หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน


 

หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน

 

    การครองเรือน เป็นชีวิตคู่ ซึ่งจะต้องร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน  ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก คือ เป็นผู้ที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ทอดทิ้งกันในยามสุข และ ยามทุกข์  คู่ครองที่ดี ที่เป็นคู่ชีวิตร่วมกันได้ (เนื่องด้วยชีวิตคู่เป็นชีวิตที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ)  นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติ ปละ ประพฤติตามธรรมะที่ผู้ครองเรือนจะต้องปฏิบัติ  เพื่อให้ชีวิตการครองเรือนของตนดำเนินไปด้วยดี  เพราะว่า ชีวิตการครองเรือนจะดำเนินไปได้ดีนั้น  จะต้องมีหลักสำหรับปฏิบัติ ถ้าขาดหลักปฏิบัติแล้ว  ผู้ครองเรือนก็ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตให้ราบรื่นตลอดรอดฝั่งไปได้  นาวาชีวิตก็จะล้มลงกลางทะเลมรสุม ไม่สามารถจะไปถึงฝั่งได้  จึงจำเป็นที่ผู้อยู่ครองเรือนจะต้องมีหลักธรรมประจำใจ  เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพราะว่า คนเราเมื่อเจริญเติบโตขึ้นแล้ว  ชีวิตที่ต้องประสบ คือ ความรัก ตั้งแต่ความรักชองบิดามารดาที่มีต่อบุตร  ความรักของครูที่มีต่อศิษย์ ตลอดจนความรักของหนุ่มสาว  และ ความรักระหว่างสามีภรรยา  การแสวงหาความรักนั้นไม่สู้ยากนัก  ปัญหาที่หนัก ก็คือ การครองรัก  เราจะถนอมความรักให้มั่นคงต่อไปได้อย่างไรนั้น  เป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะชีวิตของการครองรักนั้น  ใช่ว่าจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น เหมือนดำเนินไปบนถนนลาดยาง  มันต้องกระทบกระทั่งกันเหมือนฟันกับลิ้น  ถ้าขาดสติคอยยับยั้งชั่งใจ  ชีวิตในการครองรักก็จะขาดสะบั้นลงกลางคันได้

คู่ศีลธรรมคู่ความดี  หลักธรรมในการครองเรือนครองรัก  พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ชื่อว่า ฆราวาสธรรม  ซึ่งแปลว่า  ธรรมสำหรับผู้ครองเรือน  ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการครองรัก ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
สัจจะ  แปลว่า  ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อกัน  จริงทั้งกาย จริงทั้งวาจา และ จริงในการกระทำ  คนที่รักกัน ปรารถนาที่จะครองชีวิตร่วมกันตลอดไปนั้น  จะต้องซื่อสัตย์ต่อกัน  ไว้วางใจกัน  เพราะว่า ชีวิตคู่นั้นจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน  ฉะนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น  ก็ไม่ควรปิดบังอำพรางกัน เพราะ จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์กันตลอดไป  ถ้าหากสามีภรรยาไม่ซื่อสัตยต่อกัน เช่น สามีแอบไปมีภรรยาใหม่ลับ ๆ ไว้ หรือ ภรรยานอกใจสามี  ชีวิตการครองเรือนครองรัก  จะประสบความสุขได้อย่างไร  ต่างคนค่างคอยจับผิดกัน ไม่ไว้วางใจกัน ถ้าอารมณ์หุนหันพลันแล่นเกิดขึ้น  อาจต้องเลิกร้างกันไปก็ได้  ถ้าหากมีบุตรด้วยกัน  บุตรนั้นจะต้องพลอยรับกรรมที่พ่อแม่สร้างขึ้น  เป็นการสร้างปมด้อยให้แก่บุตร  เพราะฉะนั้น ผู้หวังที่จะให้การครองชีวิตคู่ครองของตนมีความสงบสุข  จะต้องมีสัจจะความจริงใจต่อกันเป็นเบื้องต้น จะขาดไม่ได้
ทมะ  แปลว่า  ความข่มใจ  การฝึกตน รู้จักควบคุมจิตใจ  ไม่วู่วาม  ฝึกหัดดัดนิสัย  แก้ไขข้อบกพร่อง  ข้อขัดแย้ง  ปรับตัวปรับใจเข้าหากัน  แม้บางครั้งอาจมีอะไรผิดใจกันเกิดขึ้น  ก็ต้องรู้จักข่มใจไว้บ้าง อย่าเอาอารมณ์เข้าหากัน  ตามธรรมดาลิ้นกับฟันยังกระทบกันได้  ทำไมสามีภรรยาจะกระทบกระทั่งกันบ้างไม่ได้  แต่ข้อสำคัญ อย่าปล่อยให้กิเลสฝ่ายต่ำครอบงำจิตใจ จนลืมเหตุผล  เพราะว่า  ไหน ๆ เราก็ตกลงปลงใจกัน ร่วมชีวิตคู่กันแล้ว  ก็ควรที่จะรู้จักถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน  อย่าเอาแต่โมโหโทโสจนเกินไป  ยิ่งผู้ที่ได้รับการศึกษาสูงเพียงใด  ก็จำต้องรู้จักข่มใจมากเพียงนั้น  เพราะว่า ความวู่วาม  ไม่รู้จักการใช้เหตุผลกัน  อาจก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้นได้  ย่อมก่อให้เกิดขึ้นได้  ย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อน  สร้างความรำคาญให้เกิดขึ้นแก่เพื่อนบ้าน  ทั้งเป็นการประณามตัวเองว่า เป็นผู้ที่มีจิตใจต่ำอีกด้วย  เพราะฉะนั้น  การอดกลั้นถนอมน้ำใจกัน หรือ การรู้จักข่มใจ  จึงเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งในการครองเรือนครองรัก
ขันติ  แปลว่า  ความอดทน  มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น  ไม่วู่วาม ทนต่อความล่วงล้ำก้ำเกินต่อกัน และ รวมกันอดทนต่อความเหนื่อยยาก  ลำบากตรากตรำฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ  เพื่อบรรลุความสำเร็จนั้น เราจะต้องอดทนเป็นอย่างมาก คือ ต้องอดทนต่อความลำบากนานาประการ  ต้องอดทนต่อความตรากตรำ ต้องทำงานทุกชนิด  เพื่อช่วยกันสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว  ต้องอดทนต่อความเจ็บใจ  แม้จะมีอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจเรา  เราจะต้องรู้จักความอดทนยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น  แม้ในระยะแรก ๆ เราอาจระงับจิตใจไม่ได้ก็ตาม  แต่ถ้าเราฝึกฝนเสมอ ๆ ก็อาจระงับใจตัวเองได้  คนที่ไม่มีความอดทนนั้น พอได้รับความทุกข์ลำบากเพียงเล็กน้อย  ก็ท้อถอยเสียแล้ว  อย่างนี้เราจะสร้างตัวใด้อย่างไร  ยิ่งในชีวิตคู่  ถ้าคนใดคนหนึ่งขาดความอดทน  หนักไม่เอาเบาไม่สู้  ย่อมทำให้หมดกำลังใจในการสร้างอนาคตชีวิตต่อไป  ถ้าทั้งสองคนร่วมพลัง ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้  แม้จะลำบากเท่าใดก็พอทนได้ เพราะ ความลำบากกายนั้น ไม่หนักเท่าความลำบากใจ  การที่จะเอาชนะความลำบากต่าง ๆ ได้นั้น  ต้องมีขันติธรรม
จาคะ  แปลว่า  การสละ คือ มีน้ำใจ สามารถเสียสละความสุขสำราญ  ความพอใจส่วนตนเพื่อคู่ครอง  ถ้าหากว่าในการครองชีวิตรักนั้น  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ปฏิบัติตามด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  จนกระทั่งข่มใจไม่ไหวแล้ว ขึนกักไว้มาก ๆ เข้า อาจระเบิดขึ้นเมื่อไรก็ได้  เมื่อทนไม่ไหว เราก็ต้องระบายออกเสียบ้าง  แต่การระบายออก คือ จาคะนั้น  ต้องรู้จักระบาย คือ ต้องค่อย ๆ ระบายออก และ ต้องรู้จักกาลเทศะด้วยว่า  เป็นเวลาหรือสถานที่ที่สมควรจะระบายความอัดอั้นตันใจนั้นหรือไม่ ถ้าไม่รู้จักกาลเทศะแล้ว  อาจทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ก็ได้ ฉะนั้น ถ้ามีความข้องใจอะไรกันแล้ว  เมื่อเก็บไว้ไม่ได้อีกแล้ว  ก็ควรปรับความเข้าใจกันเสียบ้าง  เพราะ การที่เราคิด หรือ คาดคะเนเอานั้น  อาจเป็นการเข้าใจผิดก็ได้  เมื่อเรามีโอกาสใด้ปรับความเข้าใจกันเช่นนี้แล้ว  ความเข้าใจถูกก็จะเกิดขึ้น ความรักก็จะกลับมาอีก และ ยิ่งจะแน่นแฟ้นขึ้นไปอีกตามลำดับ  เมื่อเราได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันเช่นนี้  ทั้งสองฝ่าย จึงควรเป็นนักเสียสละและให้อภัยซึ่งกันและกัน  ไม่เอาแต่ใจตัวเองฝ่ายเดียว หรือ เอาแต่ทิฏฐิเข้าหากัน  ซึ่งใช่วิถีที่จะทำให้การครองเรือนครองรักยั่งยืนต่อไปไม่  เมื่อทุกฝ่ายต่างก็ยึดหลักในการครองเรือนครองรัก ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น  ชีวิตการครองเรือนครองรัก ก็จะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และ มั่นคงตลอดไป นี้คือ จุดหมายที่สำคัญยิ่ง ที่ทุกคนที่มีความประสงค์จะสร้างการครองเรือนครองรักให้จีรังยั่งยืน  ต้องยึดเป็นแบบฉบับในการดำเนินชีวิตต่อชีวิตต่อไป

คู่สร้างคู่สม  คู่ครองที่จะร่วมชีวิตกันได้  นอกจากกามคุณแล้ว ควรมีคุณสมบัติและประพฤติปฏิบัติ ดังต่อไปนี้  หลักธรรมคู่ชีวิต ที่จะทำให้คู่สมรส มีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐาน อันมั่นคง ในการอยู่ครองเรือนครองรักกันได้ยืดยาว  เรียกว่า  สมชีวิธรรม มี ๔ ประการ คือ
สมสัทธา  มีศรัทธาเสมอกัน  เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชาและหลักการต่าง ๆ ตลอดจนแนวคิดความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือ ปรับเข้าหากัน ลงกันได้
สมสีลา  มีศีลสมกัน  คือ  ความประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรมจรรยา กิริยามารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้องกันไปได้
สมจาคา  มีจาคะเสมอกัน คือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารีมีใจกว้าง  พร้อมที่จะเสียสละ และมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่น  พอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
สมปัญญา  มีปัญญาเสมอกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง

คู่ชื่นคู่ระกำ หรือ คู่บุญคู่กรรม  เป็นคู่ครองที่มีคุณธรรมลักษณะนิสัย  ความประพฤติปฏิบัติ การแสดงออกต่อกันที่เกื้อกูลกัน  ถูกกัน ทนกันได้ ท่านได้แสดงลักษณะภรรยาประเภทต่าง ๆ ไว้ มีอยู่ทั้งหมด ๗ ประเภทด้วยกัน
(๑)    วธกภริยา  ภรรยาเยี่ยงเพชฌฆาต  คือ  ภรรยาที่คูหมื่น และ คิดทำลายสามี
(๒)    โจรีภริยา  ภรรยาเยี่ยงโจร  คือ  ภรรยาที่ล้างผลาญทรัพย์สมบัติ
(๓)    อัยยาภริยา  ภรรยาเยี่ยงนาย  คือ  ภรรยาที่เกียจคร้าน  ไม่สนใจการงาน  ปากร้าย  หยาบคาย ชอบข่มสามี
(๔)    มาตาภริยา  ภรรยาเยี่ยงมารดา  คือ  ภรรยาที่หวังดีเสมอ  คอยห่วงใย เอาใจสามี หาทรัพย์มาได้ ก็เอาใจใส่เก็บรักษา และ ใช้อย่างประหยัด
(๕)    ภคินีภริยา  ภรรยาเยี่ยงน้องสาว  คือ  ภรรยาผู้เคารพสามีดั่งน้องสาวรักพี่ชาย  มีใจ่อ่อนน้อม รู้จักเกรงใจ มักคล้อยตามสามี
(๖)    สขีภริยา  ภรรยาเยี่ยงสหาย  คือ ภรรยาที่เป็นเสมือนเพื่อน  มีจิตภักดี เวลาพบสามีก็ร่าเริงใจ  เป็นผู้มีกิริยามารยาท  ประพฤติตัวดี
(๗)    ทาสีภริยา  ภรรยาเยี่ยงนางทาสี  คือ ภรรยาที่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสามี  ถูกสามีตะคอกตบตี  ก็อดทนไม่แสดงความโกรธตอบ

 

คำสำคัญ (Tags): #หลักธรรม
หมายเลขบันทึก: 713195เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2023 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2023 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท