หลักธรรมที่ทำให้ คนประสบความสำเร็จในชีวิต


 

                          หลักธรรมที่ทำให้ คนประสบ
                               ความสำเร็จในชีวิต

 

บุคคล ที่จะได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จในชีวิต การครองเรือนนั้น  ก็จะเป็นชาวบ้านที่ดี น่าเคารพ น่านับถือเป็นแบบฉบับ และ ถือเป็นตัวอย่างได้  ต่อไปเป็นข้อความที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี  ความว่า
ครั้งหนึ่ง อนาถบิณฑิกคฤหบดี  ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตะวันมหาวิหาร ทูลถามปัญหาเรื่องความสุขของผู้ครองเรือน หรือ ความสุขที่ชาวบ้านควรพยายามทำให้เกิดขึ้น เรียกว่า สุขของคฤหัสถ์ ๔ ประการ  เป็นสุขที่คฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม ควรได้ตามสมควร คือ
 

๑.      อัตถิสุข  แปลว่า  ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์  หมายความว่า  คนในโลกนี้ภูมิใจว่า  ตนได้ทรัพย์สมบัติมาด้วยความหมั่น ความพากเพียรพยายาม ได้ทรัพย์มาด้วยกำลังแขน ได้ทรัพย์มาด้วยการทำงานจนเหงื่อตกยางออก  ได้ทรัพย์มาด้วยความชอบธรรม  ย่อมเกิดความโสมนัส เอิบอิ่ม และ อุ่นใจว่า  ทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่น ความพากเพียรพยายาม ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน และ โดยทางชอบธรรม ทรัพย์ที่ได้มาในทางอันชอบธรรมของเขามีอยู่ เรียกว่า อัตถิสุข
 

๒.    โภคสุข  แปลว่า  สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์  หมายความว่า  คนในโลกนี้ย่อมใช้สอยทรัพย์ เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ย่อมทำบุญด้วยทรัพย์ที่ตนได้มาด้วยความหมั่น ความเพียรพยายาม ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน และ โดยทางอันชอบธรรม เขาเกิดความโสมนัสและอิ่มเอมใจว่า ตนได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติที่ได้มาโดยชอบนั้น เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และ บำเพ็ญคุณประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม
 

๓.    อนณสุข  แปลว่า  สุขเกิดแต่การไม่เป็นหนี้  ที่ว่าสุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้นั้น คืออย่างไร  ได้แก่ บุคคลที่ไม่ได้เป็นหนี้ใคร ๆ ไม่ว่ามากหรือน้อย  เขาจะเกิดความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร เรียกว่า อนณสุข  สุขเพราะความไม่เป็นหนี้
 

๔.    อนวัชชสุข  แปลว่า  สุขเกิดจากประพฤติไม่มีโทษ  ได้แก่  อริยสาวกในพระพุทธศาสนานี้ เป็นผู้ประกอบ กรรมทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ อันไม่มีโทษ ย่อมภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใคร ๆ ก็ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย กางวาจา และ ทางใจ เรียกว่า อนวัชชสุข
ในอรรถกถา  ได้ให้ความหมายของคำว่า ควรได้ หมายถึง สิ่งที่ชาวบ้านควรได้รับ  คำว่า บริโภคกาม หมายถึง บริโภควัตถุกาม และ กิเลสกาม  ส่วนสุขอันเกิดขึ้นด้วยความมีทรัพย์ ชื่อว่า สุขมี  สุขอันเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ทรัพย์ เรียกว่า สุขใช้ สุขอันเกิดขึ้นด้วยเห็นว่าตนไม่มีหนี้ ชื่อว่า สุขไม่มีหนี้  สุขอันเกิดขึ้นด้วยเห็นว่า  ตนประพฤติไม่มีโทษ ชื่อว่า สุขไม่มีโทษ เป็นความสุขที่เยี่ยมยอดกว่าสุข ๓ อย่างข้างต้น

การแสวงหา และ  รักษาทรัพย์

 

หลักธรรมอันจะนำประโยชน์สุขแก่คนเราในชีวิตปัจจุบัน  เป็นธรรมะที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราผู้ครองเรือนจะต้องรู้  เพราะว่า  ธรรมะเหล่านี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ของคนเรา ถ้าหากว่า เรารู้ และ มีหลักธรรมเหล่านั้นประจำใจ  ย่อมมีโอกาสมากกว่าผู้ที่ไม่รู้และมี หลักธรรมข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พราหมณ์ ชื่อว่า อุชชัย  ได้นำปัญหาข้อข้องใจของตน ไปทูลถาม  เนื่องจากพราหมณ์ผู้นี้ จะต้องไปอยู่ในถิ่นอื่น ความว่า
ครั้งหนึ่ง  อุชชัยพราหมณ์ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลถามว่า  ข้าพระองค์จำเป็นต้องไปจากที่นี้ ไปอยู่ในต่างถิ่น  ขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน และ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกรพราหมณ์  ธรรม ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน คือ อุฏฐานสัมปทา, อารักขสัมปทา, กัลยาณมิตตตา, และ สมชีวิตา  เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์  คือ ประโยชน์ที่จะพึงได้ พึงถึงในชีวิตนี้ คือ
 

๑.      อุฏฐานสัมปทา  แปลว่า  ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยัน หมั่นเพียร ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน และ การประกอบอาชีพที่สุจริต  ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง  รู้จักใช้ปัญญาสอดส่องตรวจตรา  หาวิธีการที่เหมาะที่ดี  จัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี อธิบายว่า  กุลบุตรชายหญิง หาเลี้ยงชีวิตด้วยความขยันในหน้าที่การงาน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นกสิกรรมก็ดี พาณิชยกรรมก็ดี โครักขกรรมก็ดี ราชการทหารก็ดี ราชการพลเรือนก็ดี ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี  กุลบุตรเหล่านั้นเป็นผู้ขยันชำนิชำนาญ ไม่เกียจคร้านในงานนั้น ๆ ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอบสวน ตรวจตรารู้จักข้อปฏิบัติในเรื่องนั้น ๆ สามารถทำ สามารถจัดการให้ดำเนินไปได้โดยความเรียบร้อย เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา คือ ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ย่อมจะได้ทรัพย์สมบัติ จากการประกอบกิจการงาน ด้วยความหมั่นนั้น 
 

๒.    อารักขสัมปทา  แปลว่า  ถึงพร้อมด้วยการรักษา  คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ทั้งหลาย และ ผลงานที่ตนได้ทำไว้ ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม  ด้วยกำลังงานของตน ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสียไป อธิบายว่า  กุลบุตรมีโภคทรัพย์ ที่หาได้มาด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมไว้ด้วยกำลังแขนอย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม กุลบุครเหล่านั้น พึงจัดการรักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้น  โดยพิจารณาว่า จะทำอย่างไร พระราชาทั้งหลาย จะไม่พึงบริโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา  พวกโจรทั้งหลายจะไม่พึงลักไปเสีย  ไฟจะไม่พึงไหม้เสีย น้ำจะไม่พึงพัดพาไปเสีย และ ทายาทที่เลวร้ายไม่พึงเอาไปเสีย เรียกว่า อารักขสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยการรักษา เมื่อกุลบุตรหาทรัพย์ได้มาแล้ว พึงแบ่งทรัพย์นั้นออกเป็น ๔ ส่วน คือ ส่วนหนึ่ง นำไปใช้จ่ายเลี้ยงชีวิตและครอบครัว อีก ๒ ส่วน หนึ่งพึงนำไปลงทุนประกอบกิจการงาน ส่วนที่ ๔ พึงเก็บรักษาไว้ เพื่อใช้จ่ายในคราวมีภัย
 

๓.    กัลยาณมิตตตา  แปลว่า  การมีมิตรดี  คือ รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบ ไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลืยก เสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือ และ ผู้มีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่การงาน อธิบายว่า กุลบุตร เข้าไปอยู่ในบ้าน หรือ นิคมใดก็ตาม เธอพึงเข้าไปสนิทสนมสนทนาปราศัย ถกถ้อยปรึกษากับท่านที่เป็นคฤหบดีบ้าง บุตรของคฤหบดีบ้าง พวกคนหนุ่มที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง คนสูงอายุที่มีความประพฤติเป็นผู้ใหญ่บ้าง  ผู้ประกอบด้วยศรัทธา ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้ประกอบด้วยจาคะ ผู้ประกอบด้วยปัญญา เธอพึงศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อม ด้วยศรัทธาของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธา พึงศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยศีลของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยศีล  พึงศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยจาคะของท่านผู้เพียบพร้อมด้วยจาคะ พึงศึกษาเยี่ยงอย่างความเพียบพร้อมด้วยปัญญา  ซึ่งนับว่าเป็นคุณธรรมที่ดี เรียกว่า กัลยาณมิตตา ความเป็นผู้มีมิตรดี
 

๔.    สมชีวิตา  แปลว่า  การเป็นอยู่พอดี คือ รู้จักกำหนดรายได้ รายจ่าย เลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคือง หรือ ฟุ่มเฟือยนัก ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ อธิบายว่า  กุลบุตรพึงเลี้ยงขีวิตพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยเกินไป ไม่ให้ฝืดเคืองจนเกินไป โดยเข้าใจทางเพิ่มพูน และ ทางลดถอยแห่งโภคทรัพย์ว่า ทำอย่างนี้รายได้ของเราจึงจะเหนือรายจ่าย และ รายจ่ายของเราจึงจักไม่เหนือรายได้ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่ง หรือ ลูกมือคนชั่งยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมรู้ว่า หย่อนไปเท่านั้น หรือว่า เกินไปเท่านั้น ถ้าหากกุลบุตรมีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีพอย่างฟุ้งเฟ้อ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรผู้นี้ใช้ทรัพย์สมบัติไม่เหมาะสมกับฐานะตน  ถ้ากุลบุตรผู้นี้มีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีวิตอย่างฝืดเคือง ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรผู้นี้คงจะตายอย่างอนาถา แต่กุลบุตรผู้นี้เลี้ยงชีวิตอย่างพอเหมาะ จึงเรียกว่า สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตพอดี

การใช้จ่ายทรัพย์

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ได้ตรัสแสดงเหตุผลในการที่จะมีทรัพย์ หรือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากทรัพย์สมบัติ แก่ อนาถบิณฑิกคฤหบดี พึงจับเอาสาระดังต่อไปนี้ว่า  ดูกร คฤหบดี ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ ๕ ประการ คือ
 

๑.    ด้วยโภคะที่หาได้มา ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมขึ้นมาด้วยกำลังแขน อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำ ซึ่งเป็นของชอบธรรม ได้มาโดยชอบธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงตัวให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลตนให้เป็นสุขโดยชอบ ย่อมเลี้ยงบิดามารดา บุตรภรรยา คนรับใช้ กรรมกรคนงานให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบธรรม คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคทรัพย์ ข้อที่ ๑
 

๒.    อีกประการหนึ่ง  ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้มาโดยชอบธรรม อริยสาวกย่อมเลี้ยงมิตรสหาย และ ผู้ร่วมกิจการงานทั้งหลายให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม เอาใจใส่ดูแลให้เป็นสุขโดยชอบธรรม นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๒
 

๓.    อีกประการหนึ่ง  ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้มาโดยชอบธรรม อริยสาวก ย่อมป้องกันโภคะจากภยันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือ ทายาที่เลวร้าย ทำตนให้สวัสดี นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๓
 

๔.    อีกประการหนึ่ง ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...ได้มาโดยชอบธรรม อริยสาวก ย่อมทำพลีกรรม ๕ อย่าง คือ ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ อติถิพลี การต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี การทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ราชพลี การบำรุงราชการ เทวตาพลี ถวายเทวดา หรือ บำรุงศาสนา นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๔
 

๕.    อีกประการหนึ่ง  ด้วยโภคะที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร...อริยสาวก ย่อมประดิษฐานทักขิณาอันส่งผลสูง  อันอำนวยอารมณ์ดีงาม มีผลเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ ซึ่งฝึกฝนตนเอง ทำตนให้สงบ นี้คือ ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ข้อที่ ๕
คหบดี  ประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ มี ๕ ประการ ถ้าเป็นอริยสาวก นั้นถือเอาอยู่ซึ่งประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ เมื่อโภคะหมดสิ้นไป เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า อันใดเป็นประโยชน์ที่ควรถือเอาแห่งโภคะ ประโยชน์เหล่านั้นเราก็ถือเอาแล้ว อริยสาวก เหล่านั้นก็ไม่มีความเดือดร้อน

สัมปรายิกัตถประโยชน์

    สัมปรายิกัตถประโยชน์ เบื้องหน้า หรือ ประโยชน์ในด้านคุณค่าของชีวิต ประโยชน์สำหรับชีวิตด้านในเป็นหลักประกันชีวิตในอนาคตและภพหน้า คือ ความเจริญแห่งชีวิตจิตใจที่ก้าวหน้าเติบใหญ่ขึ้นด้วยคุณธรรม ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ได้ชื่อว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ในเบื้องหน้า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่ อุชชัยพราหมณ์ ที่เข้าไปกราบทูลถามถึงประโยชน์ในเบื้องหน้า  พระองค์ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ธรรมสี่อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขในภพต่อไป ธรรมสี่อย่างนั้น คืออะไรบ้าง คือ สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธาหนึ่ง สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีลหนึ่ง จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยจาคะหนึ่ง ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญาหนึ่ง
๑.    สัทธาสัมปทา  ความถึงพร้อมด้วยศรัทธานั้น คืออะไร?  คือ  กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้ไม่มีกิเลสหนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาจรณะ คือ เป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้และความประพฤติหนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นผู้ไปดี คือ ดำเนินไปในเหตุการณ์ดี ไม่มีผิดพลาดหนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้งสิ้นหนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นผู้ฝึกฝนบุคคลที่ควรฝึกฝนได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่มีใครจะฝึกฝนได้เท่าเทียมหนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นครูของเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นผู้ปลุกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ตื่นตัว ให้รู้สึกตัวว่า ตนเองจมอยุ่ในกองกิเลสและกองทุกข์หนึ่ง เชื่อถือว่า เป็นผู้แจกความรู้ ความดี ให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายหนึ่ง รวมเป็นการเชื่อถือในพระพุทธคุณเก้าประการ เมื่อเชื่อถืออย่างนี้แล้ว ก็เป็นเหตุให้อยากฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังแล้วอยากจะทำตาม เมื่อกระทำตามแล้ว ก็ได้รับผลดีตามสมควรแก่การทำของตน
๒.    สีลสัมปทา  แปลว่า ความถึงพร้อมด้วยศีล  ความพร้อมด้วยศีลนั้น  ได้แก่ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดต่อลูกเมียของผู้อื่น การพูดโกหก และ การดื่มสุราและเมรัย แม้การงดเว้นจากข้อห้ามต่าง ๆ ของพระภิกษุสามเณร ก็เรียกว่า สีลสัมปทาเหมือนกัน แต่สำหรับในที่นี้  พระพุทธเจ้าทรงมุ่งแสดงเพียงศีลของคฤหัสถ์เท่านั้น
๓.    จาคสัมปทา  แปลว่า  ความถึงพร้อมด้วยจาคะ ได้แก่ ความยินดีในการเสียสละของ ๆ ตน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งเรียกว่า การให้ทาน ดังพระดำรัสที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ดูกร พราหมณ์ กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีการเสียสละ มีมืออันล้างไว้แล้ว ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการปัน อยู่ครองเรือนด้วยใจ อันปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อันนี้แหละพราหมณ์ เราเรียกว่า จาคสัมปทา สำหรับในข้อนี้ หมายถึง การให้อามิสทานอย่างเดียว และ เป็นของสำหรับคฤหัสถ์อย่างเดียว 
๔.    ปัญญาสัมปทา  แปลว่า  ความถึงพร้อมด้วยปัญญา  ดังพระดำรัสที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พราหมณ์ว่า ดูกรพราหมณ์ ปัญญาสัมปทานั้น คืออย่างไร คือ กุลบุตรในโลกนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันรู้จักความเกิด ความดับ อันเป็นปัญญาอันบริสุทธิ์ เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เป็นปัญญาที่ทำให้สิ้นทุกข์โดยชอบ อันนี้แหละพราหมณ์ เราเรียกว่า ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา
ธรรมสี่อย่างนี้แหละพราหมณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกื้อกูล และ ความสุขในชาติต่อ ๆ ไป ครั้นแล้วได้ตรัสประพันธ์คาถา อันกล่าวถึง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ และ สัมปรายิกกัตถะประโยชน์ไว้ว่า  กุลบุตรผู้มีความหมั่นในการงาน ผู้ไม่ประมาท ผู้มีวิธี ย่อมเลี้ยงชีวิตได้พอสมควร ย่อมรักษาทรัพย์ที่หามาได้ กุลบุตร ผู้มีศรัทธา มีศีล รู้จักการสละ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมทำความสวัสดีในภายหน้าให้บริสุทธิ์เป็นนิจ ปรมัตถประโยชน์ แปลประโยชน์สูงสุด หรือ ประโยชน์ที่เป็นสาระแห้ของชีวิต ซึ่งเป็นจุดหมายขั้นสุดท้ายที่ชีวิตควรเข้าถึง คือ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันคติธรรมดาของสังขารธรรม ไม่ตกเป็นทาสของโลกและชีวิต มีจิตใจเป็นอิสระโปร่งโล่งผ่องใส ไม่ถูกบีบคั้นด้วยการยึดมั่นถือมั่นของตนเอง ปราศจากกิเลสทำให้เศร้าหมอง อยู่อย่างไร้ทุกข์ ประจักษ์แจ้งภายใน ประกอบด้วยความสงบเยือกเย็น สว่างไสวเบิกบานโดยสมบูรณ์ เรียกว่า วิมุตติ หรือ นิพพาน
พระพุทธเจ้ายอมรับความสำคัญของประโยชน์ทุกระดับชั้น โดยสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ การครองชีพ สภาพแวดล้อม ตามคติทางพระพุทธศาสนา บุคคลควรดำเนินชีวิตให้บรรลุ ถึงจุดหมายอย่างน้อยถึงขั้นที่ ๒ พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อมองเห็นประโยชน์ตน ก็ควรแท้ที่จะทำให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท หรือ มองเห็นประโยชน์ผู้อื่น ก็ควรแท้ที่จะทำให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท
คำว่า อรรถะ หมายถึง ประโยชน์ ที่ท่านแบ่งเป็น ๓ นัย พึ่งทราบความหมายตามนัยดังต่อไปนี้ คือ
๑.    อัตตัตถะ  ประโยชน์ตน หมายถึง การบรรลุเป้าหมายแห่งชีวิตของตน ได้แก่ ประโยชน์ ๓ อย่าง ในหมวดก่อนนั้นเอง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นแก่ตนโดยเฉพาะ เน้นถึงการพึ่งตนเองได้ในทุกระดับ เพื่อความไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น บำเพ็ญกิจการต่าง ๆ อย่างใด้ผลดี คุณธรรมที่เป็นแกนนำ เพื่อบรรลุประโยชน์สุขตนนี้ คือ ปัญญา ความรอบรู้
๒.    ปรัตถะ  ประโยชน์ผู้อื่น หรือ ประโยชน์ท่าน คือ หมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูล สนับสนุนผู้อื่นให้บรรลุประโยชน์ หรือ เข้าถึงจุดหมายแห่งชีวิตของเราในระดับต่าง ๆ ประคับประคอง ให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ หมายถึง ประโยชน์ ๓ อย่าง ในหมวดก่อน คุณธรรมที่เป็นแกนนำให้บรรลุผลข้อนี้ คือ กรุณา ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้พ้นทุกข์
๓.    อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หมายถึง ประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ประโยชน์ ๓ อย่างในหมวดก่อน ที่เป็นผลเกิดขึ้นแก่ตนและคนอื่น ๆ หรือแก่สังคม แก่ชุมชน ที่เป็นสังคมส่วนรวม เช่น ประโยชน์ที่เกิดจากของกลาง และ กิจการส่วนรวม คุณธรรมที่เป็นแกนนำที่จะให้บรรลุจุดหมายนี้ คือ วินัย และ สามัคคี

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713215เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2023 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2023 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท