ่งประดับโลก ถึงแม้ว่า โลกเราจะมีสิ่งที่เลวร้าย แต่ก็มีสิ่งที่สวยงามเป็นของคู่กัน และ ทุกคนก็ล้วนต้องการและปรารถนาสิ่งที่สวย ๆ งาม ๆ ความสวยความงามในภายนอกนั้น เราสามารถจะตกแต่งให้มันสวย มันงามอย่างไรก็ได้ ดังภาษิตโบราณที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง”  ยิ่งในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปไกล จนเราไม่สามารถตามทัน เราต้องแสวงหาสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมา เพื่อสนองตัณหาความอยากสวยอยากงาม เช่นในปัจจุบันหนังมันหย่อน ก็ไปผ่าตัดหรือไปนวดให้มันตึง ทั้งนี้เพื่อให้มันสวยมันงาม แม้ว่า ความเจริญก้าวหน้าในด้านศัลยกรรม ตบแต่ง จะเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงใด ก็ไม่สามารถจะล่วงพ้นกฏธรรมดาของสังขารธรรม คือ สามัญญลักษณะทั้งสามประการไปได้
 

๑.    อนิจจตา  ความเป็นของไม่เที่ยง คือ ไม่คงที่ เพราะ จะต้องแตกดับไปตามสภาวะของมัน
๒.    ทุกขตา  ความเป็นทุกข์ เพราะ ถูกบีบคั้นอยู่เสมอ คือ เป็นทุกข์ในการที่จะบริหารรักษาให้มันคงสภาพอยู่ ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง
๓.    อนัตตา  ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน คือ เราไม่สามารถบังคับสังขารร่างกายของเรา ให้อยู่ในอำนาจได้ เช่น บังคับว่าอย่าแก่ อย่าเจ็บ และ อย่าตาย
 

เมื่อร่างกายเป็นไปตามกฏของสามัญญลักษณะ การที่เราจะตกแต่งให้มันสวยมันงามอย่างไร มันก็ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่คงทนถาวร เพราะว่า การตบแต่งสังขารร่างกายของเรานั้น เป็นการปรุงแต่งลักษณะที่มีอยู่ในภายนอก ความสวยความงามนั้น ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของร่างกาย

ส่วนความสวยความงามที่มีอยู่ภายในจิตใจของเรานั้น เป็นความงามที่เที่ยงแท้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงธรรมะที่ทำให้งามไว้ว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้มีอยู่ ๒ ประการ ธรรม ๒ ประการนั้น คือ ประการใดบ้าง ธรรม ๒ ประการนั้น คือ ขันติ และ โสรัจจะ”  ในธรรมเหล่านั้น ขันติได้แก่สิ่งใด
 

๑.    ขันติ  แปลว่า ความอดทน ได้แก่ ความอดทน กิริยาอดทน กิริยารับไว้ ความไม่ดุร้าย ความไม่ปลูกน้ำตา ในอรรถกถา ท่านให้ความหมายไว้ว่า ในนัยที่หนึ่ง ขันติ ได้แก่ อธิวาสนขันติ
 

๒.    โสรัจจะ  แปลว่า ความสงบเสงี่ยม ได้แก่ ความเป็นผู้มีศีลดีงาม ความเป็นผู้ยินดีในธรรมอันงาม 
ความหมายในนัยที่สอง ที่ชื่อว่า ขันติ เพราะ อำนาจแห่งผู้อดทน อาการแห่งความอดทน ชื่อว่า ความอดทน กริยาที่รับไว้ หมายความว่า บุคคลทั้งหลายย่อมรับไว้ คือ รับไว้ให้อยู่ในเบื้องบนของตนด้วยกิริยาอันนี้ ได้แก่ ไม่กำจัดเสีย ไม่ตั้งตัวเป็นศตรูด้วยกิริยาอันนี้ เพราะฉะนั้น กิริยาอันนี้ ชื่อว่า กิริยาที่รับไว้ ความเป็นผู้ไม่ดุ ชื่อว่า ความเป็นผู้ไม่ดุร้าย ถ้อยคำที่กล่าวไม่ดี เรียกว่า คำปลูกน้ำตา เพราะ เป็นคำที่บุคคลไม่ปลูกไว้ดี คำว่า วาจาที่กล่าวดี ชื่อว่า ไม่ปลูกน้ำตา คำว่า มีใจดี ได้แก่ ความมีจิตใจโสมนัส กายสุจริตสาม ชื่อว่า ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย วจีสุจริตสี่ ชื่อว่า ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ศีล มีการเลี้ยงชีพชอบเป็นที่แปด ซึ่งเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา เรียกว่า การไม่ล่วงละเมิดทางกาย และ ทางวาจา
 

การงดเว้นด้วยดี จากความชั่ว ชื่อว่า โสรัจจะ คำว่า ศีลสังวรณ์ทั้งหมด หมายทั้งความประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติทั้งทางกาย ทางวาจา และใจ ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความหมายที่ท่านให้ไว้ในบาลีและอรรถกถา แต่ก็ยังจับใจความได้ยาก ขอให้ท่านทำความเข้าใจดังต่อไปนี้

ขันติ แปลว่า ความอดทน ได้แก่ การรับสิ่งนั้น ๆ ไว้ ไม่สลัดทิ้งสิ่งนั้น ๆ เสีย แม้จะรู้ว่าสิ่งนั้น ๆ ไม่เป็นที่พอใจของตนก็ตาม ก็สู้รับไว้ ไม่สลัดสิ่งนั้นทิ้งไป ไม่ทำเหมือนโคโกงสลัดแอกทิ้งเสีย กิริยาอย่างนี้ ท่านเรียกรวมกันว่า อธิวาสนขันติ แปลว่า ความอดทน คือรับไว้ จึงได้ความว่า การรับสิ่งที่ตนไม่พอใจไว้ไม่สลัดทิ้งเสีย ก็เป็นขันติอย่างหนึ่ง ความไม่ดุร้าย หรือความไม่ฉุนเฉียว ความไม่โกรธ ความไม่พยาบาท ก็เป็นขันติอย่างหนึ่ง การไม่กล่าวถ้อยคำอันไม่ดี คือ คำหยาบ อันจะทำให้ผู้อื่นน้ำตาตก หรือทำให้ผู้อื่นร้องไห้ ทำให้ผู้อื่นเสียใจ น้อยใจ ก็เป็นขันติอย่างหนึ่ง ความมีใจดี คือ มีใจโสมนัส ไม่มีใจพยาบาท ก็เป็นขันติอย่างหนึ่ง เมื่อพูดตามหลักนี้ ขันติก็มีอยู่สี่ประการ คือ
 

๑.    ความอดทน อันได้แก่การรับไว้
๒.    ความไม่ดุร้าย
๓.    ความไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ผู้อื่น
๔.    ความมีใจดี คือ โสมนัส
 

คำว่า โสรัจจะ ในหลักที่สองว่า ความไม่ล่วงละเมิดทางกายทางวาจา ทั้งทางกายทางวาจากับศีลสังวรณ์ทั้งสิ้น เป็นโสรัจจะ ซึ่งในอรรถกถาได้ขยายออกไปว่า ความไม่ล่วงละเมิดทางกายนั้น ได้แก่สุจริตสาม ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจานั้น ได้แก่ วจีสุจริตสี่ ความไม่ล่วงละเมิดทั้งทางกายและทางวาจานั้น ได้แก่ ศีลมีอาชีวะเป็นที่แปด ในศีลสังวรณ์ทั้งสิ้น ก็เป็นโสรัจจะ ซึ่งในอรรถกถา ท่านหมายถึง ศีลทางใจด้วย อธิบายการไม่ล่วงละเมิดข้อห้ามทางกายทางวาจา และ ไม่นึกล่วงละเมิดข้อห้ามทางใจ ก็เรียกว่า ศีลสังวรณ์ได้ทั้งสิ้น
 

ใจความของคำว่า “โสรัจจะ” ได้แก่ ความไม่ล่วงข้อห้ามทางกาย วาจา และ ใจ หรือ ความไม่ประพฤติสิ่งที่ไม่ควรประพฤติทางกาย วาจา ใจ ถ้าแปลตามพยัญชนะ ใน ทุกนิบาตวรรณนา แปลว่า ความเป็นผู้มีศีลดี คือ ความมีปกติดี ความเป็นผู้ยินดีในธรรมอันดี คือ ความยินดีในทางดี ชื่อว่า โสรัจจะ ถ้าจะแปลตามอรรถกถา โสรัจจะ ต้องแปลว่า ความสงบ หรือ ความเสงี่ยม หรือ แปลรวมกันว่า ความสงบเสงี่ยม โสรัจจะ คำเดิม มาจาก โสรตะ แปลว่า ผู้ยินดีในความดี
 

คำว่า “โสรัจจะ” เมื่อมาคู่กับคำว่า “ขันติ” ขันติ ก็หมายความว่า ไม่โกรธ และ ไม่ทำให้ผู้อื่นโกรธด้วย โสรัจจะ ก็หมายถึง ความไม่กำเริบเอง และ ไม่ทำให้ผู้อื่นกำเริบด้วย ได้แก่ ความสงบเสงี่ยม

ขันติ และ โสรัจจะ ที่ว่าเป็น ธรรมที่ทำให้งามนั้น อธิบายว่า ธรรมะสองอย่าง นี้ จะทำให้ บุคคลมีกิริยา กาย วาจา งาม ไม่น่าเกลียด ไม่น่าโกรธ แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ไม่ใช่หมายถึง การทำให้รูปพรรณสัณฐานงาม เหมือนกับเครื่องประดับภายนอก แต่หมายถึง ทำให้มีกิริยาวาจางามเท่านั้น คนโกรธ คนกำเริบ ย่อมมีกิริยาอาการไม่งาม สีหน้าของคนโกรธกับสีหน้าของคนไม่โกรธ ย่อมน่ารัก และ ไม่น่ารักผิดกัน สีหน้าของผู้สงบเสงี่ยมกับสีหน้าของผู้กำเริบ คือ ผู้ไม่สงบเสงี่ยม ก็ย่อมน่ารัก และ น่าเกลียด ผิดกัน ส่วนอาการทางกาย วาจา ก็เช่นเดียวกัน คือ การทำของผู้โกรธ ผู้กำเริบ การพูดของผู้โกรธ ผู้กำเริบ กับ การพูดของผู้ไม่โกรธ ผู้ไม่กำเริบ ย่อมดูงดงามผิดกัน

ในขณะใด เราโกรธ หรือ กำเริบ  ในขณะนั้น สีหน้าอาการ กาย วาจา ของเราจะไม่น่ารักเลย ในขณะใด ใจเราไม่โกรธ ไม่กำเริบ ขณะนั้น สีหน้าของกาย วาจา ของเรา น่ารัก  เพราะฉะนั้น ธรรมสองประการ ขันติ ความอดทน โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยมนี้ เป็นของทำให้งาม คือ ทำให้ดูงาม พระพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ใน จุฬกัมมวิภังคสูตรว่า ผลแห่งความโกรธ ย่อมทำให้เกิดเป็นคนน่าเกลียด เป็นคนไม่สวย ไม่งาม ผลแห่งขันติ ย่อมทำให้เกิดเป็น คนน่ารัก เป็นคนสวยงาม คนที่เกิดมาเป็นผู้มีรูปร่าง น่าเกลียดไม่สวย ไม่งาม ในชาตินี้ เป็นเพราะ โทษของความโกรธในชาติก่อน ส่วนบุคคลทีมี รูปร่างสวยงาม ย่อมเป็นผลจาก ขันติ ในชาติก่อน ความไม่โกรธ ความสงบเสงี่ยม คือ ความไม่กำเริบ ซึ่งทำให้ดูงาม ย่อมมีได้ทั้งในคน และ สัตว์ จะได้ยกตัวอย่างเรื่อง นางเวเทหิกา

ในอดีตกาล ในพระนครสาวัตถี มีหญิงคนหนึ่งชื่อว่า เวเทหิกา เป็นผู้สงบเสงี่ยม ถ่อมตน สงบระงับ มีกิตติศัพท์ อันงามฟุ้งขจรว่า นางเวเทหิกา เป็นผู้สงบเสงี่ยม เป็นผู้ถ่อมตัว เป็นผู้สงบระงับ นางมีทาสี ชื่อว่า กาลี เป็นหญิงขยัน ไม่เกียจคร้าน จัดแจงการงานดี นางทาสีนั้น คิดว่า แม่เจ้าของเรา ไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ให้ปรากฏ หรือว่า ความโกรธไม่มี เราจะทดสอบแม่เจ้าดู จึงนอนตื่นสาย นางเวเทหิกาจึงถามว่า เจ้าไม่สบายหรือ จึงนอนตื่นสาย นาทาสี ตอบว่า แม่เจ้า ดิฉันสบายดี ไม่เป็นอะไร นางเวเทหิกา กล่าวว่า เจ้าไม่เป็นอะไร ทำไมเจ้าจึงตื่นสาย อีทาสีชั่ว จึงโกรธ น้อยใจ นางทาสี คิดว่า แม่เจ้าของเรา มีความโกรธ มิใช่ไม่มีความโกรธ จึงคิดทดลองต่อไปอีก
 

นางตื่นสายกว่าเก่า นางเวเทหิกา ยิ่งโกรธหนักยีงขึ้น นางจึงคว้ากลอนประตู ตีศรีษะนางทาสีแตก มีโลหิตไหลอาบ นางทาสี จึงโพทนาว่า เจ้าจงดูการกระทำของแม่เจ้าของเรา ผู้สงบเสงี่ยมเถิด กิตติศัพท์อันไม่ดีของนางเวเทหิกา ก็ฟุ้งขจรไปอย่างนี้ว่า นางเวเทหิกา ดุร้าย นางเวเทหิกา ไม่ถ่อมตัว นางเวเทหิกา ไม่สงบเสงี่ยม คุณมีอยู่ประมาณเท่าใด โทษก็เกิดขึ้นเป็นทวีคูณ ธรรมดาคุณค่อย ๆ มา แต่โทษนั้น เพียงวันเดียวเท่านั้นก็ย่อมกระพือไป
 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713227เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2023 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2023 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท